>เราคิดอะไร


ดื่มมหาสมุทร (สมุททชาดก)

มักมากอย่างนายทุน
หาตุนทุกสิ่งไว้
โลภหลงว่า "กำไร"
ที่ไหนได้ "กำหนี้"

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงเอ่ยถึงภิกษุอุปนันทะ ซึ่งเป็นภิกษุเชื้อสายศากยวงศ์รูปหนึ่ง

ว่าเป็นผู้มีนิสัยมักมากในอาหารขบฉัน มีจิตโลภในจีวรและของใช้ มีการรับเงินทองเหมือนชาวบ้าน ทั้งแลกเปลี่ยนของกับปริพาชก (นักบวชพวกหนึ่งในอินเดีย) อีกด้วย จนกระทั่งใครๆ ก็ไม่สามารถทำให้ภิกษุอุปนันทะอิ่มเต็มได้ด้วยปัจจัยทั้งหลาย บวชเป็นภิกษุแล้วประพฤติตนเป็นหนี้ก้อนข้าวของชาวบ้านอยู่

ถึงเวลาเข้าพรรษา...ภิกษุอุปนันทะจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แต่มักเที่ยวไปในอาวาสต่างๆ ได้บริขาร (เครื่องใช้สอยของนักบวช) กลับมามากมาย ทั้งจีวรและของใช้ โดยมักกล่าวถึงความเป็นอริยวงศ์ (คือข้อปฏิบัติสืบต่อกันมาไม่ขาดสายของอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ ได้แก่ ๑. ยินดีมักน้อยในจีวร ๒. ยินดีมักน้อย ในอาหารบิณฑบาต ๓. ยินดีมักน้อยในที่พักอาศัย ๔. ยินดีในการละกิเลสทำให้เกิดมรรคผล) เพื่อให้ภิกษุทั้งหลาย มักน้อยสันโดษ สละบริขารที่เกินจำเป็นออก แล้วตนก็นำเอามาเป็นของตนทั้งหมด

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เหล่าภิกษุจึงสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า

"ท่านทั้งหลาย ภิกษุอุปนันทศากยบุตรนั้นประพฤติตนเป็นผู้มักมากอย่างยิ่ง แต่บอกสอนผู้อื่นให้มักน้อย แล้วเอาสมณบริขารมาจากที่ต่างๆ สะสมไว้มากมาย ไม่เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสเลย"

พอดีพระศาสดาเสด็จมา เมื่อทรงทราบเรื่องที่หมู่ภิกษุสนทนากันแล้ว จึงตรัสติเตียนขึ้นมาว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปนันทะกล่าวถึงอริยวงศ์แก่ผู้อื่น แต่ตนกลับกระทำการมักมากอันไม่สมควรเลย ทั้งที่จริงตนควรจะต้องเป็นผู้มักน้อยก่อน แล้วค่อยกล่าวสอนอริยวงศ์แก่ผู้อื่นภายหลังเพราะ...บุคคลควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง จะไม่เศร้าหมอง

แต่อุปนันทะนี้มิใช่เป็นผู้มักมากในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็โลภมาก หวังได้มหาสมุทรทั้งหมดไว้เป็นของตนมาแล้ว"

จึงทรงเล่าเรื่องราวนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย


ในอดีตกาล ณ มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งมี เทวดา (ผู้มีจิตใจสูง) ประจำสมุทรรักษาอยู่

มีอยู่วันหนึ่ง ได้ปรากฏกาน้ำตัวหนึ่งบินร่อนไปมา เดี๋ยวก็โฉบลงสู่น้ำ เดี๋ยวก็โผสู่ท้องฟ้า หากได้พบปลาหรือนกอื่นใดเข้า กาน้ำก็จะบอกห้ามสัตว์ต่างๆ ว่า

"ท่านทั้งหลายจงดื่มน้ำมหาสมุทรเพียงแต่น้อยเถิด จงช่วยกันรักษาน้ำมหาสมุทรเอาไว้ น้ำจะได้ไม่หมดไปเสีย"

ที่จริงกาน้ำพูดไปด้วยความโลภ หวังดื่มน้ำในมหาสมุทรแต่ผู้เดียว จึงแสร้งกล่าวให้ผู้อื่นประหยัดไว

ฝ่ายสมุทรเทวดาเห็นกาน้ำมีพฤติกรรมเช่นนั้น จึงปรากฏกายถามไถ่ว่า

"ใครหนอ เที่ยวบินวนเวียนอยู่ในน้ำอันเค็ม เที่ยวห้ามฝูงนกและฝูงปลาทั้งหลาย จนต้องเดือด-ร้อนอยู่ ท่ามกลางคลื่นในมหาสมุทรนี้"

กาน้ำถูกถามเช่นนั้น จึงตอบไปว่า

"ข้าพเจ้าเป็นกาน้ำชื่อว่า อนันตปายี (ผู้ไม่อิ่มในการดื่ม) ที่ใครๆ ทั่วทุกทิศก็รู้ว่า เป็นผู้ไม่อิ่มไม่พอในการดื่มกิน ข้าพเจ้าปรารถนาจะดื่มน้ำในมหาสมุทรใหญ่นี้ให้หมดสิ้น

เมื่อสมุทรเทวดาได้ฟังคำตอบแล้วก็ส่ายหน้า ในความโลภโมโทสันอยากได้มากๆ ของกาน้ำ จึงนึกสมเพช แล้วเตือนสติให้รู้ตัวว่า

"บางคราวมหาสมุทรก็พร่องลดลงเอง บางคราวก็เต็มเปี่ยมฝั่ง แต่ถึงกระนั้น...แม้ใครๆ จะดื่มน้ำในมหาสมุทรมากสักปานใด มหาสมุทรก็ไม่ได้พร่องลง เพราะมหาสมุทรนี้ใครๆ ก็ไม่อาจจะดื่มกินให้หมดสิ้นไปได้เลย"

กล่าวจบแล้ว สมุทรเทวดาก็แสดงอาการอันน่าสะพรึงกลัว ขับไล่กาน้ำให้หนีไปเสีย พระศาสดาตรัสชาดกนี้แล้ว ทรงเฉลยว่า

"กาน้ำในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุอุปนันทะในบัดนี้ ส่วนสมุทรเทวดาก็คือเราตถาคตเอง

"*** พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๔๘๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๓๔๔


วิธีช่วยโลกหรือช่วยผู้อื่นให้มีสันติสุขแท้จริง
คือ จงพยายามเค้นหาความเห็นแก่ตัวของตน
ให้ออกให้ได้มากที่สุด

สมรรถนะกับการเสียสละต่างหาก คือคุณค่าของคน
เงินเป็นสิ่งแทน ใครเอามามาก คุณค่าของผู้เอายิ่งลด
ใครยิ่งหลงเอาแต่เงิน ค่าของตัวเองยิ่งลด
- สมณะโพธิรักษ์ -