เราได้ขยายความจากพระพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า
สตรีต้องปิดๆบังๆไว้ จึงจะงาม เปิดเผย ไม่งาม แล้วก็แถม อธิบาย
มาจนถึงความเป็น"กาม" เป็น"ศิลปะ" หากจะว่ากันยืดเยื้อไปอีกก็ยังได้
แต่ก็คงจะต้องพอแค่นี้ก่อน
ที่จริงเรื่อง"ศิลปะ"
ยังมีแง่เชิงที่จะพูดอีกมาก เพราะทุกวันนี้ มันกลายเป็น"อนาจาร"
โดยที่"ผู้ทำ" ไม่ได้เจตนา แต่เพราะไม่มีความรู้
เรื่อง"ศิลปะ"
แม้จะเล่าเรียนจากสำนักที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัย ทางศิลปะมา แท้ๆก็ตาม
กระนั้นก็ยังเป็น "อนาจาร" กันอยู่เกลื่อนกล่นเต็มโลก ปรุงแต่งมอมเมากันออกมา
ทำให้คนเสียเวลา สังคมเสียหาย ก็มากมายเหลือคณา ฝันเพ้อฟุ้งซ่านก็หลากหลายล้นเลอะ
แล้วก็ยึดติดเป็น "อุปาทาน" ให้ทั้งต นและปวงผู้คนที่รู้ไม่เท่าทัน
พลอยหลงผิดต่อๆกันไป
เรากำลังอธิบาย "บุญนิยม"ในข้อที่
๘ ที่ว่า "เข้าถึงสภาวธรรมขั้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาจิตวิญญาณ"
หรือ อธิบายความออกไปอีก ก็คือ ต้องศึกษาฝึกฝน
จน"กิเลสตาย-จิตเกิด" (โอปปาติกโยนิ)
เรียกว่า บรรลุธรรม ขั้นปรมัตถสัจจะ สู่โลกุตระตามลำดับ จึงชื่อว่า
"เป็นผู้สำเร็จ"จริง
ดังนั้น พฤติกรรมใดของคนที่เป็นเหตุก่อให้เกิด
"อกุศลจิต" เกิด"กาม"ก็ดี เกิด"พยาบาท"ก็ดี
เป็นต้น นั่นย่อมสร้างให้กิเลสเกิด-กิเลสเพิ่มโต
ไม่ใช่กิเลสตาย จึงไม่เข้าข่าย"บุญนิยม"
แต่จะเป็น"บาปนิยม"ยิ่งๆขึ้น
ข้อ ๑. มาตุคาม(สตรี) ปิดบังไว้
จึงเจริญงดงาม เปิดเผย ไม่เจริญงดงาม เราก็ได้พูดไปแล้ว ทีนี้ก็...
ข้อ ๒. มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังไว้
จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง
มนต์(มันตา) หมายถึง คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์
คำสอนของศาสนา คัมภีร์พระเวท หรือศาสตร์ลี้ลับ คาถา คำพูดของเทวะที่มีอำนาจ
วิทยาคม เป็นต้น ซึ่งตามคติของพราหมณ์ถือว่า เป็นของสำคัญ หวงแหน ที่ต้องปกปิด
ไม่เปิดเผยให้ใครๆรู้ได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นคำสอนสำคัญ ก็ยิ่งปิดบังยิ่งๆขึ้น
แล้วถือว่า ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งขลัง ดีงาม เขากระทำได้ดังนี้ ถือว่า
เป็นความเจริญรุ่งเรือง
ความเชื่อเช่นนี้ แม้ในประชาชนคนไทยนี่แหละก็มีมากมายเกลื่อนกล่น
ทั้งๆที่ผู้เชื่อเช่นนี้มั่นใจใน
ตนเองว่า ตนเป็นชาวพุทธ ๑๐๐ % ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า
ความเป็นไปของจิต (คติ) หรือมโนทัศน์ (conception)
ของชาวพุทธ ได้ผิดได้เพี้ยนไปสู่"เทวนิยม"กันแล้ว
หากชาวพุทธมีความเชื่อถือ(faith)กันเช่นนี้
นั่นก็คือ "จิตใจหรือภาวะทางจิต" (มนตา) ของชาวพุทธ แสวงบุญ
ออกนอกขอบเขตพุทธไปสู่คติของ"เทวนิยม"แล้ว เช่นประดาชาวพุทธที่เชื่อไสยศาสตร์
เดรัจฉานวิชา ก็มีกัน เป็นกันอยู่
นี่คือ ลักษณะแท้ของ"เทวนิยม"
ที่เป็นเรื่องลึกถึงขั้นลับทีเดียวในทางจิตวิทยา (psychology)
ซึ่งเป็น
พฤติในจิตลึกๆของคนที่ยึดติดแบบ"สัสสตทิฏฐิ" มี"อัตตกาม"
คือ คนที่มี"ความรักยึดใคร่อยู่ในตัวตน" หรือคนที่มี"อัตตทิฏฐิ"
ได้แก่ คนที่มี"ความถือตัวเป็นใหญ่" ลักษณะนี้แหละคือ"อัตตวาทุปาทาน"
ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่รู้จัก"ตัวตน"(อัตตาหรืออาตมันหรือปรมาตมัน)ด้วย"วิชชา
๙" กิเลสจึงเกิดซับซ้อน ลึกลับลงไปในจิตยิ่งๆขึ้น