เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน ๒๖
ตัวชี้วัดของระบบบุญนิยม
นักปรัชญาตั้งแต่ในยุคสมัยกรีก ได้ถกเถียงกันถึงสิ่งที่เป็นแก่นสารสำคัญ
(essence) ที่ทำให้สิ่งต่างๆ มีคุณลักษณะ เป็นสิ่งนั้นๆ เช่น อะไรคือแก่นสารสำคัญ
ที่ทำให้มนุษย์ มีความเป็นมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ หรืออะไร
เป็นแก่นสารสำคัญ ที่ทำให้เก้าอี้ มีความเป็นเก้าอี้ นักเรียนมีความเป็นนักเรียนต้นไม้มีความเป็นต้นไม้
ก้อนหินมีความเป็นก้อนหิน ฯลฯ
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแก่นสารสำคัญของสิ่งต่างๆ
ในเชิงอภิปรัชญา (Metaphysic) ซึ่งพยายาม ค้นหาว่า
อะไรคือสิ่งที่รองรับอยู่เบื้องหลัง (Substance)
ที่ทำให้สิ่งนั้นมีคุณลักษณะ เป็นสิ่งนั้นๆ ถึงแม้จะมี ส่วนช่วยขยาย
ขอบเขตแห่งจินตนาการและปัญญาของมนุษย์ให้กว้างขวางขึ้น แต่มนุษย์ ก็หาข้อยุติอะไรร่วมกันได้ยาก
จากกรอบการถกเถียงในเชิงอภิปรัชญาแบบนี้
จนกระทั่งหลังยุคสมัยกลาง
มนุษย์เริ่มหันมากำหนดนิยามความหมายของสิ่งต่างๆที่สามารถ หาตัวชี้วัดร่วมกันได้
เช่น นิยามของคำว่าน้ำหนัก อุณหภูมิ พลังงาน แรงโน้มถ่วง ฯลฯ การพัฒนาองค์ความรู้
จากรากฐาน ของคำนิยาม ที่มนุษย์สามารถตกลงร่วมกันได้ โดยมี "ตัวชี้วัด"
ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนาความรู้
ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์ (Sciences) แขนงต่างๆ
อันส่งผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลงอารยธรรม ของมนุษย์ อย่างกว้างไกลไพศาลในเวลาต่อมา
อันที่จริงการสร้างความรู้ของมนุษย์จากพื้นฐานการแสวงหาแก่นสารและนิยามความหมาย
ของสิ่งต่างๆ เช่นนี้ เป็นวิธีที่สอดคล้องกับหลักการทางพุทธปรัชญา
ที่เริ่มต้นจากพื้นฐาน การสังเกตคุณลักษณะหรือ สภาวะของสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่า
"อาการ"จนเห็นชัดเจนขึ้น ถึงความแตกต่างในแก่นสาร
(essence) แห่งคุณลักษณะของสิ่ง หรือสภาวะนั้นๆ กับสิ่งหรือ
สภาวะอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็น "ลิงคะ" กระทั่งสามารถกำหนดตัวชี้วัดหรือเครื่องบ่งชี้ที่เรียกว่า
"นิมิต" ของสิ่งหรือ สภาวะดังกล่าวได้ชัดเจน แล้วสรุปเป็นความคิดรวบยอด
(Conceptualization) เพื่อสร้างเป็น มโนทัศน์
(Concept) เกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ สะท้อนผ่านทางภาษา ที่บัญญัติ
เป็นศัพท์เฉพาะขึ้น ซึ่งเรียกว่า "อุเทศ" เพื่อใช้แทนมโนทัศน์ดังกล่าว
การค้นหาความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ต่างๆ
(ที่สะท้อนผ่านทางภาษา) โดยพยายามเชื่อมโยงว่า "เพราะสิ่งไหนมี
สิ่งไหนจึงมี เพราะสิ่งไหนเกิดขึ้น สิ่งไหนจึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งไหนไม่มี
สิ่งไหนจึงไม่มี เพราะสิ่งไหนดับลง สิ่งไหน จึงดับลงด้วย" เพื่อสร้างแบบจำลอง
ที่สะท้อนภาพความจริงเกี่ยวกับโลก (เหมือนการนำชิ้นส่วนตัวต่อที่เป็นของเล่น
มาเชื่อมต่อกัน เป็นบ้านจำลอง รถจำลอง ตึกจำลอง ฯลฯ เพื่อจำลองภาพความจริงของสิ่งนั้นๆ)
ก็คือกระบวนการ สร้างองค์ความรู้ (ที่เป็นสมมติสัจจะ) ของมนุษย์ เพื่อใช้แบบจำลองหรือภาพแผนที่
แห่งความรู้ ที่เป็นสมมุติสัจจะนั้น เป็นกรอบความคิด
(Conceptual Framework) ในการอภิบายความจริงแง่มุมต่างๆ ของธรรมชาติ
"อาการ ลิงคะ
นิมิต อุเทศ" จึงเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างความรู้ต่างๆขึ้นมา
และ ทำให้มนุษย์ สามารถเรียนรู้ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่ง
สู่อีกรุ่นหนึ่ง ผ่านทางภาษาที่มนุษย์ สร้างขึ้นมาได้
"บุญ"
ก็คือมโนทัศน์เรื่องหนึ่งที่มนุษย์ สร้างขึ้นเพื่อสะท้อน "อาการ"
ของการชำระล้างความโลภ โกรธหลง หรือการลดละ สลายความต้องการส่วนเกินจำเป็นของชีวิต
ที่พอกพูน เกาะกุมตัวแน่น จนทำให้เราหลงเข้าใจว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่ง
แห่งตัวตนของชีวิต ซึ่งหากไม่ได้สิ่งตอบสนอง ความต้องการส่วนเกินของชีวิตดังกล่าวแล้ว
จะทำให้ชีวิตขาดพร่อง ไม่สมบูรณ์ (เหมือนหินปูน ที่มาพอกพูนเกาะกุมเนื้อฟัน
จนทำให้เราหลงเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อฟัน ทั้งๆ ที่หากปล่อยไว้
โดยไม่ไห้หมอฟัน คอยขูดหินปูนออก ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเหงือกได้เป็นต้น)
ท่านสมณะโพธิรักษ์ผู้เสนอกรอบอุดมการณ์บุญนิยมขึ้นมา
เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของมนุษย์ แทนอุดมการณ์ ทุนนิยม ได้สร้างตัวชี้วัด
(หรือ "นิมิต") ที่สามารถจะพัฒนาเป็นนิยาม เชิงปฏิบัติการ
ของระบบบุญนิยมไว้ โดยจำแนก บุญนิยมเป็น ๔ ระดับ ตามตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้น
คือ
ก.บุญนิยมขั้นที่
๑ : ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าตลาดแต่สูงกว่าทุน ไม่ว่าเราจะขายสินค้า
หรือบริการ หรือขายพลังแรงงาน (Labour- Power) ของเราอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าเราแลกเปลี่ยน ได้ผลตอบแทน มาในมูลค่าสูงกว่า ที่พึงได้รับ ตามอัตรา
ค่าเฉลี่ยทั่วไป ของมูลค่าในตลาด ก็แสดงว่า เรากำลังเอาเปรียบผู้อื่น
และสั่งสมความโลภความเห็นแก่ตัว พอกพูนขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าหากทั้งๆ
ที่เราสามารถ ขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ ในราคาตลาด เหมือนคนอื่น (ภายใต้เงื่อนไข
ที่เรารู้ และสามารถขายสินค้า หรือบริการนั้นๆ ในตลาดได้) แต่เรากลับพอใจ
ขายต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค (ภายใต้เงื่อนไข ที่ไม่ได้มีเล่ห์กลอะไรแอบแฝง
โดยแกล้ง จำหน่ายสินค้าในราคาถูกวันนี้ เพื่อเป็นช่องทาง ที่จะตักตวง
เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ด้วยกลวิธี ที่ซับซ้อนขึ้นในวันข้างหน้า) ก็แสดงว่าเราได้เริ่มสลาย
ความเห็นแก่ตัวตนของตน และฝึกลดละ ขัดเกลาความต้องการส่วนเกินเป็นชีวิตแล้วในระดับหนึ่ง
จึงถือได้ว่าเป็น "บุญ" ในขั้นแรก
ข. บุญนิยมขั้นที่
๒ : ขายสินค้าในราคาเท่าทุน โดยคำว่าทุนในที่นี้มีสาระสำคัญอยู่ที่แรงงาน
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิด มูลค่าของสินค้า หรือบริการต่างๆ
ขึ้นมา เช่น ถ้าไม้ท่อนหนึ่ง ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ในป่า จะไม่มีมูลค่าแลกเปลี่ยน
(Value in exchange) อะไรในตลาด แต่เมื่อเราออกแรง ตัดไม้เป็นท่อนและแบกมาผ่าเป็นฟืน
ท่อนไม้ที่ถูกแปรรูปเป็นฟืนนั้น จะมีมูลค่า แลกเปลี่ยน ในตลาดขึ้นมาทันที
โดยฟืนเหล่านั้น จะมีมูลค่าแท้จริง เท่ากับมูลค่าของพลังแรงงาน ที่เราใช้ไป
ในการตัดไม้เป็นท่อน และแบกมาผ่าเป็นฟืนดังกล่าว เป็นต้น
ต้นทุนของสินค้าหรือบริการโดยทั่วไป
จึงเท่ากับมูลค่าของวัตถุดิบ + ค่าโสหุ้ย + ค่าแรง ในราคา ธรรมชาติ
(Natural Price) ในขณะที่ค่าวัตถุดิบ และค่าโสหุ้ยเป็นต้นทุน
จากปัจจัยภายนอก ที่เราต้องจ่าย โดยไม่มีสิทธิ์จะไปควบคุม กำหนดราคา
อะไรมาก แต่ต้นทุน ส่วนที่เป็น ค่าแรงของเรานั้น เป็นปัจจัยภายในที่เราสามารถจะตั้งราคาอย่างไรก็ได้
โดยถ้าหาก เราคิดค่าแรง ของตัวเรา ในมูลค่าเท่ากับที่พึงได้รับตามราคาค่าแรงในธรรมชาติ
ก็เท่ากับว่าแรงงาน (หรือกรรม) ของเราที่ผลิตสินค้า หรือบริการนั้นๆ
ขึ้นมา ได้แลกเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทนหมดแล้ว จึงถือได้ว่า เท่าทุน เพียงแต่การที่เรา
ไม่บวกกำไร เพิ่มจากมูลค่าของค่าแรงที่พึงได้รับ ตามราคาธรรมชาติ ดังกล่าว
(ทั้งๆ ที่คนอื่นเขาบวกกำไร เพิ่มกันเป็นปรกติ ทั่วไป) ก็เท่ากับเราได้ฝึกขัดเกลา
ลดละความเห็นแก่ตัวตน ของตนเพิ่มขึ้นอีก อันถือเป็นบุญนิยม ระดับที่สูงกว่าขั้นแรก
ค. บุญนิยมขั้นที่
๓ : ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากโดยปรกติมูลค่าของแรงงาน ที่เราพึงได้รับ
ตามค่าเฉลี่ยในราคาทั่วไปนั้น มักจะสูงกว่าต้นทุน ของแรงงานดังกล่าว
อันทำให้มี มูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) เกิดขึ้น
เช่น สมมติพลังแรงงานของเรา
๑ วัน สามารถผลิตสินค้าหรือบริการคิดเป็นมูลค่า ๑๐ หน่วย ฉะนั้นมูลค่าของค่าแรง
ที่เราพึงได้รับ ก็ควรจะเท่ากับ ๑๐ หน่วยด้วย แต่เราต้องบริโภคอาหาร
และปัจจัยจำเป็นอื่นๆ เพื่อให้มีชีวิต และมีเรี่ยวแรง ที่จะทำงานให้ครบวัน
โดยสมมุติมูลค่าเฉลี่ย ของปัจจัย ๔ ที่เราจำเป็นต้องบริโภค เพื่อให้มีชีวิต
และมีพลังแรงงาน สำหรับ ทำงานได้ ๑ วันดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ
๔ หน่วย (อันเรียกได้ว่ามูลค่า ๔ หน่วยนี้คือต้นทุน ของพลัง แรงงานใน
๑ วัน) กรณีนี้ก็จะมีมูลค่าส่วนเกิน เท่ากับ ๑๐-๔ = ๖ หน่วย เกิดขึ้นจากการทำงาน
(หรือกรรม) ของเราใน ๑ วัน
ถ้าหากเราคิดค่าแรงต่ำกว่ามูลค่าของค่าแรงที่เราพึงได้รับอันคือ
๑๐ หน่วย ตามตัวอย่างที่กล่าวมา (แต่ยังสูงกว่า ต้นทุนของพลังแรงงานส่วนนั้นๆ
เพื่อให้มีรายได้พอแลกเปลี่ยนซื้อหาปัจจัย ๔ มายังชีวิต) ก็เท่ากับเราได้สละ
มูลค่าส่วนเกิน จากแรงงาน (หรือกรรม) ของเราเผื่อแผ่เกื้อกูลผู้อื่น
จึงถือเป็นบุญนิยมในระดับที่สูงขึ้นกว่าใน ๒ ขั้นแรก
ง. บุญนิยมขั้นที่
๔ : การแจกฟรี ถ้าหากเราไม่คิดค่าแรงของตัวเราเลย (หรือคิดค่าแรงต่ำกว่า
มูลค่าของต้นทุน พลังแรงงาน อันคือต่ำกว่า ๔ หน่วย ตามตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น)
โดยดึงเอา สมบัติเก่า ที่สะสมไว้มาใช้ซื้อหา ปัจจัย ๔ เพื่อบริโภค
ยังชีวิตแทน ในกรณีนี้ ก็ยิ่งจะเป็น การปลดปล่อย ความเห็นแก่ตัวของเรามากยิ่งขึ้น
จึงถือเป็นบุญนิยม ในขั้นสุดท้าย
สมณะหรือนักบวชที่ละทิ้งทรัพย์สมบัติต่างๆ
ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้วทำงานโดยอาศัย การบิณฑบาต เลี้ยงชีพ ไปวันหนึ่งๆ
มีผ้า ๓ ผืนเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีกลด ๑ หลัง สำหรับ อาศัยพักนอน ในที่ต่างๆ
เวลาเจ็บป่วย ก็รักษาตามความจำเป็น วิถีชีวิตแบบนี้ จึงเป็นอุดมคติ
ของกรอบ อุดมการณ์บุญนิยม เพราะเท่ากับได้สละมูลค่าส่วนเกิน จากพลังแรงงานทั้งหมด
สะพัดออกไป เผื่อแผ่เกื้อกูลต่อสังคมอย่างบริบูรณ์
( อ่านต่อฉบับหน้า )
บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ
"อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออกจาก ตรรกะแห่งความขัดแย้ง
ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด
"เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖) |