สังคมไทยกับทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาสภิกขุ
ตอน ๑
-
ส.ศิวรักษ์ -
ปาฐกถาในงาน ทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาส
วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
กรุงเทพฯ
ท่านอาจารย์พุทธทาสมีความสำคัญกับพวกเราเพียงใด
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง พวกเราแต่ละคน เข้าใจท่าน ได้มากน้อยเพียงใดนั้น
เป็นประเด็นที่ต่างออกไป แม้คนในวงนอก รวมถึงในนานาชาติ ก็ดูจะได้รับ
อิทธิพลจากคำสั่งสอนของท่านมากยิ่งๆ ขึ้น อย่างน้อยงาน นิพนธ์ของท่าน
ก็ดูจะเป็น เพียงผลงาน ของบุคคลเพียงท่านเดียวจากบ้านเมืองนี้ ที่มีงานแปลเป็นภาษาต่างๆ
มากที่สุด และมีผู้เขียน ถึงท่าน ในภาษาต่างๆ มากกว่าคนไทยอื่นใด ทั้งนี้ใช่ว่าข้อเขียนนั้นๆ
จะเป็นไปในแนวบวกเท่านั้น ก็หาไม่
จะอย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ในเวลานี้ก็ยังคงไม่รู้จักท่านอยู่นั่นเอง
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียง เกียรติคุณ ของท่าน แม้จนคน ที่ไปสวน-โมกข์ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาเหล่านั้น จะเข้าถึงเนื้อหาสาระ ในทางธรรม
ที่ท่านอาจารย์พยายาม จะสื่อ แม้ผู้ที่ประจำอยู่ในสวนโมกข์ ต่อจาก
ท่านเอง ก็สงสัยว่าเข้าใจสาระธรรมจากท่านมากน้อยเพียงใด หรือสักแต่รักษาชื่อเสียงของท่าน
และผลงาน ของท่าน ตลอดจนสถานที่ที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาไว้ให้เป็นดังความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์
โดยกลัว การเปลี่ยนแปลง ใดๆ ที่ตนเข้าใจว่า จะทำให้ท่านเสื่อมเสีย
ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในทาง อุปายโกศลนั้น คือหัวใจ ของสวนโมกข์
ตั้งแต่สวนโมกข์เก่ามาจนสวนโมกข์นานาชาติ รวมถึงโครงการธรรมมาตา ซึ่งไม่มี
การสานต่อ จากที่พระคุณท่านสร้างสรรค์หรือกรุยทางไว้แต่ประการใด แม้พระคุณท่าน
จะจากเราไปได้ ๑๐ ปี เข้านี่แล้วก็ตาม
อย่างน้อยเมื่อท่านอาจารย์ตายจากไปได้ถึงหนึ่งทศวรรษเช่นนี้แล้ว ผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับท่าน
ก็คงลด ความเป็น ปฏิปักษ์ลง แม้บางคน จะยังจงใจไปในทางที่เห็นว่าท่านเป็นเดียรถีย์ทาส
ก็ยังคงมีอยู่ อย่างน้อย ก็ทาง ลังกาทวีป แต่ที่ในเมืองไทย คงไม่มีใครกล้ากล่าว
คำจ้วงจาบ หยาบช้าถึงท่านกันอีกแล้ว แม้ในวงการ ของพวกนักอภิธรรม ในบางสำนัก
ถ้าจะให้ข้าพเจ้าพรรณนาถึงท่านอาจารย์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ก็ย่อมทำได้
และถ้าท่านอาจารย์รับทราบ ได้โดย ญาณวิถีใด ท่านก็คงหัวเราะหึๆ อย่างชอบใจ
โดยท่านย่อมถือเอาว่าถ้อยคำเหล่านั้น เป็นของข้าพเจ้า ซึ่งควร ต้องรับผิดชอบกับคำพูด
และข้อเขียนของตัวเอง ท่านไม่มีตัวตนที่จะมารับคำติชมจากใคร ๆ
ข้าพเจ้าเห็นว่าในโอกาสที่ท่านอาจารย์จากไปเข้ารอบทศวรรษแล้วนี่ เราน่าจะหาบทเรียนจากชีวิต
และ ผลงาน ของท่าน มาเป็นบรรทัดฐาน ในทางสร้างสรรค์สำหรับสังคมปัจจุบัน
อันควรงอกงามออกไปสู่อนาคต จะดีกว่า เข้าใจว่า นี่คงถูกใจท่านอาจารย์อีกด้วย
แม้บทเรียนจากท่านอาจารย์ก็มีมากมายมหาศาล อย่างเกินที่จะนำมากล่าวได้ในเวลาอันจำกัดเช่นนี้
หากข้าพเจ้าเห็นว่า มีบางประเด็น ที่เด่นและสำคัญยิ่ง อันควรที่เราจะต้องตราเอาไว้
แล้วนำเอาไปสานต่อ ให้ได้ นั่นจะเป็นคุณประโยชน์อย่างแท้จริง
ข้อแรกที่พึงตราเอาไว้คือ ด.ช.เงื่อม หรือนายเงื่อมนั้น มีโครงสร้างทางร่างกายตลอดจนความคิดจิตใจ
ที่เป็นไป ในทางที่ใหญ่โต หรือจะพูดว่า อัตตาแรง ก็ไม่ผิด แม้จะเกิดมาในสกุลคนธรรมดาสามัญ
แต่แวว แห่งความเป็นอัจฉริยะ ปรากฏกับตัวท่านเองอย่างแน่นอน แม้ท่าน
จะยอมรับ หรือไม่ก็ตาม ยิ่งเมื่อไป บรรพชา อุปสมบทเข้าด้วยแล้ว แม้ตามประเพณี
จะบวชกันเพียงพรรษาเดียว แต่ท่านก็ไปได้รับ แรงบันดาลใจ จากกัลยาณมิตรที่อาวุโสกว่าในคณะสงฆ์
ซึ่งชี้ให้เห็นคุณค่าถึงการทรงพรหมจรรย์ ว่านั่น จะเกื้อกูลเพื่อน
มนุษย์ได้ยิ่งกว่า ชีวิตของผู้ครองเรือน
ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยที่ในสมัยนี้ คนที่จะเห็นคุณค่าของความเป็นอนาคาริก
ย่อมน้อยลง จนแทบ จะไม่เหลือ อย่าว่าแต่ในบรรดาผู้ครองเรือนด้วยกันเลย
แม้บรรพชิตส่วนใหญ่ ก็ไม่เห็นคุณค่า ของพรหมจรรย์กันเสียแล้วอีกด้วย
เพราะอัตตาอันยิ่งใหญ่ ของพระเงื่อมนี่เอง
ที่ท่านใช้อุปายโกศล นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์ มาลด อัตวาทุปาทาน ของตัวท่าน
หรือปรับอัตตาในทางความเห็นแก่ตัว ให้ผันไป เพื่อรับใช้สรรพสัตว์ จนท่าน
สยบยอมลงไป เป็นทาส ของพระพุทธเจ้า จะว่านี่เป็นอิทธิพล ทางจิตใต้สำนึก
ที่เกิดมาจากกระแส ของมหายานเดิม ที่เคยมีภูมิฐานอยู่ทางไชยา มานานนักแล้วก็ได้
ก็การที่จะรับใช้ผู้อื่นและสัตว์อื่นได้นั้น ตนเองต้องมีจุดยืนที่มั่นคงในทางพระธรรมวินัยเสียก่อน
พระภิกษุ เงื่อม จึงเล่าเรียนจนสอบ ได้ถึงนักธรรมเอก โดยเราต้องไม่ลืมว่าหลักสูตรนักธรรมนั้น
สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวางขั้นตอนไว้ ให้เหมาะกับพระนวกะ
ในขั้น นักธรรมตรี ให้เหมาะกับ พระมัชฌิมะในขั้นของนักธรรมโท และให้เหมาะกับพระเถระ
ในขั้นของ นักธรรมเอก น่าเสียดาย ที่ในระยะต่อๆมา การสอบนักธรรมเป็นเพียงเพื่อได้รับใบประกาศนียบัตร
จะได้เอาไปเป็นบันได ในการสอบเปรียญตรี โท เอก จนถึงกับลอกข้อสอบกัน
ผู้คุมสอบก็ปล่อยไป และผู้ที่ได้เป็นนักธรรมเป็นขั้นๆ ก็ได้เพียง ใบประกาศนียบัตร
โดยไม่รู้ถึงเนื้อหาสาระ ของความเป็นพระ นวกะ พระมัชฌิมะ และ พระเถระ
เอาเลย หากความข้อนี้พระเงื่อมจับประเด็นได้ถึงแก่น ท่านจึงเป็นนักธรรมที่แท้
และท่านเป็นนักเทศน์ ที่แตกฉาน มาจากความเป็นนักธรรมประกอบไปด้วย โดยท่านแม่นยำในทางธรรม
และประพฤติปฏิบัติตน ตามพระธรรมวินัย ที่เนื้อหา อย่างน่าอนุโมทนายิ่งนัก
การที่พระเงื่อมดำรงทรงพรหมจรรย์อยู่ได้เช่นนี้ เราควรต้องขอบใจน้องชายของท่าน
คือนักเรียนแพทย์ยี่เกย พานิช ผู้ยอมเสียสละอาชีพแพทย์ ซึ่งเป็นของใหม่ที่พึงปรารถนาของชาวชนบท
จนอุตส่าห์สอบแข่งขัน เข้าไปเรียนได้ ถึงเมืองกรุงแล้ว และแล้วนายยี่เกย
ก็ยอมสละอนาคต กับการเป็นหมอหลวงลง เพื่อตนเอง จะได้กลับมาดูแล กิจการค้า
ที่บ้านแทนพี่ชาย เพื่อพระพี่ชาย จะได้อุทิศตน เพื่อพระศาสนา อย่างเต็มที่
ใช่แต่เท่านั้น นายยี่เกยยังช่วยหาหนังสือภาษาอังกฤษและนิตยสารในภาษานั้นอันว่าด้วยพุทธศาสนา
ส่งมาให้พระพี่ชาย ได้อ่านเนืองๆ อีกด้วย ทั้งๆที่เวลานั้นหนังสือภาษาอังกฤษ
ที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา จะมีน้อยเพียงใด แต่อาศัยความรู้จากนอกประเทศนี้แล
ที่ช่วยให้พระเงื่อม มีทัศนะอันกว้างไกล ไปกว่า พระภิกษุ หรือฆราวาสไทย
ที่ร่วมสมัยกับท่านโดยมาก หากท่านเอง ก็ศึกษาจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก
ซึ่งเป็น ต้นตอ ที่มาของพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทอีกด้วย
ก็การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาบาลีจากชนบทอันห่างไกลอย่างไชยา ย่อมสู้ไม่ได้กับการเข้าไปศึกษา
ณ เมืองกรุง อันเป็นที่รวมของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเชื่อ ของชาวบ้าน ทั่วๆไป โดยเฉพาะก็จำเดิมแต่รัชกาลที่
๕ เป็นต้นมา
พระภิกษุเงื่อมเข้าไปเรียนภาษาบาลีที่กรุงเทพฯ พำนัก ณ วัดปทุมคงคา
โดยท่านสามารถมองเห็น พุทธประเพณี ไปในทางที่ดัดอัตตา ของตัวท่านแทบทุกๆ
ทาง เช่น การลงอุโบสถทุกปักษ์นั้น ที่วัดปทุมคงคา กำหนดให้ พระภิกษุสงฆ์
ลงฟังพระปาฏิโมกข์ ตอนบ่าย พระส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า ถูกบังคับให้ไปฟังคำสวด
ที่ตนไม่เข้าใจ แม้สาระของการฟังพระปาฏิโมกข์นั้น ก็เพื่อภิกษุแต่ละรูป
จะได้เกิดมนสิการ ว่าตน ได้ล่วง อาบัติ ข้อใดไป ตามที่มีกล่าวไว้ในพระปาฏิโมกข์
จะได้ปลงอาบัติเสีย แล้วปรับนิสัยสันดานให้เป็นไป ในทาง หิริโอตตัปปะ
เพื่อคงความเป็นลัชชีไว้ ถ้าต้องอาบัติถึงขั้นสังฆาทิเสส ก็ควรละหมู่สงฆ์ไปเข้าปริวาสกรรม
เพื่อจะได้ มีความผ่องใสดีงาม ในการแสว งหาความบริสุทธิ์ แล้วกลับเข้าหาหมู่คณะ
เพื่อความสงบ และ ความสว่าง ใช่แต่เท่านั้น พระหนุ่มเมื่อฉันอิ่มแล้ว
ต้องไปลงโบสถ์ ก็มักง่วงหรือหลับกันเป็นแถวๆ ใครสวด ปาฏิโมกข์ ได้เร็วเท่าไร
ย่อมถูกใจพระหนุ่มกันเท่านั้น แต่พระเงื่อมถือว่า การนั่งฟังปาฏิโมกข์
ยามบ่าย เป็นอุบาย ในการฝึกตน เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ง่วง ให้เกิดสติสัมปชัญญะ
เพื่อเข้าใจเนื้อหาสาระ ของพระวินัย อันจะนำมาประยุกต์ ใช้ให้การทรงพรหมจรรย์
เป็นไปอย่างสะอาด สมตามศีลสิกขา แล้วจะได้ เข้าหา ความสงบ ตามจิตสิกขา
เพื่อให้ได้เกิด ความสว่าง ทางปัญญาสิกขา
เมื่อพระเงื่อมสอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยคแล้ว สมมติฐานทางสังคมย่อมเปลี่ยนไปให้ท่านกลายเป็น
พระมหาเงื่อม แต่แล้วท่าน กลับเห็นว่าราชธานีของ สยามเมื่อ ๗๐ ปีกว่ามานี้
มีมลพิษเสียแล้ว ทั้งทาง รูปธรรม และทางนามธรรม คือบ้านเมืองสกปรกรกรุงรัง
วัดวาอารามไม่เป็นที่ก่อให้เกิดสัปปายะ มลภาวะ ก็เริ่มขึ้นด้วยแล้ว
แม้การศึกษาพระปริยัติธรรม ก็เป็นไปเพื่อให้เปรียญได้ประโยคสูง ๆ จะได้เป็นช่องทาง
ให้ได้สึกหาลาเพศ ไปรับราชการ ท่านที่คงสมณเพศอยู่ต่อไป ก็หวังเพียงแต่จะกระเตื้องไป
ในทาง สมณศักดิ์ อย่างยาก ที่จะมีผู้ซึ่งแสวงหาโลกุตรธรรม อยู่ในวงการของนักปริยัติ
จนบางเกจิอาจารย์ ถึงกับ ประกาศว่า ความเป็นอรหันต์นั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว
บวชเรียนไปก็เพียงหวังสวรรค์สมบัติ หาได้ ต้องประสงค์ นิพพานสมบัติไม่
หาไม่ก็หวังจะได้ไปเกิดในโลกของ พระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ซึ่งจะมา
ตรัสรู้ เป็นพระปัจฉิมพุทธเจ้า ในภัทรกัปป์นี้
อ่านต่อฉบับหน้า
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)
|