ชีวิตนี้มีปัญหา
๑ - สมณะโพธิรักษ์
-
การเกิดทางโอปปาติกะ หรือทางจิตวิญญาณนี้ เกิดทันทีเป็นเทวดาทันที หรือเป็นสัตว์นรกทันที แม้ เกิดเป็น อาริยบุคคลก็คือ การเกิดของจิตวิญญาณนี่แหละ เกิดทันทีเช่นกัน ไม่ต้องเกี่ยวกับสรีรกายเลย ผู้บรรลุธรรม ของพุทธ จึง "เกิด" (โยนิ,อุบัติ) เป็นอาริยบุคคลกันในชาตินี้ เพราะ "จิตเกิด" ไม่ต้องรอชาติหน้า "โอปปาติกโยนิ" หรือการเกิดทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็น"การผุดเกิดทันทีโตทันที" และมีการตายทันที ภายใน จิตวิญญาณ คือ กิเลสตาย ซึ่งตายอย่างไม่มีซาก เพราะเป็นนามธรรมภายในจิตเรานั่นเอง และตายจริงๆ ตายชนิด ที่เรียกว่า "จุติ" (เคลื่อนหรือเปลี่ยนจากสภาพเก่าเป็นสภาพใหม่หรือสู่ภูมิใหม่) หรือตายอย่าง"นิโรธ" (ดับสนิท) ซึ่งหมายถึง กิเลสในจิตตาย ความสิ้นสภาพ ไม่เกิดอีก ของกิเลส จึงเป็น "การตาย" แท้ๆ ส่วนหนึ่งของจิต ในที่นี้คือ ภายในจิตของเรา เราต้องเรียนรู้ "ตัวกิเลส" อันเป็นภาวะ "แขก,ผู้อาศัย" (อาคันตุกะ) ของจิตวิญญาณ ที่มีจริง ในจิตวิญญาณ แล้วกำจัด (ปหาน) กิเลส จนมัน "ดับสนิท" ด้วยความสามารถ กระทั่งสิ้นซาก หรือ ตายสนิท เรียกว่า "นิโรธ" ก็ได้ "นิพพาน" ก็ได้ เมื่อ "กิเลสตาย" เราก็ "วิมุติ" คือ หลุดพ้นจาก"ภพ"ที่เป็นโลกีย์นั้นๆ ชนิดไม่มี "กิเลสตัวเหตุ" มาทำให้เรา เวียนกลับ ไปเกิดใน "ภพ" ที่ตายจาก หรือหลุดพ้นมาได้แล้วนั้น อีกเด็ดขาด การตายจาก "ภพ" นั้น จึงถาวร ยั่งยืน เป็นการ "ดับชาติสังสาระ" หมายความว่า ดับการวนเวียนไปเกิดอีกได้ อย่างแน่แท้ เพราะได้ "ดับลงไป ถึงต้นเหตุของการเกิด" คือ "ชาติสัมภวะ" หรือดับ "สมุทัยอาริยสัจ" (เหตุที่เป็นความจริง อันประเสริฐ) ได้ถูกต้องถ้วนครบ กระทั่ง "ตัวตนที่เกิด" คือ "ชาตัตตะ" ก็หมดเกลี้ยง สิ้นตัวตนไปจริง ซึ่งสภาวะดังกล่าวมาข้างต้น ล้วนหมายถึงการเกิด-การตายทางจิตวิญญาณ อันไม่เกี่ยวกับวัตถุ หรือ สรีรกาย แต่อย่างใด เป็นการเกิด-การตายในจิตวิญญาณ อันเป็นเรื่องของ นามธรรมแท้ๆ โดยเฉพาะจริงๆ เพียงแต่ว่า จิตวิญญาณนั้น อาศัยอยู่ในร่างกาย สรีระของคน "เป็นๆ" นี้เท่านั้น และเมื่อจิตวิญญาณใด "เกิดการเปลี่ยนแปลง" แล้วจริง ในคน "เป็นๆ" นี้ เปลี่ยนเป็น "สัตว์ชนิดใด" เช่น จิตที่มีคุณภาพของความดี (ชื่อว่าเทวดา) บัดนี้จิตนั้น ได้เปลี่ยนไป ในขณะที่ยัง "เป็นๆ" นี่แหละ คือส่วนหนึ่งของความดีในจิต ได้ตาย จากความดี ไปเป็นความบาป นั่นคือ จิตได้ตาย จากเทวดา ไปเป็นสัตว์นรก เป็นต้น ครั้นชีวิต สิ้นลม ร่างกาย แตกตายไป (กายัสส เภทา) จิตวิญญาณนั้น จะออกจากร่าง ไปเกิดเป็นสัตว์ชนิดใดๆ ตามภูมิ ที่เจ้าของร่าง ได้สั่งสมบุญบาปไว้ มันก็เป็นจริง ไม่ได้ขัดแย้ง ในประเด็นนี้ เช่น ใครก็ตามในขณะเป็นๆ ยังไม่ตายนี้ ได้สั่งสม กุศลถึงขั้นเป็นเทวดาโลกีย์ (สมมุติเทพหรือกัลยาณชน) เขาก็เป็น เทวดา (โลกีย์) แล้ว ตั้งแต่ขณะที่เขามีบุญบารมีนั้นถึงขีดถึงขั้นจิตวิญญาณของเขาเป็น "เทวดาโลกีย์" นั้นแล้ว ในร่างคน เป็นๆนี้เอง ดังนั้น เมื่อเขาตายทางร่างกายแตกตายไป (กายัสส เภทา) เขาก็ไปเกิดเป็น เทวดาโลกีย์ ตามภูมิจริง ของเขา จิตวิญญาณของเขาก็ไปเป็นอย่างนั้นจริง ไม่ประหลาด ไม่ลึกลับอะไร ความรู้แบบนี้ เทวนิยม หรือไม่เป็นเทวนิยม ก็สามารถรู้ได้ทั้งนั้น มันเป็นแค่ "ตรรกะ" ซึ่งเป็นความเข้าใจ ด้วยเหตุผล ของความรู้ เท่านั้น ไม่ใช่ความรู้แจ้ง สัมผัสของจริง รู้กันได้ไม่ยาก ผู้ศึกษา ขบคิดนิดหน่อย ก็สามารถเข้าใจได้ ส่วนจะรู้แบบ สัมผัส ของจริง ที่เป็นนามธรรมนั้นๆ ผู้มี "ตาทิพย์" ที่จะหยั่งรู้หยั่งเห็นจริงๆ ก็ใช่จะมีได้ง่ายๆ แม้ผู้รู้ รู้แล้ว นำมาบอก เล่าสู่ ผู้ไม่รู้แจ้ง เห็นจริงตาม ก็ใช่ว่า จะรู้ตามจริง ได้ที่ไหน ก็เพียงฟังเขาบอกเท่านั้น แต่ในชีวิตที่มีร่างกายขณะ "เป็นๆ" นี่แหละ หากใครได้เรียนรู้ให้ดีตามวิธีของพระพุทธเจ้า ก็จะสามารถ อ่าน "นามธรรม" ในร่างกายเรานี้ได้ ด้วย"อธิปัญญาสิกขา"หรือด้วย"วิชชา ๙" เมื่อเราสั่งสม กุศลโลกีย์ ถึงขีดถึงขั้น ตั้งแต่ยังไม่ตาย ในจิตวิญญาณเกิดกุศลโลกีย์ถึงขั้นเป็น"เทวดาโลกีย์" ตามความจริง ที่เราได้ปฏิบัติ ให้เกิด ให้เป็น กุศลนั้นๆ พุทธมี "วิชชา" ซึ่งเป็นอธิปัญญาจริง ก็จะรู้แจ้ง เห็นสัมผัส สภาวะจริงนั้นๆ ได้ ตั้งแต่ยัง "เป็นๆ" ตั้งแต่ร่างกาย ยังไม่แตกตาย สิ้นลมหายใจไปนี่แลว่า เราก็คือ "เทวดาโลกีย์" หรือใครก็ตามได้สั่งสมบุญแบบกุศลโลกุตระ
จนถึงขั้นจิตวิญญาณเกิดเป็นเทวดาโลกุตระ
(อาริยบุคคล ผู้..ไม่มี "อธิปัญญา" ที่ชื่อว่า "วิชชา ๙" ก็คือ ผู้ไม่สามารถรู้แจ้งเห็นจริง หรือแท้ๆก็คือ ผู้ไม่บรรลุธรรม แบบพุทธ นั่นเอง เพราะผู้บรรลุมรรคผล บรรลุ ธรรมเป็นโลกุตระหรือขั้นอาริยะนั้น คือ ผู้บรรลุ "อธิศีลสิกขา -อธิจิตสิกขา (ฌาน,สมาธิ,วิมุติ) -อธิปัญญาสิกขา (วิชชา ๙)" ครบสมบูรณ์ "ไตรสิกขา" จึงมี "วิชชา" ถ้าไม่มี "วิชชา(๙)" ก็คือ มี "อวิชชา" หรือปฏิบัติธรรมของพุทธไม่สมบูรณ์ใน "ไตรสิกขา" นั่นเอง ผู้ปฏิบัติ"ศีล"หรือเรียนรู้ฝึกฝน"อธิศีลสิกขา" แต่ไม่ปฏิสัมพัทธ์กับ "อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา" จนถึงขีด บรรลุ "อธิจิต - อธิปัญญา" ก็คือ ผู้ปฏิบัติผิด ยัง "มิจฉาทิฏฐิ" อยู่ หรือปฏิบัติได้แค่ "ศีลัพพตุปาทาน" หรือ อย่างเก่ง ก็ยังไม่พ้น "ศีลัพพตปรามาส" ขอแทรกเรื่องเกี่ยวกับ "วิชชา ๙" ไว้ตรงนี้สักนิด วิชชา ๙ ได้แก่ ฌาน (แบบพุทธ) วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี ทิพโสต เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ซึ่งก็คือ "วิชชา ๘" ที่โบราณาจารย์ ท่านสอนมา แต่เดิมนั่นเอง ใครจะไม่ยอมรับ ตามที่อาตมาว่านี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งมันก็ต่างกันแค่นับเอา "ฌาน" อันเป็นส่วนท้ายของ "จรณะ ๑๕" เป็น"วิชชา ๑" แล้วก็เชื่อมเข้ากับ "วิชชา ๘" ก็เป็น "วิชชา ๙" ก็เท่านั้นเอง ใครจะเอาแค่ "วิชชา ๘" ก็ได้ ใครจะเอา "วิชชา ๙" ตามอาตมาก็ได้ หรือใครจะว่า อาตมานับเอา "ฌาน" มาเป็น "วิชชา" ด้วยนั้น ไม่ถูก เพราะก็เห็นอยู่ว่า เป็น "จรณะ" ไม่ใช่ส่วนของ "วิชชา" เหมาเอามาเป็น "วิชชา" ได้ไง จะว่าอาตมาผิดก็ได้ อาตมาก็ไม่เถียงหรอก แต่ที่อาตมานับเอา "ฌาน" เป็น "วิชชาที่ ๑" นั้น ก็เพราะอาตมาเจตนาอย่างมากที่จะนำมายืนยันว่า "ปัญญา" สำคัญมาก มันต้องมีมาตลอดสาย แม้อยู่ใน "จรณะ" ทั้ง ๑๕ โดยเฉพาะใน "ฌาน" ถ้าไม่มี "ปัญญา" ก็ไม่ใช่ "ฌาน" พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๕ "ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแล อยู่ในที่ใกล้นิพพาน" (เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๒๖) |