เรื่องสั้น - ธารธรรม - (ต่อจากฉบับที่๑๕๖)

น้ำตาเทียน


ไปวัดฟังเทศน์ทุกครั้ง พระท่านให้พิจารณาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ลึกซึ้ง เสียตั้งแต่เรายังมีชีวิตอยู่นี้ ท่านบอกว่าคนเราหัวเราะกันผิดๆ ร้องไห้กันผิดๆ เช่น เมื่อเห็นคนเกิดมาใหม่จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ต่างหัวเราะแสดงความดีใจ แต่พอได้ข่าวว่าตายแล้ว ต่างก็ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ โดยหารู้ไม่ว่า เกิดนั่นแหละ คือตาย เพราะความตายรออยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอนแล้ว เมื่อได้พิจารณาดูอย่างนี้ มันก็จริง อย่างพระท่านว่า

ข้าพเจ้าไม่รู้สึกกังวลเรื่องเกิดตายเท่าไหร่เลย แต่กลับกังวลเรื่องเจ็บกับเรื่องแก่มากที่สุด เพราะเมื่อเห็น คนแก่ทีไรรู้สึกท้อแท้ คนแก่ที่มีประโยชน์ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานได้พิงพักรักษา ก็สมควรแก่อยู่หรอก แต่สำหรับคนแก่อย่างตัวข้าพเจ้าแล้วยังมองหาประโยชน์อย่างที่ว่านั้นไม่ได้เลย นอกจากมอบ ความแก่ ให้เป็นภาระของคนอื่น แก่กับหนุ่มใช้เวลาเดินทางเกือบจะใกล้เคียงกัน แก่อยู่ในช่วงอายุหกสิบปีขึ้นไป จนถึง วันสิ้นลมหายใจ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะต้องใช้เวลาอยู่กับความแก่อีกนานเท่าไหร่ ถ้าอายุยืน ถึงเก้าสิบปี ก็ต้องใช้เวลาแก่อยู่ถึงสามสิบปี ลำบากไม่น้อยเลยสำหรับคนแก่ที่ไร้ประโยชน์อย่างตัวข้าพเจ้า เป็นภาระที่หนักมาก สำหรับลูกหลาน ความสุขอย่างโลกๆ นั้นไม่มีแล้ว นอกจากเข้าศาลา นั่งเป็นเพื่อนพระ ในวันศีลแปดค่ำ สิบห้าค่ำ หรืออะไรทำนองนั้น ชีวิตคนแก่ถ้าจะคิดกันแบบโลกๆ แล้วจะเหลืออะไร เป็นความสุข การเป็นภาระให้คนอื่นดูแลรักษาเยียวยาเป็นความสุขเรอะ? คงไม่ใช่แน่ๆ คิดดู
แล้วข้าพเจ้า ก็น่าจะตาย เสียก่อนแก่จะดีกว่า อยู่ถึงหกสิบปีก็ถือว่ามากแล้ว

กลับมาจากงานถึงบ้านตอนเย็น หลังจากอาบน้ำชำระร่างกาย ความกระปรี้กระเปร่า กระชุ่มกระชวย ก็กลับคืน เปลี่ยนเสื้อผ้าสวมชุดใหม่เสื้อยืดกางเกงขาสั้นสบายๆ จากนั้นก็เข้าครัว กินอาหารเย็น ตามประสา คนบ้านนอกคอกนา ไม่มีอะไรต้องประณีต ละเอียดลออเหมือนคนในมดในเมืองแต่อย่างใด ยามกินข้าว ก็นั่งขัดสมาธิ ราบลงกับพื้น เปิบข้าวจากชามใส่ปากเคี้ยวตุ้ยๆ เมื่อมีเรื่องมาสนทนา ตามประสา ครอบครัว ก็ว่ากันไปคุยกันไป บ้านนอกคอกนา สมัยนี้น้ำไหลไฟสว่าง ผิดจากสมัยเก่าก่อน เป็นอันมาก เมื่อก่อนมืดค่ำต้องจุดตะเกียงน้ำมันแต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ไฟฟ้าสอดแทรก เข้าถึงหมด ทุกหัวระแหง เปิดปุ๊บติดปั๊บ

"เมื่อคืนไม่ได้กลับบ้าน พ่อไปค้างที่วัดรึ?" เสียงแม่บ้านทำลายความเงียบ "จ้ะ.." ข้าพเจ้าตอบ "หลวงพ่อ สบายดีหรือเปล่า?" "สบายดี ท่านไม่เจ็บไม่ป่วยอะไร ความจริงเมื่อคืน พี่คิดว่า จะกลับเหมือนกัน แต่หลวงพ่อบอกว่า มาถึงวัดแล้วก็นอนให้คุ้นวัดเสียบ้าง คราวหลังจะได้ไม่เคอะไม่เขิน"

"คงไปแสดง ความเปิ่น ให้ท่านเห็นสิท่า"

"คงงั้นมั้ง"

"เห็นพ่อเป็นอย่างนี้ประจำ ไปวัดแต่ละครั้งกว่าจะเข้าหาพระได้ต้องท่องนะโมไม่รู้กี่จบ บางทีฉัน ก็รำคาญแทน เหมือนกันนะ" แม่บ้านต่อว่า

"พระนั้นไม่เท่าไหร่หรอก แต่เกรงใจคนที่นั่งสนทนาอยู่กับพระต่างหาก กลัวว่าจะไปขัด จังหวะเขา"

"เขาก็คนเหมือนกันเรานี่แหละพ่อ เมื่อเขามีเรื่องสนทนา เรามาใหม่ก็นั่งฟังไปก่อน ไม่เห็นว่า จะเป็นการขัด ตรงไหน หรือน่ากลัวตรงไหน ถ้าเข้าไปนั่งใกล้ๆ แล้วตายก็ยังน่าจะกลัวอยู่บ้าง แต่นี่ไม่ได้เป็น อย่างนั้น สักหน่อย"

"เรื่องตายนี่ พ่อไม่เคยคิดกลัวเลย เพราะคนเราเกิดมาก็ต้องตายทุกคนอยู่แล้ว ที่ไม่กล้า เข้าไปหา ไม่ใช่เพราะ กลัวตาย แต่เป็นเพราะเกรงใจ แม่ก็ชอบพูดอะไรเกินเลยไป"

"พ่อไม่กลัวตาย แต่ฉันกลัว เพราะความตายไม่มีใครชอบ ทั้งชาวบ้านชาววัดต่างกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น พ่อเอง ก็เถอะ ถึงเวลาก็กลัวเหมือนกันนั่นแหละ อย่าขี้คุยไปหน่อยเลย"

"ไม่ใช่ว่าพ่อขี้คุยอย่างที่แม่ว่านะ แต่คนเราต้องกลัวอย่างมีเหตุมีผล ใช่ทึกทัก นึกเห็นความตาย ก็กลัว เสียแล้ว ใช่ พ่อยอมรับว่า มนุษย์เราทุกคน กลัวความตาย แต่.."

"แต่เต่ออะไรกันพ่อ ความตายต้องมีเหตุผลด้วยเรอะ? ฉันเห็นคนที่หากินอยู่กับความตายแท้ๆ อย่างตาถัน บ้านเรา เป็นทั้งสัปเหร่อ ทำโลงขาย ทำหรีดขาย ตลอดจนพวกที่ขายดอกไม้จันทน์นั้นก็เถอะ ยิ้มแต้ เมื่อเห็น คนอื่นตายนั้น เท่านั้น แต่พอความตายหันมาหาตัวเองบ้าง เท่านั้นแหละ ร้องโอยทุกคน ตาบัวพา บ้านเรา ยิ่งแล้วใหญ่ เป็นโรคหืด กลัวตายถึงขนาด เช่าถังออกซิเจนหมอ มานอนแหย่จมูก อยู่กับบ้าน ทั้งๆ ที่แกเป็นสัปเหร่อ เห็นคนตายอยู่ ไม่เว้นแต่ละวัน เห็นอยู่อย่างนี้แล้ว ถึงพ่อจะเอาเหตุผล อะไรมาอ้าง มันก็ฟังไม่ขึ้น"

"จ้า ที่แม่พูดมาทั้งหมดมันก็จริง แต่ถ้าเราหาเหตุหาผลมาประกอบเสียบ้าง บางทีคนเรา อาจจะกลัว ความตาย น้อยลง พี่ขออ้างพระพุทธเจ้าเป็นเบื้องแรก พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าสัตวโลกทุกชนิด ต้องตาย เพราะถ้าไม่ตาย สัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่มีแผ่นดิน จะอาศัยเช่นกัน ชีวิตทุกชีวิตเกิดมาแล้ว ต้องตายทั้งนั้น และ ไม่มี ยาวิเศษอะไรมารักษาไม่ให้ตายได้ ท่านจึงหาวิธีชี้แนะผ่อนหนักให้เป็นเบา จากการกลัวตาย มากๆ ให้เหลือ ความกลัวตายน้อยลง จึงทรงแนะนำนักบวชของพระองค์ว่า จงพิจารณาความตาย ให้ได้วันละ หลายๆ ครั้ง

วิธีแก้กลัวความตายของพระกับชาวบ้านจึงไม่เหมือนกัน ชาวบ้านกลัวตายแต่ไม่ยอมคิดถึงความตาย ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าเรากลัวตายแล้วละก็ จงคิดถึงความตายบ่อยๆ เข้าไว้จะได้คุ้นเคยกับมัน แต่กลายเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกของชาวบ้าน เพราะวิธีของชาวบ้านนั้น ถ้ากลัวแล้วต้องหนี คือ หนีไม่ให้พบ ไม่ให้เห็น แบบทารกเห็นอะไรน่ากลัว ก็ใช้มือปิดตาไม่ให้เห็น ชาวบ้านเรา ก็เช่นเดียวกัน ใช้วิธี ไม่ยอมดู ไม่ยอมคิด ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ ถึงทางออกของความกลัวตาย ไว้มากมาย จนต้องบัญญัติ ข้อห้ามต่างๆ เอาไว้ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ใครมาพูดถึงความตาย ก็จะถูกผู้ใหญ่ห้ามปราม ถือว่า พูดเป็นลาง ไม่เป็นมงคล หรืออะไรทำนองนั้น แม้แต่บทสวดมนต์ของพระ บทที่สวด ในงานศพงานตาย ถ้าขืนพระเอาไปสวด ในงานมงคลดูซิ เจ้าภาพโกรธตายเลย ทั้งๆที่บทสวดมนต์ แต่ละบทเป็น พุทธวจนะ และ เป็นข้อธรรม เหมือนกัน แต่ก็ต้องถูกรังเกียจ หาว่าเป็นบทที่สวด ให้คนตายฟัง ลองคิดย้อนไปดูดีๆ ซิ คนตายไปแล้ว จะมานอนฟัง อยู่ในโลงอย่างไรกัน หรือถ้าคนตายมาฟังได้ ในงานก็คงจะวุ่นวาย กันใหญ่ ผีก็ชอบ สิ่งที่ดีๆ ไม่ชอบสิ่งที่ไม่เป็นมงคลเช่นกัน เกิดผีไม่ถูกใจ แล้วโวยวายขึ้นมา จะไม่ยุ่งกันใหญ่เรอะ ทั้งพระทั้งโยม จะไม่วิ่งหนี ไปคนละทิศละทางรึ?

"ที่จริงคำว่า 'ตาย' หมายถึงการแตกสลายของร่างกายคือตัวเรานี้ประกอบด้วยธาตุหลายอย่าง ครั้งอยู่ๆ ไปส่วนผสม มันหมดยางแล้ว ก็ต้องแตก แยกสลายออกจากกัน เราจึงเรียกการแตกสลาย ของชีวิตสัตว์โลกว่า "ตาย" พี่นั่งอยู่ตรงนี้ น้องนั่งอยู่ตรงนั้น เราทั้งสองคน ต่างก็มาจาก ส่วนผสมของธาตุ ที่รอวันแตกสลาย อยู่ทุกเวลานาที แม้ว่าเราจะกลัวมัน สักเพียงใด แต่ความตาย ก็ไม่เคยยกเว้นเรา แล้วเรา จะต้องไป กลัวทำไม เพราะความตาย มันมาอยู่กับเรา ตั้งแต่วันที่เราเกิดแล้ว จะหนีจะกลัวอย่างไร มันก็ไม่พ้น เพราะมันรอจังหวะ การเสื่อมของธาตุประกอบ แล้วก็แตกสลาย เท่านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเรื่อง ที่ทุกคนเรียน ทุกคนรู้ แต่ทุกคนก็กลัวกันมา แต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่เคยเห็นใคร หนีพ้นสักคนเดียว ถึงแม้จะกลัวไป ก็เท่านั้น อ้าวไฟดับ"

กำลังนั่งกินข้าวสนทนากันอยู่ดีๆ ไฟฟ้าเจ้ากรรม เกิดดับขึ้นมา อย่างไม่มีปี่มีขลุย ความมืด ทำให้เราทั้งสอง ต้องวุ่นวาย คลำหาไม้ขีดไฟ เหตุเกิดขึ้นโดย ไม่มีการตระเตรียมอะไรไว้ หาไม้ขีดไฟพบแล้ว ยังต้องวิ่งหาเทียน มาจุดอีก ทำเอาอาหารมื้อนี้ จืดชืดไปมากทีเดียว

"เอาข้าวอีกมั้ยพ่อ?" แม่บ้านเอ่ยถาม

"อีกสักหน่อยก็ดี" ข้าพเจ้าตอบ

"คุยเรื่องความตายยังไม่ทันได้จบ ไฟฟ้าเกิดมาตายหนีจากก่อน ไม่รู้อีกนานแค่ไหน ไฟถึงจะมา ลงได้ดับ แบบนี้แล้ว คงนานอีกเป็นแน่" แม่บ้านบ่นพึมพำ

"ช่างเถอะ มันจะดับนานแค่ไหนก็เรื่องของมัน เรารีบกินข้าวให้อิ่ม แล้วรีบเข้านอน ก็สิ้นเรื่อง เรานอนหลับแล้ว ไฟจะมาพรุ่งนี้เช้า ก็ไม่เห็นเป็นไร" ข้าพเจ้ากล่าว

"อ้าว จะรีบเข้านอนเสียแล้ว ไม่กล่าวถึงความตายต่ออีกหน่อยรึ?" สุ้มเสียงคล้ายประชด

"โธ่! แม่ก็อย่าคิดว่าการคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เป็นเรื่องน่ารำคาญซิจ๊ะ"

"ไม่ได้ว่าสักหน่อย ถ้ารำคาญ จะให้พูดต่อเรอะ?"

"บางครั้งการสนทนา ก็ทำให้เราเกิดปัญญานะแม่ อย่างเมื่อกี้ เราคุยกันเรื่อง กลัวตาย แต่เราก็หนีตาย ไม่พ้นนั้น ถ้าเราย้อนไปหาคำพระที่ว่า ควรคิดถึงความตามบ่อยๆ จะได้ประโยชน์ หลายอย่าง เช่น ทำให้เรากล้า เพราะคุ้นเคยกับตาย และถ้าเรานึกถึง ด้วยปัญญานะ อย่านึกด้วยความโง่ ทั้งหมดเรา ต้องคิดด้วยใจ เป็นธรรม ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่เคยเห็นใครบ้าง ที่เสียผู้เสียคน เพราะนึกถึงความตาย ตามแบบของพระพุทธเจ้า? ไม่มีใช่ไหม มีแต่คนลืมตายเท่านั้นแหละ ที่เสียผู้เสียคน โลภโมโทสัน กวนบ้านกวนเมือง ให้เดือดร้อนวุ่นวาย ก็เพราะคนไม่นึกถึง ความตายเหล่านี้ ทั้งนั้นแหละ

"ทุกอย่างมีเหตุมีผลทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ความกลัวตาย ขอเพียงแต่ว่า เราอย่ามองอะไร เห็นอะไรแล้ว ผ่านไปเฉยๆ เถอะ ทุกอย่างเป็นธรรมะ เป็นปัญญา อย่างเทียนที่จุดให้แสงสว่าง แทนไฟฟ้าแก่เรา อยู่ในขณะนี้ ก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้มัน ให้ความสว่าง เราจะได้กินข้าวกัน จนอิ่มหรือวันนี้ ดูซิ ไฟฟ้าดับ ตั้งนาน จนปานนี้ ยังไม่มีวี่แววว่า จะมาเลย เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องถือว่า เทียนมีบุญคุณต่อเรา ที่ยอมทรมานตัวเอง เพื่อให้แสงสว่าง ถ้าเทียบมีชีวิตวันนี้ มันอาจจะหัวเราะ หรือร้องไห้ก็ได้"

"โอ๊ย พ่อก็ว่าไป มันจะหัวเราะร้องไห้ได้อย่างไร เทียนมันไม่มีชีวิตสักหน่อย" แม่บ้านค้าน

"นี่แหละ ที่พ่อพูดนี่พ่อหมายถึงว่าถ้าหากเทียนมันมีชีวิต มันอาจจะตำหนิเราก็ได้ว่า แต่วี่แต่วันมัวทำอะไร ทำไมไม่กินข้าวกันเสียก่อนมืดก่อนค่ำ เอาแน่นอนอะไรกับไฟฟืนไฟฟ้าอยากดับมันก็ดับ อยากติดมันก็ติด และถ้าเกิดค่ำวันนี้ไม่มีเทียนขึ้นมาล่ะ เราจะกินข้าวกันอย่างไร?"

"อืมม์..มันก็จริงนะ แล้วที่พ่อบอกว่าเทียนมันอาจจะหัวเราะหรือร้องไห้ก็ได้นี่ล่ะ หมายความว่าอย่างไร?" ดูเหมือนว่า ชักเห็นด้วย

"หมายความว่า ถ้ามันหัวเราะก็เพราะความดีใจที่วันนี้มันมีโอกาสได้ทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่พวกเราอีกครั้ง แต่ถ้ามันร้องไห้ก็คงเป็นเพราะมันต้องเจ็บปวดทรมานจากความร้อนที่กำลังเผาไหม้อยู่ในขณะนี้ เพื่อความสุข และความอิ่มท้อง แก่เราทั้งสองคน มันยอมเผาตัวเองอย่างอดทน จนน้ำตาไหลริน อย่างไม่ขาดสาย แต่ใครบ้างเล่าที่จะเห็นคุณค่าของน้ำตาเทียนในคืนนี้ เราอิ่มข้าวกันแล้ว เทียนก็ยัง ไม่หมดหน้าที่ ที่จะให้แสงสว่าง จนกว่า เราจะเสร็จกิจต่างๆ นั่นแหละ

"เทียนทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์มาตั้งแต่โบราณ พระผู้ทรงศีลได้อาศัยเทียนทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ อ่านหนังสือ ท่องตำรับตำรา เทียนให้ความรู้ ให้ปัญญาแก่มวลมนุษย์ มานานแสนนาน เพราะฉะนั้น วันนี้น้ำตาเทียน จึงไหลริน อย่างมีความหมาย ทั้งนี้ก็สุดแท้แต่ว่า เราจะพิจารณา หาคุณค่า เปรียบเทียบ ให้เห็นได้ ด้วยเหตุ ด้วยผลกันเท่านั้น ถึงแม้บ้านเมือง จะพัฒนาเจริญมา ไกลแล้วก็ตาม จนมีไฟฟ้า ให้แสงสว่าง ที่สะดวกสบาย แต่แสงเทียน ก็ยังไม่หมดสมัย และยังทันสมัยอยู่เสมอ สมกับ คำสมญานาม ที่ว่า เทียนคือแสงแห่งปัญญา ที่ให้ความรู้แก่มวลมนุษย์ อย่างไม่มีวันจบ พูดมาถึงตรงนี้ ก็นึกถึง คำพระที่ว่า ทางศาสนา ได้วางหลักศึกษาสำคัญๆ เอาไว้สามหลัก ที่เขาเรียกว่า ไตรสิกขา นั่นแหละ คือ

-หลักศีล มุ่งให้คนมีกิริยามารยาท สุภาพเรียบร้อย
-หลักสมาธิ มุ่งให้คนมีจิตใจหนักแน่น
-หลักปัญญา มุ่งให้คนฉลาดในเหตุผล

"ทั้งสามหลักที่กล่าวมานี้ มุ่งให้คนมีปัญญา มีความเฉลียวฉลาด มีความหนักแน่น สุภาพเรียบร้อย ไม่งมงาย หรือเชื่ออะไรง่ายๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามุ่งฝึกคนให้มีปัญญา หาเหตุผล มาประกอบ เพื่อค้นหา ความเป็นจริง และ ความถูกต้องนั่นเอง"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)