กติกาเมือง
- ประคอง เตกฉัตร -
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
การพิจารณาคดีแบบใหม่
ปัจจุบันนี้ศาลยุติธรรมต้องปรับระบบการบริหารจัดการคดีแบบใหม่
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๖
บัญญัติว่า การนั่งพิจารณาคดีของศาล ต้องมีผู้พากษา หรือตุลาการครบองค์คณะ
และผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษา
หรือคำวินิจฉัยคดีนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอื่น
อันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ บทบัญญัติดังกล่าว
มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ในมาตรา ๓๓๕ ว่า ในวาระแรก มิให้นำบทบัญญัติดังกล่าว
มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมเป็นเวลา ๕ ปี นับแต่วันประกาศ
ใช้รัฐธรรมนูญนี้ กล่าวคือจะมีการเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม
๒๕๔๕ เป็นต้นมา
การพิจารณาคดีแบบเดิมนั้นเมื่อโจทก์ฟ้อง
จำเลยจะต่อสู้คดี ศาลจะนัดสืบพยานของแต่ละฝ่าย เพียงนัดเดียว เมื่อถึงนัดดังกล่าวนั้น
จะได้พิจารณาคดีหรือไม่ก็ตาม ก็จะนัดพิจารณาคดีวันถัดไปห่างกัน ๑ เดือนบ้าง
๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง แล้วแต่วันว่างของคู่ความที่ตรงกับศาล เมื่อถึงวันนัด
ก็จะกำหนดวันนัดถัดไปเรื่อยๆ จนกว่าคดีนั้น จะจบสิ้น ระบบดั้งเดิมนั้นมีการเลื่อนคดีสูงอยู่มาก
เนื่องจากปริมาณคดีของศาล มีจำนวนมาก หลายเรื่อง คดีใดประสงค์จะเลื่อนคดี
ศาลก็จะอนุญาตให้เลื่อนคดีไป เพราะศาลจะได้พิจารณาคดีอื่น จึงเกิดวัฒนธรรม
นัดคดีไว้วันละหลายเรื่อง เผื่อว่ามีการเลื่อนคดีใดคดีหนึ่ง จะได้พิจารณาอีกคดีหนึ่ง
คดีบางคดี มีพยานเพียง ๓ ปาก หรือ ๔ ปาก ซึ่งถ้าพิจารณาต่อเนื่องติดต่อกัน
จะเสร็จสิ้นภายในวันเดียว หรือสองวัน แต่ระบบเก่านั้น ต้องใช้วันสืบพยาน
๕ - ๖ นัด เพราะต้องเลื่อนคดี โดยไม่ได้มีการสืบพยาน หลายครั้งในแต่ละคดี
ด้วยเหตุทนายความขอเลื่อนบ้าง ด้วยเหตุพยาน ไม่มาศาล ด้วยเหตุต่างๆ
บ้าง ศาลติดพิจารณาคดีอื่น ซึ่งนัดไว้หลายคดี และทุกคดีพร้อมที่จะเข้าสืบ
ทำให้สืบไม่ทันบ้าง มีทนายความ บางท่าน มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของประชาชน
ประชาชนต่างก็ไปจ้าง ว่าความคดี จำนวนมาก ไม่สามารถ ไปว่าความทัน ได้ทุกคดี
ก็ใช้วิธีการขอเลื่อนคดี เพื่อไปว่าความอีกคดีหนึ่ง ทำให้การจดรายงาน
กระบวนพิจารณา และการไปศาลเพื่อไปเลื่อนคดี มากกว่าการไปสืบพยานจริงๆ
คู่ความไม่อาจวางแผน ล่วงหน้าได้ว่า คดีจะจบเมื่อใด
เมื่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทำให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีเดิมนั้น
เหลือเพียงครึ่งเดียว เพราะต้อง นั่งครบองค์คณะ ๒ นาย หากปล่อยให้การพิจารณาเป็นไปแบบเดิม
ก็จะทำให้คดีล้าช้าอีกเท่าตัว ซึ่งคดีบางคดี ที่พิจารณาแบบเดิมนั้น
ใช้เวลาพิจารณาคดีทั้งสามศาลเป็นเวลาถึง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง
บางคดี เฉพาะศาลชั้นต้น ใช้เวลาถึง ๕ ปี ๖ ปี และเมื่อครบ ๓ ศาลใช้เวลานานนับ
๑๐ ปี บางคดี จำเลย ไม่ได้ประกันตัว แต่สุดท้าย ศาลพิจารณายกฟ้อง ก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานนับ
๑๐ ปี อันไม่เป็นธรรม อย่างยิ่ง
การนัดพิจารณาคดีรวดเดียวต่อเนื่องเสร็จสิ้นนั้น
เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยยื่นคำให้การ ศาลจะนัดสอบถาม ถึงพยานของโจทก์จำเลยว่า
มีจำนวนเท่าใด และใช้เวลาสืบพยาน ฝ่ายละกี่วัน แล้วกำหนด จำนวนวัน
ดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นลำดับตามเลขคดีไป ช่วงแรกจะไม่ต้องมาศาลเป็นเวลา
๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง หรือแม้แต่ถึง ๑ ปีบ้าง เพราะต้องการสะสางคดีเก่า
ที่ค้างชำระอยู่ให้เสร็จสิ้น แต่เมื่อถึงวันพิจารณา ก็จะพิจารณา ตามวันเวลา
นัดรวดเดียว จนจบสิ้นทั้งคดี และพิพากษาคดีไปได้ โดยคู่ความ ทราบวัน
จบสิ้นคดีล่วงหน้า
ขณะนี้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้แยกคดีเป็น
๒ ประเภท คือคดีที่มีข้อยุ่งยากซับซ้อน และคดีไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน สำหรับคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
เช่นสถาบันการเงินฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ คดีเช่าซื้อ คดีร้องจัดการมรดก
คดีที่จำเลยไม่ยื่นต่อสู้คดี เป็นประเด็นหรือต่อสู้คดีเป็นประเด็น
แต่ไม่ได้เป็นประเด็นยุ่งยาก และไม่ได้มีพยาน หลักฐานจำนวนมาก คดีประเภทนี้ศาลจะนัดพิจารณาคดีทุกวันจันทร์
โดยกำหนดปริมาณคดี และเวลานัด ให้เหมาะสมกัน ตามลักษณะพยาน ซึ่งคดีประเภทนี้
จะเสร็จไปในเวลารวดเร็ว ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ก็จะจบสิ้นไปจากศาล
ส่วนคดีอีกประเภทหนึ่ง
คือคดีมีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณายุ่งยากซับซ้อน จึงต้องนัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง
เป็นลำดับกันไป โดยเฉพาะที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้มีคณะทั้งหมด
๖ คณะ แต่ละวัน จะนัดคดีเพียง ๖ คดี มีประชาชนมาศาลเพียง ๑๒ รายเท่านั้น
ทำให้ปริมาณประชาชน ที่ใช้บริการที่ศาล มีน้อยมาก โรงอาหารที่ศาลขณะนี้
ไม่มีผู้ใช้บริการ จนต้องเลิกการประมูล ห้องขังที่เคยคับแคบ ปัจจุบันนี้โล่ง
ห้องน้ำที่ต้องใช้คน ทำความสะอาดจำนวนมาก ในแต่ละวัน ก็ไม่ต้องทำความสะอาด
มากเช่นปกติ แผนกต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ขณะนี้ต่างโล่งว่าง มีผู้มาใช้บริการเพียงเล็กน้อย
ไม่มากเหมือนสมัยก่อน ที่แต่ละวัน ที่ศาลในช่วงเช้า เปรียบเสมือนตลาดนัด
ที่คลาคล่ำ ไปด้วยผู้คน ค่าน้ำ ค่าไฟต่างลดลงทั้งหมด การจราจรก็ดี
พนักงานรักษาความปลอดภัยก็ดี ตำรวจศาลก็ดี แม่บ้านก็ดี นักการก็ดีล้วนแต่
งานลดลง แผนกต่างๆ เริ่มลดงาน จนเป็นปกติ เหมือนข้าราชการอื่นๆ
การพิจารณาคดีแบบใหม่นี้
มีผู้ไม่เห็นด้วยหลายท่าน โดยเฉพาะทนายอัยการ หรือผู้พิพากษา ที่ผ่านการพิจารณา
แบบเดิมมาเป็นเวลานาน จนเคยชิน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาคดี
โดยวิธีใหม่ เพื่อที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช นับแต่กฎหมายใช้บังคับ
ดำเนินการ ๖ เดือนหลังปี ๒๕๔๕ สามารถสืบพยาน ได้มากกว่าในปี ๒๕๔๓ ได้พิจารณาคดีแบบดั้งเดิม
ทั้งที่มีอันตรากำลัง ผู้พิพากษาเท่าเดิม คือสืบพยาน ได้จำนวนมากกว่าเก่าถึง
๘๗๗ ปาก คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๑๓ และในปี ๒๕๔๕ สามารถสืบพยาน ได้มากกว่า
๒๕๔๓ ซึ่งใช้ระบบเดิมถึง ๒,๔๒๙ ปาก คิดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕๕.๗๗ ทำให้สามารถ
พิจารณาคดี พิพากษาคดีอาญา ที่มีการสืบพยานยุ่งยากในปี ๒๕๔๔ เพิ่มขึ้น
๒๔๘ คดี คิดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘๙.๘๖ และ ในปี ๒๕๔๕ เพิ่มขึ้นจากปี
๒๕๔๓ ถึง ๕๘๒ คดี คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑๐.๘๗
แม้ระบบดังกล่าวนี้
ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง
คือ ไม่สามารถ จัดลำดับความสำคัญของคดี ที่พิจารณา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นคดีที่จำเลยต้องขัง ไม่ได้รับ การปล่อยชั่วคราว คดีที่ประชาชนสนใจ
หรือคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นต้น เนื่องจากพนักงานอัยการ หรือ ทนายความ
มีปริมาณคดีที่ต้องว่าความ จำนวนมาก ทำให้คดีที่ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่
แต่มีความสำคัญกว่า คดีที่ค้างเก่า ดังที่ยกตัวอย่างแล้วข้างต้น จะต้องนำมา
เรียงลำดับ ต่อคิวคดีที่ฟ้องก่อน การหาวันว่าง ของผู้พิพากษา พนักงานอัยการ
และทนายความให้ตรงกันนั้น ก็ยิ่งห่างไกลออกไปบ้างในช่วงแรก
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ศาลจึงได้พิจารณาตั้งศูนย์รวมวันนัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศาล นำวันนัด
ของผู้พิพากษา ทุกท่าน มารวมกันที่ศูนย์นัดความแล้วสามารถ นัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง
เป็นลำดับกันไป โดยคู่ความ เพื่อไม่ให้คดีแต่ละคดีไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน
ทั้งไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ก็ยังจ่ายสำนวนได้เช่นตามปกติ
เพราะเมื่อถึงวันนัดคดีนั้น ควรให้ผู้พิพากษาท่านใด เป็นผู้พิจารณา
ก็เป็นอำนาจของผู้พิพากษา หัวหน้าศาลเช่นเดิม คดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน
หรือคดีที่จำเลย ไม่ได้รับ การปล่อยชั่วคราว ก็จะเข้าในช่องทางด่วน
ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าว
ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับท่านวีรพงศ์
สุดาวงศ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คนก่อน ซึ่งได้นำระบบการต่อเนื่อง
ที่ศาลจังหวัด นครศรีธรรมราช ไปดำเนินการที่ ศาลจังหวัดนครราชสีมา
โดยมีผู้พิพากษา เท่าเดิม ท่านแจ้งให้ทราบว่า คดีทั้งหมด อยู่ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา
ขณะนี้เมื่อนำมาเรียง ต่อกันแล้ว จะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ ทั้งหมด
และในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ ที่นั่งพิจารณา ครบองค์คณะนั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๔๕ ที่นั่งพิจารณาคดีนายเดียว
ปรากฏว่าปี ๒๕๔๖ สืบพยานได้ ๒,๕๒๒ ปาก และสามารถประชุมคดีรับข้อเท็จจริง
โดยไม่ต้องสืบพยานถึง ๗๗๒ ปาก รวม ๓,๒๙๔ ปาก มากกว่า
ปี ๒๕๔๖ ซึ่งสืบพยานได้
๒,๘๖๖ ปากทำให้คดีตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ เสร็จการพิจารณา
ในการสืบพยานมากกว่าช่วงเดียวกันในปี ๒๕๔๕ คดีแพ่ง เสร็จมากกว่า ๔๓๗
เรื่อง คดีอาญา เสร็จมากกว่า ๑๔๔ เรื่องท่านคำนวณ การใช้งบประมาณแผ่นดินว่า
ผลงานที่ออกมาในปีแรก ที่นำระบบใหม่ไปใช้ เท่ากับผลงานศาล ที่ทำในระบบเดิมถึง
๓ ปี
สำหรับที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวนี้ เมื่อนำคดีมาเรียงลำดับ ต่อกันแล้วครั้งแรก
จะเสร็จภายใน ๑๔ เดือน หลังจากนั้นเพียง ๓ เดือนก็สามารถ ทำให้คดีทั้งหมด
เรียงต่อกัน เสร็จสิ้นในเวลา ๑๒ เดือน จนขณะนี้ ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
นำคดีที่ฟ้องใหม่มาเรียงกันแล้ว จะเสร็จสิ้นภายใน ๑๑ เดือน ซึ่งที่ศาลได้ตั้งเป้าหมายว่า
ต่อไปเมื่อถึงสิ้นปี จะให้เสร็จ ภายใน ๑๐ เดือน และตั้งเป้าว่าในเดือน
เมษายน ๒๕๔๗ จะทำให้คดีเสร็จสิ้นไป ภายในเวลา ๘ เดือน ขณะนี้ผู้เขียนทราบว่า
ที่ศาลจังหวัดพังงา คดีที่ฟ้อง ที่ศาลจังหวัดพังงา ทั้งหมด ในขณะนี้
สามารถจะจบสิ้น ภายใน ๖ เดือน ผู้เขียนเห็นว่า ถ้านำวิธี ดังกล่าวนี้
เข้ามาใช้ในสำนักงาน ศาลยุติธรรม อย่างต่อเนื่อง และ พยายาม ปรับปรุงแก้ไขแล้ว
ต่อไปคดี ในศาลยุติธรรม ที่นำมาฟ้องต่อศาลทุกคดี จะสามารถเสร็จสิ้นภายใน
๖ เดือน ได้ทั้งหมด แต่ในช่วงแรก ที่มีการเริ่มต้น เนื่องจาก มีคดีค้างเก่าอยู่จำนวนมาก
ต้องสะสาง คดีเก่าด้วย จึงทำให้บุคลากรที่เคยชิน กับการปฏิบัติงานแบบเก่า
ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยบ้าง และการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เคยทำ
ตามระบบเก่า ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตามวิธีใหม่ ไม่ว่าทนายความ
อัยการ ตำรวจ หรือผู้พิพากษาก็ตาม การทำงานดังกล่าว ไม่ได้ทำงานมากขึ้น
แต่ตัดลดภาระงาน ที่ไม่จำเป็น และไม่เกี่ยวเนื่อง กับการพิจารณาคดี
ออกไปเท่านั้น ไม่ต้องนัดคู่ความมา เพื่อจดรายงานเลื่อนคดี แต่การมาศาลแต่ละวัน
สามารถสืบพยาน ได้แน่นอน ผู้พิพากษา ก็สามารถทำงานได้เบาขึ้นกว่าเดิม
ไม่ต้องกังวล และเตรียมคดี วันละหลายสิบคดี ดังเช่น ที่เป็นมา ในคดี
ทั้งคดีนั้นสามารถพิจารณาติดต่อกันไป สามารถรู้ข้อเท็จจริง และมีสมาธิ
และแม่นยำ ในการเขียนคำพิพากษา ได้มากกว่าเดิม และเกิดวัฒนธรรมใหม่ว่า
ถ้าได้รับหมายเรียก ให้ไปเบิกความ เมื่อไปได้เบิกความแน่ แต่เมื่อก่อนไม่แน่
จึงเลิกวัฒนธรรม ขอเลื่อนคดีไปก่อน เพราะไปก็ไม่แน่ว่า จะได้เบิกความหรือไม่
-เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖- |