เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน ๒๗
มู ล ค่ า ข
อ ง ก ร ร ม
ในขณะที่ตัวชี้วัดสำคัญของระบบบุญนิยม อยู่ที่มูลค่าของพลังแรงงาน (หรือมูลค่าของกรรม)
ที่แฝงอยู่ ในสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อเราออกแรงทำงาน (หรือสร้างกรรม)
ขึ้นอย่างหนึ่ง โดยกฎธรรมชาติของกรรม (กรรมนิยาม) เราจะพึงได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติ
(real value) ในปริมาณ และ ทิศทาง (ทิศที่เป็นกุศลหรืออกุศล) ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกรรมนั้นๆ
ถ้าเราตักตวงเอาผลตอบแทนมากเกินกว่ามูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติที่พึงได้รับจากพลังแรงงาน
(หรือกรรม) นั้นๆ ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นจะเหนี่ยวนำให้เกิดแรงสนามของ
"อกุศลกรรม" ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเป็น "อกุศลวิบาก"
ตามมา ในปริมาณความเข้มข้นที่สอดคล้องพอดีกับแรงสนามของอกุศลกรรมดังกล่าว
ในทางกลับกัน ถ้าเราเรียกร้องผลตอบแทนน้อยกว่ามูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติ
ที่จักพึงได้รับ จากพลังแรงงาน (หรือกรรม) นั้นๆ การสละผลประโยชน์ส่วนตน
อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ที่เราพึงได้รับ ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดแรงสนามของ
"กุศลกรรม" ซึ่งจะส่งผลเป็น "กุศลวิบาก" ในปริมาณความเข้มข้น
ที่สอดคล้อง พอดีกับแรงสนามของกุศลกรรมนั้นๆ เช่นกัน
ปัญหาก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่า
มูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติของพลังแรงงาน (หรือกรรม) นั้นๆ เป็นเท่าไร
ถ้าเราสามารถหาวิธีวัดมูลค่าตามธรรมชาติของพลังแรงงาน (หรือกรรม) ดังกล่าวได้
ก็จะเป็นพื้นฐาน สำคัญในการสร้างทฤษฎีบุญนิยมให้เป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์
เช่นเดียวกับความรู้ ในทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ การเมืองสำนักคิดอื่นๆ
สำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิคได้เสนอแนวคิดเรื่องราคาตามธรรมชาติ
(Natural Price) ของสินค้า หรือบริการต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงมูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติ
(real value) ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยมีสมมติฐานว่า ถ้าปล่อยให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี
กลไกตลาดที่เปรียบเสมือน มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) จะผลักดันให้ราคาของสินค้าหรือบริการต่างๆ
ปรับตัวเข้าสู่ราคา ตามธรรมชาติ ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ
เพราะถ้าเกิดราคาของสินค้าหรือบริการดังกล่าวสูงกว่าราคาแท้จริงตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น
ผู้คนก็จะพากันหันมาใช้พลังงานเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการนั้นๆ (เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ไปผลิตสินค้าหรือบริการอื่นด้วยจำนวนพลังแรงงานเท่ากัน) ส่งผลให้อุปทาน
(supply) ของสินค้า หรือบริการนั้น มีเพิ่มมากขึ้นในตลาด ผลที่เกิดตามมาก็คือราคาของสินค้า
จะเริ่มปรับตัวลดลง เข้าหาราคาแท้จริง ตามธรรมชาติ
ในทางกลับกัน เมื่อราคาของสินค้าหรือบริการนั้นๆ
ลดต่ำลงกว่าราคาแท้จริงตามธรรมชาติ ผู้คนก็จะพากัน หันไปใช้พลังแรงงาน
(ในจำนวนเท่าเดิม) เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า
ส่งผลให้อุปทาน (supply) ของสินค้าหรือบริการนั้นในตลาดมีจำนวนลดลง
ผลที่ตามมา ก็คือราคาของสินค้า หรือบริการดังกล่าว จะเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเข้าหาราคาแท้จริงตามธรรมชาติในวงจรรอบใหม่
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักคลาสสิคจึงสนับสนุนนโยบายการค้าขายอย่างเสรี
เพราะเชื่อว่า กลไกตลาดจะช่วยควบคุมให้มูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ
ปรับตัวเข้าใกล้แท้จริงตามธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ
ณ ราคาตามธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติ ก็จะเกิดขึ้น ในสังคม ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
บนพื้นฐานของแนวคิดนี้
จะถือได้ว่ามูลค่าของสินค้าหรือบริการ ณ ราคาธรรมชาติตามกลไกตลาด ดังที่ทฤษฎี
เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคเสนอ จะเท่ากับมูลค่าของพลังงาน (หรือกรรม)
ที่แฝงอยู่ในสินค้า หรือบริการดังกล่าวตามทัศนะของพุทธปรัชญาได้หรือไม่
คำตอบก็คือดูเหมือนน่าจะเท่ากันในเชิงทฤษฎีแต่ไม่เท่ากันในโลกแห่งความเป็นจริงของการปฏิบัติ
เพราะในแง่ ทฤษฎี คนที่ใช้พลังแรงงาน (หรือกรรม) ในจำนวนเท่ากัน ก็พึงจะได้รับผลตอบแทน
คิดเป็นมูลค่า เท่ากันโดยเปรียบเทียบด้วย (ซึ่งจะเท่ากับมูลค่า ณ ราคาตามธรรมชาติของพลังแรงงานนั้นๆ)
แต่ในทางปฏิบัติ
ราคาที่ถูกกำหนดโดยมือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาด จะไม่เท่ากับราคาที่เป็นมูลค่าแท้จริง
ตามธรรมชาติของพลังแรงงาน (หรือกรรม) นั้นๆ ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดของกลไกตลาด
ที่ไม่สามารถ ก่อให้เกิด การแข่งขันสัมบูรณ์ (absolute market) ในโลกแห่งความเป็นจริง
เพราะ
๑. การที่ผู้ผลิตแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่าเทียมกัน
ทำให้ถึงแม้สินค้าหรือบริการอย่างหนึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าราคาแท้จริงตามธรรมชาติ
อันน่าที่ผู้คนจะหันมา แข่งขันกันผลิตสินค้าหรือบริการนั้นๆ กันมากขึ้น
จนราคาสินค้าลดต่ำลง เข้าหาราคาตามธรรมชาติ แต่ในเมื่อมีคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ที่มีศักยภาพพอจะผลิตสินค้าหรือบริการดังกล่าวได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ
สภาพการผูกขาดดังกล่าวจะทำให้อุปทาน (supply) ของสินค้าหรือบริการนั้นน้อยกว่าระดับที่พึงจะเป็น
และส่งผลให้ราคาของสินค้าหรือบริการนั้นๆ สูงกว่ามูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติของตัวมันเอง
ตัวอย่างเช่น ขณะที่มูลค่าของพลังแรงงานที่ใครก็สามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างกว้างขวาง
(เข้าใกล้ตลาด ที่มีการแข่งขันสัมบูรณ์) คิดเป็นมูลค่าเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับการประกันตามกฎหมาย
ในกรณีนี้ค่าแรง ขั้นต่ำต่อวันก็จะใกล้เคียงกับมูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติของพลังแรงงาน
(หรือกรรม) ใน ๑ วัน สมมติเท่ากับ x หน่วย
แต่ในการทำงานเป็นผู้พิพากษา
คนที่จะมีศักยภาพสามารถสอบเข้าเรียนวิชากฎหมาย จนจบนิติศาสตร บัณฑิต
และสอบผ่านเนติบัณฑิตได้ รวมทั้งสอบแข่งขันบรรจุเป็นผู้พิพากษาได้
จะมีแวดวงจำกัด อยู่ในกลุ่มคน ที่มีศักยภาพเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
การผูกขาดของอาชีพนี้ ในกลุ่มคนที่มีศักยภาพ จำนวนไม่มาก จะทำให้มูลค่าพลังแรงงานในการทำงาน
๑ วัน ของผู้พิพากษา สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ของคนทั่วไป ในการทำงานเท่ากัน
๑ วัน (เพราะถ้าค่าแรงของผู้พิพากษาเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ก็คงไม่มีใครอยากดิ้นรนเป็นผู้พิพากษาให้ยากลำบาก)
เป็นต้น ศักยภาพที่แตกต่างกัน จึงทำให้มูลค่า พลังแรงงาน ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการบางอย่าง
สูงกว่ามูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติของพลังแรงงาน (หรือกรรม) นั้นๆ
๒. จากข้อ ๑. เราอาจให้คำอธิบายว่า
การที่คนเราเกิดมามีศักยภาพแตกต่างกัน เช่น บางคนเกิดมามีไอคิว สูงกว่าคนอื่น
มีสุขภาพแข็งแรง เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง ได้รับการศึกษาอย่างดีตั้งแต่เด็ก
ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ทุนที่มาจาก "กุศลกรรม" ในอดีต ซึ่งมนุษย์แต่ละคนไม่พึงมีศักยภาพเท่ากัน
เพราะสร้างกรรมมาแตกต่างกัน
ในกรณีเช่นนี้
เมื่อคนที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ผูกขาดการแข่งขันผลิตสินค้าหรือบริการ
ในแวดวงที่คน ซึ่งมีศักยภาพด้อยกว่า(เพราะสร้างกุศลกรรม มาน้อยกว่า)
ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ส่งผลให้มูลค่า ของสินค้าหรือบริการนั้นๆสูงกว่าราคาแท้จริงตามธรรมชาติดังที่ได้กล่าวมา
แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า มูลค่าส่วนที่เกิน จากค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งใกล้เคียงกับราคาแท้จริงตามธรรมชาติของ
พลังแรงงานทั่วไป) คือมูลค่าของ "บุญเก่า" ที่พึงได้รับตามธรรมชาติ
สมมติคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ Y หน่วย ค่าตอบแทนที่ได้รับ อันคือ X+Y
หน่วย จึงเป็นมูลค่าของ "กรรมใหม่" บวก "บุญเก่า"
อันกล่าวได้ว่าเป็นมูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติ ในลักษณะหนึ่งเช่นกัน
ค่าแรงที่ผู้พิพากษาได้รับถึงแม้จะมากกว่าค่าแรงของคนทั่วไป แต่ก็ถือได้ว่า
เป็นค่าตอบแทนที่ "เป็นธรรม" ตามกฎกรรมนิยามในแง่มุมนี้
๓.อย่างไรก็ตาม
กลไกตลาดมักจะถูกบิดเบือนทำให้ราคาของสินค้าหรือบริการสูงกว่าที่พึงจะเป็น
ธรรมชาติด้วยเหตุ ปัจจัยต่างๆ เช่น การโฆษณาก็ปลุกเร้าให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าสินค้า
ก. มีคุณภาพ เหนือกว่าสินค้า ประเภทเดียวกัน ยี่ห้ออื่นๆ ทั้งที่อันที่จริงมีคุณภาพใกล้เคียงกันหรือด้อยกว่ากันด้วยซ้ำ
แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อและเกิดอุปสงค์ (demand) ต่อสินค้า ก.เพิ่มขึ้นมากกว่าอุปสงค์แท้จริงตามธรรมชาติ
ก็จะส่งผลให้ราคาของสินค้า ก. สูงขึ้นกว่าเดิม ตามกลไกตลาด (หรือถึงแม้จะไม่มีการขึ้นราคาสินค้า
ก. แต่การที่สินค้านี้ขายได้มากขึ้น เพราะอุปสงค์ ที่เพิ่ม ก็ส่งผลให้ปริมาณมูลค่าของสินค้าในตลาดโดยรวม
เพิ่มสูงกว่ามูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติ โดยรวมอยู่ดี) สมมติมีมูลค่า
สูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น ณ ราคาธรรมชาติ เท่ากับ z หน่วย ในกรณีนี้มูลค่า
z หน่วย ดังกล่าวก็คือ มูลค่าของ "บาปใหม่" ที่เพิ่มขึ้น
จากการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนเกิดความหลงผิด ไม่เข้าใจความจริง ตามที่เป็นจริง
ผลที่สุด ราคาของสินค้าหรือบริการในตลาด ก็เท่ากับมูลค่าของ "กรรมใหม่"
(x) + "บุญเก่า" (y) + "บาปใหม่" (z) ซึ่งจะสูงกว่ามูลค่าแท้จริงตามธรรมชาติที่พึงเป็น
๔. นอกเหนือจากการโฆษณาปลุกเร้าให้ผู้คนมี
"อุปสงค์เทียม" เกิดขึ้นเกินกว่าอุปสงค์แท้จริงตามธรรมชาติ
จนก่อให้เกิดมูลค่าของ "บาปใหม่" แฝงอยู่ในมูลค่าของสินค้าหรือบริการต่างๆ
แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ที่บิดเบือนการทำหน้าที่ของกลไกตลาด
จนส่งผลให้มูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตามราคา ตลาด สูงกว่า มูลค่าแท้จริง
ตามธรรมชาติ เช่น การผูกขาดตัดตอน การหลอกลวงฯลฯ ทำให้ราคาของสินค้า
หรือ บริการ ดังกล่าวเป็น "ราคาที่ไม่เป็นธรรม"
นอกจากนี้ถ้ามองในเชิงลึกยิ่งขึ้น
ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกลไกตลาด ที่ไม่สามารถ สะท้อน มูลค่า
แท้จริงของพลังแรงงาน (หรือกรรม) ก็คือ ความไม่รู้ (อวิชชา) ของมนุษย์ที่ไม่เข้าใจ
ความจริงทั้งหมด ตามที่เป็นจริง ส่งผลให้มนุษย์ในฐานะผู้ผลิต ไม่หันมาใช้
แรงงานเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ (สร้างกรรม) นั้นๆ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์คุณค่าตอบแทน
ที่จะพึงได้รับ ในภาพรวม ระยะยาวจาก "กรรม" ดังกล่าว ตลอดจน
ส่งผลให้มนุษย์ในฐานะ ผู้บริโภคเกิดอุปสงค์ ในการบริโภคสินค้า หรือบริการบางอย่าง
ทั้งๆ ที่ให้คุณค่าแท้จริงไม่มาก ซ้ำยังอาจให้โทษในระยะยาวด้วย อาทิ
การบริโภค สั่งเสพติดต่างๆ เป็นต้น ผลที่สุด มูลค่าตอบแทน จากพลังแรงงาน
(หรือกรรม) ตามราคาตลาด ก็จะไม่ตรงกับ มูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติ ของพลังแรงงาน
(หรือกรรม) นั้นๆ ตามที่พึงจักเป็น
(อ่านต่อฉบับหน้า)
-เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖- |