>เราคิดอะไร

หน้าต่างความคิด - ศิวกานท์ ปทุมสูติ -

๗. ภายใต้ชายคาของความรัก
ไล่ลูกออกไปเล่นเย็นก็กลับ แต่ไล่ลูกออกไปรับการศึกษา
มันไปแล้วไปลับไม่กลับมา เสียน้ำตาเพราะรักไล่จากเรือน

คุณอาจไม่เคยคิดในมุมที่กลอนบทนี้คิดก็ได้ เพราะคุณคิดแต่เพียงว่า คุณได้ให้ สิ่งที่ดีที่สุด (คือการศึกษา) แก่ลูกของคุณแล้ว หรือคุณอาจต้องการ ชดเชยปมด้อย ของคุณที่มีการศึกษาน้อย ด้วยการให้ลูก มีการศึกษา มากๆ สูงๆ ก็ได้ ซึ่งถ้าคุณเข้าใจ ความหมาย ที่แท้จริงของการศึกษา มันก็อีกเรื่องหนึ่ง

คุณบางคนที่ยอมตรากตรำทำไร่ทำนาส่งเสียให้ลูกมีการศึกษา ก็ด้วยหวังที่จะให้ลูก ได้จับปากกา แทนด้ามจอบ คุณจึงเฝ้าทะนุถนอม และประคับประคอง การศึกษาของลูก คุณพูดบ่อยๆ ว่า

"ดูหนังสือ ทำการบ้านเถอะลูก งานบ้านงานครัวไม่ต้อง-แม่ทำเอง"
"ตั้งใจเรียนให้สำเร็จนะลูก งานไร่นาไม่ต้อง-พ่อทำเอง"

วีถีครอบครัวแบบคนรุ่นคุณ หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ของคุณ ที่เปี่ยมไปด้วยความรักความอบอุ่น ในงานบ้าน และ งานนาไร่ พ่อแม่ลูกช่วยทำมาหากิน พร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งเวลางานและเวลากินอยู่ร่วมชายคา.... มันได้ เปลี่ยนไปแล้ว ตรงรอยต่อของคนรุ่นคุณกับรุ่นลูกของคุณ ลูกของคุณไกลออกไป จากคุณทุกทีๆ ประถม มัธยม อุดมศึกษา กว่าจะได้รับปริญญาคุณก็สายตัวแทบขาด แล้วลูกก็จากคุณ ไปไกลลิบ (หรือบางราย ก็ไกลลับ) ไปสู่งานหน้าที่ของเขา ที่คุณหลงภาคภูมิใจ อยู่กับความเหงาเศร้าวังเวง

มีลูกกี่คนที่หวนคืนกลับมาดูแลคุณ "มันไปแล้วไปลับไม่กลับมา" ปล่อยให้คุณ "เสียน้ำตาเพราะรัก ไล่จากเรือน" (และไปจากสังคมวิถี-ที่เคยมีคุณค่า... ความรักความอบอุ่นในครอบครัว) อย่างดีก็แค่ กลับมาเยี่ยม มาหาคุณบ้าง เป็นครั้งคราว ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วคุณก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับการรอคอย...ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไร ลูกของคุณ เขาจะลางาน มาหาคุณได้อีก

โอ้...การศึกษา (ผิดทาง) เป็นบาปเป็นกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์โลก สายใยแห่งความรัก ความอบอุ่น แบบปู่ย่า - ตา - ยาย - พ่อ - แม่ - ลูก... เหลือเพียงเส้นบางๆ ผุเปื่อย และบางครั้ง มันก็ขาด อย่างน่า อนาถใจ ละครเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ เรื่อง "สำนึกรักบ้านเกิด" ไหนเลยจะฮิตติดอันดับ เท่าละครน้ำเน่า ฟุ้งฝัน ทะยานวัตถุ

คุณไม่อยากให้ลูกของคุณเป็นไปอย่างที่ผมว่าใช่ไหม ผมก็เช่นเดียวกับคุณ เรามาช่วยกันตั้งจิตภาวนาเถิด... ขอให้ การศึกษา (ที่สว่าง-ที่ถูกต้อง) จงนำทางลูกของเราคืนสู่ชายคาของความรักความอบอุ่น กลับมา สร้างงาน สร้างครอบครัว ด้วยภูมิปัญญาที่เขาได้ร่ำเรียนมา มิใช่เรียนเพื่อพลัดพรากอีกต่อไป

เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)