>เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -

ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ใช้แก้ปัญหาได้จริงหรือ?
คงเป็นที่ยอมรับกันว่าการศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ ดังนั้นหากคิดจะเพิ่มคุณภาพของมนุษย์ ก็ต้องแก้ด้วยการเพิ่มการศึกษาให้แก่ประชากร เพราะยังไงๆ การรู้มากก็ย่อมดีกว่าการรู้น้อย แต่การรู้มากหากเอาเปรียบคนทั้งหลายจะอันตรายกว่าชาวบ้านธรรมดาทั่วไปไหม? จะเป็นเสมือนการติดปีกให้เสือร้ายสามารถโกงกินได้อย่างกว้างขวางขึ้นไปหรือเปล่า? และการศึกษาที่มากขึ้น จะทำให้คนไทย อยู่ดีมีสุขขึ้นจริงหรือเปล่า? หรือว่าความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด? (คนจบปริญญา ตกงานมากกว่าคนจบ ป.๔)

การนำเสนอของ คุณลม เปลี่ยนทิศ ในคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย ในหัวข้อจุดอ่อนของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ ก.ค. ๒๕๔๖ และการนำเสนอข้อมูล ปัญหาการศึกษา ที่เกิดจากการจัดการศึกษาในระบบ โดยเก็บข้อมูล จากผู้จัดการศึกษาทางเลือก ๕๐ กลุ่ม เขตภาคกลาง น่าจะทำให้เรา สามารถมองปัญหา การศึกษาของไทยได้ อย่างทะลุทะลวงยิ่งขึ้น

จุดอ่อนประเทศไทย
จากบทสรุปของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในงานสัมมนาประจำปี เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน วันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็น "จุดอ่อน" ของประเทศไทย ที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้ "คุณภาพชีวิต" คนไทย "อยู่ดีมีสุข" มากกว่าที่เป็นอยู่

ก็ต้องชม คุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสำนักงานฯ ที่กล้ายืนหยัดในตัวเลขที่ทำมา แม้จะถูกอัด เรื่องตัวเลข ไปหลายครั้งแล้วก็ตาม

จุดอ่อนข้อแรก ผมว่าสำคัญที่สุด นั่นคือ "ระดับความรู้" ของคนไทย ยังมีการพัฒนาการที่ล่าช้า และ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดัชนีความรู้ของคนไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๗๓.๕ ในปี ๒๕๔๔เป็นร้อยละ ๗๔.๑ ในป ๒๕๔๕ ดีขึ้นมานิดเดียวแม้โอกาสการเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลาย จะเพิ่มขึ้น โดยตลอดก็ตาม

ปัญหาสำคัญก็คือ การเรียนรู้ หรือจำนวนปีการศึกษา ในการเรียนหนังสือของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ ๗.๘ ปี เพิ่มขึ้น ช้ามาก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาแล้วในแถบเอเชีย ซึ่งมีจำนวนปีการศึกษา ในโรงเรียน เฉลี่ยอยู่ที่ ๙-๑๑ ปี

นี่คือ "จุดอ่อนที่สุด" ของประเทศไทย และเป็น "อุปสรรคใหญ่" ต่อการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน เพราะฐานใหญ่ ของสังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่ "มีความรู้น้อย" ทำให้พัฒนาลำบาก จึงมักตกเป็น "เหยื่อ" ของคนที่เหนือกว่า อย่างเช่นเรื่องการวิจัยของนักวิชาการในเรื่อง "บ่อนการพนัน" โดยอาศัย ความไม่รู้ และรู้น้อยของประชาชนมาเป็นเหยื่องานวิจัย แล้วก็อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ชอบ ถ้าเขามี ความรู้ สูงกว่านี้ เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ และไม่งมงายทรงเจ้าเข้าผี เพื่อขอหวยเล่นการพนันก็ได้ นี่คือความจริง

เรื่องการศึกษา ถ้านายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ผมว่าก้าวไปลำบากครับ และ เราคงต้องย่ำต๊อกล้าหลังชาติอื่นอยู่อย่างนี้ สุดท้ายขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะล้าหลังไปด้วย

การศึกษาที่ดีอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะช่วยให้คนไทยเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน และสามารถ พัฒนาได้ ผมอยากเห็นนายกฯ ทักษิณ ลงมาลุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหมือนที่ลุยเรื่องอื่นๆ มาแล้ว
"ลม เปลี่ยนทิศ"

วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาที่เกิดจากการจัดการศึกษาในระบบ ของสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยได้เก็บข้อมูลจากผู้จัดการศึกษาทางเลือก ๕๐ กลุ่ม เขตภาคกลาง ได้พบว่าปัญหา การศึกษา ในปัจจุบันมีดังนี้

๑. คนไม่รู้จักวิเคราะห์ปัญหา ทรัพยากรท้องถิ่น การจัดการ ได้รับการปลูกฝังให้พึ่งพาปัจจัยภายนอก ทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้

๒. การศึกษาในระบบไม่สามารถรับมือกับกระแสบริโภคนิยมในปัจจุบันได้ เป็นต้นว่า ปัญหายาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในสังคม การพนัน และ ความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย

๓. การศึกษาทำลายความเชื่อมั่นในภูมิปัญญา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามที่เคยมีมา รู้สึกว่าตนเองล้าหลัง ถ้าไม่จบ การศึกษา คนจะคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่สามารถทำงานได้

คนจึงทุ่มทุน เวลา แรงงาน ไปแข่งขันกันศึกษา เรียนให้จบในระดับสูง เพื่อนำปริญญา มาเป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาเงิน ตำแหน่ง หน้าที่การงาน และผลประโยชน์อื่นๆ

ด้วยเหตุดังกล่าว การศึกษาก่อให้เกิดการสูญเสียเวลา ทุน ความสัมพันธ์ที่ดี ในระบบครอบครัว ที่เคยมีมา สูญเสียไป วัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลหายไป สังคมขาดความไว้วางใจกัน คนเห็นแก่ตัว เอารัด เอาเปรียบกัน ศีลธรรมเสื่อมลง ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมมากมาย

ก่อนจบก็ขอฝากระบบ การศึกษาทางเลือก ให้ได้พิจารณากันว่า น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ ให้แก่สังคมไทย ในปัจจุบันนี้ ได้หรือไม่?

การศึกษาทางเลือก คือ การศึกษาที่เป็นไปในทิศทางต่อไปนี้

๑. เป็นกระบวนการเรียนรู้จากวิถีชีวิตจริง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เรียนรู้ปัญหา รู้จักทรัพยากร รู้จัก สัมมา อาชีพ รู้จักข้อมูลข่าวสาร และรู้จักการจัดการ คนจึงจะพึ่งตนเองได้

๒. การที่จะเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาแบบไหนดีและมีคุณภาพนั้น ให้ดูที่ผลผลิตทางการศึกษาว่า สามารถ แก้ปัญหาชีวิตของคน ชุมชน สังคม และประเทศได้หรือไม่

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)