เราคิดอะไร

คุยนิดคิดหน่อย - บรรณาธิการ -

เรื่องฉาวเขย่าขยอกคุณธรรมจริยธรรมของประดาผู้ทรงเกียรติในช่วงนี้ เห็นทีมิอาจงดเว้นพาดพิง กรณี ส.ว.ปรีชา ปิตานนท์ ผู้ทรงเกียรติแห่งจันทบุรี กับการบินไทยได้เลย เพราะท่านได้ทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่ จนโด่งดังทั่วทั้งแผ่นดิน

ขอประมวลเรื่องราวย่นย่อพอเป็นกระสายว่า ส.ว.ปรีชาและภริยา ได้สำรองที่นั่งชั้นธุรกิจ ๒ ที่นั่ง จากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่นใน ๘ พ.ย. แต่บังเอิญ การบินไทยมีเหตุจำเป็น ต้องเปลี่ยนเครื่องบิน แอร์บัส ๓๐๐-๖๐๐ จุ ๒๖๐ ที่นั่งเป็นโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ จุ ๑๔๙ ที่นั่ง จึงมีผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ตกสวรรค์ลงมาอยู่ ในชั้นประหยัด ๒ ที่นั่ง และช่างเหมาะเจาะที่ ๒ ที่นั่งนี้หวยไปออกที่ ส.ว.ปรีชาและภริยา ดวงของจำปีถึงคราวจะมีเรื่องต้อนรับ สายการบินใหม่ ของท่านนายกฯ ก็มีอันเป็นไปแบบนี้แหละ

ส.ว.ปรีชา ท่านทำใจไม่ได้ ไม่ยอมรับชะตากรรมตกสวรรค์ให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีผู้ยิ่งใหญ่ จึงยืนทวง ถามสิทธิ์ อยู่ตรงประตูเครื่อง ไม่ยอมให้เครื่องเหินเวหาไปกินลมแข่งกับวายุภักษ์ปีกหัก ที่หุ้นไม่เข้าปาก ตามเป้า ทำให้เที่ยวบินนี้ต้องล่าช้าไปเกือบชั่วโมง ผู้โดยสารอื่นๆ อีกพะเรอ ต้องจำยอม เสียสละเวลาของตนเพื่ออนุรักษ์ศักดิ์ศรีของ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติ ที่จะนั่งชั้นธุรกิจให้จงได้

ในที่สุดกัปตันต้องจำใจใช้กฎการบินเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้โดยสารส่วนใหญ่ ให้ รปภ.จัดการ "บุคคลอันตราย" ให้พ้นประตูเครื่องบิน จะได้ปิดประตูออกบินได้ นับว่าอาจหาญยิ่งนัก

เรื่องนี้อยู่ระหว่างกระบวนการหาข้อยุติ ที่มันน่าจะยุติไปแล้วในวันเกิดเหตุ

ผมจะไม่แส่รู้ละว่าใครผิดถูกควรไม่ควรอย่างไร เพราะไม่ใช่กงการอะไร แต่ในฐานะที่เคยมีโอกาส เป็น ส.ส.ชลบุรี เมื่อปี ๒๕๒๙ ในสังกัดพรรคก้าวหน้า ซึ่งท่านประธานรัฐสภาในยุคนี้แหละ เป็นหัวหน้าพรรค ผมเห็นว่าไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ช่วงชิงกัน อาสาเข้ามาขอรับใช้ประชาชน เชื่อเหอะ ไม่มีสักคนหรอก ที่ถูกขู่เข็ญคุกคามให้มาเป็น

จะไม่รู้ประสีประสาเลยหรือว่าต้องมาเสียสละตัวตนเพื่อประชาชน เพื่อแผ่นดิน แค่ลดชั้นที่นั่ง บนเครื่องบิน ยังยอมไม่ได้ แล้วเราจะวางใจ หวังอะไรจากท่านผู้ทรงเกียรติได้เล่า

ในวโรกาสวัน "๕ ธันวามหาราช" ปีนี้ น่าจะลองหวนกลับไปทบทวนคุณธรรม ๔ ประการ แห่งพระบรมราโชวาท บางทีหิริโอตตัปปะ จะจุดประกายสว่างไสว ในจิตใจบ้าง

"...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือ การรักษา ความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และ เป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และ อดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละ ประโยชน์ส่วนน้อย ของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง..."

"ศักดิ์ศรี" ขนานแท้ของใครๆ ไม่ว่าหน้าไหน จะเกิดจะมีขึ้นในตนได้ ต้องมีคุณธรรม เป็นพานทอง รองรับ

ส่วนศักดิ์ศรีขนานกำมะลอที่เรียกร้องต้องการนั้น เกิดได้ทุกหนแห่งแม้ในกองมูตรคูถ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -