>เราคิดอะไร

บ้านป่านาดอย - จำลอง -

โรงเรียนผู้นำที่ผมและคณะปักหลักอยู่นั้น เป็นโรงเรียนราษฎร์็กๆ (รับนักเรียนอายุ ๒๕ ถึง ๕๕ ปี) เริ่มได้รับความสนใจจากกระทรวง ทบวงกรมเพิ่มมากขึ้น ช่วงเดือนที่แล้ว นอกจากกรมที่ดิน และกรมศุลกากรแล้ว ก็มี กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ส่งข้าราชการ ระดับผู้บริหาร ไปรับการฝึกอบรม ส่วนภาคเอกชนนั้น บริษัทใหญ่ๆ อีกหลายบริษัท ได้ติดต่อจองไว้ล่วงหน้า ทำให้รายการแน่น ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าโน้น

นอกจากมีงานที่โรงเรียนผู้นำแล้ว พวกเราบางคนยังต้องไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ ตามคำเชิญอีกด้วย ส่วนผมแม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่กาญจนบุรี ก็ต้องเข้าไปยุ่งในกรุงเป็นระยะๆ เช่นกัน

ก่อนวันประวัติศาสตร์ ๑๑ กันยายน เพียง ๑ วัน ผมและ "คณะกรรมการรวมน้ำใจ ชาวไทยสู่ชาวอิรัก" นำข้าวสารอาหารแห้ง หลายร้อยตันไปมอบที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ให้ทหารนำติดมือไปฝากชาวอิรัก พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ขอบคุณเป็นการใหญ่ ทำให้ชาวโลก ได้ตระหนักว่า ทหารไทยไปช่วย ด้านมนุษยธรรมจริงๆ หาได้ไปยุ่งกับการรบทัพจับศึกอย่างที่ใครๆ วิตกกันไม่

ผู้ที่ติดตามข่าวคราวต่างๆ คงทราบดีว่า ช่วงปีที่แล้ว นอกจากเกิดการรบราฆ่าฟันที่อิรักแล้ว ยิวกับปาเลสไตน์ ยังห้ำหั่นกันไม่เลิก กำลังจะกลายเป็นตำนาน สงครามอมตะไปแล้ว และเกิดระเบิดร้ายแรงในหลายๆ แห่งของโลก ที่เมืองไทยนักเรียนยกพวกไล่ยิงไล่ฆ่ากัน อย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมๆ แล้วการเข่นฆ่า นับวันจะขยายวงมากขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สงครามหรือสันติภาพ เกิดจากจิตของมนุษย์ มิใช่อื่นเลย ผมและประชาชนกลุ่มเล็กๆ ได้หารือกันมา สองสามเดือนแล้ว เอาวันสันติภาพสากล ที่องค์การสหประชาชาติประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ กันยายน มากระตุ้น ให้ผู้คน ใฝ่สันติอาจมีส่วนช่วยได้บ้าง

บราห์มา กุมารี มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอินเดีย ได้รับรางวัลสันติภาพ จากองค์การสหประชาชาติ ถึง ๗ รางวัล และมูลนิธิบราห์มา กุมารี สาขาประเทศไทย เคยชักชวนเรื่องนี้ มาเมื่อ ๑๗ ปีก่อน ให้ประชาชนนึกถึงสันติภาพ ๑ นาที ตอนเที่ยงของทุกๆ วัน บางองค์กร ทำต่อเนื่องกันมาจนถึงเวลานี้

ใครไปพบครั้งแรกคงจะแปลกใจ ทุกพุทธสถาน ทุกชุมชนของชาวสันติอโศก เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง ทุกคนไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะพากันหยุดนิ่งนึกถึงสันติภาพ ๑ นาที สมกับชื่อสันติอโศกโดยแท้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเล็กน้อย จะมีเสียงตามสาย โน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของสันติภาพ

ปีนี้เราจึงขอให้มูลนิธิบราห์มา กุมารี สาขาประเทศไทย เป็นหัวเรือใหญ่อีกครั้งหนึ่ง มีการจัดกิจกรรม ในที่ต่างๆ เป็นระยะๆ จนถึงวันสันติภาพสากล

วันที่ ๒๑ กันยายน ภายในห้องประชุมโรงพยาบาลราชวิถี มีการเสวนาเรียกร้องสันติภาพ ของศาสนิกชน ทุกศาสนา สำหรับ ศาสนาพุทธคณะกรรมการจัดงานได้นิมนต์ ท่านจันทเสฏโฐ จากพุทธสถาน สันติอโศก ซึ่งท่านได้พูดถึงสันติภาพ เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง น่าฟังมาก ข้างๆ ห้องประชุม มีการแสดงภาพนิทรรศการ ที่เกี่ยวกับสันติภาพไว้พร้อม

ใกล้ๆ กับห้องประชุมโรงพยาบาลราชวิถี คือบริเวณลานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นประธานพิธีปล่อยลูกโป่ง พร้อมๆ กับการหยุดนิ่ง ๑ นาที เพื่อนึกถึง สันติภาพ ด้วยการปิดการจราจร บริเวณนั้นทั้งหมด เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากยานพาหนะที่ผ่านไปมา ซึ่งบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีรถประจำทาง ผ่านมากที่สุด และมีการจราจรหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย

ช่วงบ่ายมีการเสวนาต่อในห้องประชุม บาทหลวงผู้แทนของชาวคาธอลิก ได้กล่าวยกย่อง ท่านอาจารย์ พุทธทาส และเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า แม้เป็นบาทหลวงของคาธอลิก ก็ยังไปฟังธรรมที่ วัดสวนโมกข์ พักอยู่ที่นั่น หลายวัน ท่านอาจารย์พุทธทาสได้มอบ มรดกให้แก่ประชาชนไว้ ๓ ข้อคือ

๑. พยายามทำตนให้เข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆ
๒. พยายามช่วยกันถอนตัวออกจากอำนาจวัตถุนิยม
๓. พยายามทำความเข้าใจระหว่างศาสนา

ชาวพุทธที่นั่งในห้องประชุมฟังแล้วอึ้งไปตามๆ กัน เพราะหลายคนที่ไปสวนโมกข์มาแล้ว ไม่เอาของดี กลับมาเลย

เมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของกระทรวงเกษตร ซึ่งเกษียณได้ ๒ ปี เป็นเจ้าตำรับ เกษตรธรรมชาติ เขียนหนังสือไว้หลายเล่มท่านขอให้ผมตั้งโรงเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งคือ โรงเรียนเกษตรธรรมชาติ นักวิชาการเพื่อนๆ ของท่านจะช่วย อย่างเต็มที่ ผมขอบคุณท่าน พร้อมกับ ชี้แจงความจริงว่า เพียงโรงเรียนผู้นำแห่งเดียว ผมและคณะ ก็แย่เต็มทีแล้ว ไม่สามารถรับงานอื่น เพิ่มเติมได้อีกเลย

เวลาใกล้เคียงกันนั้น มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเกษตรกร คือ ท่านนายกฯ ทักษิณ สั่งรื้อใหญ่ กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร สมาชิก "เราคิดอะไร" บางท่านที่สนใจ อาจไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน รัฐบาลที่แล้ว ออกกฎหมาย เมื่อปี ๒๕๔๒ ตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา เพื่อให้เงินทุน ให้ความรู้ และช่วยแก้ปัญหา หนี้สินเกษตรกร มีเงินทุนประเดิม ๑,๘๐๐ ล้านบาท ๔ ปีผ่านไป ยังเอาเงินนี้ ออกมาฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร ไม่ได้เลย ทะเลาะกันไม่จบ

แม้จะไม่ตรงทีเดียวนักกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษานายกฯ อยู่ แต่ผมรู้เรื่องนี้ดี และติดตามมาตลอด ผมมีจดหมายถึงนายกฯ ทักษิณ และรองนายกฯ สมคิดเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๔ เสนอแนะว่า ต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ โดยแก้ไขให้ถูกกฎหมาย ถ้าปล่อยนานไป จะเสียหายมาก

ในจดหมายผมได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้พร้อม ว่าทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งท่านนายกฯ และรองนายกฯ สมคิด สามารถสั่งการได้ทันที จดหมายของผมเงียบหายไปเกือบ ๒ ปีแล้ว เกษตรกร ชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ฟ้องร้องกันอุตลุด เรื่องคาราคาซัง มาจนถึงวันนี้ เป็นไปตามจดหมาย ที่ผมเขียนเตือนไว้แล้วทั้งสิ้น

ตอนที่รัฐบาลประกาศทำสงครามกับการโกงกิน และทำสงครามกับผู้มีอิทธิพลนั้น ผมคิดอะไร คิดเหมือนคนอื่นๆ คือเป็นนโยบายที่ดีมาก ยังไม่เคยมีรัฐบาลไหนประกาศออกมาอย่างจริงจังแบบนี้ แต่สำเร็จยาก นี่ผลของการสำรวจประชามติ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ก็ออกมายืนยันแล้วว่า นโยบายทั้ง ๒ เรื่องนั้น ทำไม่สำเร็จ

ที่ผมคาดว่าไม่สำเร็จตั้งแต่แรกคือ ขาดผู้ใหญ่ที่จะเป็นหัวหอก ซึ่งต้องเป็นคนมีเกียรติประวัติดีเด่น และ กล้าฟาดฟันคน โดยไม่กลัวไม่เกรงใครๆ มีเสียงเรียกร้องตามมาว่า ถ้าได้นายตำรวจ ๒ คนมาจัดการเรื่องนี้ ต้องสำเร็จแน่ คือ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และ พล.ต.ท.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส (ชื่อเดิมเสรี เตมีย์เวส) คนหลัง เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นก่อนรุ่นแรก ๑ รุ่น และคนแรก ก่อนนายกฯ ทักษิณ ๑ รุ่น

ทุกปีที่เกาหลีใต้ มีการแจกรางวัลอิลกา รางวัลบุคคลดีเด่นแห่งเอเชีย โรงเรียนผู้นำของเกาหลีใต้ เชิญผม ให้ไปร่วมพิธี พร้อมกับให้เชิญผู้ใหญ่ จากเมืองไทยไปด้วย ผมถือโอกาสเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการฝึกอบรม ผู้นำของไทย ให้ไปดูงานโรงเรียนเขา เมื่อสามปีก่อนผมเชิญ ดร.ปุระชัยและภริยา คืออาจารย์สมศรี ต้องใช้เวลาถึง ๒ ปีกว่าจะไปครบ เพราะดร.ปุระชัย ท่านถือมาก เรื่องความอบอุ่น ของครอบครัว คนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งต้องอยู่เลี้ยงลูก

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมเชิญ พล.ต.ท.เสรีพิศุทธิ์ และภริยา พร้อมกับผู้ใหญ่อีก ๔ ท่าน คณะที่ร่วมเดินทางไปเกาหลีใต้ มีโอกาสได้พูดคุยอย่างเป็นกันเอง มีผู้ถาม พล.ต.ท.เสรีพิศุทธิ์ว่า ทำไมไม่ไปช่วย ท่านนายกฯ ปราบคนโกงและปราบผู้มีอิทธิพล ได้รับคำตอบ สั้นๆ ว่า "นายกฯ ไม่ใช้ครับ"

แปลกแต่จริง เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องเรียนตามกันมาแท้ๆ ทั้งจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียน นายร้อยตำรวจ กลับไม่ใช้ ไปใช้คนอื่น ผลเลยออกมาเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงความต้องการ ของประชาชน แล้วจะเรียกว่า ดำเนินนโยบาย "ประชานิยม" ได้อย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งเกิดที่เมืองนอก แต่คนไทยหลายคนอาจสะใจนั่นก็คือการประชุมองค์การ การค้าโลก ที่ประเทศ เม็กซิโกล้มเหลว ล้มทั้งในห้องประชุมและนอกห้อง

ในห้องประชุมแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือกลุ่มผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (อเมริกา ญี่ปุ่น...) อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มผู้ค้าสินค้าเกษตรของ ประเทศที่กำลังพัฒนา (ไม่กล้าใช้คำว่า ประเทศล้าหลัง) ซึ่งอยู่ในแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ฝ่ายหลังกล่าวหาอย่างรุนแรงว่า ฝ่ายแรกเอาเปรียบ และยืนยัน ไม่ตกลงทำสัญญาใดๆ เมื่อตกลงกันไม่ได้ การประชุมจึงต้องล้ม ทั้งๆ ที่ลงทุนลงแรง เตรียมจัดการประชุมมานาน

เมืองที่จัดประชุมคือเมืองแคนคูน เป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ เม็กซิโก กลุ่มต่อต้าน โลกาภิวัตน์ (บางแห่งใช้คำว่า โลกาวิบัติ) หลายพันคนชุมนุมประท้วงที่ชายหาด เมืองแคนคูน ๒๐ คน นอนแก้ผ้าเรียงกัน เป็นตัวอักษรว่า "ไม่เอาองค์การการค้าโลก" ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบ การประท้วง ไปอีกขั้นหนึ่ง

กลุ่มผู้ประท้วงมีอยู่กลุ่มหนึ่ง ชื่อกลุ่ม ให้ความหมายไว้เสร็จ "กลุ่มขบวนการผู้ไร้แผ่นดิน" หัวหน้ากลุ่ม กล่าวโจมตีว่า "พวกเราคนยากคนจนของโลกใบนี้ ไม่เห็นได้อะไรจากองค์การ การค้าโลกเลย ไม่ได้อะไร จากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และธนาคารโลก ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ และเศรษฐีเท่านั้น"

หัวหน้ากลุ่มขบวนการผู้ไร้แผ่นดิน เปิดศึกกับระบบทุนนิยมอย่างชัดเจน เพราะทนทุกข์ทรมาน มากับระบบนี้ นานนักหนาแล้ว ไม่ทราบว่าประเทศชั้นนำของระบบทุนนิยมคิดอะไร จะเอาเปรียบ ให้เต็มที่ต่อไป หรือ จะหันมาเป็น ระบบบุญนิยมบ้าง


เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง พูดตามประสาชาวบ้านได้ว่า "หมาไม่ใช่หมู เรื่องหมาๆ จึงไม่เป็นเรื่องหมูๆ" การเตรียม การประชุมเอเปค ก็เหมือนๆ กับการเตรียมจัดงานใหญ่ๆ ของสถานที่ราชการต่างๆ งานแรก ที่ต้องทำคือ การกำจัดหมา ทำอย่างไรก็ได้อย่าให้มีหมาอยู่ในงานแม้ตัวเดียวก็ไม่ได้ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ของหลายหน่วยที่จัดงาน รับไม่ได้ สงสารหมาที่เห็นกันมาทุกเมื่อเชื่อวัน รีบติดต่อเอาไปฝากเลี้ยง ที่สถานสงเคราะห์สัตว์ของสมาคมสงเคราะห์สัตว์ แล้วช่วยกันออก ค่าอาหาร ตามมีตามเกิด มั่นใจได้ว่า หมาจะได้รับการเลี้ยงดูจนตาย ตามอายุขัย ไม่มีวันถูกยาเบื่อ หรือเป็นอาหารจระเข้อย่างแน่นอน

สำนักข่าวต่างประเทศที่ชื่อว่า รอยเตอร์ เผยแพร่ข่าวกระจายไปทั่วโลก ว่าการเตรียมจัดการ ประชุมเอเปค (องค์กรความร่วมมือของประเทศย่านเอเชียและแปซิฟิค) ทำให้เกิดการกวาดล้าง หมาจรจัด อย่างเอาเป็นเอาตาย บริเวณสนามหลวง และอีกหลายจุดในกรุงเทพฯ เพื่อให้ชาวต่างชาติ ที่จะมาร่วมประชุมได้เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ไม่เจอหมาจรจัด ออกมาเพ่นพ่าน

เริ่มด้วยการไล่จับหมามาฉีดยาสลบ ข่าวรอยเตอร์บรรยายว่าหมามันพากันหนีหัวซุกหัวซุน ร้องโหยหวน หาความเป็นธรรม คนที่ไล่จับได้ค่าแรงตัวละ ๓๐ บาท จับได้แล้วจะส่งไปเลี้ยง ที่จังหวัดสระแก้ว ข่าวเล็กๆ ที่สะเทือนใจคนรักหมา ทั้งในและนอกประเทศก็คือ คุณยายแก่ๆ คนหนึ่ง ขอหมาตาบอดไว้ อย่าไปไล่จับ ทำร้ายทำลายน้ำใจมันเลย ปรากฏว่าร้องขอไม่สำเร็จ หมาที่ถูกจับฉีดยาสลบนอนระเกะระกะ อย่างน่าสมเพช รอการขนไปสระแก้ว การจัดการเรื่องหมา เพื่อรับการประชุมเอเปค ใช้เงินหลวงเป็นล้านๆ บาท กับการประชุมเอเปคเพียง ๒ วัน

ชาวจังหวัดสระแก้วพอรู้ข่าวก็ไม่ยอม จัดการชุมนุมคัดค้าน ผู้ที่คัดค้านประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. และชาวตำบล ทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ต้องการ ให้หยุดโครงการ ที่จะเอาหมา ไปเลี้ยงที่สระแก้ว ถ้าทางการยังคงยืนยันปฏิบัติตามโครงการเดิม จะเกิดเรื่องแน่ๆ

เรื่องหมาๆ เลยไม่เป็นเรื่องหมูๆ ก่อนจะคิด ก่อนจะทำ น่าจะไปดูงาน การเลี้ยงสุนัขจรจัด มากที่สุดในโลก ที่สวนสัตว์เลี้ยงกาญจนบุรี ของสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลี้ยงสุนัขเป็นพันๆ ตัว เลี้ยงมา ๑๖ ปีแล้ว ไม่ได้ใช้เงินหลวงสักบาท อยู่ที่ทุ่งสีกัน กรุงเทพฯ มาแปดปี ย้ายไปกาญจนบุรี ไม่มีใครคัดค้าน ต่อต้าน ทั้งๆ ที่ชาวกาญจน์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่าจังหวัดไหนๆ โครงการใหญ่ ขนาดไหน ก็ต่อต้าน คัดค้านมาแล้ว อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน


เทศกาลกินเจปีนี้คึกคักมาก หลายแห่งขึงป้ายผ้าสีแดงเหลืองเหนือศีรษะ ขึงข้ามถนนเป็นทิวแถว สุดลูกหูลูกตา เชิญชวนให้กินเจตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน ถึง ๔ ตุลาคม วันก่อน ผมแวะไปที่ บ้านสวนไผ่ พบอาจารย์เสน่ห์ จามริก และครอบครัวกำลังนั่งรับประทานอาหาร ท่านไม่ได้ไปอุดหนุน เฉพาะหน้ากินเจ เท่านั้น ท่านเล่าให้ฟังว่าไปเป็นประจำ ชอบมาก ขึ้นรถลอยฟ้า ไปสะดวกดี

ท่านขอให้ช่วยกันเปิดร้านอาหารมังสวิรัติอย่างนั้นให้มากๆ ไม่ได้กำไรเป็นเงินก็ไม่เป็นไร แต่ได้ประโยชน์ ต่อสังคม อาจารย์เสน่ห์เน้นเรื่องสังคม และการช่วยเหลือผู้ยากไร้มาตลอดเวลา ท่านอยู่คนละฟากกับ ระบบทุนนิยม ถ้ามีนักวิชาการอย่างท่านมากๆ เมืองไทยอาจมีความหวัง ที่จะก้าวไปสู่ระบบบุญนิยม ในอนาคต

จากการคุยกับท่านรองนายกฯ ปุระชัย ในวันสันติภาพสากล ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ทราบว่าท่านกำลังเสริมสร้างความอบอุ่นให้กับระบบครอบครัว อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่ง ที่ร่วมวงสนทนา เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กำลังช่วย ดร.ปุระชัยเรื่องนี้ด้วย เล่าความสำเร็จ ในการโน้มน้าวให้ครอบครัวต่างๆ จัดทำ "บัญชีครอบครัว"

สมาชิกในครอบครัวจะทราบค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน แล้วช่วยกันประหยัด ทำให้ครอบครัว แข็งแกร่ง และอบอุ่น มีการปรึกษาหารือ ช่วยกันคนละไม้ละมือ ยิ่งทำยิ่งสนุก นักสังคมบางกลุ่มใช้คำว่า "บัญชีชีวิต"

ผมกล่าวเสริมว่าที่โรงเรียนผู้นำ ก็ได้รับความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเช่นกัน ชั่วโมงแรก นักเรียน (อายุ ๒๕ ถึง ๕๕) จะต้องกรอก ใบประเมิน ว่าใช้จ่ายอะไรไปเดือนละเท่าไร

ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์คนหนึ่ง กล่าวชมกับรุ่นน้องที่ผ่านการฝึกอบรม จากโรงเรียนผู้นำ ก่อนหลายรุ่น ว่า ขอยก ๒ นิ้วหัวแม่มือให้โรงเรียน เมื่อกรอกในใบประเมิน พบว่าตนเอง ซื้อหวย เดือนละหมื่นกว่าบาท เกิดละอายแก่ใจ ลดลงเหลือแค่ ๘๐๐ บาท และคงจะเลิกไปในที่สุด ข้าราชการรุ่นน้องคนนั้นถามว่า เอาเงินที่ไหน มาซื้อหวยตั้งเดือนละหมื่น ก็ได้รับคำตอบว่า ได้มาจาก การกระเหม็ดกระแหม่ เก็บหอมรอมริบ ทั้งตนเองและภรรยา เพื่อซื้อหวยเป็นหลัก ตอนนี้ ลดเงินค่าหวย จึงมีเงินเหลือพอที่จะพาคุณแม่ ไปเที่ยวได้อย่างสบาย

ก่อนเทศกาลกินเจประมาณ ๑ อาทิตย์ คุณนิตยา เจ้าของน้ำพริกนิตยา อันลือชื่อ พบกับผมและ คุณศิริลักษณ์ โดยบังเอิญ ที่บ้านสวนไผ่สุขภาพ บอกว่าร้านอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ แพร่กระจาย ไปทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะผมและคุณศิริลักษณ์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง (ที่จริงญาติธรรมชาวสันติอโศก ต่างหาก) ขอให้ทำอีก ๑ อย่างได้ไหม ช่วยให้คนไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ต้อง เข้าโรงพยาบาล ไปโรงพยาบาลไหน แน่นทั้งนั้น

เราสองคนบอกคุณนิตยาว่า อยากทำค่ายเสริมสร้างสุขภาพอยู่แล้ว กำลังคิดอยู่ว่า จะทำไหวหรือไม่ เพราะงานการ ขณะนี้ก็มากมายมัดตัวอยู่ (จนกระทั่งไม่มีเวลาเขียนในหนังสือ "เราคิดอะไร" หน้านี้ เกือบๆ จะส่งต้นฉบับไม่ทัน หลายต่อหลายครั้งแล้ว)

ผมมาคิดได้ภายหลังว่า อาจทำสำเร็จอีกก็ได้ เพราะกำลังสำคัญที่ช่วยหนุนตลอดมาคือ "ชาวสันติอโศก" ท่านสมณะโพธิรักษ์ ท่านกำหนดว่า การเสริมสร้างสุขภาพเป็นบุญญาวุธ หมายเลข ๔ ของชาวอโศก แต่ต้องเป็นแบบบุญนิยม ไม่ใช่ ทุนนิยม เพราะทุนนิยม จ้องจะหาแต่กำไร ท่าเดียว

"กำไรตามวิธีคิดของทุนนิยม คือการเอาเปรียบแท้ๆ "

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)