เรื่องสั้น
- สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ -
ทางออกที่ถูกปิด
บ่ายโมงเศษของวันที่
๑๔ ตุลาคม ฝนตกหนัก ท้องฟ้ามืดครึ้ม การจราจรรอบสนามหลวง ติดขัด ประดุจตังเม
ฝูงชนคลาคล่ำเต็มหน้าหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย
"ธรรมประชาและการเมือง" เพื่อมาฟังการอ่านบทกวีจากฝีปากกวีน้อยใหญ่
โดยเฉพาะกวีเอกแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ "ชูเกียรติ
วรรณศูทร" ขวัญใจนิสิต นัก-ศึกษา ประชาชน ซึ่งจัดโดย "สมาคมการอ่านบทกวีแห่งประเทศไทย"
เหมือนทุกปีที่ผ่านมา ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวัน "๑๔
ตุลาประชาธิปไตย" จึงพิเศษ และยิ่งใหญ่ สมกับครบรอบ "๓๐ ปี
๑๔ ตุลา" รอบหอประชุมใหญ่มีโทรทัศน์ วงจรปิดขนาด ๕๐ นิ้วให้ชมทั้ง
๔ ด้าน และลำโพงกระจายเสียงขนาดใหญ่กระหึ่มรอบทิศทางติดตั้งควบคู่กัน
ภายในหอประชุมใหญ่
ทุกที่นั่งมีผู้มีนั่งเต็มไปหมดและยืนเบียดเสียดกันราว ๔,๐๐๐ คน แสงสว่าง
จากภายนอกไม่มีเล็ดลอดจากจุดใดจุดหนึ่งเลย มีเพียงแสงสลัวๆ สาดเข้ามาตรงประตูทางเข้า
ที่แง้มอยู่เล็กน้อยและผ้าดำบางๆ บังเท่านั้น กับแสงสีจากชั้นบนสุดส่องฉายไปมารอบผนัง
เวที ผู้ชมที่นั่งด้านหน้า
บนเวที ฉากเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสีทองอร่าม
ข้างล่างฐานลงมา มีอักษรสีดำเขียน เป็นบทกวี ติดกับผ้าม่านขาวกำกับไว้ว่า
เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติด้วยจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน
จิตร ภูมิศักดิ์
แปลจากบทกวีของกวีชาวอาร์เมเนีย
แสงไฟฟ้าส่องเป็นลำกระทบพื้นเวทีเป็นดวงกลมใหญ่
แล้วจับไปที่กวีเฒ่าในชุดหม้อห้อม สีน้ำเงิน เก่าๆ ผมหงอกยาวกระเชิง
สะพายย่ามสีมอๆ ยืนอยู่กลางเวทีหน้าไมโครโฟนที่ตั้งฉากอยู่กับพื้น
นิ้วมือไว้เล็บยาวครูดผมหงอกปนดำที่ปล่อยจดหน้าอกไปมาอย่างเชื่องช้า
มือซ้ายถือขลุ่ยไม้ไผ่ ลวดลาย เหลืองดำสวยงาม เพียงชั่วอึดใจก็มีเสียงปรบมือจากผู้ชมกราวใหญ่
พลันแสงไฟฟ้า ดวงเดิม จับไปที่โฆษกหนุ่มผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค
นาม "ประยม ศรีธัญรัตน์" ในชุดหม้อห้อม สีดำสนิทและใหม่มาก
จีบจากรอยเตารีดคมกริบ เสียงปรบมือจากผู้ชม กราวใหญ่แต่น้อยกว่า ครั้งแรก
ตรงมุมเวทีด้านขวาของผู้ชม
"สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องทุกท่าน
รายการอ่านบทกวีเพื่อชีวิตก็กลับมาตามคำเรียกร้องอีกปีหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียเวลา
สมาคมการอ่านบทกวีแห่งประเทศไทยในฐานะผู้จัด ขอประกาศว่า ความรู้เป็นสิ่งสากล
มนุษยชาติไม่ว่าเผ่าพันธุ์ใด สีผิวใดย่อมมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ หากว่าความรู้
ถูกปิดกั้นหรือถูกบิดเบือน เราถือว่า การการทำเช่นนี้เป็นการทำลายมนุษยชาติ
ซึ่งเราจะยอมให้ผู้ใด กระทำเช่นนี้ไม่ได้ เราตระหนักถึงภัยอันตรายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
เราจะไม่ยอมให้ใคร มาทำลายความเป็นสากลแห่งความรู้ เราจะแผ่ขยายความรู้ของมนุษย์ไปสู่เพื่อนมนุษย์
ให้ได้เข้าใจ โดยทั่วถ้วนกัน เพื่อที่จะได้จัดสรรแต่สิ่งที่ดี ร่วมกันผลักดันให้สังคมมนุษยชาติพัฒนาไปสู่สันติสุข
บัดนี้ ขอเชิญพ่อแม่พี่น้องทุกท่าน รับฟังการอ่านบทกวีจากกวีเอกแห่งล่มน้ำเจ้าพระยา
นาม "ชูเกียรติ วรรณศูทร" ได้ ณ บัดนี้"
แสงไฟฟ้าดวงเดิมจับไปที่กวีเฒ่าอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่กวีเฒ่ายังคงสงบนิ่งเช่นเดิม
"สวัสดีครับ
มิตรสหายที่เคารพรักทุกท่าน วันนี้เราก็มาพบกัน อยู่ร่วมกัน แม้เป็นห้วงเวลาสั้นๆ
แต่คุณค่าเป็นแรมปี วันนี้คณะกรรมการจัดงานให้เวลาจำกัด เพราะมีเพื่อนพ้องน้องพี่กวี
รออ่านอีกมากมาย วันนี้ขออ่านบทกวีรวม ๔ สำนวน เป็นกลอนเปล่าหรือลำนำนั่นเอง
สี่บรรทัดสุดท้าย เป็นกลอนแปด เป็นเรื่องสะท้อนสังคม เป็นกระจกส่องหน้าได้
กาลเวลาเปลี่ยน เงื่อนไขสังคมก็ต้องเปลี่ยน แม้แต่พฤติกรรมมนุษย์ก็ต้องเปลี่ยน
มิฉะนั้น โลกก็อยู่ไม่ได้ สังคมก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ได้
คือความจริงในอดีตที่เราสร้างมันขึ้นมานี่แหละ สุดท้ายผมขอเดี่ยวขลุ่ยด้วยเพลง
แสงดาวแห่งศรัทธา หากใครร้องได้เชิญร้องคลอได้นะครับ เชิญรับฟังบทกวีสำนวนแรกชื่อ
ชาติของใคร"
เสียงปรบมือกังกึกก้องหอประชุมใหญ่
เสมือนหนึ่งผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วย
"มนุษย์ได้รับคำยกย่องว่าเป็นบุคคลที่คงไว้ซึ่งความคิด
และให้เหตุผลแก่ตัวเองได้เสมอ ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมเทียม
หลายครั้ง เห็นมนุษย์มีลิ้นสองแฉก แต่มักปฏิเสธตัวเอง สถาปนาว่ามีลิ้นแฉกเดียว
พึงสำเหนียกไว้ มนุษย์คนนั้นจักเป็นฆาตกรฆ่าตัวเอง และบุคคลอื่นให้ตายอย่างเลือดเย็น
โดยไม่ละอายสังคม ความยุติธรรมในหัวใจ ควรเป็นแรง บันดาล ให้บริสุทธิ์
พร้อมที่จะถามตัวเองทุกฝีก้าว ไม่มีอะไรมาก่อนมีอะไร มนุษย์ในสังคม
จักได้ยินคำกล่าวปฏิญาณตนของผู้นำว่า กระผมรักชาติมากที่สุด ดิฉันรักชาติ
มากที่สุด ผลลัพธ์คือ มนุษย์ที่กล่าวว่ารักชาติมากที่สุด มักจะโกงชาติตัวเองมากที่สุด
ขายชาติตัวเองมากที่สุด ท่านรักชาติที่มีการลงทุนด้วยความคิดและเหตุผลที่ดีแล้วยัง!
ท่านต้องการอะไรจากชาติ หรือให้ชาติต้องการอะไรจากท่าน
อภิสิทธิ์อิทธิพลผลประโยชน์
ผลักคนให้ไม่เกรงโทษโจษจันทั่ว
บ่อนทำลายเลือดรักชาติน่าหวาดกลัว
เรื่องชั่วชั่วจึงเนืองแน่นเต็มแผ่นดิน"
เสียงปรบมือส่งสัญญาณสะใจ
ชอบใจ ดังกระหึ่มด้วยความพึงพอใจ
"ขอบคุณครับ
สำนวนที่สองชื่อ ใครคือเหยื่อ
สัจธรรมธรรมชาติ
เป็นเหตุให้มนุษย์รักถิ่นกำเนิด กลไกทฤษฎีจากน้ำมือมนุษย์บางกลุ่ม
แอบอ้างจนพร่ำเพรื่อ ก่อให้เกิดแผนซ้อนแผนในทางลบ ทำลายมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง
หรือหลายกลุ่ม ให้ด่าวดิ้น ความศักดิ์สิทธิ์จักเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมนุษย์ทุกกลุ่มมีความจริงใจและจริงจังต่อกัน
โดยมนุษย์ต้องไม่ มุ่งหน้าเป็นเครื่องมือมนุษย์ซึ่งกันและกัน ปฏิกิริยาซ้ำซากทางปาก
จิตใจ ความคิดฉ้อฉล เป็นประจักษ์พยานผูกมัด เป็นบริบทให้เห็นถึงสิ่งต่างๆ
กาลเวลาพิสูจน์ความเป็น อนิจจัง ของมนุษย์ ถึงที่สุด ก็ล้มเหลวทุกกรณี
เพ่งสังคมในอดีต ปัจจุบัน แม้แต่อนาคต คือบทเรียนล้ำค่า เพราะมนุษย์ในสังคมสวมหน้ากากเข้าหากันได้แนบเนียน
บ้างหัวเราะ บ้างร้องไห้ ส่อลีลาน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก ศัตรูย่อมเป็นศัตรู
ผิดกับศัตรูสมยอมไม่เป็นศัตรู อะไรเป็นเครื่องวัด เพื่อหยั่งถึงจิตมนุษย์ได้...
ภาวะที่แสดงให้เห็นถึงภาระที่ต้องรับผิดชอบ เห็นผลทันตาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมปัจจุบัน
ใครล่ะ! กล้าพูดความจริง ยึดมั่นแก่นแกน เพื่อตอบปัญหา ขัดแย้งให้จิตใจตัวเองว่าบริสุทธิ์
ชีวิต
น้ำตา เลือดเนื้อ เหยื่อโอชะ
แต่กักขฬะน่าอดสูไม่รู้จบ
ขอร้องนะ! คู่สงครามความบัดซบ
จงสงบจิตใจชั่วของตัวเอง"
เสียงปรบมือดังสนั่นกว่าสำนวนแรก
คง สะท้อนมุมมองได้แจ่มชัด ถูกใจในเรื่องใกล้ตัว
"ขอบคุณครับ
สำนวนที่สามชื่อ อาวุธสองคม
มนุษย์ที่ถือปากกา
สำคัญยิ่งกว่าถือศัสตราวุธมากมายหลายเท่า ยิ่งอาวุธสองประเภท ไร้สติ
ไร้จิตวิญญาณ เป็นปัจจัยสู่หนทางอันมืดมนเอกอุ เข้าเขตมหันตภัย คมหนึ่ง
พร้อมฟาดฟันคู่อริ ที่ขัดผลประโยชน์ คมหนึ่ง พร้อมสนองปัญหาแห่งผลประโยชน์
ความหนักแน่น พร้อมสนองตัณหา แห่งผลประโยชน์ ความหนักแน่น ความละอาย
ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นเพียงคำพูด รับประกัน ได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังต้องรอวันพิสูจน์อีกชั้นหนึ่ง...เมื่อไรหนอ...
ชาติ ประชาชน จะอยู่รอดและ ปลอดภัย ได้ระดับไหน มากน้อยเพียงไหน เป็นเพียงสายลม
ยิ่งผลประโยชน์ของชาติ ประชาชน แค่ตัวละครไว้อ้างถึง เรื่องใดถูก เรื่องใดผิด
สมควรแก่เหตุหรือไม่ หลายครั้งพกลม มนุษย์ทุกคน ย่อมเสมอตัวกับเหตุผลของตัวเอง
เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน ตกลงกันได้ สร้างสัญญาประชาคมว่า ชาติเป็นของคนในชาติทุกคน
และทุกครั้ง สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ร่วมกัน สัญญาประชาคมเดิมเบาหวิวดุจปุยนุ่น
พลิกลิ้นร่วมกันว่า ชาติมิได้เป็นของตนเพียงคนเดียว มนุษย์เคยทบทวนบทเรียนนี้หรือไม่
หรือเป็นลมหายใจออก ส่วนใหญ่ว่าเป็นผู้เจริญแล้ว เดินทางสายกลาง ขณะนี้เดินถึงไหน
โปรดบอกเถิดโดยรากเหง้าแห่งสันดานดิบซ่อนเร้นอยู่ ก่อสงครามได้ทุกรูปแบบ
ทางสายกลางของมนุษย์คืออะไร อยู่ตรงไหน คำตอบคืออำนาจแสวง ที่ตั้งอยู่บนความเกรงกลัว
ของความไม่แน่นอนซึ่งคาใจ จึงต้องจรรโลงความตายของ ของฝ่าย ตรงข้ามให้สูญเปล่า
สำหรับชาติ ประชาชนทั่วไป ความตายไม่เคยสูญเปล่า ประชาชนยังภูมิใจ
ในตัวของตัวเอง สามารถเน้นย้ำสัจธรรมสังคมได้ แต่เจ็บปวด รวด-ร้าว
บอบช้ำ ตลอดชีวิตมาหลายชั่วคน อาจสืบไป
โลกวันนี้สีดำอำมหิต
ทุกชีวิตรับโทษโฉดฉ้อฉล
ไฟสงครามยังไม่ดับกับใจตน
ปัญญาชนมีปัญญาฆ่ากันเอง
เสียงปรบมือแผ่วลงกว่าครั้งแรกมาก
กวีเฒ่าหวั่นวิตกเล็กน้อยว่าเป็นเพราะเหตุใด
"ขอบคุณครับ
ในเสียงปรบมือ มิทราบว่าเป็นเรื่องไกลตัวท่านหรือเปล่า สำนวนสุดท้ายชื่อ
เสมอภาค-เสรีภาพต่างมิติ เชิญฟังครับ
เจตนารมณ์แห่งชาตินิยมเป็นสิ่งประเสริฐ
ฝังรากแน่นอยู่ในหัวใจ และมั่นคงบนความเป็นไท มนุษย์ทุกคนใฝ่หา มิต้องการให้มนุษย์ด้วยกัน
สนตะพายบ่งถึงสัญลักษณ์ทาส แต่เครื่อง พันธนาการหรือแอกสังคมยังครอบงำความนึกคิดมนุษย์อยู่
โดยเฉพาะพวกที่อ่อนด้อย ประสบการณ์ และด้อยโอกาส ใครกล่าวหาหรือเตือนสะกิด
เป็นโมโหและโกรธขึ้งตอบ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจับต้องได้ ถ้าอธิบายต้องใช้ห้วงเวลา
แอกสังคมคือกลจักรใหญ่ประสานงานกับ กลไกหัวใจมนุษย์มาหลายชั่วอายุ
ตั้งแต่ระบบทาส ศักดินา เสรีนิยม ทุนนิยม ตลอดจน จักรพรรดินิยม ซ่อนเงื่อนการกดขี่
ขูดรีด ทุกอณูลมหายใจ อ้างความถูกต้องชอบธรรม ด้วยแบบแผน ขนบธรรมเนียม
ประเพณี ศาสนา จารีต กฎหมาย ประสิทธิภาพแห่งกฎหมาย บ่อเกิดแห่งกฎหมู่
ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่ในภาวะจำยอม ชนใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนนั้น
มนุษย์เป็นผู้สร้างกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนนั้น มนุษย์เป็นผู้สร้างกฎหมายได้
ก็ย่อมสร้างประวัติศาสตร์ได้ ความมั่นคง ที่แท้จริงเพื่อชาติ เคยมีสักครั้งไหม
ความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจกำจัดความแตกต่างมือใครยาว สาวได้สาวเอาได้ไหม
นายทุนผู้ผูกขาดเศรษฐกิจชาติ ขูดรีดแรงงานมนุษย์ด้วยกัน บีบคั้นการกล้าสู้
กล้าชนะ กล้าเสียสละ จนอ่อนล้าได้ ผลลัพธ์ที่เห็นแปลกแต่จริง ขีดความสามารถ
ในมวลชน มนุษย์สูงล้ำแห่งพลัง ส่วนใหญ่พ่ายแพ้ ถ้าชนะได้เพียงเศษกระดูก
สัจธรรมว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นต้องมีการต่อสู้ เคยเป็นก้าวแรกแห่งกงล้อประวัติศาสตร์
บรรลุจุดระเบิด เหตุใดฤา มวลชนมนุษย์ จึงลดค่าให้ถูกกดขี่ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเช่นนี้
วันนี้ของอุดมการณ์ งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุขถือว่าอยู่ได้ด้วยความเสมอภาคแล้ว
เสรีภาพสมบูรณ์และมีราคาแพง ตอนเลิกงานและรับค่าจ้างแรงงาน"
จู่ๆ แสงไฟฟ้าดวงกลมใหญ่ดับกะทันหัน
ไมโครโฟนใช้การไม่ได้ ภายในหอประชุมใหญ่มืดสนิท เหลือเพียงแสงสลัวๆ
สาดเข้ามาตรงประตูทางเข้าที่แง้มอยู่เล็กน้อย และมีผ้าดำบางๆ บังเท่านั้น
เพียงไม่กี่วินาที ประตูทางเข้าก็ปิดประตูลงกลอน ประหนึ่งได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี
ยิ่งทำให้ ภายในหอประชุมใหญ่ไร้แสงสว่าง มืดบอดทันที พลันมีประกาศจากลำโพงมือถือว่า
"ขออภัยครับ นี่คือหน่วยรักษาความปลอดภัย ของให้ทุกคนอยู่ในความสงบ
ไม่ต้องตกใจกลัว เรารักษาความปลอดภัย ให้แล้ว แค่ไฟฟ้าดับเท่านั้น
ขอให้ใจเย็นๆ"
เสียงหนึ่งตะโกนจากกลางหอประชุมว่า
"ไอ้กวีกบฏ" อีกเสียงหนึ่งเสริม "ไอ้กวีทรยศประชาชน"
อีกเสียงหนึ่งเสริมส่งจากหน้าเวทีว่า "ไปให้พ้นไอ้กวีรับใช้นายทุน"
เพียงอึดใจหนึ่ง มีเสียงตะโกน จากหน้าห้องสุขามุมซ้ายตรงประตูทางเข้าว่า
"เราไม่เอากวีก่อความวุ่นวาย" มีเสียงตะโกน จากหน้าห้องสุขา
มุมขวาตรงประตูทางเข้าว่า "ดิฉันไม่ชอบกวีซ้ายจัดค่ะ ไม่ชอบกวีหัวรุนแรง"
มีเสียงตะโกนจากกลางหอประชุม แต่น้ำเสียงคนละคนกับคนแรกว่า "ไอ้ทุเรศ
ไอ้กวีหนักแผ่นดิน ไม่รักชาติ แล้วยังปลุกระดมมวลชน ไปไหนก็ไป"
เสียงตะโกนขาดคำ
ไฟฟ้าทุกดวงในหอประชุมสว่างพรึ่บ ผู้ชมราว ๒๐๐ คน จากทุกสารทิศ ลุกจากที่นั่ง
เดินทยอยมาที่ประตูทางเข้าเพื่อขอออกไปข้างนอก โดยไม่สนใจไยดีว่า รายการอ่าน
บทกวีบนเวที จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
-เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖- |