เขาสร้างวนเกษตรขึ้นจากประสบการณ์ชีวิต ที่ผ่านมา
๔๐ กว่าปี เก็บเกี่ยวทุกแง่ทุกมุม
บันทึกไว้ในความทรงจำอย่างซาบซึ้ง เป็นคลังสมองสำหรับการเรียนรู้ของทุกคน
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการพึ่งพาตัวเอง ยิ่งกว่าเชื่อมั่นในสิ่งอื่นใด
ผู้ใหญ่วิบูลย์
เข็มเฉลิม
ผู้นำวิถีชีวิตเกษตรพึ่งตน
***
เล่าเรื่องราวชีวิตสู่กันฟัง
ผมเกิดที่อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๖๗ ปี
พ่อแม่เป็นชาวนา ภรรยาชื่อ สมบูรณ์ มีบุตร ๓ คน การศึกษาค่อนข้างกระท่อนกระแท่น
ผมเข้ามาเป็นแรงงานเด็กในเมือง เรียนตามมี ตามเกิด พยายามเรียน จนจบ
ม.๖ เริ่มต้นชีวิตในช่วงปี ๐๔ สนใจเรื่องความร่ำรวย คิดอยากรวย เรื่อยมาจนถึงปี
๒๔ ก็จบ และคือ เหตุที่ทำให้ผมกลายเป็นคน มีหนี้สินล้นพ้นตัว จากที่ดินที่สะสมมา
๒๐๐-๓๐๐ ไร่ ต้องนำไปขาย ใช้หนี้ จนเหลือที่ดิน ประมาณ ๑๐ ไร่ กับการเริ่มต้นชีวิตใหม่
และเรียนรู้ วิถีแบบใหม่ ทำให้ได้เข้าใจอะไร บางอย่าง ที่ขาดหาย ที่สูญเสียไป
และทำใหม่ให้มันกลับคืนมา ผมเปลี่ยน มาเรียนรู้ว่า ทำอย่างไร จะรู้จักตัวเอง
มากขึ้น รู้ว่าตัวเอง มีศักยภาพแค่ไหน ที่อยากรวย หรือศักยภาพแค่นี้
ทำได้พอไม่อดตายก็เก่งแล้ว ถ้ามีศักยภาพ จริง และรู้จักตัวเองจริง
ผมก็ยอมรับว่า การจะทำให้รวยนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
จากที่ดินเกือบ
๑๐ ไร่ และเมื่อ ๒ ปีที่แล้วมีชาวบ้านมาขายเพิ่มให้อีก ๔ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินติดกัน
ก็เห็นความจำเป็นว่า ควรซื้อ ทั้งที่ ผมไม่มีความคิดจะขยายที่ดินเพิ่มมาก่อน
ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนตัว ที่ต้องการพิสูจน์ ให้เห็นจริงๆ ว่า ที่ดินเท่าที่มีอยู่
เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว เพราะหลายคนคิดว่า ที่ดินแค่ ๑๐ ไร่ น้อยเกินไป
ไม่พอกิน และเมื่อมีลูกหลาน ก็จำเป็นต้องกระจายที่ดินย่อยไปเรื่อยๆ
ตามจำนวน ลูกหลาน ที่เพิ่มขึ้น และครอบครัวที่ขยายขึ้น ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะใช่
ผมว่าการที่เรามีที่ดินน้อย ถึงมีลูกหลาน เพิ่มอีก หลายคน เราก็ไม่จำเป็นต้องนำที่ดินมาซอยเป็นรายย่อย
ให้กลายเป็นคนละไร่สองไร่ และก็ทำกินกันไม่ได้ นึกถึงคนจีน สมัยเก่าไหมว่า
เขาใช้ระบบกงสี ก็คือระบบการรวม โดยไม่ได้แบ่งอะไร ให้ใครเลย ทุกคนมีสิทธิ
ทำให้มันเกิด ประโยชน์ขึ้นมา และแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ผมเชื่อว่าถึงจะมีลูกเต้า
หรือลูกหลาน สัก ๑๐-๒๐ คน ที่ดิน ๑๐ ไร่นี้ ถ้ามีวิธีจัดการที่ดี ก็จะพอกินทั้งหมด
นี่คือวิธีที่ผมคิด จึงไม่เห็น ความจำเป็น ในเรื่องจะขยาย ที่ดินเพิ่ม
จากช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๒๔
๒๐ ปีที่ผมทำเกษตรแบบธุรกิจ จนที่ดินหมด ๒๐๐-๓๐๐ ไร่ และอีก ๒๐ ปีให้หลังกับที่ดินที่เหลือประมาณ
๑๐ ไร่ ที่เราทำบนความรู้ความเข้าใจ และมีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สามารถเข้าใจทรัพยากร
และจัดการเป็น ก็ไม่สร้างหนี้อะไรอีก และไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะมีเงินมากน้อย
หรือไม่มีเงิน ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเรามีพออยู่พอกินได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน
แต่ถึงมีเงิน ก็ไม่เสียหายอะไร ทำให้เราได้ทำอะไรมากขึ้น สะดวกขึ้น
เวลาใช้ไปก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ต้อง ไปสร้างภาระ ให้กลายเป็นหนี้เป็นสินขึ้นมาอีก
หมดปัญหาถ้าเราจัดการเป็น เพราะปัญหาวันนี้ ไม่ใช่เรื่อง ต้องมี
ที่ดินมาก หรือทำอะไรมากๆ เราต้องเข้าใจว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดกับเรา
และเราจัดการไม่ได้ก็คือ การที่เราไปเอาชีวิต ครอบครัว ผูกพันกันระบบเกษตร
ที่เรียกว่า ธุรกิจ ผมไม่ได้ปฏิเสธธุรกิจ
***
ความเข้าใจเรื่องเกษตรธุรกิจ
เกษตรธุรกิจ เป็นระบบที่เราใช้การลงทุนด้วยเงินทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่จ้างคน
ซื้อไม้พันธุ์เรื่อยมา กระทั่งไถดิน เตรียมดิน ถางหญ้า ใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมี
แม้กระทั่งจะนำไปขาย การขนย้าย ก็ต้องใช้เงิน จ้างเขาทำทุกอย่าง แต่เวลาขาย
เราไม่สามารถคิดต้นทุนทั้งหมดที่จ่ายตลอดรายทาง จนถึงเป็นผลผลิต ในขณะเดียวกัน
เราไม่สามารถ กำหนดราคาว่า ควรเป็นเท่าไร เพราะมันขึ้นอยู่กับตลาดว่าเขาจะให้เท่าไร
นี่ยังไม่พูดถึง ชีวิตครอบครัว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการกินอยู่หลับนอน
สำหรับชีวิตประจำวัน ๓๖๕ วัน โดยเราไม่ได้ นำมาบวก ในต้นทุน การผลิต
เพราะฉะนั้น ปัญหาอยู่ที่เวลาขาย เราจะประสบกับการขาดทุน โดยที่เราไม่รู้ว่าขาดทุน
เพราะถ้าเรา ไปคิดต้นทุน การผลิตเพียงแค่ปัจจัยการผลิตไม่กี่ตัว
ความจริงการค้าขายที่เป็นธุรกิจ
ไม่ใช่เรื่องการกินอยู่ของชีวิต ถ้าเราคิดเรื่องชีวิต มันจะบอกได้ว่า
เกษตร ทำธุรกิจ ไม่ได้ ถ้าทำเมื่อไร ก็ขาดทุน คำว่าธุรกิจในที่นี้หมายถึง
ธุรกิจที่มุ่งทำกำไรสูงสุด ตามกระแส ทุนนิยม ที่เป็น กระแสโลก โดยปลูกทุกอย่าง
เพื่อขายอย่างเดียว ทั้งที่ไม่รู้ว่า ขายไปแล้ว ตัวเองจะกินอะไร รู้แต่ว่า
ขอให้ได้ขาย เพราะธุรกิจ ไม่ได้มองเรื่องชีวิต
เราต้องกลับมามองเรื่องเกษตร
ในความหมายของเกษตรที่หมายถึงชีวิต ถ้าเราเอาชีวิตไปขาย เราจะอยู่
อย่างไร เพราะเกษตรกรรมคือการดำรงชีวิต มีชีวิตที่เนื่องด้วยดิน หรือการใช้ดิน
การทำเกษตรนั้น เป็นได้ ในเรื่อง ของตลาด แต่มันเป็นการตลาดที่ไม่ใช่ต้องไปทำธุรกิจเพื่อแข่งขัน
เพื่อที่สุดไปตาย เพราะฉะนั้น เราเป็นเกษตรกร จึงจำเป็น ต้องเข้าใจชีวิต
ผลผลิตหลายอย่าง ที่มีเกินความจำเป็น ต้องกิน ต้องใช้ ก็ขายได้ แต่เราจะขายอย่างไร
หรือขายสักเท่าไร อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจของเรา ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
แต่ทุกวันนี้ ชาวนาปลูกข้าวมาได้ ๑๐ ตัน ขายหมดเลย ทั้ง ๑๐ ตัน แล้วก็เอาเงินไปซื้อข้าวกิน
ปีหนึ่ง ขาย วันเดียว แต่อีก ๓๖๔ วัน ต้องซื้อกินหมด อันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้
ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธี คิดระบบ การจัดการใหม่
โดยสรุปแล้ว การทำธุรกิจต้องมองเรื่องชีวิตด้วย
มองเรื่องค้าขายในส่วนที่เราจำเป็นต้องขาย เราก็ขายด้วย แต่ถ้ามองเรื่อง
ค้าขายอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร หรือจะเอาแต่เรื่องชีวิต
ไม่เอาสตางค์ เลย ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะสังคมเรา เปลี่ยนระบบ
ความสัมพันธ์ ไปใช้เงินเป็นสื่อกลาง ในการแลก เปลี่ยน สิ่งอำนวย ความสะดวกต่างๆ
เราจึงไม่ปฏิเสธเงิน ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่จะเอาแต่เงิน
*** มองปัญหาสังคมภาคเกษตร
เกษตรกรมีความสะดวกสบายขึ้น หลายคนอาจพอใจ โดยไม่ทันระวังว่า ความสะดวก
หลายอย่าง ที่เราได้รับ นั้นมัน เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน
เป็นรายจ่ายที่จะสร้างปัญหา ให้ในระยะยาว ได้เช่นเดียวกัน บางทีเราเข้าใจว่ามันดี
ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ เพราะปัญหาที่ตามมา เช่น ปัญหาสังคมที่สูงขึ้น
ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัวหย่าร้าง ปัญหาความไม่ไว้วางใจ ปัญหาทุจริต
คอรัปชั่น ปัญหาต่างๆ ทำไมมากขึ้นๆ มันมีที่มาลึกๆอย่างไร ซึ่งเรายังบอกไม่ได้ว่า
อะไรเป็นเหตุ ให้เกิดปัญหา แล้วเราจะแก้ปัญหา เหล่านั้น ได้อย่างไร
บางทีต้องหันกลับมาทบทวนกันบ้าง แต่ถ้าถามว่า สุขสบายไหม ก็ใช่ ผมสามารถ
เดินทางไกล ได้มากขึ้น ติดต่อกับโลกภายนอกได้กว้างขึ้น และถ้าถามต่อว่า
ชีวิตเราดีขึ้นไหม ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ การพึ่งพาอาศัยกันมีไหม
ในแง่นี้ผมว่า ทุกวันนี้ มีปัญหาเกิดขึ้น อย่างน้อย ๒ ข้อ ๑. แต่ละคน
ต่างเริ่ม ไม่มั่นใจ ตัวเอง พอคิดจะพึ่งตัวเอง ก็เกิดความไม่มั่นใจ
อย่างกรณี ที่ผมพูด ให้หลายคนเห็นว่า ผลจากการ ที่เราเอาชีวิตเข้าไปผูกพันกับระบบธุรกิจและนำมาใส่ในภาคเกษตร
จะเป็นเรื่องที่ทำให้ไปไม่รอด แต่พอมี ผู้ชี้แนวทาง ที่น่าจะเหมาะสมให้
คนก็ไม่มั่นใจอีก เพราะมีความรู้สึก เหมือนไม่ได้เงิน นี่คือคนเริ่มเชื่อมั่น
ตัวเองน้อยลง ๒. เมื่อความเชื่อมั่นน้อยลง การพึ่งพาตัวเองก็ทำไม่ได้
ขณะเดียวกัน พอคิดจะพึ่งพา คนนั้นคนนี้ ก็รู้ว่าเขาต้องการ สิ่งแลกเปลี่ยน
ต้องการกำไร ต้องการดอกเบี้ย นั่นคือต้องพึ่งพาธนาคารหรือนายทุน เมื่อการพึ่งพากัน
ลำบากขึ้น เราจะอยู่อย่างไร นั่นคือปัญหา ที่สำคัญ ของสังคม เพราะขนาดคน
ที่มีความรู้ ความสามารถ ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ขณะเดียวกัน สังคมก็พึ่งพากัน
ไม่ได้ด้วย แม้แต่วัด คนจะเข้าไปพึ่งวัด พระที่อยู่ในวัด ก็ไม่มั่นใจ
คนที่จะมาขอพึ่งพา ไม่รู้ว่าเดี๋ยวจะมา ขนอะไร ของวัดไปบ้าง นี่คือสิ่งที่เราเห็น
และในที่สุด ทุกคนต่างก็ไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน
ผมคิดว่ามาจากต้นเหตุ
คือระบบการศึกษาที่เน้นเทคโนโลยีมากเกินไป จนเรียกว่าไม่เห็น ความสำคัญ
ของคน ได้ทำลาย ความเชื่อมั่น ของผู้คนให้หายไป โดยหันไปพึ่งพาเทคโนโลยี
ที่ต้องซื้อหา หมดเลย และที่ผ่านมา เราเน้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษา
เน้นให้เรียนจบ พอเรียนจบ ก็ถือว่าหมดภาระ ของการศึกษาแล้ว ซึ่งการคิดแบบนั้น
แน่นอน จะทำให้คนไม่พัฒนาศักยภาพ ในการทำอะไร ได้จริง ปัญหาที่ผมมองวันนี้
การศึกษา ทำลายคนไปแล้ว ๓ ข้อ
๑. ทำลายความรู้ที่จะรู้จักตัวเอง เพราะการศึกษา ทำให้คน ไม่รู้จักตัวเอง
๒. ทำให้คน หลีกเลี่ยงปัญหา และไม่รู้จักปัญหา
๓. ทำให้คนไม่รู้จักทรัพยากรใกล้ตัว พืชสมุนไพรต่างๆ ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อ
เพราะฉะนั้นคุณค่าของต้นไม้ไม่ต้องพูดถึง
มองทรัพยากรใกล้ตัวเป็นวัชพืชหมด จริงๆ แล้วพืชทุกตัว มีคุณค่า ในตัวของมันเอง
*** ที่มาของวนเกษตร
ขุมทองแห่งการเรียนรู้
วนเกษตรเกิดขึ้นจากปัญหา โดยปัญหาได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้
เรื่องชีวิต วนเกษตร เกิดขึ้น ตอนที่ผมเดือดร้อนสุดๆ คือไม่มีกินไม่มีใช้
ประการสำคัญ คือไม่มีเงินซื้อทุกอย่าง ที่อยากกิน หรือจำเป็นต้องกิน
เพราะความหิวโหยก็ตาม ทำให้ต้องหันกลับมาคิดว่า ทำอย่างไร จึงจะให้ชีวิต
อยู่ต่อไปได้ ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องปลูกกิน การเริ่มปลูกอะไรกินเอง พอทำมาได้สักพัก
ก็เริ่มมีกิน แม้ไม่มีเงิน แต่มีกินมากขึ้น จากการที่เราปลูก มากขึ้น
ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นว่า เราไม่จำเป็นต้องกังวล เรื่องเงิน
ก็เลยมาคิดต่อว่า วันนี้เราทำงานหนัก ขนาดนี้ อายุเท่านี้ ทำไหวไหม
ถ้าไหว และถ้าต้องทำต่อไป ตลอดชีวิต อายุก็มากขึ้น จะไหวไหม นี่คือคำถามที่ตามมา
เราจะรู้ว่าเมื่ออายุ ๖๐,๗๐,๘๐ ปี และยังไม่ตาย เราจะทำงานหนัก ได้แค่ไหน
ถ้าทำไม่ไหว และไม่มีกิน เกิดลูกเต้า ไม่เลี้ยงดู เดือดร้อนแน่ เราจะทำ
อย่างไรต่อ เป็นคำถาม ที่ต้องหัน กลับมาทบทวน ถ้าลูกเต้าไม่เลี้ยง
โดยไม่ใช่ เพราะเขาอกตัญญู แต่เพราะ พ่อแม่ยากจน อดอยาก พึ่งตัวเองไม่ได้
ลูกเต้า ก็เลยยากจน และอดอยากตามด้วย จนไปด้วยกัน และ พวกเขา ก็ต้องมีครอบครัว
มีลูกเต้าของเขาเอง ดังนั้น ภาระเฉพาะหน้าของเขา จึงไม่ใช่อยู่ที่เรา
นั่นคือ การถูกทอดทิ้ง ตอนแก่ เราจะทำอย่างไร เมื่อคิดถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่า
วันนี้ควรทำอย่างไร เพื่อให้วันนี้ มีกิน เพราะเรารู้อยู่ว่า วันนี้เราจะกินเท่าไร
ทำงานหนักขนาดไหน ไหวขนาดไหน และควรทำอะไร เพิ่มไปด้วย เผื่อวันหน้า
เมื่อเราทำอะไรได้น้อยลง วันที่เราแก่ ทำงานไม่ไหว เราจะอยู่ได้ พอคิดอย่างนี้
มันก็ไปคิด เกี่ยวโยง กับต้นไม้ทั้งหมด ตั้งแต่ไม้ผล ไม้พืชชั้นล่าง
ที่มีใบมีดอกกิน ไม้ต้นโต ที่มันโตขึ้น ระยะหนึ่ง ก็จะกลายเป็น ไม้ขนาดใหญ่
ที่เรียกไม้ซุง ซึ่งเรารู้ว่าอีก ๒๐ ปี จะโตแค่ไหน เมื่อถึงเวลานั้น
เราจะขายได้ สักกี่บาท เราคิดจากสิ่งที่ควรเป็น ถ้าตอนนั้น เรามีอายุ
๗๐ ปี และทำไม่ไหว เราควรมีสักกี่ต้น ชีวิตจึงจะ ไม่เดือดร้อน ถ้าเราปลูกต้นไม้ไว้ในครอบครองสัก
๓๐๐ ต้น โดยประเมิน จากต้นละ หมื่นบาท เราก็มีเงินถึง ๓ ล้านบาท วันนั้นถ้าเราเกิดความจำเป็น
เงินจำนวนนี้เป็นหลักประกันได้แน่ ถ้าลูก ไม่เลี้ยง เราก็เลี้ยง ตัวเอง
จะจ้างใครมาป้อนข้าวป้อนน้ำก็ไม่ลำบากเกินไป จ้างผู้จัดการสักคนก็พอได้อยู่
หรือไม่ก็นำเงิน ฝากธนาคาร กินดอกเบี้ยแต่ละเดือน ก็ยังไม่เดือดร้อน
จึงคิดว่า เราไม่ต้องไปกังวล กับบั้นปลายชีวิต ถ้ามีการสะสม ตั้งแต่วันนี้
ซึ่งก็เห็นว่ามันจริง ทำไประยะหนึ่ง เริ่มเห็นสภาพป่ารกขึ้น มีต้นไม้
หนาตาขึ้น มีความหลากหลายของพืชพันธุ์มากขึ้น เรารู้ประโยชน์ของมันเกือบทุกอย่าง
ถ้าป่าไม่เป็นธรรมชาติ อย่างที่เรา เข้าใจ แต่เป็นป่าเกษตร มันก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้
ผมจึงเรียกว่าวนเกษตร และนี่คือ ที่มาของชื่อ วนเกษตร จากปี ๒๕๒๖ เป็นต้นมา
***
วนเกษตรวันนี้
วนเกษตรกลายเป็นเวทีที่คนมาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นเวทีสำหรับการฝึกอบรม
และการเรียนรู้ ในรูปแบบ ต่างๆ ทั้งประชุม และสัมมนา มีคนมาใช้ตลอดทั้งปี
เกือบทุกวัน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ องค์กรเอกชน กลุ่มอิสลาม ข้าราชการ
และชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบด้วยชาวบ้าน ๖๐-๗๐ หมู่บ้าน ที่ผมเกี่ยวข้องด้วย
ในรอยต่อ ที่ติดต่อกัน ๕ จังหวัด ผมเรียกที่นี่ว่า "เวทีเครือข่ายรอบป่าตะวันออก"
เรามีกิจกรรมซึ่งทำต่อเนื่อง คือทำงาน กับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ตรงนี้
จะทำเป็นหลักจริงๆ ๑๖ หมู่บ้าน ตอนนี้กำลังเริ่มอยู่ ๕ หมู่บ้าน ซึ่งจะใช้เวลา
ทั้งหมด ๓ ปี เพื่อขยายกิจกรรมนี้ออกไปยังชุมชนต่างๆ ที่นี่เราเปิดสำหรับทุกคน
ทุกกลุ่ม เข้ามาใช้ได้หมด ไม่มีเรื่องธุรกิจ คนไม่มีเงินก็มาใช้ได้
สิ่งที่เราใช้เป็นอุปกรณ์ คือต้นไม้ คือทรัพยากรรอบๆ ตัว คือสิ่งที่เรามีอยู่
*** ความตั้งใจดีต่อสังคม
ผมพยายามทำตามกำลังที่มีอยู่ อยากเห็นคนมีความมั่นใจที่จะพึ่งตัวเองได้
แต่ทำๆ ไปบางครั้งก็ท้อ ไม่รู้ว่า เราทำไปคนเดียวหรือเปล่า ชักไม่แน่ใจ
แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็อยู่ด้วยความรู้สึกว่า มันเป็นเหมือนหน้าที่
อะไรสักอย่าง ไม่มีใครมามอบหมายให้เราทำหรอก เป็นหน้าที่ ที่เราอยากทำ
ให้คนอื่น มีความมั่นใจ ในชีวิต ที่ควรจะมี อิสระเป็นตัวของตัวเอง
*** สิ่งชูใจให้เบิกบาน
ความสมหวังแม้ไม่เกิดบ่อยนัก แต่ก็ดีตรงที่เราไม่ได้เจอความผิดหวังตลอด
พอเราทำแล้ว ได้รับ ความร่วมมือ ก็รู้สึกดีใจ อิ่มใจ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ
ก็อาจท้อบ้าง แต่ผมไม่ได้คาดหวังอะไรไว้สูง เพราะถ้า เขาไม่ทำ ก็ไม่ใช่ว่า
เราจะอยู่ไม่ได้ เพียงแต่เราอยากเห็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย
*** ความร่วมมือร่วมใจจากรัฐบาล
ไม่กล้าบอกว่าอยากได้อะไร สิ่งที่เราทำและต้องการเห็นวันนี้คือ รัฐบาลให้ความสำคัญ
กับการเร่งพัฒนา ประสิทธิภาพคน ให้มากกว่า ที่จะเร่งเอาทุน เอาเงินไปให้คน
จะเร่งอย่างไร ให้คนมีประสิทธิภาพ มากขึ้น โดยเฉพาะ ภาคการผลิต ให้เขามีความสามารถ
จัดการผลผลิต มีการจัดการชีวิตเขา ได้มากกว่านี้ ไม่ใช่นำเงิน ไปให้อย่างเดียว
ผมอยากเห็นรัฐบาล เปลี่ยนวิธี จากการใช้เงิน มาสู่วิธีที่ ทำให้ชาวบ้าน
มีความรู้ และใช้ความรู้ ในการจัดการปัญหา ให้คนได้ใช้ศักยภาพ ของตัวเอง
มากขึ้นกว่านี้
*** ประสบการณ์เป็นปุ๋ยให้ชีวิต
ความจริงผมมีประสบการณ์จากเหตุการณ์หลายอย่างพาไป ในช่วงที่มีปัญหา
มีเพื่อนร่วมทุกข์กับเราแยะ เราเรียนรู้ จากหลายคน และจากปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้น ปัญหายิ่งมากก็ยิ่งรู้อะไรมาก เช่น ผมสนใจเรื่อง ปัญหาราคา
พืชผลตกต่ำ โดยแก้ไขปัญหาด้วยการร้องเรียน ก็เจอปัญหาใหม่ เป็นปัญหาการเมือง
ถูกกล่าวหาว่า เป็นแนวร่วม ผกค. ในที่สุดทำท่าจะเอาตัวไม่รอด จนกระทั่งค้นพบวิธีสุดท้าย
คือการพึ่ง ตัวเอง ทำให้มากขึ้น และลดบทบาทลง ผมหยุดแสดงความคิดเห็น
พูดน้อยที่สุด เพราะบางเรื่อง เราพูดจาก ปัญหาจริง แต่มันกลายเป็น
ปัญหาจริงๆ จากกลุ่มคนที่ไม่ต้องการ ให้เราพูดปัญหานั้น ก็กลายเป็น
ปัญหาใหม่ ที่ตามมา เรากลายเป็น เสี้ยนหนาม นี้คือเรื่องราวการเรียนรู้ของผม
ในช่วงชีวิต ที่ผ่านมา ๔๒ ปี จากปี ๒๔-๔๖ ผมนำ ประสบการณ์ ในแต่ละช่วง
มาจำแนก ให้เห็นภาพ สรุปบทเรียน ให้ตัวเอง ขณะเดียวกันผมก็ทำงานกับชาวบ้าน
แนะให้เขา เกิดการเรียนรู้ ทำอย่างไร ให้พวกเขา มีข้อสรุป ที่จะนำไป
ปรับทิฐิต่างๆ เพื่อเลือกทางเดินชีวิต เมื่อผมทำเรื่อง การเรียนรู้แล้วพบว่า
สิ่งที่ชาวบ้าน ขาดแคลน ก็คือ เรื่องการเรียนรู้ ดังนั้นวันนี้ผมจึงหันมาทำเรื่อง
ทำอย่างไร ให้คนรู้จัก ที่จะพึ่งตัวเอง โดยนำ ประสบการณ์ ที่เราทำและเห็นว่าควรทำมาถ่ายทอด
เพื่อให้พวกเขา ได้ทบทวน
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖) |