>เราคิดอะไร

เรื่องสั้น- ธารธรรม -

จับอุบาทว์

รั้งหนึ่งเคยได้ยินเขาเล่าว่า สมัยก่อนพุทธกาลนั้น ทางเหนือสุดของแม่น้ำคงคาเลยแคว้นมคธไกลขึ้นไป พื้นที่ส่วนมากเป็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ ดงตาล พื้นที่แถบนั้นค่อยๆ ลาดสูงขึ้นไปเรื่อยจนบรรจบกับเนินเขาหิมาลัย อันเป็นทางต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้ แลเห็นทะเลหมอกและหิมะทาทาบปกคลุมทุ่งหญ้า ขุนเขา อันสูง ตระหง่าน จนสุดลูกหูลูกตา ฝูงแพะ แกะ และเล็มหญ้าอ่อนอยู่เป็นกลุ่มๆ

นครชัยบุรี เป็นราชธานีของแคว้นหิมวันตประเทศ ตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำคงคา พระราชาแห่งนครนี้ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรม

มีวันหนึ่ง องค์ราชาเสด็จออกจากวังอย่างเงียบๆ เพื่อสำรวจตรวจตราความทุกข์สุข ของเหล่าประชาราษฎร์ ของพระองค์ การเสด็จวันนั้นมีเสนาอำมาตย์ใกล้ชิดติดตามเพียงไม่กี่คน รถพระที่นั่งผ่านไปตามถนน สายต่างๆ สองฟากเนืองแน่นไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้า และเทวสถาน แสงไฟจากดวงโคมส่องแสงสลัว ออกมา ถึงท้องถนนเป็นระยะๆ เสียงผู้คนสรวลเสเฮฮา เสียงขับกล่อม และเสียงดนตรี เคล้าคละ ประสานกันอึงมี่ ทำให้พระราชาทรงเบิกบานพระทัยยิ่งนัก พอใจในสันติสุข ของไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน ของพระองค์

รถพระที่นั่งผ่านเลยไปเรื่อยๆ....
แต่ครั้นถึงหมู่บ้านคฤหบดี พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านร้างหลังหนึ่งใหญ่โตโอ่อ่า แต่เงียบเหงา ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ในนั้น ไม่มีแสงไฟ ไม่มีแม้แต่คนที่จะคอยปิดหน้าต่าง ซึ่งถูกตีด้วยแรงลม เสียงดังปึงปัง อยู่หลายบานให้สนิทเรียบร้อย พระองค์ทอดพระเนตร แล้วทรงรับ สั่งให้หยุดรถ พระที่นั่ง เพื่อที่จะไต่ถาม ใครสักคนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งพอจะทราบเรื่องราว ของบ้านใหญ่ ที่รกร้างหลังนี้บ้าง และพระองค์ ก็ทรง ทอดพระเนตร เห็นปากทาง เข้าบ้านหลังนั้น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับที่รถพระที่นั่งจอดอยู่ และข้างๆ ทางนั้นเอง เห็นตายายสูงอายุคู่หนึ่ง กำลังนั่ง รับประทานอาหาร อยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ท่ามกลาง แสงสว่าง จากโคมอันริบหรี่ จนแทบจะมอง ไม่เห็นหน้ากัน พระราชาทรงเสด็จเข้าไปประทับยืน ข้างกระท่อม ของตายาย เพื่อทรงสนทนาด้วย

"ทำอะไรจ๊ะ คุณตา?" พระราชาทรงทักทาย

"กินข้าวกันจ้ะ" ตอบอย่างไม่สนใจอาคันตุกะ

"การทำมาหากิน หมู่นี้เป็นอย่างไรบ้างครับคุณตา?"

"แย่...หมู่นี้ท่านเอ๋ย"

"อ้าว ทำไมล่ะ?"

"ก็จะทำไมเสียอีกเล่า ท่านมองดูที่บ้านหลังใหญ่นั่นซิ เงียบเป็นป่าช้าเห็นไหม?"
"แล้วมันเกี่ยวอะไรกันรึ?"

"โธ่ ลูกหลานเอ๋ย จะไม่ให้เกี่ยวกันได้อย่างไร ฉันตายายสองคนได้อาศัยท่าน การอยู่การกินอาศัยท่านทั้งนั้น เมื่อท่าน ต้องมีอันเป็นไปเสียอย่างนี้แล้วพวกเราตายายก็แย่ ไม่รู้จะอาศัยใคร"

"ฉันไม่เข้าใจจ้ะตา ทำไมบ้านหลังใหญ่ต้องเงียบเหงานักล่ะ?"

"บ้านไม่มีคนมันก็เงียบเหงาซิจ๊ะ"

"แล้วคนเขาไปไหนกันหมดน่ะ?"

"ตาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง"

"มันเกิดอะไรขึ้นรึ ถึงได้แตกแยกอยู่กันไม่ได้ ดูซิบ้านออกใหญ่โต?"

"ก็มันอยู่ไม่ได้นั่นแหละหลานเอ๋ย เขาถึงไม่อยู่"

"ทำไมถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้เล่าครับคุณตา?"

มันจะอยู่ได้อย่างไรเล่า ก็อุบาทว์ลงย่อยยับหมดแล้วนี่จ๊ะ"

หือ...อุบาทว์ลง อุบาทว์ลงแล้วอยู่ด้วยกันไม่ได้เลยหรือตา?"

ไม่ได้ อยู่ด้วยกันไม่ได้ อย่าว่าแต่บ้านหลังใหญ่เท่านี้เลย ต่อให้วังพระเจ้าแผ่นดินก็เถอะ ถ้าอุบาทว์ มันได้ลง แล้วละก็ จะต้องกลายเป็นปราสาทร้างไปเหมือนกัน"

อืมม์ ตัวอุบาทว์ที่ว่านี้มันร้ายนักรึ?"

โอ ลูกเอ๋ยหลานเอ๋ย อะไรมันจะร้ายเท่าอุบาทว์ในโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว ขอโทษเถอะ ตัวท่านเองเป็นทหารหลวง ใช่ไหม?"

"ใช่จ้ะลุง"

"ท่านเคยไปเที่ยวที่เมืองคีรีนครหรือเปล่า?"

"เคยไปเหมือนกันสมัยยังเด็ก"

"นั่นแหละ เมืองคีรีนครเดิมเป็นเมืองหลวงของเรา เจ้าได้สังเกตไหมว่าเมืองคีรีเป็นเมืองใหญ่ มีประตูคู่ค่าย และ หอรบ พร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง ข้าศึกพยายามเข้าตีหลายครั้งแต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง ครั้นต่อมา ในสงครามครั้งสุดท้าย กองบัญชาการป้องกันคีรีนครของเราได้ถูกอุบาทว์ลง จนเสีย บรรดาแม่ทัพ นายกอง แตกกระจัดกระจาย ไม่สามารถประสานบัญชาการรบให้เข้มแข็งได้ ผลสุดท้ายเมืองคีรีก็แตกเสียทีแก่ข้าศึก อย่างง่ายดาย อุบาทว์ลงแล้วใครเล่าจะเอาธุระในการรักษาเมือง ดูแต่บ้านหลังนี้ซิ ยังถูกทิ้งให้รกร้างไป อย่างน่าเสียดาย แม้แต่ประตูหน้าต่างก็ไม่มีใครอยากปิด ก็เพราะเจ้าอุบาทว์จังไรมันทำเหตุแท้ๆ"

"อุบาทว์มันเป็นตัวอย่างไรกันนะ แปลกแท้ๆ"

"ตาก็ไม่เคยเห็นตัวมันสักที รู้แต่ฤทธิ์เดชของมันเท่านั้น"

"ถ้าเรารู้จักตัวมันและจับมันให้ได้คงจะดีนะคุณตา?"

"อ๋อ แน่นอนตาจะสับมันให้แหลกละเอียดเลย"

"เอาละ วันนี้ฉันขอลาคุณตาไปก่อน ว่างๆ จะแวะมาคุยใหม่"

"เจริญๆ นะพ่อนะ"

จากนั้นรถพระที่นั่งก็เคลื่อนต่อไป จนสิ้นสุดเขตพระนคร แล้วก็วกกลับพระราชวัง ราตรีนั้น พระราชา ทรงครุ่นคิด อยู่เกือบตลอดคืน อุบาทว์ตัวมันเป็นเช่นไร หรือว่าเป็นผีชนิดหนึ่ง ที่มองไม่เห็นตัว มันถึง ร้ายแรงนัก จนสภาเมือง สโมสร บ้านวัด และมิตรภาพ ของบุคคล ถึงกับล่มจมแตกแยก กระจัดกระจาย แหลกสลายอย่างไม่เป็นท่าเช่นนี้ อุบาทว์มันอยู่ที่ไหน แม้แต่โหรหลวงก็ยังบอกไม่แน่นอน มีแต่บอกว่า วันนั้นวันนี้ เป็นวันอุบาทว์ อันว่าตัวเรานี้ เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ใต้ฟ้า อาณา ประชาราษฎร์ บัดนี้ใต้ฟ้าข้าแผ่นดิน ได้รับทุกข์เพราะอุบาทว์ลง จะทำอย่างไรกันดี เห็นที เราจะต้อง เล่นงาน ไอ้เจ้าอุบาทว์นี้ให้จริงจังเสียที

เมื่อพระราชาทรงดำริเช่นนั้น วันรุ่งขึ้นพระองค์ทรงรับสั่งให้ประชุมเสนาข้าราชการ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ณ ท้องพระโรงหลวง เช้าวันนั้นพระองค์มีพระพักตร์อ่อนโรยเล็กน้อย ขณะเสด็จออกขุนนาง เพราะทรงคิด อยู่แต่เรื่องนี้ เกือบตลอดคืน เมื่อข้าราชการฝ่ายต่างๆ พร้อมแล้ว พระองค์ก็ทรงเล่าเรื่อง ที่ได้ทรงประสบมา ให้ที่ประชุมฟัง อย่างละเอียดแล้ว จึงรับสั่งถามเป็นรายตัวบุคคล

"ท่านเสนาบดี ท่านเคยเห็นตัวอุบาทว์บ้างมั้ย ตัวมันเป็นยังไงข้าพเจ้าอยากทราบเหลือเกิน" พระองค์ ทรงรับสั่ง ถามเสนาบดีก่อนคนอื่น

"ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นพะยะค่ะ เคยได้ยินแต่ชื่อ"

"ท่านมหาอำมาตย์ล่ะ เคยเห็นบ้างมั้ย?"

"ไม่เคยเหมือนกันพะยะคะ"

"โน่นล่ะ เสนา..... " รับสั่งพร้อมกับชี้พระหัตถ์ไปทางหมู่เสนาที่นั่งเป็นแถวอยู่ด้านหลัง

"ไม่เคยเห็นพะยะค่ะ" เสียงตอบเกือบจะพร้อมกันของหมู่เสนาผู้น้อย

"ตกลงว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ไม่มีใครเคยเห็นตัวอุบาทว์เลย แต่เราก็ยังไม่เคยสืบจับมันให้จริงจังสักที เอาหละ ท่านเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ต่อแต่นี้ไปเราจะออกสืบจับตัวอุบาทว์กันละนะ นี่แน่ะเสนา..." พลางชี้พระหัตถ์ ไปที่เสนาคนหนึ่ง ซึ่งเคยติดตามไปกับขบวนเสด็จตรวจพระนคร "ข้าขอมอบเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของเจ้า เจ้าจงรีบ ไปหาจับตัวอุบาทว์มาให้ข้าฯ ให้ได้ภายในเจ็ดวัน เราจะปูนบำเหน็จแก่เจ้าอย่างงามเลยทีเดียว แต่ถ้าไม่ได้ หัวเจ้าจะต้องขาด ตามอาญาแผ่นดิน"

เสนากลืนน้ำลายลงคออย่างฝืดๆ แล้วก็หมอบ กราบรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม แล้วออก ตระเวน สืบหาจับตัวอุบาทว์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ พบใครก็ถามว่าเห็นตัวอุบาทว์บ้างหรือไม่ ยิ่งนานวันเข้า ความหวังที่จะได้พบตัวอุบาทว์ก็ยิ่งน้อยลง ยิ่งถามใครต่อใครมากเข้า ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ ก็ยิ่งลดน้อยล งทุกที อย่าว่าแต่จะมีผู้รู้จักที่อยู่ของมันเลย แม้แต่คนที่เคยเห็นตัวก็ยังไม่มี

ห้าวันผ่านไป พร้อมกับความหวังที่เลื่อนลอย พอย่างเข้าวันที่หก เสนาผู้น่าสงสารก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ตัวอุบาทว์ เห็นจะไม่มีเป็นแน่แท้ แม้จะดั้นด้นตามหาสักเท่าไรก็คงไม่พบ แต่พระมหากษัตริย์ตรัสแล้ว ไม่คืนคำนี่ซิ จะทำอย่างไร พระองค์ว่าประหารก็ต้องประหาร ถ้าเราขืนกลับเข้าเมืองอีกก็มีหวังตาย อย่างเดียว อย่ากระนั้นเลย เราจะเดินไปตาย ในป่าเขาหิมาลัยจะดีกว่า

ครั้นตัดสินใจแน่แล้ว เสนาผู้ซึ่งขณะนี้เป็นเสมือนนักโทษรอวันประหาร ก็เดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่ป่า ขณะที่ ใจของเขา เฝ้าพะวักพะวนอยู่กับลูกเมีย และมวลญาติทางเมืองหลวง ส่วนเท้าก็ก้าวไปข้างหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง ใจก็คิดว่า จะต้องไปให้ไกลที่สุด เท่าที่แรงขาจะพอมีกำลัง ช่วยให้รอดพ้น จากคมประหาร

พอดวงตะวันคล้อย เขาก็สามารถเดินบุกเข้าไปได้ลึกจนถึงกลางป่า เมื่อมาอยู่กลางป่ากลางดงเช่นนี้ ความวิเวก วังเวง ทำให้เขามีหัวใจที่ว้าวุ่น เหมือนกับคนที่กำลังจะเป็นบ้า บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตได้หมดคุณค่าลง ถึงไม่ตายด้วยคมประหารในเมืองหลวง แต่ก็คงต้องตายด้วยความอดอยาก ความเจ็บไข้ หรือไม่ก็เขี้ยวเล็บของสัตว์ร้ายอยู่ดี เขารำพึงอยู่ในใจว่า "ไหนๆ ตัวเราก็จะต้องตาย ไม่ช้าก็เร็ว ชีวิตสิ้นหวัง ไม่หลงเหลือ ความหมายใดๆ อีกต่อไป เป็นมนุษย์แท้ๆ แต่ต้องซุกหัวอยู่อย่างสัตว์ จะกิน จะเที่ยว อย่างสัตว์ในป่านี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ สัตว์มันเกิดที่นี่ ภูมิลำเนาของมันอยู่ที่นี่ พี่น้องลูกเมียของมัน ก็อยู่ที่นี่ มันมีอิสระที่จะท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนในป่านี้ได้อย่างเสรี เราเป็นมนุษย์กลับต้องหนีมาหดหัว หลบอาญาแผ่นดิน อยู่กลางดงกลางป่า หาอิสระไม่มีเลย ถ้าเช่นนั้น เราจะอยู่ต่อไป เพื่อประโยชน์อะไร รีบตาย ให้พ้นจากโลก อันโหดร้ายนี้เสียดีกว่า ผ้าขาวม้าผืนเดียวก็เหลือตายแล้ว" ความเงียบเหงาวังเวง ทำให้เขาตัดสินใจ ง่ายขึ้น เขามองหาต้นไม้มีกิ่งพอที่จะยืดตัวขึ้นแขวนคอตัวเองได้แล้ว ก็ไม่ลังเล รีบแก้ ผ้าขาวม้า ที่คาดเอวออกมาสลัดทีหนึ่ง แล้วก็บิดเข้าเป็นเกลียวเล็กน้อย โดยไม่เสียเวลา เขาผูกชายข้างหนึ่ง เข้ากับคอตัวเอง แล้วก็ปีนขึ้นต้นไม้ซึ่งไม่สูงนัก เขาพยายามอีกสองอึดใจ ก็จะสมประสงค์แล้ว

"อืมม์... นั่นใคร?" เสียงของใครคนหนึ่งดังมาจากด้านหลังของต้นไม้ เสนาสะดุ้ง เพราะไม่แน่ว่าหูแว่วไปเอง หรือ เป็นเสียงของภูตผีปีศาจ ผู้จะมาเอาชีวิตเขากันแน่

"กำลังทำอะไรนะ?" เสียงดังขึ้นอีก

เขาหันกลับไปมองทางเจ้าของเสียงนั้น และทันทีก็ได้เห็นท่านนักพรตรูปหนึ่ง กำลังมองมายังเขา ด้วยท่าทาง ที่สงสัย

"ฤาษี..." เขาอุทาน

"ถูกแล้วท่าน อาตมาเป็นฤาษี แล้วท่านล่ะเป็นใคร?"

"พระคุณเจ้า กระผมเป็นเสนาบดีแห่งเมืองชัยบุรี ขอรับ" เขาตอบ

"แล้วท่านเสนาจะทำอะไรกันเล่า?"

"กระผมกำลังจะผูกคอตายขอรับ พระคุณเจ้ามาพบก็ดีแล้ว ช่วยสวดส่งวิญญาณให้กระผมหน่อยเถอะ"

"เดี๋ยวก่อนท่านเสนา ท่านมีเรื่องทุกข์ร้อนมากมายเทียวรึ จึงได้ตัดสินใจอย่างนั้น?"

"กระผมถูกความตายไล่ต้อน จนไม่อาจมีชีวิตอยู่ดูโลกต่อไปได้ กลับเมืองก็จะถูกประหาร ครั้นหนีมาอยู่ป่า ก็คงตาย ด้วยเขี้ยวเล็บของสัตว์ร้าย หรือไม่ก็ไข้ป่าเป็นแท้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม กระผมจึงตัดสินใจ ผูกคอตายเสียในตอนนี้เสียจะดีกว่า"

"อื่มม์ เช่นนี้นี่เอง อาตมาไม่มีอะไรขัดข้อง เจริญพร แต่ไหนๆ ท่านก็จะตายอยู่แล้ว ก็เล่าเรื่องให้อาตมาฟังไว้ สักหน่อย ไม่ดีรึ เผื่อบางทีญาติพี่น้องมาถามหา จะได้บอกเขาถูก"

"ได้ซิ พระคุณเจ้า กระผมเป็นเสนาเมืองชัยบุรี ในหลวงทรงใคร่ทอดพระเนตรตัวอุบาทว์ เมื่อหาที่ไหนไม่ได้ ก็มีพระราชดำรัส สั่งให้กระผมเที่ยวไปสืบเสาะหาจับตัวอุบาทว์ไปถวายภายในเจ็ดวัน และทรงคาดโทษ เอาไว้ว่า ถ้าหาจับตัวอุบาทว์ไปถวายไม่ได้ จะประหารชีวิตตัวกระผมเสีย"

"อ่อ แล้วยังไง?"

"พระคุณเจ้า กระผมหาสืบที่อยู่ของตัวอุบาทว์มาห้าหกวันแล้ว ไม่พบแม้แต่ผู้ที่รู้จักตัวอุบาทว์ สักคนเดียว มันซุกซ่อน อยู่แห่งหนตำบลใด ก็ไม่มีใครอาจรู้ได้เลย"

"แล้วยังไงต่อไปอีกเล่า?"

"กระผมคิดว่าในโลกนี้คงไม่มีตัวอุบาทว์เสียเป็นแน่แล้ว แต่จะกลับบ้านเมืองก็คงไม่พ้นถูกประหาร ข้าน้อย หมดหนทาง กลับเข้าเมืองก็ตาย อยู่ในป่านี้ก็ตาย จึงตัดสินใจตายเสียเดี๋ยวนี้จะดีกว่า"

"พุทโธ่ ท่านเสนา... เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ทำเป็นเรื่องใหญ่ไปได้ ตัวอุบาทว์มีเยอะแยะไป เต็มบ้านเต็มเมือง หน้าพระที่นั่ง ก็ยังมีท่านเอ๋ย" ฤาษีว่า

"จริงรึพระคุณเจ้า?" เสนาร้องถามเกือบเป็นเสียงตะโกนด้วยความดีใจ

"จริงซิ ว่าแต่ท่านเสนาลงมาจากต้นไม้ก่อนเถิด แล้วอาตมาจะหาตัวอุบาทว์ให้"

เสนาดีใจยิ่งนักรีบไต่ลงจากต้นไม้อย่างตื่นเต้น แล้วมาหมอบกราบลงแทบเท้าของนักพรตอย่างปีติ

"ท่านเสนา รีบไปตัดกระบอกไม้ไผ่มาให้อาตมาสักกระบอกไป๊ เลือกเอาไม้ปล้องที่มันลึกๆ สักหน่อยยิ่งดี" ฤาษีสั่ง

เสนารู้สึกดีใจยิ่งนัก รีบไปหาตัดกระบอกไม้ไผ่มาให้นักพรตอย่างเร่งรีบตามคำสั่ง ส่วนพระฤาษี นั่งเคี้ยวหมาก คอยท่า สักครู่เสนาก็รีบนำกระบอกไม้ไผ่มายื่นให้ ฤาษีรีบรับเอากระบอกจากมือเสนา แล้วเดินหลบ ออกหลังพุ่มไม้ ครู่เดียวก็เดินกลับมาพร้อมกับกระบอกไม้ไผ่ บรรจุตัวอุบาทว์ อุดจุกจนสนิท เรียบร้อยแล้ว ส่งให้เสนา พลางสั่งว่า

"นี่แน่ะท่านเสนา อาตมาจับตัวอุบาทว์ใส่กระบอกไม้ไผ่ให้แล้ว ขอท่านจงรีบนำขึ้นทูลเกล้าถวายเถิด ยังเหลือเวลา พอที่จะเข้าเฝ้าได้มิใช่หรือ ระวังอย่าไปเปิดก่อนล่ะ ประเดี๋ยวตัวอุบาทว์มันจะหนีไปได้ หัวของท่าน ก็จะขาดไปเสียเปล่า แล้วกราบทูลพระราชาของท่านด้วยว่า เวลาทอดพระเนตร อย่าเทออก เป็นอันขาด เดี๋ยวจะทอดพระเนตรไม่ทัน ต้องค่อยๆ เปิดจุกออก แล้วก็ค่อยทอดพระเนตร ลงในกระบอก ทีเดียว จะได้เห็นตัวมันชัดๆ"

เสนาดีใจนัก กราบลาท่านนักพรต สาวเท้าก้าวเดินอย่างรีบเร่ง เพื่อจะได้ทันเข้าเฝ้าก่อนครบกำหนดเจ็ดวัน

ส่วนทางด้านนครชัยบุรี ผู้คนกำลังโจษขานกันเซ็งแซ่ว่า ชะรอยการล่าจับตัวอุบาทว์ จะล้มเหลว เสียเป็นแน่แล้ว แต่ครั้นเสนากลับเข้ามาในเมือง พร้อมกระบอกอุบาทว์ได้ทันเวลา ผู้คนก็แตกตื่น เกรียวกราวกัน เป็นการใหญ่ ฝ่ายเจ้านครชัยบุรี ครั้นได้ทรงทราบข่าวว่า เสนาจับตัวอุบาทว์ มาถวายได้ ก็ทรงดีพระทัย เป็นอันมาก ไม่ทรงรอช้า จึงรับสั่งให้ประชุมเสนาข้าราชการเป็นการด่วน

ชั่วเวลาไม่นาน ท้องพระโรงหลวงก็แออัดไปด้วเสนาอำมาตย์ ข้าราชการต่างๆ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ส่วนรอบนอก เต็มไปด้วยประชาชนพลเมือง เบียดเสียดกันเนืองแน่น ครั้นได้เวลากษัตริย์ชัยบุรี ก็เสด็จออกประทับ แล้วตรัส ให้เสนารีบนำกระบอกอุบาทว์ เข้าถวายโดยเร็ว

ฝ่ายเสนาผู้พิชิตอุบาทว์ก็ไม่รอช้า รีบนำกระบอกไม้ไผ่บรรจุตัวอุบาทว์ขึ้นน้อมเกล้าถวาย อย่างภาคภูมิ ทุกสายตา ในท้องพระโรง รวมสู่จุดเดียวกัน คือกระบอกอุบาทว์นั้น

"ขอเดชะ อาญาไม่พ้นเกล้า อุบาทว์หายากเหลือเกินพะยะค่ะ เวลาพระองค์ทอดพระเนตร อย่าเทออก เป็นอันขาด เพราะถ้าทรงเท มันจะหนีไปเสียก่อน ไม่ทันได้ทอดพระเนตรพะยะค่ะ" เสนากราบทูล อย่างเสียง ห้าวหาญ พร้อมกับน้อมเกล้าถวายกระบอกอุบาทว์

"เอ้อ เอามานี่ ขอดูหน้ามันทีเถอะ ทำไมฤทธิ์เดชมันถึงมากนัก.." รับสั่งพลาง ทรงดึงจุกออก ด้วยความ ระมัดระวัง แล้วก้มพระพักตร์ลงทอดพระเนตรเข้าไปในกระบอกอย่างระวัง ภายในกระบอกมืด ทรงเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง ครู่หนึ่งก็ทรงอุทานออกมา

"อ่อ.. เอ้าท่านมหาเสนา ดูทีซิ เหมือนตัวอะไร จงดูอย่างระวังหน่อยนะ" แล้วทรงยื่นกระบอกนั้น ให้มหาเสนาดู

มหาเสนารับกระบอกจากพระหัตถ์มาเพ่งมองอย่างพิเคราะห์อยู่สักครู่ แล้วจึงกราบทูลขึ้นว่า "อุบาทว์นี้ ตัวเหมือนอึ่งอ่าง นะพะยะค่ะ" แล้วส่งให้เสนาอำมาตย์ท่านอื่นดูต่อไป กันไปตามลำดับ

เมื่อต่างคนต่างดู ต่างคนต่างพิเคราะห์ ตามความรู้สึกทางจินตภาพของใครของมัน เอาทิฐิมานะเข้าหากัน ก็เลย เป็นเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้

"เชื่อฉันเถอะน่า ฉันว่าตัวมันเหมือนด้วงว่ะ"

"เฮ้ย ข้าว่ามันเหมือนกิ้งกือนะ ดูสิ แกว่ามั้ย?" แล้วยื่นไปให้อีกคนหนึ่งดู

"ใช่รึ ฉันพิเคราะห์ดูแล้วเหมือนจิ้งจกมากกว่า"

เฮ่ย จิ้งจก บ้าบอของแกนะซิ เอ้าถ่างตาดูให้มันชัดๆ ซิวะ...." แล้วยื่นกระบอกกลับไปให้คนเดิมสองตาดู "เห็นมั้ยท่าน... มันกิ้งกือดีๆ นี่เอง"

"เฮ่ย ตาเฒ่าเหย เอามานี่ ตาท่านนั้นแก่แล้ว จะมองอะไรรู้เรื่อง ไปนั่งเคี้ยวหมากเลี้ยงหลาน อยู่กับบ้าน เถอะไป๊ อย่ามาออกความเห็นงูๆ ปลาๆ ให้คนอื่นเขารำคาญอยู่เลย" ว่าแล้วก็ดึงกระบอกจากมือมาถือไว้

"อ้าว ท่านพูดจาอะไรควรระวังปากบ้างนะ ถึงข้าแก่ก็แก่งานแก่การมานานเนิ่นนะโว้ย... ใช่อ้อแอ้ หัดขัน เหมือนอย่างแก พุทโธ่ ไอ้นี่ วอนเสียแล้ว..." ผู้เฒ่าชักไม่พอใจ

"ชิชะ หาว่าฉันเด็กน้อยอ่อนงานเรอะ แล้วคนแก่อย่างท่าน มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง?... ท่อ! อย่างดี ก็แค่ทำตัวเป็นที่ปรึกษา พอให้เด็กๆ เขาเยินยอ พอได้หน้าเท่านั้นเองท่านเอ๋ย..."

"อ่อ อ่อ.. นี่แกบังอาจพูดจาดูถูกดูแคลนพวกข้าถึงขนาดนั้นเลยเชียวรึ หน็อย ไอ้จัญไร มึงนะมึง" ว่าแล้ว เสนาผู้เฒ่า ก็ผลุนผลันลุกขึ้นชี้หน้าเสนาหนุ่มอย่างเกรี้ยวกราด พร้อมที่จะวางมวยกันต่อหน้าพระที่นั่ง ทำเอา ทั้งเสนาอำมาตย์ ข้าราชบริพารทั้งหลายต่างตกตะลึงพรึงเพริดไปตามๆ กัน

"แกแน่จริงมาลองกับคนแก่ๆ อย่างข้าสักตั้งมั้ย ? ... เอามั้ย ?..."

"เอาอย่างนั้นเลยรึ ?..."

"เออซิวะ ไอ้อุบาทว์ ไอ้จัญไร ไม่รู้จักผู้ใหญ่ผู้น้อย..ฮึ่มม์..."

"หยุด! ใครยังขืนเอะอะจงลากตัวไปประหารให้หมดเดี๋ยวนี้" พระราชาทรงรับสั่งด้วยความกริ้ว ชี้พระหัตถ์ มาทางเสนาทั้งสอง "ท่านทั้งสองช่างไม่รู้เสียเลยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ข้าให้ดูตัวอุบาทว์เท่านั้น ไม่ได้ให้เจ้า ทะเลาะกัน เอามานี่" พระราชารับสั่งอย่างไม่พอพระทัย

ฝ่ายเสนาทั้งสอง ต่างมองหน้ากันเลิกลั่ก แล้วอีกฝ่ายก็หมอบคลานเข้าถวายคืนกระบอกอุบาทว์ แก่พระองค์ ส่วนเสนาอำมาตย์อื่นๆ และประชาชนทั้งหลาย ที่ส่งเสียงจ้อกแจ้กจอแจ จนฟังไม่ได้ศัพท์ ต่างก็ เงียบเสียงลง พระทรงทอดพระเนตรไปรอบๆ เห็นว่าที่ประชุมสงบลงแล้ว จึงเริ่มตรัสเสียงขุ่นๆ ว่า

"อุบาทว์นี่ร้ายนัก ข้าพอจะรู้ฤทธิ์ของมันแล้ว ว่ามันคืออะไร ขนาดอยู่ในกระบอก ยังแผลงฤทธิ์ได้ อย่างไม่เกรงกลัว แม้แต่พระบรมเดชานุภาพ" ว่าแล้วก็ทรงเงยพระพักตร์ พร้อมรับสั่งอย่างตะโกน

"เอาล่ะนะ ในกระบอกนี้มีตัวอุบาทว์หรือไม่ หน้าตามันเป็นอย่างไร คอยจ้องดูกันให้ดีๆ ข้าจะเทมันออกล่ะ เอ้า ทุกคนเตรียมพร้อม ดูหน้ามันให้แน่ๆ แล้วฆ่ามันให้ตาย"

ว่าแล้วพระราชาชัยบุรีก็ชูกระบอกอุบาทว์ขึ้น ทุกคนจ้องดูด้วยใจระทึก ท้องพระโรงเงียบกริบ เหมือน ปราศจาก สิ่งมีชีวิตใดๆ เมื่อพระราชาคว่ำกระบอกไม้ไผ่ลง ก็มีก้อนวัตถุสิ่งหนึ่ง ตกแผละลงมา ทุกๆ คน ที่พอจะมองเห็น สิ่งนั้นได้ชัดเจน ต่างอุทานออกพร้อมๆ กันอย่างกับนัด...."ชานหมาก..."

แล้วเสียงเอ็ดอึง ระคนกับเสียงหัวเราะก็เริ่มขึ้น พระราชาก้มพระพักตร์ทอดพระเนตรเล็กน้อย แล้วทรง ลุกขึ้นยืน พลางรับสั่งด้วยสุรเสียงอันดังว่า

"ทุกคนฟังทางนี้ เสนาอำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย บัดนี้เราได้เห็นชัดเจนแล้วว่า ตัวอุบาทว์ เป็นอย่างไร กระบอกไม้ไผ่นี้มันก็ไม่อุบาทว์ ชานหมากที่ฤาษีคายใส่กระบอกมาให้ มันก็ไม่อุบาทว์ ใช่ไหม? แต่ตัวอุบาทว์แท้ๆ มันอยู่ในหัวสมองของคนเรานี้เองต่างหาก ใครคิดไม่ดี ทำไม่ดี มีทิฐิมานะ อวดดี ถือดีกัน ไม่ยอมฟังเสียงหาเหตุหาผลซึ่งกันและกัน ว่าใครถูกใครผิด ดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเองถ่ายเดียว โดยไม่ฟังเสียงใครอื่นเลยนั่นแหละ อุบาทว์ล่ะ จงจำกันเอาไว้เถอะ ถ้าใครอยากรอดพ้น จากความอุบาทว์ เหล่านี้ ก็จงหัดจงคิดแต่สิ่งที่ดี คิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นทั้งประโยชน์เขาประโยชน์เรา ไม่เบียดเบียน ให้ร้าย ใส่ไคล้ผู้อื่น ให้เดือดร้อน และแน่ล่ะ ถ้าเราเป็นคนประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีๆ แล้ว ตัวอุบาทว์ก็จะไม่เกิดขึ้น และโรคอุบาทว์ก็จะไม่มีในสมองของพวกเรา บ้านเมืองและหมู่คณะก็จะอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)