>เราคิดอะไร

"หนี้" คือวิธีสร้างทุกข์และทำลายสังคม
ซื้อขาย เงินสด งดเชื่อ คือ เครดิตเหนือเครดิต

หนี้พารวย หรือหนี้พาซวย (ทำให้จนหนักขึ้น)" ดูจะเป็นข้อสนทนาของนักวิชาการ นักเขียน นักการเมือง และชาวบ้านร้านตลาดอยู่ในขณะนี้

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ออกมาสนับสนุนโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนอย่างเต็มที่ เพราะจะทำให้ "ดิน" ในประเทศไทยกลายเป็น "ทอง" ขึ้นมา จากของไม่มีค่าจะกลายเป็นของมีค่ากว่า ๘ แสนล้าน เท่ากับอยู่ๆ ประเทศไทยมีเงินมากขึ้นอีก ๘ แสนล้าน ใครมีที่ดินมากเท่ากับมีทรัพย์สมบัติมาก "มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะนำพวกเราไปถูกทางแล้ว โดยเฉพาะนายกฯ คนนี้มาจากยากจนจนร่ำรวย และเชื่อว่าประเทศไทยจากยากจนจะร่ำรวยเหมือนท่าน ผมเคยเป็นคู่แข่ง ผมรู้ฝีมือของท่าน ผมนับถือว่าท่านไม่ใช่นักธุรกิจธรรมดา แต่มีหัวการเงินด้วย บริหารเงินเป"นด้วย ผมอ่อนเรื่องนี้มาก ถ้าเทียบกับท่าน ท่านมี ๑๐๐ คะแนน ผม ๑๐ คะแนนยังไม่ถึง ตอนก่อนวิกฤติท่านเก็บเงินลูกเดียว ไม่ลงทุน เรายังหลับหูหลับตาลงทุนเลยมีหนี้มาก แต่ท่านมีเงินสด เรามีหนี้" จากรายงานพิเศษของมติชนสุดสัปดาห์

ฟังคำสัมภาษณ์จากเจ้าสัวธนินท์แล้ว ก็ทำให้ได้ข้อคิดว่า การจะรวยได้ไม่ใช่ง่ายๆ ขนาดเจ้าสัวว่าเจ๋งๆ แน่ๆ แล้ว ถ้าจังหวะการลงทุนไม่ดีก็มีสิทธิ์เป็นหนี้มากได้ นี่ขนาดมีทุนมากมายอยู่แล้วยังกลับกลายเป็นหนี้ได้ แล้วชาวบ้านตาสีตาสา ยายมา ยายมีที่มีหนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อกู้ยืมเพิ่มเข้ามาอีก ก็คงจะมีแต่รวยแน่ (แต่"รวยหนี้" เพิ่มขึ้น)

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๕ หนี้สินในครัวเรือนทั้งประเทศต่างมีหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบร้อยละ ๑๐ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น เพียงร้อยละ ๖ ต่อปี และในแต่ละภาค แต่ละครัวเรือน ต่างมีหนี้สิน ๖-๗ หมื่นบาท คิดเป็น ๖-๗ เท่าของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ในรายงานของการสำรวจยังได้พบว่า เกือบร้อยละ ๖๐ ของหนี้สิน ชาวบ้านเอามากินมาใช้จ่ายในครัวเรือน โดยไม่ได้เอามาลงทุนแต่อย่างใด (จากโสภิน ทองปาน มติชน ๑๔ ส.ค. ๒๕๔๖)

ทุกข์ของชาวบ้านทุกวันนี้ จึงเกิดจากการมีหนี้อยู่หลายกอง ทั้งของนายทุน ทั้งสหกรณ์ ทั้งหนี้ของธนาคาร หนี้ของรัฐบาล และหนี้ที่หมดไปกับอบายมุข (ทางแห่งความฉิบหาย) พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าการเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก (อิณาทานัง ทุกขัง โลเก) เริ่มตั้งแต่ไปกู้ยืมก็เป็นทุกข์ ต้องใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ ไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนด ถูกเจ้าหนี้ทวงก็เป็นทุกข์ ถูกทวงแล้ว ไม่ให้เขา เจ้าหนี้ก็ติดตาม ก็เป็นทุกข์ ถ้าเจ้าหนี้ติดตามทัน ไม่ใช้หนี้เขา เราก็ต้องถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ นี่คือทุกข์ตลอดสาย ๕ ประการของการเป็นหนี้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๑๖) เมื่อชีวิตทุกข์มากๆ ก็ย่อมนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม มีทั้งลักขโมย ปล้น ฆ่า รวมไปถึงการคดโกง คอร์รัปชั่น อันเป็นโรคที่ทำลายทำร้ายสังคมอยู่ทุกวันนี้

ยิ่งข้าราชการยิ่งมีหนี้สินมากกว่าชาวบ้านหลายเท่าตัว เพราะความที่มีเครดิตดี ก็เลยทำให้สามารถซื้อก่อนผ่อนทีหลังได้อย่างสบายบวมอ่วมอรทัย (หนี้ทับถมท่วมท้น)

ในระบบเงินเชื่อนี้ นอกจากคนซื้อแย่แล้ว คนขายก็ใช่ว่าจะสบาย คุณอนันต์ อัศวโภคิน ผู้ริเริ่มปฏิวัติโครงการบ้านจัดสรรระบบ "ไม่เห็นบ้านอย่าซื้อ" ให้ซื้อเมื่อบ้านเสร็จจริงๆ ถ้าถูกใจจ่ายเงินทั้งหมดปุ๊บเข้าอยู่ได้ทันที คุณอนันต์บอกว่าการสร้างบ้านเสร็จแล้วขายทีหลัง ทำให้ต้นทุนการสร้างบ้านลดถึง ๕๐ % เมื่อเทียบกับวิธีเดิมที่สร้างไปขายไป วิธีการสร้างก่อนจ่ายทีหลังทำให้คนขายต้องทุกข์ทรมานมาก เพราะบางครั้งลูกค้าที่ผ่อนดาวน์แล้วไม่มีกำลังผ่อนส่งต่อ บางครั้งต้องเสียไปถึง ๕๐% ถ้าใครทุนไม่หนาพอก็เจ๊ง (จาก ลม เปลี่ยนทิศ น.ส.พ.ไทยรัฐ ๑๘ ส.ค. ๔๖)

สรุปแล้วการจ่ายเงินสด ย่อมสบายด้วยกันทุกฝ่าย เป็นเครดิตที่เหนือเครดิต เพราะหมดปัญหาเรื่องเงินเชื่อ เบื่อทวง ปวดท้อง (เพราะโรคกระเพาะมาเยือน)

*** จริงจัง ตามพ่อ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)