>เราคิดอะไร


โจน จันใด


นับวันวิวัฒนาการของโลกก็ยิ่งก้าวไกลออกห่างจากธรรมชาติมากขึ้น และนั่นคือ เรายิ่งนำตัวเอง ออกห่างจากการพึ่งตนเองมากขึ้นๆ เมื่อห่างไกลธรรมชาติ และการพึ่งตนเอง อะไรจะเกิดขึ้น

ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องบ้านดิน และการเก็บเมล็ดพันธุ์ ๒ ในปัจจัย ๔ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต อาจถือเป็นการคืนสู่ธรรมชาติที่น่าคิด

*** ประวัติส่วนตัว
ผมชื่อโจน จันใด ชื่อเล่นก็โจ ใครจะเรียกอะไรก็ได้ เป็นคนบ้านศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เกิดที่นั่น เติบโตที่นั่น พ่อแม่เป็นชาวนา เรียนจบ ป.๗ อยากเรียนหนังสือต่อ แต่ทางบ้านไม่มีเงิน เลยไปบวช เป็นเณร ๔ ปี เรียนจบเทียบเท่ามัธยมปลาย การศึกษาอยู่ในห้องเรียนมีแค่นี้ แต่การศึกษาในชีวิต มีตลอด

*** ทำไมสนใจบ้านดิน
หลักๆ แล้วผมคิดถึงการพึ่งตนเอง เพราะว่าผมเบื่อหน่ายกับการทำงานในเมือง อยากใช้ชีวิต ที่เรียบง่ายที่สุด จึงคิดถึงเรื่องการพึ่งตนเอง ชีวิตที่ง่ายที่สุดมันจะง่ายไม่ได้ถ้าไม่พึ่งตนเอง อย่างน้อยปัจจัย ๔ เราน่าจะช่วยตัวเองได้ ไม่เดือดร้อน ก็ถือว่าใช้ได้

ผมออกจากกรุงเทพฯ เพราะเบื่อ ก็มาคิดเรื่องนี้ จึงเริ่มต้นทำกระท่อมไม้ไผ่อยู่เอง ปลูกผักกินเอง รู้สึกว่าพึ่งปัจจัย ๔ ได้ และชีวิตมันง่ายขึ้น น่าประทับใจ แล้วก็ชอบวิถีชีวิตแบบนี้เรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้ ระหว่างนั้นมีแฟนเป็นคนอเมริกัน เขามาอยู่ที่ทุ่งนาด้วยปีกว่าๆ จากนั้นเขาคิดอยาก จะไปเรียนนวดที่อเมริกา และอยากให้ผมไปด้วย ก็เลยไปอยู่ที่สหรัฐฯ ๒ ปี แต่ก่อนจะกลับเมืองไทย เราขี่จักรยานเที่ยวใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ขี่จากรัฐยูท่าห์ไปโคโลราโด เม็กซิโก อาริโซนา แล้วกลับมา แคลิฟอร์เนีย ช่วงนี้เราได้ผ่านหมู่บ้าน หนึ่งชื่อว่า Toapueblo เป็นหมู่บ้านอินเดียนแดง หมู่บ้านแรก ที่ผมเห็น คือในระหว่างขี่จักรยานในเขตนั้นมันเป็นทะเลทรายทั้งหมด ไม่มีร่มไม้เลย มันร้อนมาก แต่พอเข้าไปในบ้านรู้สึกเย็นมาก ก็คิดถึงบ้านที่ยโสธรทันทีเพราะมันร้อนมากเหมือนกัน กลับมาก็คิดว่า จะสร้างบ้านแบบนั้นบ้าง หลังจากนั้นผมก็สร้างบ้านหลังแรก ไม่ได้เรียน แค่ไปดูนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็สอบถามเขา แล้วมาค้นดูหนังสือในห้องสมุดถึงวิธีทำ แค่นั้นเอง แล้วก็ลงมือ ทำเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เราเป็นคนที่เติบโตมากับดินอยู่แล้ว เป็นชาวไร่ชาวนา เรารู้จัก นิสัยดินดี เมื่อรู้ว่าทำยังไงแล้วก็ง่าย

หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ปีละหลังสองหลัง จนเมื่อ ๒ ปีที่แล้วทางอาศรมวงศ์สนิท จัดเวิร์คช็อพ บ้านดินขึ้น โดยเขาไปเจอฝรั่ง ๒ คน ชื่อไจแนลกับมิแชลที่ทำบ้านดินมาก่อน เขาก็ให้ ๒ คนนี้มาสอน และเชิญผมไปดู ที่เขาสอนเรานี่เป็นอีกเทคนิคหนึ่งเรียกว่าค็อบ ส่วนเทคนิคที่ผมทำนี่ เป็นแบบ ก้อนอิฐตากแดด ซึ่งทำเป็นอิฐก่อนแล้วมาก่อ แต่ที่เขาทำ คือการเหยียบดินเหนียวๆ ผสมกับฟางยาวๆ แล้วก็มาปั้นเป็นบ้านขึ้น ซึ่งมันยากมาก พอเขาทำเวิร์คช็อพที่นั่นเสร็จ ปรากฏว่าคนที่เข้าร่วมเวิร์คช็อพไม่อยากทำเลย ถ้ายากขนาดนี้ไม่เอาดีกว่า ผมก็เลยบอกว่า ผมทำได้ง่ายกว่านี้ ฝรั่งสองคนนั้น ก็เลยมาเรียนกับผม จากนั้นก็กระจายเวิร์คช็อพออกไป แม่ชีศันสนีย์สนใจ เอาไปออกทีวีเลยยาวไปเลย

๒ ปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่ได้อยู่บ้าน เดินทางไปเผยแพร่เรื่องบ้านดินทั่วประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ผมตั้งใจไว้ว่า จะใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องบ้านดิน ทำบ้านดิน โดยเฉพาะ ใครเชิญที่ไหนไปหมด ขอให้เป็นการเรียนรู้ เพื่อคนอื่น จนปีนี้จะเข้าปีที่ ๓ ผมก็ชะลอลงเพราะคิดว่าเรื่องบ้านดินน่าจะจบ คนที่ทำเป็น ก็มีมากแล้ว

*** ประโยชน์จากบ้านดิน
ประสบการณ์จากบ้านดินที่เห็นชัดๆ เลย ก็คือ
๑.เราไม่ได้เสียเงิน อันนี้เห็นชัดมาก
๒.ทำได้เอง ใครๆก็ทำได้ไม่จำเป็นต้องเป็นช่าง ทุกคนทำได้
๓.ควบคุมอุณหภูมิได้ดี ถ้าทำเพดานดี อันนี้เห็นชัดมาก
๔.วัสดุที่ใช้ หาที่ไหนก็ได้ ไม่เป็นปัญหา

คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญของการพึ่งตนเองที่ง่ายมาก ก็ทำมาเรื่อยๆ

บ้านดินเหมาะกับทุกภูมิประเทศยกเว้นน้ำท่วม ส่วนจะฝนมาก ฝนน้อย ความชื้นเยอะ ความชื้นน้อย ไม่สำคัญ ทำได้หมด เพราะว่าบ้านดินมีตั้งแต่ ในเขตทะเลทรายเยอะที่สุด และ ไปจนถึงยุโรป อย่างในอังกฤษอากาศความชื้นเยอะมาก หมอกลงตลอดปี แต่เขาก็อยู่กันมาได้ หลายร้อยปี และก็ยังมีบ้านดินเหลืออยู่จนทุกวันนี้ในยุโรปอายุ ๒๐๐ ถึง ๔๐๐ ปีมีเยอะมากเลย ตอนนี้ เป็นของเก่าซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้เทคนิคในการทำ

ในยุโรปตะวันออกมีทั้งโบสถ์ โรงแรม ร้านอาหาร ที่เก่าแก่มาก ที่เก่าที่สุดคือที่ Toapueblo ของอินเดียนแดง อายุพันกว่าปี ในสหรัฐอเมริกายังมีซากปรักหักพังอีกมากที่มีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี เนื่องจาก ไม่มีคนอยู่อาศัยเรื่อยมาเท่านั้นเอง หลังที่อายุพันกว่าปี มีคนอยู่อาศัย ตั้งแต่สร้าง จนถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมาก สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก็เลยคิดว่า มันเป็นสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ

*** แล้วโทษล่ะ
โทษของมันแทบจะไม่มีเลย ถ้าจะมีคงเป็นเรื่องของการก่อสร้าง เพราะในระหว่างที่ก่อสร้าง มันอาจ จะล้มทับเราได้ ถ้าเราไม่ชัดเจนในเทคนิค แต่ก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เพียงแต่ใช้สามัญสำนึก และ ความระมัดระวังเท่านั้นเอง ก็จะปลอดภัย

*** โทษของวัสดุก่อสร้าง
โทษภัยของวัสดุก่อสร้างสมัยนี้เทียบกับบ้านดินแล้วต่างกันมาก อย่างกระเบื้อง เขาเรียกว่า แอสเบ็ตโต๊ส ซึ่งในหลายประเทศถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายถ้าจะใช้กระเบื้องแบบนี้ เช่นในสหรัฐ ถือว่าผิดกฎหมาย ในเยอรมันก็ใช้ได้เฉพาะในอาคาร ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ห้ามใช้กับโรงพยาบาล หรือโรงเรียน เพราะว่าฝุ่นของกระเบื้อง นี่ทำให้เกิด โรคปอด โรคระบบหายใจ จนเขาสั่งห้าม โดยถือว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลายประเทศในยุโรป เขาจะไม่ให้ใช้เลย ส่วนกระเบื้องแผ่นเรียบ เขาไม่ให้ใช้เหมือนกัน ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็ใช้กันอยู่ นี่คือโทษชนิดหนึ่ง

อีกชนิดหนึ่งก็คือ สีจากบ้าน จะมีสารเคมีหลายอย่าง เวลามันเก่าร่วงหล่นลงมาตกไปในอาหารบ้าง หายใจเข้าไปบ้าง สิ่งเหล่านี้อันตรายทั้งสิ้น

บ้านปูนนี่ดูดพลังงาน เวลานอนพื้นปูนทำให้อ่อนเพลีย และหมดแรง จะรู้สึกไม่อยากตื่น แต่นอนพื้นดิน จะรู้สึกอิ่มเร็ว ตื่นแต่เช้าได้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างของบ้านดินกับบ้านทั่วๆ ไปที่มีอยู่

บ้านไม้ไผ่อย่างพวกชาวเขาก็ยังดีกว่า คือเราหาวัสดุที่มี และใช้สิ่งที่เรามีก่อสร้าง ถ้าเรามีไม้ไผ่เยอะ เราก็ใช้ไม้ไผ่

เมื่อเดือนกุมภาฯ ผมทำบ้านไม้ไผ่ทั้งหลังโดยไม่ให้มีตะปู ไม่ให้มีลวดเลย เพราะไม้ไผ่ทางเชียงใหม่ มีเยอะ

เรื่องบ้านดิน คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เห็นได้ในตอนนี้สำหรับชีวิตคนเรา ในเรื่องที่อยู่อาศัย อยู่แล้วสุขภาพดีเพราะว่ามันไม่มีฝุ่น ดินช่วยดูดสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกาย อย่างเช่นคนเมาเห็ด เขาจะเอาฝังดิน ฝังให้เหลือแค่คอ ก็ดูดพิษออกได้ เวลาอยู่บ้านดินจะทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกสบาย เพราะอุณหภูมิในห้องจะสม่ำเสมอมาก ความสม่ำเสมอของอุณหภูมิคิดว่า มีผลต่อสุขภาพเราด้วย ก็น่าจะมีประโยชน์กว่าอยู่บ้านชนิดอื่นๆ

*** ทำไมถึงสนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์
สาเหตุที่สนใจเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ก็คือ ผมเริ่มสังเกตจากชาวบ้านที่ปลูกแตงโมที่บ้าน เพราะว่า การปลูกแตงโม เริ่มเป็นการลงทุนที่มหาศาลขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาของเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นๆ จากตอนแรก เราเคยเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วก็ปลูกเอง ต่อมามีบริษัทเอาเมล็ดพันธุ์มาแจกเราก็แจกต่อ แจกไปแจกมา เราก็ต้องซื้อเขาเพราะเขาเลิกแจก และเราชอบเมล็ดพันธุ์ของเขา จากนั้นราคา เมล็ดพันธุ์ ก็แพงขึ้นๆ เรื่อยๆ ในขณะที่ราคาแตงโมยังเท่าเดิม หรือไม่ต่างจากเดิมนัก

ผมสังเกตเห็นว่ามันเริ่มจะขยายขอบเขตจากแตงโมไปเป็นมะละกอ ไปเป็นผักชีฝรั่ง ไปเป็นอะไร อีกหลายอย่าง รู้สึกว่ามันกินเนื้อที่เร็วมาก จึงทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเราซื้อทุกอย่าง อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา ทันทีที่เราซื้อของเขาเมล็ดพันธุ์ของเราก็สูญหายไป เราไม่สามารถ กลับไปหา เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้อีกแล้ว ยิ่งทุกวันนี้หลายอย่างราคาหมื่นขึ้นทั้งนั้นเลย ยิ่งรู้สึกตกใจมาก เพราะมันขยายไปเร็วมาก เร็วจนไม่คิดว่า จะไปได้ขนาดนั้น ถ้าราคากิโลละ เป็นหมื่นขึ้นไป ชาวบ้านที่มีรายได้ต่อปี ปีละหมื่นสองหมื่น ก็หมายความว่า มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของรายได้ ถูกใช้ไปเพื่อค่าเมล็ดพันธุ์ แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง อันนี้ก็ทำให้ผมคิด เรื่องเมล็ดพันธุ์มาก และช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีเรื่อง GMO มาอีก ยิ่งทำให้คิดเรื่องเมล็ดพันธุ์มากขึ้น เพราะว่ามันคืออาหาร ถ้าอาหารที่เรากินไม่ปลอดภัย ชีวิตเราจะอยู่เพื่ออะไรกัน ทำให้เป็นห่วงมาก อาหาร GMO ไม่ใช่อาหารปกติ และก็ไม่มีใครรับรองความปลอดภัยของมันได้ เราจะเชื่อนักวิทยาศาสตร์หมด ไม่ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ก็เคยทำผิดพลาด มาเยอะเหมือนกัน อย่างกรณีดีดีทีใช่ไหม องค์การสหประชาชาติ เคยประกาศว่า ดีดีทีเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ ให้ทุกประเทศใช้ดีดีที เพื่อปราบยุง หลังจากนั้น ๔๐ ปีถึงได้รู้ว่า ดีดีทีมีอันตราย ถึงได้ออกกฎหมาย ห้ามใช้ดีดีทีกัน อันนี้คือ ความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นกับเมล็ด GMO ล่ะ อีก ๔๐ ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกหลาน ที่กินอาหาร GMO ใครจะรับผิดชอบ ก็เลยคิดว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่เราจะต้องรีบเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผมตัดสินใจ ที่จะเลิกหลายสิ่ง หลายอย่าง เพื่อทุ่มเทกับเรื่องเมล็ดพันธุ์

*** สถานการณ์ของเมล็ดพันธุ์
ผมรู้สึกว่า ตอนนี้เราอยู่ในขั้นที่ล่อแหลมมา เป็นเรื่องน่าห่วงกว่าทุกเรื่องเพราะเมล็ดพันธุ์ ถือว่าเป็นมรดก ชิ้นสุดท้าย ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เหลืออยู่ ก่อนที่จะโดนย่ำยีทำลายมากกว่านี้ และ สิ่งที่ผมอยากบอก คือผมรู้สึกว่า มองไปทางไหนก็มืดมน ฉะนั้น ถ้าจะทำให้มีแสงสว่างเกิดขึ้น เพื่ออนาคตอันงดงาม และการอยู่รอดของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแท้ๆของเราก็หวังว่า คงมีหลายคน ที่คิดเป็นห่วงเป็นใยเรื่องนี้ และคงมีหลายคน อยากสะสมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน มากขึ้นกว่านี้ แทนที่จะไปสะสมของเก่า ขอบโบราณ สะสมแสตมป์ เรามาสะสมเมล็ดพันธุ์ เพื่อลูกหลานของเราดีไหม และเพื่อตัวเราด้วย

*** แนวคิดการสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์
สิ่งแรกที่ผมทำก็คือ ผมต้องเก็บเองก่อน เพิ่งเริ่มปีนี้เอง ทำมาได้ ๒ เดือนแล้ว ขอจากชาวบ้าน และเก็บจากชาวเขา มาเพื่อรวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จากนั้นก็อยากจะเชื่อมกับ กลุ่มองค์กรอะไรก็ตาม ที่สนใจเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องเมล็ดพันธุ์ แล้วมาพูดคุยกันมากขึ้น ในเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ และในอนาคต ก็อยากจะให้ มีการรณรงค์ร่วมกัน เพื่อจะกลับมากินอาหารของเรา ไม่ใช่กินอาหารของเขา อันนี้จะทำให้ เรามีความมั่นคงมากขึ้นในชีวิต ถ้าหากว่าเราครอบครองอาหารของเราจริงๆ คือมีเมล็ดพันธุ์ ของเราเอง ปลูกกินเอง นี่จะเป็นการพึ่งตนเองที่แท้จริง ผมอยากจะเชื่อมกับทุกกลุ่ม ที่สนใจ ในเรื่องนี้ และอยากทำงานร่วมกัน แล้วจะเชื่อมกับต่างประเทศด้วย

การสร้างเครือข่ายเป็นทางรอด เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ทำคนเดียวไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่อง ของคนๆ เดียว มันเป็นเรื่องของมนุษยชาติ ทั้งเผ่าพันธุ์สัตว์ทุกชนิด ก็ต้องอาศัยเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่เรา ปล่อยให้บริษัทไม่กี่บริษัท ครอบครองเมล็ดพันธุ์เพียงคนเดียว แล้วก็ทำลาย เมล็ดพันธุ์ที่ดี ให้สูญสลายกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ถือว่าเป็นการทำลาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ฉะนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยหลายๆ คนช่วยกัน การสร้างเครือข่ายจึงถือว่าจำเป็น ผมอยากให้ กลุ่มต่างๆ มีการเก็บเมล็ดพันธุ์กันเอง อย่างน้อย แต่ละกลุ่มควรจะต้องมีรายชื่อ เมล็ดพันธุ์ของ ตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง เพื่อกลุ่มอื่นจะได้มาเช็คดูว่ามีอะไรบ้างที่เขาไม่มี จะได้ขอไป หรืออะไรบ้าง ที่เขามี จะได้ให้เรามา จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ

การสะสมเมล็ดพันธุ์นี้ หนึ่งเรากินได้ ประการที่สองเราสามารถผสมพันธุ์กันตามวิธีธรรมชาติ ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ เกิดการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์โดยพวกเราเอง ซึ่งเราควบคุมได้ เราทำตาม ขบวนการธรรมชาติ สามารถได้พันธุ์ดีๆ ที่มีคุณภาพขึ้นมา แล้วเราก็แจกจ่ายกันพัฒนา ในแนวทาง ที่ยั่งยืน ไม่ใช่พัฒนาเพื่อการผูกขาด ฉะนั้นเรื่องนี้น่าจะทำให้เกิดความสนุก

อันนี้เราไม่ได้สู้กับนายทุนแต่เราสู้กับตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องไปสู้กับเขา สู้กับตัวเองให้ได้แค่นั้นพอ

*** รูปแบบการต่อสู้กับธุรกิจทุนนิยม
ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องอยาก เพราะสงครามสมัยก่อนเราใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ แต่สงครามวันนี้ เราใช้การไม่ร่วมมือ เป็นเครื่องมือ คือ พยายามอยู่เฉยๆ ให้มากที่สุด เขาจะแพ้ แต่ถ้าหากเรายังดิ้น กระเสือกกระสนอยู่ เขาจะชนะ ฉะนั้นเราต้องหยุดนิ่ง คือไม่ซื้อ ไม่ใช้เงินโดยไม่จำเป็น นี่คืออาวุธ ที่ร้ายแรงมาก เขากลัวมาก สิ่งที่ทุนนิยมกลัวที่สุดคือ ความเข้มแข็งของชุมชน และการพึ่งตนเอง ทันทีที่เราพึ่งตนเองได้ ทันทีที่เราเข้มแข็ง ทุนนิยมจะตายและอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นอาวุธง่ายๆ แต่เราทำได้ไหม

การช่วยเกษตรกรในเรื่องของเมล็ดพันธุ์
ต้องให้เกษตรกรเปลี่ยนความคิดก่อนถึงจะช่วยได้ นอกจากความคิดแล้วไม่มีอะไร ช่วยเกษตรกร ได้เลย คือเปลี่ยนความคิดจากคิดทำเพื่อขาย มาคิดทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เพราะทันทีที่คิดทำเพื่อขาย ตายแล้ว ไปไม่รอดแล้ว แต่ถ้าทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เราจะเริ่มมีเงินทันทีเลย อันนี้พอมาคิดถึง การพึ่งตนเอง มันอยู่ได้ ฉะนั้นทำยังไงถึงจะให้เกษตรกรรู้สึกว่าอยากจะกลับมาพึ่งตนเอง นี่คือทางรอด เราทำแค่นี้เอง ถ้าทำตรงนี้ได้เราก็รอด ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้นเลย ไม่ต้องใช้เงิน ด้วย

*** หลักคิดในการพึ่งตนเอง
องค์ประกอบง่ายๆ ก็คือพึ่งตัวเองให้ได้ในปัจจัย ๔ อย่างบ้านเราทำได้ด้วยดิน เราพึ่งตัวเองง่ายๆ ทำบ้านดิน บ้านไม้ไผ่ ก็ได้ อาหารเราทำเอง ปลูกเองได้ ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ เราจะพึ่งตนเองได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะปุ๋ยเราก็ไม่ใช้ เราทำจุลินทรีย์ เราทำอะไรกันอยู่แล้ว เสื้อผ้านี่ถึงแม้ว่า จะปิดโรงงานทอผ้าทั่วโลกไปอีกสัก ๒๐-๕๐ ปี เราก็ยังมีเสื้อผ้าใช้ไม่หมด ยารักษาโรค ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เราใช้สมุนไพรที่มีอยู่แล้ว

ก็ยอมรับความเป็นจริงของชีวิตเท่านั้นเอง ชีวิตจะง่ายขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น ถ้าชีวิตยากจิตใจก็ไม่ดี สุขภาพก็แย่ลง

ฉะนั้นการอยู่ง่ายๆคือเป้าหมายหลักของการพึ่งตนเอง แต่คนเราไม่ค่อยคิดถึงความง่าย ตอนนี้โลกทั้งโลก กำลังวิปริต ลองมองดูซิว่า ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์มีเวลานอนพักผ่อน มีเวลาเล่นดนตรี สร้างงานศิลปะขึ้นมาได้ แต่มนุษย์ยุคนี้ ไม่มีเวลาคิด ชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เขาทำงานมากเกินไป แต่เขาทำงานเพื่อใครก็ไม่รู้ ทำให้มองเห็นว่านี่คือโลกกำลังเกิดความวิปริต

*** สุดท้ายอยากบอกว่า
ชีวิตเราจะมีความสงบสุขหรืออิสระไม่ได้ถ้าเราพึ่งตัวเองไม่ได้ การพึ่งตนเองคือปัจจัยหลัก ในการมีชีวิตอยู่ คือสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่ของชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แต่ว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าสื่อหรืออะไรต่างๆ ไม่สนับสนุนให้เราพึ่งตัวเอง เพราะระบบทุนนิยมเขากลัวมาก รังเกียจ การพึ่งตนเองมาก หรือรังเกียจความเข้มแข็งของปัจเจก ฉะนั้นเราจะต้องฝืนกระแส คือฝืน การพึ่งเขา มาเป็นการพึ่งตนเอง กระแสที่จะบอกให้เราพึ่งเขาตลอด ซื้อของเขาตลอด เราต้องฝืน ตรงจุดนี้เพื่อให้กลับมาให้พึ่งตัวเอง แค่นี้แหละเราก็จะพบกับความง่าย ความสะดวกสบายในชีวิต

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)