>เราคิดอะไร

เวทีความคิด- เสฏฐชน -

วันสำคัญ


คนแทบจะทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่าตัวเองมี "วันสำคัญ" สำหรับ ตัวเอง ที่เป็นความรู้สึกว่า "สำคัญที่ตนเอง" หรือ "สำคัญที่ผู้อื่น" ด้วยกันทั้งนั้น วันสำคัญนั้นอาจกำหนดมาจาก "วันเกิด" หรือ "วันตาย" ก็ได้

ความสำคัญ หรือ ไม่สำคัญ มาจากอะไร? ถ้าไม่ใช่ "ความคิดถึง" และน่าจะเป็นความคิดถึง ที่เจือปนกับ ความผูกพันไว้ด้วย อันจะเป็นดีกรีเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ ยืนยันความจริงข้อนี้ได้จาก ความรัก ที่ลูก มีต่อพ่อ-แม่ ลูกที่ผูกพันกับคนใดมากกว่า ก็มักจะคิดถึง ให้ความสำคัญแก่คนนั้นมากกว่า และ ความแตกต่าง ระหว่าง "การให้ความสำคัญ" นี่แหละ คือเหตุหนึ่ง ที่นำมา ซึ่งความผูกพันย้อนกลับ อีกละลอก เป็นชนวนให้คนก่อพิธีกรรม เพื่อสนองความคิดถึง เพิ่มความสำคัญ รักษาความผูกพัน ทางใจ นั้นๆ ไว้ การจัดงานวันคล้ายวันเกิด หรือการจัดงานระลึกถึงวันตาย จึงเป็นกิจกรรมสังคมประเภทหนึ่ง

สังคมจึงไม่ขาดจากการจัดงานทำนองนี้ ตั้งแต่ระดับรัฐพิธีลงมาถึงระดับล่าง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่น งานระลึกถึงคนสำคัญในชาติ งานระลึกถึงกิจกรรมทางศาสนา งานระลึกถึง การรบ ของกษัตริย์ เป็นต้น

การจัดงานให้ความสำคัญแก่บุคคล เรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ เป็นการจัดงานเพื่อรวบรวมความรู้สึกร่วม ของคน ที่มีค่านิยมเดียวกัน ให้มาทำกิจกรรมที่ดีๆ ที่มีประโยชน์ เป็นสื่อสานต่อประโยชน์ และรักษาความดี เหล่านั้น ไม่ให้จางหายไป ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคล ที่มีส่วนร่วม ในเหตุการณ์ ครั้งนั้น ผสมอยู่ด้วย เพราะคำคนเก่าก่อนเคยกล่าวให้เราได้คิดว่า "ของกินไม่กินก็เน่า ของเก่า ไม่เล่าก็ลืม"

วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางศาสนา จึงเป็นวันสำคัญสำหรับคนในชาติ เป็นวันสำคัญของศาสนิก ในศาสนานั้นๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

วันสำคัญของศาสนาพุทธในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ นี้ คงจะเป็นวันอาสาฬหบูชา กับวันเข้าพรรษา ซึ่งน่า ยินดี ที่หน่วยงานของรัฐบาลกระตุ้น ผลักดัน กิจกรรมที่สอดคล้องกับวันสำคัญทางศาสนาชัดเจนขึ้น ไม่ว่า จะเป็น การจัดงานส่งเสริม "ศีล-ธรรม" ให้เป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น หรือเรื่องสั่งการให้ "หยุด-ปิด" กิจการ ธุรกิจ ที่สวนทางกับศีลธรรมก็ตาม ซึ่งเป็นการรื้อฟื้น ก่อเริ่มสิ่งดีๆ ที่เคยทำกันมาในโอกาสพิเศษ ในอดีต แต่เลิกรา มานานแล้ว เช่น หยุดดื่มเหล้า หยุดฆ่าสัตว์ หยุดเล่นการพนัน หยุดเที่ยวกลางคืน หยุดเกี่ยวข้อง กับอบายมุข ในวันพิเศษ ทางศาสนาเหล่านี้

วันสำคัญทางศาสนาถูกกำหนดไว้ในปฏิทิน ให้คนรับรู้โดยทั่วถึงกัน เป็นการประกาศสากล กระจายความนี้ ได้กว้างไกล ยาวนาน มั่นคงกว่าวิธีอื่นๆ ไม่ว่าชาติใดภาษาไหน รู้จักคิดประดิษฐ์ปฏิทินใช้ ก็เพื่อการรับรู้ร่วม ในเรื่องสำคัญๆ วันสำคัญๆ ของมนุษยชาติต่างๆ ทั่วโลกนั่นเอง

ไม่ใช่เพียงศาสนาพุทธ ปฏิทินคริสต์ อิสลามก็มี แม้ชาวพุทธเองก็ไม่ได้คับแคบรู้แต่วันสำคัญของศาสนาตัว ศาสนาอื่นๆ ก็พลอยได้รับรู้ไปด้วย เพราะศาสนาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ ที่มีอิทธิพล มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้าน ผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มักเน้นหนัก พุ่งเป้า ที่จิตวิญญาณ เป็นสำคัญ

โลกเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะจิตวิญญาณของคนเดือดร้อนวุ่นวาย

โลกอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจิตวิญญาณของคนอยู่เย็นเป็นสุข

เพราะคนคือวิญญาณของโลก โลกเคลื่อนไปตามทิศทางที่จิตวิญญาณของคนเป็นตัวขับเคลื่อน ซีกโลกใด ที่คน ใจมืดใจดำ โลกซีกนั้นก็จะเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้ายมืดดำ ไม่ว่าจะเป็นโลกเศรษฐกิจ โลกการเมือง โลกสังคม ประเทศไหนๆ ซีกโลกตะวันตก-ตะวันออกก็อยู่ในกฎสัจธรรมเดียวกัน ดูได้จากข่าวเรื่อง "ธนบัตรปลอม" ที่ระบาดอยู่ ในเมืองไทยขณะนี้ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ที่เรียกว่า "ตลาดเงินมืด" ในพม่า หรือ "ตลาดเงินเถื่อน" ในอเมริกา หรือชาติอื่นๆ ก็มีปัญหาในเรื่องนี้เหมือนกัน และไม่จำเพาะ แต่เรื่องเงิน ปัจจัย บริโภค อุปโภคอื่นๆ ก็มี "ตลาดมืด" เป็นตัวกลางให้ลูกค้าที่ต้องการหา-ซื้อได้เหมือนกัน

ตลาดมืดทอง ตลาดมืดปืน ตลาดมืดหุ้น คงไม่มีใครปราบ กำจัดระบบตลาดมืดให้หมดไปได้ ตราบเท่าที่ จิตวิญญาณของคนยังมืดอยู่"มิจฉาวณิชชา" ยังคงมีอยู่ในสังคมควบคู่กับคนบริโภคสินค้า ที่ไม่ถูกต้อง ตามศีล -ธรรม จนยากที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองคนใด จะเข้าไปจัดระเบียบสังคมได้ เช่นที่ทางการ ดำริการ จัดระเบียบ เรื่องการใช้เน็ต (อินเตอร์เน็ต) เพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ด้วยวิธีการที่จะ ออกกฎหมาย ควบคุม กำหนดเวลาการใช้ แต่กำลังอยู่ในระยะการทำประชาพิจารณ์ เพราะการทำงานชิ้นนี้ จะกระทบกระเทือน ต่อผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ ธุรกิจระดับชาติ

เพราะธุรกิจทุนนิยมนั้นเวลาย่อมสัมพันธ์กับตัวเงิน ข่าวสารย่อมสัมพันธ์กับโอกาส

ฉะนั้นโครงการจะจัดระเบียบสังคมเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตของเยาวชน คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องยอม สูญเสีย ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่ ไปบ้าง ขึ้นอยู่ว่าใครจะคิดวิธีอื่นใดที่ดีไปกว่านี้ โดยไม่กระทบกระเทือนผลได้ ของผู้ใหญ่ ความปรารถนาดีต่อเยาวชนในเรื่องนี้เป็นการทดสอบ ท้าทายความจริงใจของผู้ใหญ่ ในการ จะเข้าไป จัดการแก้ปัญหาความเสพติดเกมคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตของเยาวชนไม่น้อยเลย

เรื่องถกเถียงไม่สร่างซา โยนกันไปโยกกันมา ระหว่างการวางตัวไม่งามของผู้ใหญ่ กับพฤติกรรม ไม่น่ารัก ของเด็ก เป็นเครื่องขยายเวลาของการแก้ไข สิ่งเลวร้ายต่างๆ ให้ยาวนานออกไป ตราบเท่าที่ผู้ใหญ่และเด็ก ต่างก็มีเหตุผล ที่จะถนอมการทำตามใจตัวเองเอาไว้ทั้งคู่ เด็กก็ประท้วงว่า ไม่มีผู้ใหญ่ที่ดี เป็นตัวอย่าง ผู้ใหญ่ ก็บ่น ว่าเด็กไม่เชื่อฟัง ซึ่งก็มีมูลความจริงด้วยกัน ทั้งสองฝ่าย ดังเช่นกรณีรณรงค์เรื่อง "งดเหล้าเข้าพรรษา" ซึ่งจัดอภิปรายที่พุทธมณฑล มีท่านพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ กับผู้ร่วมรายการอีกสองท่าน ช่วยกันพูด ให้เห็นโทษของสุรา ช่วยกันพูดโน้มน้อมให้คนหยุดดื่ม ถ้าเทียบอัตราส่วนผู้ฟังระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ไม่ต้องเฉลย ผู้อ่านก็คงจะรู้เองได้ว่าเพศใดมากกว่ากัน เมื่อเพ่งเป้าจุดประสงค์การจัดงาน ผู้ที่ควรมาฟัง มาสนใจ รับประโยชน์อันเป็นกลุ่มคนเป้าหมายของคณะผู้จัดงานแล้วอดเป็นห่วงความรู้สึกของผู้จัดงานไม่ได้ นอกเสียจาก ท่านผู้ปรารถนาดีเหล่านั้นจะ "ทำใจได้แล้ว" ว่า งานประเภทนี้ก็ต้องอย่างนี้แหละ ยังมีน้ำ หล่อเลี้ยงใจอยู่บ้าง ที่ทางรัฐบาลให้ความสนใจ ช่วยแพร่ข่าว ส่งภาพออกสู่รอบกว้าง เท่าที่เครื่องมือ ทางรัฐจะช่วยได้ แม้เมื่อนำมาเทียบ ส่วนกับการประชาสัมพันธ์ ที่เข้าข้างอีกฝ่าย จะมีน้ำหนัก มากกว่า มากมาย ดังที่ได้ฟังจากนายแพทย์อุดมศิลป์ ผู้อภิปรายท่านหนึ่ง ในวันนั้น เพราะคุณสมบัติ ความหนักแน่น ในอารมณ์ ความตั้งมั่นในคุณงามความดีของใจที่ได้ฝึกฝนอบรมแล้ว จะเป็นเกราะป้องกัน ลูกกระสุนอย่างดี จากฝ่ายพิฆาตคุณธรรม ไม่ให้อกระเบิดด้วยความผิดหวัง เพราะคงไม่ไปตั้ง ความหวัง มากกว่า "ตั้งใจดี" ในการดำริทำสิ่งที่ดีให้แก่สังคม คณะทำงานนี้จึงได้รับบำเหน็จแล้วโดยธรรม ตามที่พุทธพจน์ กล่าวไว้ว่า "จิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"

คนที่แสวงหาความสุขจากการทำลายความดี ย่อมแตกต่างกับคนที่แสวงหาความสุขจากการทำความดี ใจที่จะมีความสุขได้ ด้วยการกินเหยื่อ ก็เป็นใจคนละดวงกับใจที่มีความสุขจากการคายเหยื่อ คนที่ไม่เคย อบรมใจ ไม่เคยศึกษาเรื่อง "เหยื่อมนุษย์" คงทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ยากสักหน่อย เพราะธรรมดาของคน มักจะยอม ตกเป็นเหยื่อ ของสรรพสิ่งรอบด้าน ไม่ต่างจากปลา ที่คนมักใช้เหยื่อล่อให้ติดเบ็ดประหนึ่ง จะสะท้อน สัญชาตญาณของตัวเอง ให้ชัดเจนขึ้น คนผู้ฉลาดเท่านั้น ที่จะเกิดปัญญาในภาพสะท้อนนั้น แล้วเขา จึงจะหยุดกินเหยื่อ ทั้งจะหลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อต่างๆในโลกด้วย

คนฉลาดคงไม่ปล่อยให้วันสำคัญ ในรอบปีที่ปีหนึ่งจะเวียนมาครั้งหนึ่ง ล่วงเลยไปเปล่าๆ โดยไม่ได้รีบฉวย มาเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเอง ลองคิดดูสิว่าคนมักจะแสวงหาโอกาส รอโอกาส ฉวยโอกาส ที่จะทำอะไรต่อมิอะไรอีกนานาสารพัด แม้ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ เสี่ยงภัยอันตรายถึงตายก็มี คนก็ยัง ไม่ปล่อย ไม่วางมือ แม้ผลของการดำเนินชีวิต ดำเนินงานอย่างนั้นๆ จะต้องสร้างเวร ก่อกรรม ก่อศัตรู คู่อาฆาต คู่วิบากเพียงใด ไม่คิดวิตก ขอเพียงให้ได้สมใจอยาก ให้ได้ดั่งใจต้องการ ปรารถนา มุ่งหวัง แต่เมื่อ ถึงคราวที่ควร ต้องฉวยโอกาสในการทำความดี คนกลับไม่มีที่ว่างในหัวใจจะให้ ทำดีแต่ละครั้ง ก็มักออกตัว ไว้ก่อนว่า "ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ฝึก" ตรงกันข้ามกับเมื่อจะเอา จะได้ จะมี จะเป็นอย่างโลกๆ กลับรีบเร่ง ฉกชิง แก่งแย่ง ขึ้นบ่าขึ้นไหล่ กันและกัน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ได้รับความทุกข์จากความดำริผิดทำนองนี้มาตลอด จนต้องร้อง อุทธรณ์กันว่า "ไม่อยากเกิดอีก" ไยรสของความทุกข์นั้น ยังไม่มากพอ ในการให้คนเข็ดหลาบ หรืออย่างไร? คนจึงยังลังเล ล่าช้าในการให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางศาสนาที่เป็นอุปกรณ์ พ่วงแพ ในการก้าว ออกไปจากบ่วงของความทุกข์

เราไม่ปฏิเสธว่าการปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นทุกข์นั้น ไม่ใช่วิถีทางที่ง่ายดายนัก หากปราศจาก ซึ่งความพากเพียร พยายามอย่างสูงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแกะโซ่ตรวน ออกจากความทุกข์ จากเรื่องใดๆ หรือความทุกข์ ที่เกิดจาก ใครๆ เวลาเพียงชีวิตหนึ่ง คงเทียบส่วนไม่ได้กับวัฏสงสาร อันไม่มีใครรู้เบื้องต้น บั้นปลาย นอกเหนือไปจาก "ขณะ" ที่ตัวเองสัมผัสของจริงอยู่ แต่คนก็ปล่อยให้ขณะนั้น ผ่านเลยไป เพราะติดกับของรสเสน่ห์ ความเพลิดเพลิน ในแต่ละขณะ เข้าแทนที่แล้ว เป็นการยาก ที่จะเรียกขณะ ซึ่งล่วงเลยไปแล้วให้กลับคืนมา ดังที่ภาษาพระ กล่าวเป็นสำนวนชวนขบคิดว่า "ผู้ปล่อยให้ขณะที่ควรได้ประโยชน์ล่วงเลยไป ผู้นั้นมัก จะต้อง จมอยู่ในนรก" ผู้ไม่ได้ศึกษาธรรมะก็จะสงสัยอีกว่า "นรกมีจริงหรือ?" อยู่ที่ไหน?

ผู้ตอบที่คิดว่าน่าจะขมวดประโยชน์ให้ผู้ถามได้รับเต็มๆ ในปัจจุบันชาติ ก็มักจะตอบว่า "นรกก็อยู่ในใจ น่ะสิ!

อ้าว ! ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เห็นจะต้องไปทำบุญทำกุศลที่ไหนอีก เพราะทุกคนก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ รู้ใจตัวเอง กันแล้ว ทั้งนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะไม่รู้ใจของใคร ก็ใจอยู่กับเนื้อกับตัวของเราแท้ๆ เราจะไม่รู้ได้อย่างไร ?

แต่หากเขาจะมองย้อนกลับอีกสักนิด ก็คงจะคิดได้ต่อว่า เรารู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่ต้องมีใครบอกก็ได้ ในบางเรื่อง บางกรณี ใช่ไหม? แต่ทำไม? ทั้งๆ ที่รู้เองแท้ๆ เรากลับไม่มีกำลังใจในการทำสิ่งที่รู้ (รู้ว่าดี) หรือ ละเว้น สิ่งที่รู้นั้นๆ (รู้ว่าชั่ว) โลกนี้จึงเต็มไปด้วยผลผลิตของความรู้ดีๆ ชั่วๆ ในเชิงนี้อยู่ดาษดื่น

ใครจะรู้เรื่องสุขภาพดีเท่ากับหมอ ที่เป็นผู้ตรวจสอบสุขภาพของคนโดยตรง แต่จะหาหมอที่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ได้สักกี่คน?

ใครจะรู้เรื่องโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิต จำหน่ายเครื่องดื่มประเภทของเสพติดได้เท่ากับผู้ตรวจสอบโทษ สภาพผลิตภัณฑ์ เหล่านั้น แต่จะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ประกอบการชนิดนี้ ละเว้นเครื่องดอง หมักเมา เหล่านี้สักกี่คน?

วันหนึ่งๆ เราต้องผจญกับปัญหา ภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งที่มาจากธรรมชาติและฝีมือคนผลิต ขึ้นรอบด้าน แต่เราเคยนึกถึงโทษภัยของโลกนี้สักกี่คน?

เคยมีผู้ตั้งคำถามให้คิดเล่นๆว่า "ในศีล ๕ ข้อข้อไหนที่สำคัญที่สุด"

มีนิทานเรื่อง "คนดื่มน้ำเมา" ให้นำมาเป็นข้อเทียบเคียงหาคำตอบสุดท้าย สรุปความได้ว่า คนเมานั้น ทำผิด ศีล ข้อ ๑ ก็ได้ เพราะคนเมามักจะเห็น "ช้างตัวเท่ามด" เรื่องตีรันฟันแทง ชกต่อยกัน ของผู้ชาย ส่วนใหญ่ มาจากเรื่องนี้ คนเมาขโมยของของเขาก็ได้ เพราะขาดสติ ลืมไปว่า ไม่ใช่ของของเรา คนเมาผิดประเวณี หลงลืมว่า นี่ลูกสาว หลานสาว เมียเพื่อน อาจข้ามรุ่นไปจนกระทั่ง แม่ตัวเองก็เคยมี การทะเลาะเบาะแว้ง ปากคอ เราะราย ด่าทอ พูดคำหยาบ อันต้องห้าม ในศีลข้อ ๔ ก็มีให้ได้ยินบ่อยๆ ไม่ต้องกล่าวถึง ศีลข้อ ๕ ที่ไม่ได้ หมายเฉพาะ "น้ำเมา" แต่เป็นความเมาอารมณ์ เมาใจ เมาประมาท

เราเกิดมาเป็นคนแล้วนั้น ทางพุทธศาสนายืนยันว่าบุญเหลือหลาย สัตว์อื่นๆ ที่ต่ำกว่านี้ ไม่มีโอกาสเรียนรู้ ไม่มีสมอง ไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจเรื่องธรรมะ จะมีก็แต่เพียงสัญชาตญาณดิบ ที่เกิดมา เพื่อหาอาหาร ใส่ปากท้อง เที่ยวไปตามอารมณ์ เสพกามเมถุนตามอำนาจฝ่ายต่ำ

แต่คนสำคัญกว่านั้น เพราะคนคือเจ้าเหนือสัตว์ทั้งหลาย เหนือตรงที่พัฒนาให้เหนือสัญชาตญาณสัตว์ เพราะคน มีทิศทางที่จะพัฒนา "ธรรมปัญญา" ให้เจริญงอกงามต่อๆ ไป

คนที่ได้ฝึกฝนตนไว้ดีแล้ว จึงต้องรู้วันสำคัญ และให้ความสำคัญแก่วันสำคัญนั้นๆ เพราะวันเหล่านั้นเป็น "วันเตือนสติ" ให้หันมามองสิ่งที่ตัวเองยังไม่ได้พัฒนา และใช้วันเวลาที่ผ่านไป พัฒนาให้เกิดความสำคัญ ต่างๆ ขึ้นในโลก ขณะที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คือบุคคลสำคัญของโลก เช่นเดียวกัน

พุทธบริษัท ๔ ไม่ว่าฆราวาส หรือบรรพชิต ทั้งหญิง-ชาย จึงควรรำลึกถึง และน้อมนำเอาความสำคัญ ที่ระบุไว้ ในปฏิทินนั้นมาให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าที่จะปล่อยให้กาลเวลา กลืนกิน ชีวิตตัวเอง ดีกว่าที่จะปล่อยให้ ความไร้สาระ มาปิดกั้น โอกาสที่คนจะไต่เต้า ไปสู่ความเป็นบุคคลสำคัญ ด้วยการทำ สิ่งที่สำคัญๆ ในชีวิต แม้เพียง วันสำคัญ วันเดียว ที่เราคิดได้นึกออก นั่นแหละจึงจะเป็นทางออก ประตูเดียวของคน ที่มักจะมี ความหวัง ความต้องการเดินทางไปสู่ความเป็นคนสำคัญแทบทั้งนั้น

อย่าลืมว่าเราหยุดความชั่วเมื่อไหร่? ไม่ว่าจะเป็นความชั่วเรื่องใดๆ เมื่อนั้นแหละคือเวลา คือ วันที่สำคัญที่สุด ในชีวิตของคนเรา

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖)