>เราคิดอะไร

ผู้ 'กำไร' แบบทุนนิยม คือ ผู้เป็น 'หนี้' ในวัฏสงสาร


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๑ ตุลาคม ได้นำพระราชดำรัสของในหลวงพาดหัวข่าวใหญ่

"ในหลวงห่วงเศรษฐกิจขึ้น ทุจริตขึ้น ใครทำขอให้มีอันเป็นไป" โดยมีรายละเอียดของข่าวขยายเพิ่มว่า ในหลวงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ว่าในระบบบูรณาการ (CEO) มีนัยสำคัญตอนหนึ่งว่า

"อย่าให้ข้าราชการชั้นใดๆ หรือประชาชนมีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้วบ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมากเพราะว่ามีทุจริต เมื่อไม่มีเงินแล้วก็เลยทุจริตไม่ได้ โกงไม่ได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจกำลังขึ้น ทุจริตจะขึ้น..."

พระราชดำรัสในครั้งนี้ น่าจะมีความนัยสำคัญอยู่หลายประการ โดยเฉพาะต่อผู้บริหารบ้านเมืองทุกวันนี้ ซึ่งชูธงเศรษฐกิจขึ้นนำหน้า ย่อมนำพาปัญหาทุจริตเป็นเงาตามมาด้วย

เพราะตราบใดที่ไม่เน้นแก้ปัญหาที่จิตใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนแล้ว เมื่อมีเงินมากขึ้นก็ย่อมโกงกินกันมากขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม เมื่อไม่มีเงินแล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะทุจริตได้ โกงไม่ได้ สมตามพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้

ดูเหมือนว่าท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็พยายามหาทางออกจากกรอบของระบบทุนนิยมอยู่เช่นกัน ดังคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า จะปลดแอกคนไทยที่อ่อนแอให้เลิกเป็นทาสในระบบทุนนิยม

นอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ยังมีความคิดว่า จะให้ลูกสาวไปฝึกขายของในช่วงที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ซึ่งใครๆ ก็ย่อมมองออกว่า จุดมุ่งหมายคงไม่ได้คิดที่จะให้ลูกสาวไปหาเงิน แต่สิ่งที่จะได้ยิ่งไปกว่าเงินนั่นก็คือ การฝึกฝนให้ลูกของตนมีความขยัน มีสมรรถนะ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าเงินทองมากมาย และการกระทำเช่นนี้ก็ย่อมเป็นตัวอย่าง เป็นการสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมอีกด้วย เพราะเด็กๆ ทุกวันนี้มุ่งการเสพ มากกว่ามุ่งการผลิต มุ่งคิดที่จะเอามากกว่าคิดที่จะให้ ไม่ได้คิดที่จะเรียนเพื่อรับใช้สังคม แต่เรียนไปเพื่อที่จะได้เปรียบ ได้กำไรจากสังคม ทางเดินของชีวิตจึงมีแต่สั่งสมความโลภตลอดกาล ต่อให้ภูเขากลายเป็นทองคำกี่ลูกๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้คนเหล่านี้มีความเพียงพอ (สันโดษ) ได้

และคงไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณงามความดีกับคนเหล่านี้ เขาคิดแต่จะมั่งจะมี ร่ำรวย ลงทุนน้อย ๆ แล้วได้กำไรมากๆ ได้อย่างไร ซึ่งการแสวงหากำไรในระบบทุนนิยมนั้น ก็คือการหาทางได้เปรียบหรือเอาเปรียบจากผู้อื่นทุกวิถีทาง เขาจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทุจริตทางกาย วาจา ใจ ได้

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคนยากจนย่อมมีทุกข์ถึง ๕ ประการคือต้องไปกู้หนี้ ๑ ต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ ๑ ต้องถูกทวงถามให้อับอาย ๑ ต้องถูกติดตามเหมือนเงาติดตัว ๑ และต้องถูกจองจำติดคุกติดตะรางเมื่อไม่มีเงินจ่ายอีก ๑

ส่วนคนที่มุ่งแต่แสวงหากำไร โดยไม่สนใจในเรื่องคุณงามความดี คนเหล่านี้ทางพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นคนยากจนในทางธรรม เมื่อใดที่เขาคิด-พูด-ทำ เพื่อหาทางเอาเปรียบผู้อื่นนั่นก็คือการกู้หนี้

เมื่อใดที่เขาต้องปิดบังอำพราง สร้างวาระซ่อนเร้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นล่วงรู้จับได้ นั่นก็คือการเสียดอกเบี้ย

เมื่อใดที่เขาถูกขุดคุ้ย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกประนามจากผู้อื่น เหมือนการถูกทวงถามจาก เจ้าหนี้

เมื่อใดที่เขาเกิดความร้อนอกร้อนใจ จนหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นสุข นั่นก็เหมือนการถูกติดตามจากเจ้าหนี้

และเมื่อใดที่เขาต้องตายไป พระพุทธเจ้าตรัสว่าเขาย่อมถูกจองจำอยู่ในนรก หรือถูกจองจำอยู่ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน

กำไรที่จะได้จากการเอาเปรียบเห็นแก่ตัวจึงคือการขาดทุนในวัฏสงสาร เหมือนคนยากจนที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากมายในการไปกู้หนี้ยืมสินเขามาฉะนี้แล

- จริงจัง ตามพ่อ -

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-