เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน ๒๕
พื้นฐานการสร้างทฤษฎีบุญนิยม
บทความตอนก่อนชี้ให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของหลักพุทธปรัชญาอยู่ที่
กฎอิทัปปัจจยตา หรือ กฎธรรมนิยาม อันเป็นกฎพื้นฐานทางธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของสังขารธรรมทั้งหลายในเอกภพ
โดยครอบคลุมถึง มิติด้าน อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของวัตถุธรรมต่างๆ
อาทิ กฎทางฟิสิกส์ เป็นต้น)
พีชนิยาม (กฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งทางด้านชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต)
กรรมนิยาม (กฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต)
จิตตนิยาม (กฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของจิต) และ
ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของสรรพสิ่งในธรรมชาติโดยองค์รวม)
จากแผนภูมิ ในขณะที่มนุษย์ไม่สามารถประจักษ์ถึงสัจจะซึ่งเป็นความจริงในธรรมชาติได้โดยตรง
เหมือนกับ ที่มนุษย์ ไม่สามารถเห็นโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งโลกได้โดยตรง
สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำได้ ภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัด ที่มีอยู่ ก็คือการสร้างแบบจำลองความจริงในธรรมชาติขึ้น
เหมือนกับที่มนุษย์ได้สร้างภาพ แผนที่โลก ขึ้นมา เพื่อเป็นแบบจำลอง
ความจริงทางภูมิศาสตร์ของโลก
"ความรู้"
ก็คือแผนที่หรือแบบจำลองความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อพยายามสะท้อนภาพสัจจะความจริง
ในธรรมชาติ ความรู้ จึงเป็น "สมมติสัจจะ"
เพราะเป็นแค่แบบจำลองความจริง อันไม่ใช่ตัวสัจจะ ความจริงนั้นๆ
หากความรู้ชุดใดได้รับการพิสูจน์ยืนยันด้วยหลักฐานต่างๆ
จนเชื่อมั่นได้ว่าไม่มีทางผิด และน่าจะเป็น แบบจำลอง ที่ใกล้เคียง
สัจจะความจริงในธรรมชาติมากที่สุด เราก็เรียกความรู้ชุดนั้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า
เป็นกฎธรรมชาติ (Natural
Laws) เช่น กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน กฎทางคณิตศาสตร์ กฎทางตรรกวิทยา
หรือ กฎทางฟิสิกส์ต่างๆ เป็นต้น
ขณะที่ความรู้ชุดไหนเราค่อนข้างแน่ใจว่าใกล้เคียงสัจจะความจริงในธรรมชาติระดับรองลงมา
เราก็เรียกว่า เป็น "ทฤษฎี"
(Theory) เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ในทางสังคมวิทยา ทฤษฎี วิวัฒนาการ ของดาร์วิน
ในทางชีววิทยา ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ของฟรอยด์ ในทางจิตวิทยา ฯลฯ
ถ้าเป็นความรู้ที่เรามีความมั่นใจลดน้อยลงอีกระดับหนึ่ง
เนื่องจากยังไม่ผ่านการพิสูจน์ยืนยันอย่างกว้างขวาง และ ยาวนาน มากพอ
เราก็เรียกชื่ออื่น เช่น เป็น "กรอบความคิด"
(Conceptual Framework) เป็น "แบบจำลอง"
(Model) หรือเป็น
"สมมติฐาน" (Hypothesis) เป็นต้น
สาขาความรู้ที่พยายามหาเกณฑ์วินิจฉัยว่า
ความรู้ชุดไหนสามารถสะท้อนภาพสัจจะความจริงในธรรมชาติ ได้ใกล้เคียง
กว่ากัน ก็คือความรู้ด้านญาณวิทยา (Epistemology) ในทางปรัชญา ซึ่งปัจจุบันมี
๒ แนวคิด ใหญ่ๆ ได้แก่
ก) การอาศัยความสอดคล้องกลมกลืนในคำอธิบายเป็นเกณฑ์วินิจฉัย
(Explanation Theory) โดยเชื่อว่า ความรู้ ชุดไหน
ที่สามารถ อธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติได้อย่างมีเหตุมีผล และมีความสอดคล้อง
กลมกลืน ทางตรรก ภายในชุด ของคำอธิบายมากกว่า ก็คือชุดของความรู้ที่น่าจะเชื่อได้ว่า
ใกล้เคียง สัจจะความจริง ในธรรมชาติยิ่งกว่า
ข) การอาศัยความแม่นยำในการคาดคะเนเป็นเกณฑ์วินิจฉัย
(Prediction Theory) โดยเชื่อว่า
ความรู้ชุดไหน ที่สามารถ พยากรณ์ หรือคาดคะเนปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำกว่า
ก็เชื่อได้ว่าความรู้ชุดนั้น น่าจะเข้าใกล้สัจจะ ความจริง ในธรรมชาติยิ่งกว่า
ความรู้บางชุดอาจมีศักยภาพในการให้คำอธิบายอย่างเหมาะสมกลมกลืนสูง
แต่มีพลัง ในการคาดคะเน สิ่งที่จะเกิด ตามมาได้ต่ำ เป็น ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
เป็นต้น
ขณะที่ความรู้บางชุดอาจมีระดับของความสอดคล้องกลมกลืนทางตรรกภายในชุดคำอธิบายต่ำเป็นทฤษฎี
ควอนตัม (ที่ชี้ให้เห็นว่า อนุภาคเล็กๆ ภายในอะตอม สามารถเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาคในเวลาเดียวกัน
ทั้งที่คลื่น และอนุภาค เป็นสิ่ง ๒ สิ่งอันมีคุณลักษณะที่ขัดแย้งกัน)
แต่พื้นฐานของทฤษฎีนี้ กลับสามารถ นำไปสู่ การคิดคำนวน ได้อย่าง แม่นยำ
จนสามารถ สร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จ เป็นต้น
ความรู้หรือแบบจำลองความจริงในธรรมชาตินี้
เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของมโนทัศน์ต่างๆ (Concepts)
ที่เป็น หน่วยพื้นฐาน ของความรู้ โดยมโนทัศน์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เฝ้าดู
ลักษณะปรากฏการณ์ ในธรรมชาติ (ซึ่งพุทธปรัชญา เรียกว่า
"อาการ" และ "ลิงคะ")
จนสังเกตเห็นตัวตนที่เป็นเครื่องบ่งชี้ (ซึ่งพุทธปรัชญา เรียกว่า
"นิมิต") ของสิ่งนั้นๆ แล้วสร้าง เป็นความคิดรวบยอด
(Conceptualization) ซึ่งสะท้อน ผ่านทางภาษาที่เป็นศัพท์เฉพาะ
(ซึ่งพุทธปรัชญา เรียกว่า "อุเทศ")
ที่มนุษย์บัญญัติขึ้น เพื่อแทนมโนทัศน์ ดังกล่าว
อวิชชาของมนุษย์ประการหนึ่งก็คือ
การยึดเอามโนทัศน์ที่สะท้อนผ่านทางภาษามาเป็นอัตตาตัวตน ของสิ่งนั้นๆ
ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น "อัตตวาทุปาทาน"
(อัตตา+วาทะ+อุปาทาน = การยึดเอาภาษา มาเป็น อัตตาตัวตน) จึงทำให้ติดอยู่
แค่สมมติสัจจะ ที่เกิดจากการปรุงแต่ง ของความคิดและความรู้ จนเข้าไม่ถึงความจริง
ที่เป็น ปรมัตถสัจจะ ในธรรมชาติ
มโนทัศน์ที่นำมาปรุงแต่งกันโดยตรรกจนสามารถสร้างเป็นแบบจำลองของความรู้หรือเป็นทฤษฎีต่างๆ
ขึ้นนั้น ก็เหมือน ชิ้นส่วนตัวต่อที่เป็นของเล่น ซึ่งสามารถนำมาต่อกันเป็นรูปทรงเพื่อจำลองแบบสิ่งต่างๆ
อาทิ บ้านจำลอง รถยนต์ จำลอง ตึกสูงจำลอง สะพานจำลอง ฯลฯ ฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของมโนทัศน์
ที่สะท้อน ผ่านทางภาษา จนสามารถ นำมโนทัศน์เหล่านั้น มาเชื่อมโยงกัน
เป็นแบบจำลอง ความจริง ชุดใหม่ ของธรรมชาติ ก็จะกลายเป็น ทฤษฎี หรือ
ความรู้ใหม่ๆ ในสาขาด้านนั้นขึ้นมา
พื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองบุญนิยมในพุทธปรัชญา
จึงอยู่ที่การนำเอาชิ้นส่วนของมโนทัศน์ ที่สะท้อน ผ่านทาง ภาษาเชิงวิชาการ
(theoritical terms) ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และพุทธปรัชญา
เพื่อเชื่อมโยงกัน เป็นแบบจำลอง ที่สะท้อนภาพปรากฏการณ์ ทางสังคม เศรษฐกิจการเมือง
ของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎอิทัปปัจจยตาครอบคลุมทั้งการปรุงแต่งของสังขารธรรมในธรรมชาติที่"ถูกรู้"
และ การปรุงแต่ง ของมโนทัศน์ที่เป็น แบบจำลองการ "รับรู้"
ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ของสังขารธรรม ในธรรมชาติ นั้นๆ ขณะที่ กฎทางคณิตศาสตร์ควบคุม
การปรุง แต่งของ สังขารธรรมในธรรมชาติที่ถูกรู้ และ กฎทาง ตรรกวิทยา
ควบคุมการปรุงแต่ง ของมโนทัศน์ต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นแบบจำลอง หรือกรอบ
การรับรู้ ที่สะท้อน ความจริง ในธรรมชาติดังกล่าว กฎทาง คณิตศาสตร์
กับกฎทางตรรกวิทยา จึงมีความสัมพันธ์กัน อย่างแนบแน่น อันจะเห็นได้ชัด
เมื่อมีการพัฒนา ระบบตรรกวิทยาเชิงสัญญลักษณ์ (Symbolic
Logic) ที่คล้ายคลึง กับกฎ ทางคณิตศาสตร์ ขึ้นมา
จากกฎอิทัปปัจจยตาสั้นๆ ไม่กี่ประโยค
คือ
๑. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี (A B ; ถ้ามี A, จะมี B ซึ่งสอดคล้องกับกฎ
"Modus Ponens" ในทางตรรกวิทยา)
๒. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
(ถ้าไม่มี B หรือ ~B ก็จะไม่มี A หรือ~A ซึ่งสอดคล้องกับกฎ "Modus
Tollens" ในทาง ตรรกวิทยา)
๓. เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับด้วย (A B และ ~A ~B, A B ซึ่งสอดคล้อง
กับกฎ equivalence ทางตรรกวิทยา)
๔. เมื่อเพิ่มนิยามของสันธาน
"และ" โดยถ้าคำว่า "สิ่งนี้มี"
หมายถึงมี A และ B ประกอบกัน จึงจะส่งผล ให้เกิด C (A.B C) ถ้าขาด
A หรือ B อย่างใดอย่างหนึ่ง C จะไม่เกิดขึ้น (หรือ ~A v ~B ~C แสดงว่า
~(A.B) ~A v ~B ซึ่งสอดคล้องกับกฎ De Morgan ทางตรรกวิทยา)
กับเพิ่มนิยามของสันธาน "หรือ"
โดยถ้าคำว่า "สิ่งนี้มี" หมายถึง
มีสิ่งให้เลือกมากกว่า ๑ สิ่ง เช่น A หรือ B แต่อย่างน้อย มีอยู่สิ่งหนึ่ง
ที่ทำให้เกิด C (AvB C ถ้าเรารู้ว่า ไม่ใช่ A เป็นสาเหตุให้เกิด C
หรือ ~A เราจะสรุปได้ว่าต้องเป็น B ที่ทำให้เกิด C แน่นอน ซึ่งสอดคล้อง
กับกฎ Disjuntive Syllogism ทางตรรกวิทยา)
โดยอาศัยพื้นฐานของกฎอิทัปปัจจยตาที่ขยายเป็นกฎทางตรรกวิทยาไม่กี่ข้อข้างต้นนี้
จะสามารถสร้างกฎ ทางตรรกวิทยา ตามมาได้อีกมากมาย เหมือนการอาศัยสิ่งที่เห็นจริงแล้ว
(Axiom) และทฤษฎีบทที่ ๑ ทางเรขาคณิต เราจะสามารถ
ใช้พิสูจน์เพื่อสร้างทฤษฎีบทอื่นๆ ในเรขาคณิตตามมาได้อีกมากมาย
ในการสร้างทฤษฎีบุญนิยม จากกฎอิทัปปัจจยตาหรือกฎพื้นฐานทางตรรกวิทยาที่ได้กล่าวมาข้างต้น
เราจะต้อง ค้นหาความสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งที่เป็นเหตุ (A) ซึ่งก่อให้เกิดการลดละ
ความต้องการส่วนเกิน ของชีวิต จนเห็นผลเป็น
"บุญ" (B) รวมทั้งค้นหาความสัมพันธ์ว่าถ้าเกิดบุญ
(B) ขึ้นมาแล้ว จะส่งผล ให้ปัญหา ของมนุษย์ ลดน้อยลง หรือไม่อย่างไร
(C)
การจะศึกษาความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยเหล่านี้เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีบุญนิยมขึ้นมานั้น
พื้นฐานสำคัญ ประการแรก จะต้อง สามารถจับสภาพหรือ
"อาการ" ของเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ได้ก่อน แล้วก็กำหนด
ให้ชัดเจนขึ้น จนเห็นถึง ความแตกต่าง หรือ "ลิงคะ"
ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ของเหตุ ปัจจัยนั้นๆ ตลอดจน ต้องพยายาม
หาเครื่อง ชี้วัดหรือ "นิมิต"
ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้เหตุปัจจัยดังกล่าว แล้วจึง สรุปเป็น ความคิดรวบยอด
(Conceptualization) ที่สะท้อน ผ่านทางศัพท์เฉพาะ
หรือ "อุเทศ" อันจะเป็น แบบจำลอง
(ในทางความคิด) ของเหตุปัจจัยนั้นๆ
เช่น จะต้องจับสภาพให้ได้ว่าอะไรคือ
"อาการ" ของสิ่งที่เรียกว่า
"บุญ" และความแตกต่างหรือ"ลิงคะ"
ทั้งในเชิง ปริมาณ และคุณภาพของสิ่งที่เป็นบุญมีลักษณะอย่างไร
ตลอดจนต้องพยายามหาตัวชี้วัด หรือ "นิมิต"
ของสิ่งที่ เป็นบุญนั้นๆ ที่เป็นรูปธรรมอันสามารถจับต้องได้ชัดขึ้น
จะได้สามารถวัดได้ว่า สิ่งนี้ เป็นบุญมากหรือน้อยกว่าอีกสิ่ง แค่ไหน
อย่างไร ศัพท์เฉพาะหรือ "อุเทศ" ของภาษาคำว่า
"บุญ" จึงจะมีนิยาม ความหมายที่ชัดเจน
จนสามารถ ใช้เป็นพื้นฐาน ในการสร้างทฤษฎีบุญนิยม ขึ้นมาแข่งกับ ทฤษฎีอื่นๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองได้ เป็นต้น ซึ่งจะได้ขยายความ ในตอนต่อไป
อ่านต่อฉบับหน้า
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)