ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
- สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่
๑๖๐)
มีผู้เข้าใจผิดว่า
หากใคร่อยากเสพ "รูปภพ" คือ มี"ภวตัณหา" ส่วนการใคร่อยากเสพ"อรูปภพ"
คือมี "วิภวตัณหา" ซึ่งชี้ชัดว่า ผู้เข้าใจตามที่ว่านี้
เป็นผู้ยังไม่รู้แจ้ง "ภพ" สามัญ(ภว)ที่เป็น "โลกียะ"
ว่า แตกต่างกับ"ภพ"วิสามัญ (วิภว) ที่เป็น
"โลกุตระ" กันอย่างไร
"วิภวตัณหา"นี้
หากผู้ที่ยังไม่เข้าใจภูมิโลกุตระ ก็มักจะแปลความกันอยู่แค่เพียงภูมิโลกียะ
ซึ่งทำให้ ความหมาย ของพุทธธรรมลดค่าไป หรือเพี้ยนไปจาก ความสมบูรณ์ที่สูงส่ง
ของศาสนาพุทธ
หากจะแปลความหมายของ
"วิภวตัณหา" ว่า อยากได้ในความไม่มีไม่เป็น
เช่น อยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ หรืออยากตาย อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียด
ชังไม่ปรารถนา ซึ่งล้วนเป็น "ความอยาก" ที่มีนัยแค่ปฏิเสธ
สิ่งที่ตนชอบ หรือไม่ชอบเท่านั้น ก็ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ของโลกีย์
อยู่นั่นเอง ผู้ยังไม่มีภูมิโลกุตระก็จะตีความกันอยู่แค่นี้
ซึ่ง่ไม่ตรงกับนัยสำคัญ ที่เป็นอุดมคติ ของพุทธ หรือพูดตรงๆก็คือ
ยังแปลไม่ตรงกับ เนื้อแท้เนื้อธรรมของพุทธศาสนา อันมีคุณวิเศษ ที่ไม่เหมือนใคร
"วิภว"
ก็คือ
วิภพ ซึ่งแปลว่า "ความไม่มีภพ หรือ
ไม่ใช่ภพ"
เพราะฉะนั้น "วิภวตัณหา" จึงหมายถึง
"ความอยากได้วิภพ" นั่นก็คือ
ความอยากได้ (ตัณหา)
นั้น หมายเอา อยากได้"ความไม่มีภพหรือไม่ใช่ภพ"
ต่างหาก ซึ่งเป็น"โลกุตระ" ของชาว
"อเทวนิยม" โดยตรง
เนื้อแท้เนื้อธรรมที่สูงเลิศวิเศษยอดของศาสนาพุทธแท้ๆ
คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ไม่ใช่ "นิพพาน" คนที่อยากได้"นิพพาน"
นั่นก็คือ อยากได้ "ความไม่มีภพหรือความไม่ใช่ภพ"
"ดับภพจบชาติ" นั่นเอง
ดังนั้น ผู้มี"วิภวตัณหา"
ก็ต้องไม่สร้างภพใหม่ให้ตนวนเวียนเพิ่มซับซ้อนขึ้นอีกจึงจะถูก
และมุ่งมั่น "ดับภพจบชาติ" ให้คมแม่นถูกตรง ชัดลึกเกลี้ยงสิ้นให้ได้
ผู้ที่ไม่รู้แจ้งเข้าใจในความเป็น
"ภพ" เป็น "ชาติ"
อันยังเป็นโลกีย์ และไม่มีปัญญาญาณรู้ว่า
"โลกุตระ" คืออย่างไร ก็จะตีความ
"วิภวตัณหา" ไปหลากหลายนัย ผิดเพี้ยนไปต่างๆ จึงไม่สามารถจะ
"ดับภพจบชาติ" แน่
แต่ผู้ศึกษาที่สัมมาทิฏฐิและปฏิบัติจนมีญาณรู้แจ้งในความเป็น
"ภพ" เป็น "ชาติ"
จะชัดในประเด็นของ อุดมคติ แห่งพุทธแท้ๆ ก็ไม่หลงออกนอกทางไปอื่น
นั่นก็คือ ผู้นั้นมีญาณ หรือ วิชชา ๙ รู้จัก
"ความเป็นภพ" ที่ยังเป็น
"โลกียะ" ทั้งที่เป็น "กามภพ" ทั้งที่เป็น
"รูปภพ" และ "อรูปภพ" (ต้องพ้นอวิชชา
๘ นั่นเอง) จึงจะสามารถ "ดับภพจบชาติ"
ได้สำเร็จทั้ง ๓ ภพ โดยการปฏิบัติ เนกขัมมะหรือออกจาก
"ภพ" ตาม "ทางปฏิบัติอันเอก" ได้แก่ "สัมมามรรค
มีองค์ ๘" เจริญสู่ความเป็น "โลกุตระ"
กระทั่งไม่เหลือ "ภพ"
ใดๆ เป็นที่สุด
"วิภวตัณหา"
จึงหมายถึง "ความอยาก" ชนิดอยาก "ไม่มีภพ"
(วิภว) ที่ยังเป็น"โลกียะ"
ต้องจับเป้าแท้นี้ ให้แม่น ให้คมให้ตรงให้ชัด แล้วจะต้องศึกษาหาทาง
"ออกจากภพ" ที่ติดที่หลง วนเวียนอยู่นั้นๆให้ได้
ซึ่ง "ออกจากภพ" ก็คือ "เนกขัมมะ"
แท้ๆ แล้วก็ปฏิบัติ จนไม่มี "ภพ"
ใดๆ อีกเลยสำเร็จ
ดังนั้น"ตัณหา"ที่ชื่อว่า
"วิภวตัณหา"นี้ จึงไม่ใช่ "ตัณหา" ที่ยังวนเวียนอยู่ใน
"ภพ" ที่เป็น "โลกีย์" แน่ๆ แต่เป็น "ความอยากออกจากโลกียภพ"
ชัดๆ "ภพ" ที่จะต้องหลุดพ้น ออกมาให้ได้ ก็คือ "ภพทั้ง
๓" อันได้แก่ "กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ" ซึ่งจะต้องไม่มีภพ
จบชาติสิ้นเกลี้ยงโดยแท้ และผู้รู้แจ้ง "ภพ" ก็เพราะมี "วิชชา"
ดับอาหารของ "อวิชชา" ได้สำเร็จจึงหมดสิ้น "ภวตัณหา"
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๒)
คำว่า "เนกขัมมะ"
ที่ได้เรียนได้รู้กันมา ก็บอกแค่ว่า "ออกจากกาม" ก็ไม่ผิด
แต่"ภพ ๓" ที่ผู้จะบรรลุนิพพาน ต้องพ้นให้ได้ มิใช่มีแค่ออกจาก
"กามภพ" เท่านั้น จะต้องออกจาก
"รูปภพ และ อรูปภพ" ด้วย
แต่เพราะความเห็นหรือปัญญาที่เข้าใจความเป็น"ภพ"
ยังไม่พอ จึงเผลอตกหล่นไปว่า "รูปภพ
และ อรูปภพ" ไม่ใช่ "ภพ"
ที่เราจะต้องหลุดพ้น หรือ "ออกจาก" มันมาให้ได้ด้วย
เหตุก็เพราะ ยังไม่ "สัมมาทิฏฐิ" พอ ยังเข้าใจเรื่อง
"ภพ" และเรื่อง "ฌาน" ยังไม่ถูกถ้วน (ไม่สัมมา)
จึงพาให้ "มิจฉาทิฏฐิ" ใน "ทางปฏิบัติ" ไปหลงยึดเอาแบบฤาษีดาบส
ที่เคยปฏิบัติกันมา แต่เก่าก่อน เช่น อาฬารดาบส อุทกดาบส ซึ่งปฏิบัติ
"ฌาน" แบบสะกดจิต เข้าไปอยู่ใน "ภวังค์" ทั้ง
"รูปฌาน และ อรูปฌาน" แล้วก็เห็นผิดไปว่า นี่คือ "ฌานแบบพุทธ"
ที่แท้..เป็น"ฌาน"ที่ยิ่ง"จม"
(สังสีทติ) ลงไปใน"ภพ"
ผู้อบรมฝึกฝน "ฌานแบบฤาษี"
จนชำนาญ ถึงขั้นตั้งมั่น เป็น "สมาธิ" ก็เลยยิ่งสร้าง
"รูปภพและอรูปภพ" จมดิ่งนิ่งลึกเข้าไปสนิทเนียน ทั้งในความติดยึด
และทั้งในความไม่รู้ (อวิชชา) ยิ่งๆขึ้นเพราะมันเป็น
"อรูป" ยิ่งลึกยิ่งลับ
ทุกวันนี้ ในวงการศาสนาพุทธ
ถ้าพูดกันว่า "ปฏิบัติธรรม" ก็จะหมายถึง
ต้องไปนั่งหลับตาสะกดจิต เข้าไปอยู่ใน "ภวังค์" (องค์แห่งภพ)
แล้วเรียกว่า "ทำฌาน" หรือ "ทำสมาธิ" ซึ่ง
"ฌานหรือสมาธิ" แบบนี้ ก็ได้พูดกันมาซ้ำซากแล้วว่า
ไม่ใช่ "ฌานพุทธ" แต่เป็น "ฌานฤาษีดาบส"
แบบเก่า ที่มีมานานแล้ว และยังมีอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังที่รู้จักกันเป็นสากลทั่วไป
พระพุทธเจ้าก็ตรัสแล้วว่า ไม่ใช่ทางพาไปสู่จุดหมาย อันวิเศษของพุทธ
เพราะเป็นการสร้างฌาน สร้างสมาธิ ที่ยังไม่หลุดพ้น
ไปจาก "ภพ" ยังเป็นการสร้าง "รูปภพ-อรูปภพ"
ให้แก่ตนเอง แล้วผู้นั้น ก็ยิ่งดิ่งเข้าไปในภวังค์ ลึกลงไปใน "ภพ"
ยิ่งๆขึ้น ลักษณะเช่นนี้เองที่เรียกว่า "จม"
(สังสีทติ)
พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระอุบาลี
พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๙๙ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอุบาลีทูลขอ อยากจะเข้าไปอยู่ป่า
แต่แล้ว พระผู้มีพระภาค ก็ตรัสปรามไว้ ซึ่งเป็นคำตรัส ที่ไขสัจจะให้เรา
ได้รู้แจ้งชัด ในนัยะของความเป็นพุทธอย่างสำคัญ
"ดูกรอุบาลี
เสนาสนะ คือ ป่า ราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์
ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลาย เห็นจะนำใจของภิกษุ ผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย
ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าว อย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิจะสร้องเสพเสนาสนะ
คือ ป่า และราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้อง หวังข้อนี้ คือ จัก"จม"
(สังสีทติ)
หรือจัก "ฟุ้งซ่าน"
(อุปปิลวติ)"
คำว่า
"จม" (สังสีทติ) คือ ดิ่งลงไปกับสภาพนั้น
หรือติดอยู่กับสภาพนั้น ซึ่ง "จม" ได้ทั้งกับสภาพ ที่เป็นภายนอก
อันมีองค์ประกอบ เงียบสงบ เช่น ป่า ป่าช้า ราวป่าอันสงัด เป็นต้น ก็ติดป่านั่นเอง
และ"จม"ได้ทั้งกับสภาพที่เป็นภายใน เช่น รูปฌานและอรูปฌาน
เป็นต้น ก็ติดฌานอีกน่ะแหละ
หากศึกษาดีๆ แม้จะปฏิบัติ
"ฌาน"นั่งหลับตาเข้าไปอยู่ในภวังค์ ทำความสงบจนได้ "เจโตสมถะ"
ซึ่งก็คือ ได้ "ฌานในภวังค์" ถ้าผู้ปฏิบัติมีสัมมาทิฏฐิ
"ฌาน" ที่ได้ "เจโตสมถะ" ในภวังค์นี้ ก็เป็นอุปการะมาก
มีประโยชน์หลายอย่าง เช่นว่า
๑. เข้าไปสงบจิต
พักผ่อนได้ดีมาก
๒. ฝึกฝนศึกษาเรียนรู้เพิ่มทักษะในเจโตสมถะ
และใช้ตรวจอ่านภาวะจิตต่างๆในภวังค์ ซึ่งสามารถ อ่านได้ง่ายกว่าที่อยู่ในขณะจิตขึ้นรับวิถี
ทวาร ๖ เปิดทำงาน รับรู้ตามปกติของคน ที่ดำเนินชีวิตอยู่
๓. สามารถปฏิบัติ
"เตวิชโช" ได้อย่างดี ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติในวันวิสาขะ
ใต้ต้นโพธิ์ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรง สรุปผล ตรัสรู้ปฏิญาณพระองค์เป็น
"พระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ วันนั้น
"เตวิชโช"นี้แหละที่สามารถใช้ทบทวนตรวจสอบได้รู้"มรรคผล"ที่ตนปฏิบัติในเวลาที่ผ่านมา
ด้วย "ปุพเพนิวาสานุสติญาณ" เพราะจะมี "ความรู้แจ้งผลที่เกิดที่ดับ"
(จุตูปปาตญาณ) ของตน ละเอียด ชัดเจน แม้แต่รู้แจ้ง
"ความสิ้นอาสวะ" (อาสวักขยะ)
"เตวิชโช"
คือ "วิชชา ๓" ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณ
(ความรู้ในสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้ว) จุตูปปาตญาณ (ความรู้ในการเกิดการดับ)
อาสวักขยญาณ (ความรู้การสิ้นไปของอาสวะ) ไว้มีโอกาสค่อยแจกแจง
รายละเอียดของ "เตวิชโช" สู่กันฟัง ซึ่งเป็น "วิชชา"
สำคัญที่นักปฏิบัติ ต้องใช้ทุกคน ไม่เพียงแค่ ใช้ใน "สมาธิหลับตา"
นี้เท่านั้น ใน "สัมมาสมาธิ" หรือขณะลืมตาทุกอิริยาบถทีเดียว
ที่จะต้อง ใช้อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบ จึงต้องรู้จัก "เตวิชโช"
ให้ถูกต้องเป็น สัมมาทิฏฐิชัดเจน
(อ่านต่อฉบับหน้า)
-
เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -
|