ความลับเรื่องอำนาจ
* คอลัมน์...มองให้ลึก นึกให้กว้าง
โดย..ดาวรุ่ง รัตนพยากรณ์ จากหนังสือ...แลใต้ ฉ.๑๐๔
คุณอยากมีอำนาจใช่ไหม?
คุณต้องรู้ความลับของมันก่อน
ความลับประการแรกคุณต้องรู้ว่าอำนาจมาจากไหน?
ดูเหมือนอำนาจจะมีที่มาอย่างน้อยสองสามทางด้วยกัน
อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม
หน่วยงานของรัฐทั้งหมดใช้อำนาจทางการเมือง
เป็นอำนาจที่ประชาชนมอบให้ ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ เขียนไว้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย"
ประชาชนแบ่งอำนาจในการออกกฎหมายให้รัฐสภา แบ่งอำนาจในการบริหารบ้านเมืองให้รัฐบาล
และองค์กรอิสระ และแบ่งอำนาจในการบังคับ ใช้กฎหมายให้ศาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ
ตั้งแต่รัฐมนตรีไปถึงภารโรงมีอำนาจ และใช้อำนาจ โดยได้รับเงินเดือน
เพราะประชาชนมอบให้ ปราศจากการมอบหมายเสียแล้ว อำนาจของข้าราชการ ทุกหน่วยหามีไม่
การมอบหมายนั้นเขียนเป็นกฎหมาย ถ้ากฎหมาย ไม่ให้อำนาจไว้ หน่วยราชการต่างๆ
จะทำงานตามใจชอบ หาได้ไม่ การออกแบบหน่วยราชการต่างๆ ขึ้นมาก็เพื่อรองรับการมอบอำนาจที่ว่านั้น
หน่วยงานในภาคธุรกิจมีอำนาจมาจากไหน?
สังคมไม่ได้มอบหมายให้บริษัทห้างร้านมีอำนาจ ในทางไหนทั้งสิ้น แต่ด้วยความที่สังคมขยายตัว
ครอบครัวชุมชน ไม่สามารถจัดหาสินค้า และบริการ มาบริการกันเองได้ จึงมีช่องว่างทำให้ธุรกิจเอกชนแทรกตัวเข้ามาได้
การที่รัฐไม่สามารถ บริการชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
ที่ทำให้ธุรกิจแทรกตัวเข้ามาได้ ยิ่งธุรกิจแทรกตัว ได้มากเท่าไหร่
อำนาจของเขาก็มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งครอบครัว ชุมชนสามารถจัดหาปัจจัยสี่
ได้ด้วยตนเอง มากเท่าไหร่ หรือรัฐสามารถบริการสังคมได้ดีเท่าไหร่ อำนาจของภาคธุรกิจ
ก็ลดน้อยลงเท่านั้น ปัจจุบันธุรกิจ มีอำนาจ ยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะประชาชนต้องพึ่งพาสถาบันนี้
ตั้งแต่หัวจรดเท้า และการทำงาน ของรัฐอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ
ลัทธิคอมมิวนิสต์มีความเชื่อว่ารัฐต้องบริการสังคมทุกเรื่อง
ธุรกิจคือการกดขี่ขูดรีด ประเทศคอมมิวนิสต์ จึงไม่มีธุรกิจเอกชน ประเทศทุนนิยมเชื่อว่าเอกชนต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดหาสินค้าและบริการ
เพราะเอกชน ทำงานมีประสิทธิภาพ มากกว่ารัฐ ธุรกิจเอกชนจึงขยายตัวเต็มประเทศ
และรัฐมีบทบาท น้อยลงเรื่อยๆ
พ่อแม่เอาอำนาจมาจากไหนจึงมีอำนาจเหนือลูกๆ
ในครอบครัว สังคมวัฒนธรรม ประเพณีมอบอำนาจ การปกครองลูกให้พ่อแม่ ให้สถาบันครอบครัว
การมอบอำนาจที่ว่านี้ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีความศักดิ์สิทธิ์กว่าการมอบอำนาจ
ทางการเมือง เพราะมันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว กลายเป็น สิ่งที่ไม่มีใครตั้งคำถามหรือไม่กล้าตั้งคำถาม
พลเมืองในประเทศต่างๆ
ไม่ได้เขียนกฎหมายเอาไว้ว่าให้นักวิชาการทำหน้าที่ศึกษาวิจัย ข้อมูลต่างๆ
เอามาสอนคน ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้สื่อมวลชนทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ
มาเสนอสังคม แต่สังคม "ยอมรับ" กันทั่วไปว่านี่คือหน้าที่ของนักวิชาการและสื่อมวลชน
เหมือนดังเช่นการ "ยอมรับ" ให้ธุรกิจทำหน้าที่ จัดหาสินค้าและบริการให้สังคม
การยอมรับ หมายถึง การให้อำนาจในอีกรูปแบบหนึ่ง
ไม่มีประเทศไหนเขียนกฎหมายอำนาจพระหรือนักบวชให้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสมาชิกในสังคม
เหมือนกับให้อำนาจรัฐบาลและรัฐสภา แต่สถาบันทางศาสนาทำหน้าที่นั้นมานับพันปีและสังคม
"ยอมรับ" ว่าต้องมีใคร สักคนทำหน้าที่นี้ สถาบันทางศาสนาจึงมี
"อำนาจ" ในการทำหน้าที่นี้
ทำไมในอดีตผู้อาวุโสในชุมชนจึงมีอำนาจตักเตือนว่ากล่าวหรือแม้แต่ลงโทษสมาชิกในชุมชนได้
เพราะชุมชนยอมรับว่าต้องมีใครสักคนมาทำหน้าที่นี้และคนที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีคือผู้อาวุโส
ต่อเมื่อมีตำรวจ มีระบบศาล ทนายความเข้ามา อำนาจของผู้อาวุโสจึงลดน้อยลงไป
ฯลฯ
อำนาจทางเศรษฐกิจ
สังคมนั้นเกือบทั้งหมดไม่มีการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีตำแหน่ง
แห่งที่ชัดเจนว่าใครถือครองอยู่ ด้วยเหตุผลอะไรและน่าสังเกตว่า อำนาจทางเศรษฐกิจ
สังคมนั้น มีความยั่งยืนกว่าอำนาจ ทางการเมือง พ่อแม่ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปทุกวันมานานหลายพันปี
แต่สังคมก็ยังให้อำนาจครอบครัวในการจัดการสมาชิกของตนเอง นักบวชเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
แต่สังคม ยังให้อำนาจวัด มัสยิดในการอบรมบ่มเพาะสมาชิกในสังคม ฯลฯ
ในทางการเมือง แม้ว่าสังคม ยังให้อำนาจรัฐ ในการจัดการ เรื่องราวต่างๆ
แต่รูปแบบ โครงสร้าง การปกครอง การจัดรูปขององค์กรรัฐเปลี่ยนแปลง อยู่บ่อยครั้งมากกว่าสถาบันทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ
แม้เราเห็นชัดเจนว่าอำนาจทางการเมืองนั้นมาจากการมอบอำนาจของประชาชน
แต่อำนาจอื่นๆ ก็มาจาก การมอบอำนาจของประชาชนเช่นกัน เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่าเท่านั้น
นักการเมืองต้องหมอบกราบ ชาวบ้านในฤดูเลือกตั้ง ก็เพื่อขออำนาจ ในการจัดการประเทศ
ข้าราชการต้องหมอบกราบนักการเมือง ก็เพราะนักการเมืองมีอำนาจที่ประชาชนมอบมาให้
ธุรกิจต่างๆ นั้นมีปรัชญาการทำงานตรงกันว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า"
ผู้ทรงอำนาจใหญ่ของสังคมจึงเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
สถาบันต่างๆ ในสังคมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองมีอำนาจขึ้นมาก็เพราะประชาชนมอบให้ทั้งสิ้น
แต่อำนาจมีมาก็ได้ก็เสื่อมถอยได้
ซ้ำบางจังหวะยังเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วยิ่ง
ปัจจุบันเรามักพูดกันว่าสถาบันศาสนาเสื่อมโทรมลงเพราะคนไม่เข้าวัดแต่ต้องถาม
ให้ลึกลงไปอีกว่า ทำไมคน จึงไม่เข้าวัด เราอาจพูดว่าเพราะสถาบันอื่นๆ
ในสังคมดึงคนไปหมด (เช่น ศูนย์การค้า สถานเริงรมย์) แต่เราก็อาจพูดได้เช่นกันว่า
เพราะสถาบันทางศาสนา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคม ได้อย่าง มีประสิทธิภาพอีกต่อไป
สังคมเลยไม่เอาใจใส่ ผู้อาวุโสปัจจุบัน ไม่สามารถกำกับควบคุมสมาชิก
ให้อยู่ในร่อง ในรอยได้ อาจพูดได้ว่าคนปัจจุบันไม่เคารพนับถือผู้ใหญ่
เพราะอบรมสั่งสอนกันมาอีกแบบหนึ่ง แต่อาจพูดอีก ได้เช่นกันว่า เพราะสถาบันผู้อาวุโสเสื่อมถอยลง
จริยธรรมสั่นคลอน ฯลฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดี จึงได้รับการยอมรับน้อยลง
ทำไมบริษัทห้างร้านต่างๆ
จึงเจ๊ง เพราะขายสินค้าไม่มีคุณภาพ เพราะหลอกลวงผู้บริโภค (ผู้ซึ่งเขาบอกว่า
เป็นพระเจ้า) เพราะการบริหารการจัดการภายในล้มเหลวและเพราะมีคู่แข่งที่เหนือกว่า
นั่นหมายความว่า แม้ว่าธุรกิจนั้น ยังสามารถบริการสินค้าที่มีคุณภาพคงเดิมได้
แต่ถ้ามีธุรกิจอื่น ที่บริการได้ดีกว่าธุรกิจนั้น ก็ไปไม่รอดเช่นกัน
สังคมจะให้การยอมรับสถาบันต่างๆ
ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองน้อยลงเพราะสถาบัน เหล่านั้น
ทำหน้าที่ได้น้อยลง ด้อยลง การที่สถาบันเหล่านั้นทำหน้าได้น้อยลง ด้อยลงเกิดจากทั้งเหตุภายใน
และเหตุ ภายนอก
เหตุภายในคือความเสื่อมโทรมในการบริหารจัดการตามภารกิจของสถาบันนั้นเอง
คนด้อยคุณภาพ ความไร้ประสิทธิภาพ ในการจัดการ ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
ฯลฯ
เหตุภายนอกคือการเกิดขึ้นของสถาบันใหม่ๆ
ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
แต่เดิม ไม่มีใครไปขึ้นศาลยามทะเลาะกันเพราะมีผู้อาวุโสในชุมชนที่สามารถจัดการให้ความยุติธรรมได้
แก้ปัญหา เสร็จอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต่อมาเรารับวัฒนธรรมตะวันตกที่มีระบบศาล
มอบอำนาจให้ศาล อัยการ ตำรวจมาจัดการคดีความ ระบบยุติธรรม สมัยใหม่ท้าทายระบบผู้อาวุโส
คนเริ่มยอมรับระบบนั้น ระบบการตัดสินคดีความในชุมชนจึงอ่อนแอลง แต่คนก็เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ
ว่าระบบยุติธรรม ตามแบบแผนนั้น ต้องใช้เวลายาวนาน และสิ้นเปลืองเงินทองอย่างยิ่ง
สุดท้ายแล้ว ก็ใช่ว่า จะได้ ความยุติธรรมสักกี่มากน้อย บางทีการที่คนหันกลับไปตามฆ่าล้างแค้นกันเอง
ก็เป็นผลสะท้อนว่า ระบบยุติธรรม ปัจจุบันที่เคยเบียดแทรก ระบบยุติธรรมของชุมชนเอง
ก็ทำท่าว่าจะไปไม่รอดเช่นกัน
เดิมทีทุกครอบครัวรับผิดชอบในการจัดหาเครื่องยังชีพทุกอย่างมาให้สมาชิกของตนเอง
ไม่พอก็แบ่งปันกัน ในชุมชน เมื่อเรารับระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม พ่อค้าเข้ามา
แย่งบทบาทครอบครัวและชุมชน ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ลดน้อยถอยลง
ปัจจุบันครอบครัว และชุมชน น้อยมาก ที่จัดการหาปัจจัยสี่ ให้สมาชิกได้ด้วยตนเอง
สถาบันครอบครัวทำหน้าที่แค่เพียง ผลิตลูกให้สังคม ผลิตออกมาแล้ว ก็ให้คนอื่นเลี้ยง
พี่เลี้ยงบ้าง คนใช้บ้าง โรงเรียนอนุบาลบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่การผลิตลูก
ยังถูกแย่งไปโดยนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของคน
โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์กันจริงๆ
แต่เมื่อพึ่งคนอื่นๆ
มากๆ เข้า คนก็คิดได้ว่าชักมีผลเสียมากกว่าผลดี มีความยากจนมากกว่าเดิม
เพราะต้อง จ่ายเงินซื้อทุกอย่าง ก็เริ่มมีกระแสการกลับมาพึ่งตนเองอีกครั้ง
จากที่กล่าวมาแล้วเราจะเห็นว่าแหล่งใหญ่ของอำนาจคือสังคม
คือคนหมู่มากนี้เอง พวกเขามอบอำนาจ ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้สถาบันต่างๆ
ทุกสถาบันทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็น ลายลักษณ์ อักษร อำนาจที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างอำนาจทางการเมืองนั้น
มีการออกแบบ กระบวนการ ตรวจสอบทบทวน อย่างชัดแจ้ง แต่อำนาจอย่างอื่นมีตรวจสอบทบทวนในรูปแบบอื่นๆ
แต่มีผลสุดท้าย เหมือนกันคือ การถอดถอนอำนาจเสีย หน่วยราชการ ที่ถูกถอดถอนอำนาจจะถูกยกเลิก
นักการเมือง ที่ถูกถอดถอนอำนาจ จะถูกปลดออก ธุรกิจที่ถูกถอดถอนอำนาจจะไม่มีใครซื้อสินค้า
และใช้บริการ สถาบันทางสังคมอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจะถูกวิพากษ์วิจารณ์
ถ้ายังไม่ปรับตัวสังคม จะเป็นปฏิปักษ์ สุดท้าย จะไม่มีที่ยืน ในสังคม
เมื่อเราเห็นชัดแล้วว่าอำนาจมาจากไหน
เราจะเข้าใจว่าทำไมสถาบันต่างๆ จึงต้องปรับตัวมาเข้าหาประชาชน ถ้าไม่ยอมอ่อนข้อให้เจ้าของอำนาจ
จะอยู่ได้อย่างไร
แต่ความลับของอำนาจมีมากมายกว่านั้น
อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมนั้นเป็นเหมือนพลังงาน ที่สามารถแปรเปลี่ยนไปมาระหว่างกันได้
เราสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเสียง(ในเครื่องเสียง)
เปลี่ยนเป็นแสง(ในหลอดไฟ) เปลี่ยนเป็น แรงขับเคลื่อน (ในรถไฟฟ้า) ไฟฟ้าเองก็มาจากพลังงานน้ำ
น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ พลังงานในรูปต่างๆ สามารถแปรเปลี่ยนไปมาได้ฉันใด
อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็สามารถแปรเปลี่ยนไปมา ระหว่างกันได้
ฉันนั้น ดูได้จากที่มาของนักการเมือง
นักการเมืองบางคนเคยเป็นข้าราชการระดับสูง
มีบารมี มีคนรู้จัก กว้างขวาง เกษียณแล้วก็มีคนสนับสนุน มาเป็น ส.ส.
และรัฐมนตรี นักการเมือง บางคนช่วยเหลือช่วยเหลือชาวบ้านมายาวนาน มีตำแหน่งแห่งที่
ทางสังคม (อำนาจทางสังคม) สุดท้าย ชาวบ้าน ผลักขึ้นเป็นนักการเมือง
นักการเมืองบางคนเป็นพ่อค้าใหญ่ มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก มีเงินซื้อเสียงเยอะก็สามารถแปรอำนาจ
ทางเศรษฐกิจ มาเป็นอำนาจการเมืองได้
ในทางตรงกันข้ามคนที่ขึ้นมาเป็นนักการเมือง
มีอำนาจในการอนุมัติโน่นอนุมัตินี่ สามารถให้คุณให้โทษ กับคนได้มาก
ก็สามารถแปรอำนาจทางการเมืองดังกล่าวเป็นเงินสดหรืออำนาจทางเศรษฐกิจได้ไม่ยาก
ในทางสังคมนั้น ไม่ต้องพูดถึง จะมีคนเชิญไปเป็นประธานสมาคมโน่นสมาคมนี่
ออกงานโน่นออกงานนี่ มีสถานะทางสังคม สูงขึ้นอีก
การที่อำนาจประเภทต่างๆ
สามารถแปรเปลี่ยนไปมากันได้นี้เองทำให้เกิดการคอรัปชั่นทางอำนาจ คือเอาอำนาจ
ทางการเมืองที่ประชาชนมอบให้มาแปลงรูป เป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือเงินสด
เข้ากระเป๋า ตัวเอง จนเราต้องตั้ง ปปง.เข้ามายึดทรัพย์นั่นเอง ในขณะที่พ่อค้าใหญ่แปลงอำนาจเงินตรามาเป็นตำแหน่ง
ส.ส. หรือหา ส.ส.มาเป็นบริวารได้ในชั่วข้ามคืน คนที่มีความสามารถในการแปลงอำนาจสูง
หรือมีจริยธรรมพร่อง มากกว่าคนอื่นจึงกลายเป็นคนที่รวย กว่าคนอื่นๆ
สร้างช่องว่างทางสังคมกับคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นั่นคือที่มาของการตรวจสอบการใช้อำนาจ
การแปลงอำนาจนั้นมีทั้งผลดีผลเสีย
คนที่มีประสบการณ์การบริหารธุรกิจมายาวนาน ถ้ามาบริหารประเทศ ด้วยประสบการณ์เหล่านั้น
ประเทศจะเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเอามาซื้ออำนาจทางการเมือง ไปสร้าง ความร่ำรวย
ให้ตนเอง ประเทศจะวิบัติอย่างรวดเร็ว การให้อำนาจ จึงต้องมีการกำกับ
การใช้อำนาจไปด้วยเสมอ
ในเชิงอุดมคติแล้วผู้ที่จะควบคุมการใช้อำนาจได้ดีที่สุดคือคนที่ใช้อำนาจนั้นเอง
เพราะเขาต้องใช้อำนาจ อยู่ตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง แต่มีคนดีสุดยอดเช่นนั้นอยู่ในโลกไม่กี่คน
สังคมเลยต้องออกแบบ การกำกับการใช้อำนาจมากมายหลายรูปแบบ การให้นักการเมืองมีวาระในการทำงาน
ในการทำงาน คือรูปแบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเปลี่ยนใจ มอบอำนาจ
ให้คนอื่นได้ การมีองค์กรอิสระมาติดตาม ตรวจสอบทรัพย์สิน จับเข้าคุก
ปลดออก ไล่ออกคนเลว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง การให้มีการเปิดเผยข้อมูลการอนุมัติ
การใช้อำนาจขององคาพยพต่างๆ ของรัฐก็เป็นวิธีการตรวจสอบว่า มีการใช้อำนาจ
ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือไม่ การให้มีฝ่ายค้านในสภา เพื่อตรวจสอบรัฐบาลก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
สุดท้ายแล้วการให้ประชาชน เจ้าของอำนาจ ลงชื่อร้องขอให้มีการถอดถอนก็เป็นวิธีหนึ่งในการขออำนาจคืน
มาสู่เจ้าของอำนาจ ที่แท้จริงอีกครั้ง
(อ่านต่อฉบับหน้า)
-เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-
|