ทำงานหนักเพื่อโลก
(กัณหชาดก)
ตัวอย่างคนดีในโลก
ชุ่มโชกหยาดเหงื่อเสียสละ
สู้งานหนักไม่ลดละ
ภาระนี้เพื่อผองชน
ณ โรงธรรมสภา ภิกษุทั้งหลายกำลังสนทนากันอยู่
ถึงพระคุณของพระศาสดา
"ท่านทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบกภาระเกื้อกูลโลก กระทำงานหนักนัก อย่างที่ไม่สามารถ
หาผู้ใด มาเสมอเหมือนได้เลย แม้แต่ครูทั้ง
๖ (เจ้าลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนา ๑.ปูรณกัสสป ๒.มักขลิโคสาล ๓.อชิตเกสกัมพล
๔.ปกุทธกัจจายนะ ๕.สัญชัยเวลัฏฐบุตร ๖.นิครนถนาฏบุตร)ก็มิอาจนำมาเปรียบได้
ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง"
พอดีพระศาสดาเสด็จมายังพระเชตวันมหาวิหาร
พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ แล้วตรัสถามถึงเรื่องที่ภิกษุ สนทนา กันอยู่
เมื่อทรงทราบเรื่องราวนั้น จึงตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ตถาคตมิใช่กระทำงานหนักเกื้อกูลโลกแต่เพียงบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน
เราได้เคยเกิด เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่มีใครสามารถกระทำงานหนักเพื่อผู้อื่น
เสมอเหมือนเราได้เลย"
แล้วตรัสเล่าเรื่องราวนั้น
ในอดีตกาล หญิงชราคนหนึ่งฐานะยากจน
มีเรือนเก่าประจำตระกูลของตน เป็นที่พักอาศัย แต่ได้มี เจ้าของโค
คนหนึ่ง มาขอเช่าเรือนบางส่วนอยู่ชั่วคราว โดยจะจ่ายค่าเช่าให้แก่หญิงชราเป็น
ลูกโค สีดำสนิทตัวหนึ่ง
ครั้นถึงเวลากำหนด
หญิงชราจึงได้เป็นเจ้าของลูกโคตัวนั้น เพราะความจน นางได้เลี้ยงดูลูกโค
ด้วยข้าวยาคู (ข้าวต้มเหลวซดได้) แต่ก็รักและเอาใจใส่ดูแล เสมือนดังเป็นลูกของนางเอง
เลยทีเดียว ลูกโคนั้น จึงได้ชื่อเรียกขานว่า
อัยยิกากาฬกะ (เจ้าดำของยาย)
ลูกโคดำนับวันจะเติบใหญ่ขึ้น
เป็นโคหนุ่มมีพละกำลังมหาศาล เป็นโคอาชาไนย
(โคฉลาดพันธุ์ดี) ที่มีความสงบ สำรวมเป็นเลิศ แม้พวกเด็กๆ
ชาวบ้านจะมาแหย่เล่น จับเขาบ้าง จับหูบ้าง โหนคอบ้าง ดึงหางบ้าง ขี่บนหลังบ้าง
ก็มิได้มีความโกรธเคืองแต่ประการใด
อยู่มาวันหนึ่ง
โคดำอัยยิกากาฬกะบังเกิดความคิดขึ้นมาว่า
"แม่ของเรายังยากจนอยู่
แต่ก็เลี้ยงดูเราดุจเป็นลูกสุดที่รัก แม่ต้องตรากตรำลำบากเพื่อเรามามาก
เช่นนี้ เราน่า จะตอบแทนคุณ ช่วยทำงานรับจ้างหาทรัพย์มา ให้แม่ของเราได้พ้นไปเสียจากความยากจน"
แล้วต่อมาโอกาสก็มาถึง....เมื่อลูกของพ่อค้าเกวียนคนหนึ่ง
ซึ่งคุมกองเกวียนอยู่ ๕๐๐ เล่ม นำขบวนเกวียน เดินทางผ่านมา
ไม่ไกลบริเวณที่อยู่ของหญิงชรานัก ปรากฏว่าเกวียนต้องข้ามแอ่งโคลนลึก
พอเกวียน เล่มแรก ลงสู่แอ่งโคลน ล้อเกวียนก็จมลึกทันที ไม่อาจขยับเขยื้อนต่อไปได้เลย
แม้จะเอาโคทั้งหลาย จากเกวียน เล่มอื่นมาช่วยฉุด ก็ไม่สามารถลากเกวียนขึ้นได้
พอดีกับโคดำอัยยิกากาฬกะกับพวกโคของชาวบ้าน
เที่ยวหากินอยู่แถวนั้น ลูกพ่อค้าเกวียน บังเอิญมองเห็นเข้า ด้วยเพราะมีความรู้
ในลักษณะโค จึงดูออกว่า โคดำเป็น โคมงคลอาชาไนย มีพละกำลังมาก สามารถจะลากเกวียนทั้งหมด
ข้ามแอ่งโคลนลึกไปได้ จึงได้ร้องถาม คนเลี้ยงโค ในบริเวณนั้นว่า
"ใครหนอเป็นเจ้าของโคดำตัวนี้
เราจะขอจ้างเอาโคดำนี้เทียมเกวียน ให้ลากข้ามแอ่งโคลนนี้ไป"
พวกคนเลี้ยงโคชี้ไปที่บ้านของหญิงชรา
แล้วตอบว่า
"ยายเจ้าของโคดำอยู่ที่บ้านหลังโน้น
นางไม่ได้ยืนอยู่ที่ตรงนี้ ท่านก็จงจับโคดำ เทียมเกวียน เอาเองเถิด"
ลูกพ่อค้าเกวียนก็ไม่รอช้า
รีบเอาเชือกผูกโคดำทันที แล้วลากไปเทียมเกวียน แต่ฉุดลากเท่าใด
ก็ไม่อาจ ทำให้โคดำ เคลื่อนที่ได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ.. โคดำรอให้ลูกพ่อค้าเกวียน
กำหนดค่าจ้าง เสียก่อน นั่นเอง ดังนั้น จึงยืนนิ่งกับที่คอยอยู่
เมื่อเห็นอาการเช่นนั้นของโคดำ
ลูกพ่อค้าเกวียนก็เข้าใจได้ จึงประกาศออกไปว่า
"โคดำผู้ประเสริฐ
หากท่านลากเกวียน ๕๐๐ เล่มนี้ ข้ามแอ่งโคลนได้แล้ว
เราจะเก็บทรัพย์เกวียนละ ๒ กหาปณะ (๑ กหาปณะ=๔ บาท)
ให้เป็นค่าจ้าง รวมแล้วท่านจะได้ ๑,๐๐๐ กหาปณะ"
จบคำของลูกพ่อค้าเกวียน
โคดำก็เดินไปให้เทียมเกวียนเองเลยทีเดียว พอเทียมเสร็จ โคดำก็ออกกำลัง
ฉุดลาก เพียงทีเดียวเท่านั้น เกวียนก็หลุดจากแอ่งโคลนลึก ขึ้นมาสู่อีกฝั่งได้
ดังนั้น เกวียนทั้งหมด จึงถูกลากข้ามแอ่งโคลนสำเร็จ แต่กว่าจะหมด ๕๐๐
เล่มเกวียน ก็ทำเอาโคดำเหน็ดเหนื่อย จนตา ทั้งสองข้าง แดงก่ำเลยทีเดียว
งานเสร็จแล้ว ลูกพ่อค้าเกวียน
จึงเที่ยวเดินเก็บ ๑ กหาปณะต่อเกวียน ๑ เล่ม ได้ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ
นำมาห่อด้วยผ้า แล้วผูกไว้ที่คอของโคดำ จากนั้น ก็เตรียมดินทางต่อไป
แต่โคดำอัยยิกากาฬกะเห็นลูกพ่อค้าเกวียน
กระทำเช่นนั้นแล้ว ก็คิดขึ้นว่า
"มนุษย์ผู้นี้มิได้กระทำตามสัญญา
ไม่ได้ให้ค่าจ้าง ตามที่กำหนดไว้ ฉะนั้น เราจะไม่ให้เขาไป"
จึงก้าวไปยืนขวางอยู่ข้างหน้าเกวียนเล่มแรกสุด
แม้คนทั้งหลาย จะพยายามผลักดัน ลากจูงอย่างไร โคดำ ก็ไม่ยอม หลีกทางให้
จนในที่สุด ลูกพ่อค้าเกวียน ก็ยอมจำนน ด้วยเข้าใจดีว่า
"โคดำตัวนี้คงรู้ว่า เราโกง ค่าจ้าง ของมันเป็นแน่"
ดังนั้นจึงเที่ยวเก็บอีก
๑ กหาปณะ จากเกวียนแต่ละเล่ม ได้ ๕๐๐ กหาปณะ นำมาผูกไว้ ที่คอของโคดำ
อีกห่อ รวมแล้วจึงมี ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วบอกกับโคดำว่า
"นี้เป็นค่าจ้างครบถ้วน
ตามที่ได้ตกลงกับท่านไว้"
เป็นเช่นนี้โคดำจึงยอมหลีกทางให้
นำเอาห่อทรัพย์ มุ่งกลับไปยังบ้านของหญิงชรา โดยมี
พวกเด็กชาวบ้าน เดินตาม ไปด้วย แล้วจับดึงเล่น ที่ห่อทรัพย์นั้น
โคดำจึงไม่รอช้า รีบวิ่งหนีกลับบ้าน อย่างรวดเร็ว เด็กๆ ก็ยิ่งสนุกสนาน
วิ่งตามกันใหญ่
พอถึงบ้านแล้ว หญิงชราได้เห็นห่อทรัพย์
๑,๐๐๐ กหาปณะ เห็นอาการเหน็ดเหนื่อย จนตาแดงก่ำ ของโคดำ เห็นเด็กๆ
วิ่งไล่ตามมาเป็นขบวน อดสงสัยไม่ได้ที่จะเอ่ยถามว่า
"เจ้าได้ทรัพย์มาจากที่ไหน
แล้วทำไมจึงมีอาการเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้"
โคดำไม่อาจตอบเป็นภาษามนุษย์ได้
พวกเด็กๆ ทั้งหลายจึงช่วยกันตอบแทนให้ โดยเล่าเรื่องราวทั้งหมด ให้ยายรับรู้
เมื่อหญิงชราได้ฟังแล้ว อดสงสาร ลูกของนางไม่ได้ ทั้งยังซาบซึ้ง ในน้ำใจของลูกรัก
เป็นอย่างยิ่ง จึงกล่าวว่า
"ลูกรัก แม่ต้องการเลี้ยงชีวิตอยู่
ด้วยค่าจ้างที่ต้องให้เจ้าทำงานหนักหรือ ต้องให้เจ้าได้รับทุกข์ เห็นปานนี้
เชียวหรือ"
แล้วก็จูงโคดำไปอาบน้ำอุ่น
เอาน้ำมันทาทั่วร่างกาย ให้ดื่มและกินอาหารอย่างดี เอาใจใส่เลี้ยงดูโคดำ
ให้อยู่สุขสบาย ไปจนตลอดชีวิต
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าจบแล้ว
ทรงแสดงถึงบุคคลให้ทราบว่า
"หญิงชราในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรีในบัดนี้ ส่วนโคดำอัยยิกากาฬกะ ได้มาเป็นเรา
ตถาคต"
แล้วตรัสสรุปแก่ภิกษุในที่นั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ในที่ใดๆ มีการงานหนัก มีแอ่งโคลนลึก ในที่นั้นคนทั้งหลาย จะเทียมโคดำเข้า
แล้วโคดำ จะทำงานหนักนั้น ให้สำเร็จลุล่วงได้โดยแท้
ดุจเดียวกับตถาคตกระทำงานหนัก เกื้อกูลโลกไว้ อย่างไม่มีใคร เสมอเหมือนได้เลย"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๙ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า
๓๑๒)
วัวงาน
คนนับพันชี้หน้าหยันเยาะเย้ย
เยือกเย็นเฉยสู้สรรค์สร้างอย่างแกร่งกล้า
ทำ..ทำ..ทำ..เพื่อปวงชนด้วยเมตตา
น้อมชีวาค้อมหัวเป็นวัวงาน
* ครองขวัญ
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)
|