เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -

โสเภณี และภิกษุณี
สิ่งไหนควรให้ถูกต้อง ตามกฎหมายได้ก่อนกัน


ถ้าใครติดตามข่าวฉาวโฉ่ ระหว่างครูสาวอายุ ๒๓ ปีกับเด็กนักเรียนชายอายุ ๑๓ ปี ที่ต่างฝ่าย ต่างก็กล่าวหา "ตนถูกข่มขืนจากอีกฝ่ายหนึ่ง" ซึ่งไม่ว่าใครจะข่มขืนใคร หรือยินยอมพร้อมใจ กันเองก็ตาม ไม่ว่าผลสรุป จะออกมาในทางใด ล้วนบ่งบอกถึงความตกต่ำทางศีลธรรมอย่างสุดๆ ของสังคมทั้งสิ้น

ในภาวะที่ศีลธรรมกำลังเสื่อมทรุดออกอาการโคม่าอย่างนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวจากหลายๆ ฝ่าย ที่พยายามผลักดันสิ่งที่ดีงามให้ถูกต้อง หรือสิ่งที่ไม่ชอบธรรมให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมา เรื่องของโสเภณี และภิกษุณี ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามว่าจะทำให้ "ถูกต้อง" หรือ "ถูกต้ม" หนักไปกว่าเก่า ข่าวทั้ง ๒ ข่าวนี้ก็เป็นเครื่องชี้บอกความเจริญ และความเสื่อม ทางศีลธรรม ของสังคมได้เช่นกัน


จาก น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๖ รายงานหัวข้อข่าวว่า

กมธ.สตรีชี้ 'ภิกษุณี' ไม่ขัดพระธรรมวินัย
จี้ยกเลิกประกาศ ๒๔๗๑ - บรรจุในตำราเรียน
กมธ.สตรีฯวุฒิสภา สรุปการบวช "ภิกษุณี" ไม่ขัดพระธรรมวินัย เตรียมเสนอนายกฯ
ยกเลิกประกาศปี ๒๔๗๑ ปิดกั้นสตรีเข้าสู่การปฏิบัติธรรมพร้อมจี้บรรจุคำว่า "ภิกษุณี" เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ และในหลักสูตรตำราเรียน ก.ศึกษาฯ

เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการ กิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา กล่าวถึงผลการศึกษา การบวชภิกษุณี ในประเทศว่า หลังจากที่ได้ตั้ง คณะอนุกรรมาธิการ ด้านสตรี ที่มีตนเป็นประธานศึกษา เรื่องดังกล่าวนาน ๖ เดือน โดยเชิญทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้ข้อมูลและชี้แจง ได้ผลสรุปว่า การบวชภิกษุณี ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย และเป็นไปตามพุทธานุญาต ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ยังไม่เคยยกเลิก พุทธานุญาตภิกษุสงฆ์ บวชภิกษุณี การฟื้นฟูการบวช ภิกษุณี การฟื้นฟู ส่งเสริมเสรีภาพ ในการให้โอกาสสตรี ในการปฏิบัติธรรม อย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกับผู้ชาย

นางระเบียบรัตน์กล่าวต่อมา แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในประเด็นทางด้านกฎหมาย ที่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องยกเลิก ประกาศ พ.ศ.๒๔๗๑ ของพระสังฆราช กรมหลวง ชินวรณ์สิริวัฒน์ ที่จากการศึกษาพบว่า เป็นการประกาศเฉพาะ ในประเทศไทย เท่านั้น ไม่ได้มีการรับรอง ในระดับสากล หากมหาเถร-สมาคมยืนยันว่าจะคัดค้านก็คงต้องฟัง นอกจากนั้น ยังเรียกร้อง ให้รัฐบาลออกกฎหมาย รับรองภิกษุณี โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ที่กำลังจะเข้าสภา ในมาตรา ๔ ควรใส่คำว่าภิกษุณี เข้าไปในคำจำกัดความ ของคำว่า คณะสงฆ์ด้วย อีกทั้งกำลัง ดำเนินการ ให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาบรรจุเรื่อง ของภิกษุณี ลงไปในหลักสูตร การเรียนด้วย

"ข้อสรุปทั้งหมดได้เรียนให้รองนายกฯวิษณุ เครืองาม ที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งท่านก็เห็นตาม แนวทางที่เสนอ และยืนยันว่าคณะสงฆ์ต้องมีคำตอบ เพราะสังคม ต้องการ คำตอบที่ชัดเจน สังคมไทยต้องเลิกคิดว่า สตรีที่ต้องการบวช เพราะอกหัก ผิดหวัง ความจริงไม่ใช่ สตรีส่วนใหญ่ที่อยากบวช เพราะต้องการปฏิบัติธรรม ก็มีจำนวนมาก แต่สังคมไทยปิดโอกาส" นางระเบียบรัตน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด คณะอนุกรรมกาธิการด้านสตรี ได้จัดทำเอกสารข้อมูลของการบวช เป็นภิกษุณี ในประเทศไทย เป็นหนังสือ และซีดี-รอม ส่งไปยังผู้ว่าราชการจัดหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ทั่วประเทศแล้ว


จัดระเบียบโสเภณี
รัฐแก้ปัญหาหรือริจะค้ามนุษย์ !!

เริ่มจากการเปิดโปงส่วยอาบอบนวด ที่เป็นประเด็นความสนใจในสังคมไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้มีการ
วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ เจ้าของผู้ประกอบการธุรกิจ อาบอบนวด การแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีการเสนอจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และองค์กรสตรี มีแนวทางแก้ปัญหา ประเด็นสำคัญคือ การจัดการเม็ดเงิน ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและเรือนร่างของผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยเสนอให้มีการ "จดทะเบียน ผู้ค้าประเวณี" เพื่อจัดเก็บภาษี และช่วยจัดระเบียบการค้าประเวณีให้ดีขึ้น และอ้างว่า เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง ที่อยู่ในการค้าประเวณีนั้น

เห็นชัดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว มุ่งเน้นการแสวงหาประโยชน์จากรายได้ของผู้หญิง เป็นแนวทางเศรษฐศาสตร์ กระแสหลัก ที่ทุกอย่างแปรเป็นสินค้าได้... มนุษย์และศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ก็ไม่หลุดรอดไปได้!!

การจัดเก็บภาษี การจดทะเบียนผู้ค้าประเวณี เป็นการลดทอนประเด็นการแก้ไขปัญหา การค้าประเวณี ให้เหลือเพียง การหารายได้เข้ารัฐ ในขณะที่ขยายปัญหาการกดขี่ทางเพศ การขูดรีด และการฟอกทางเศรษฐกิจ ออกไปอย่างกว้างขวาง ขอถามหา นักเศรษฐศาสตร์ การเมืองตัวจริง ว่าอยู่แห่งหนใด??

การแก้ไขปัญหา มิได้มีเพียงแค่การจัดการเม็ดเงินจากการค้าประเวณีเท่านั้น แต่การพิจารณาเรื่องนี้ ยังค้องคำนึงถึง รากเหง้าของปัญหา ที่มีความหลากหลาย เช่น มิติทางเศรษฐกิจ การเมือง มิติทางสังคมวัฒนธรรม และมิติที่สำคัญ คือ มิติเรื่องเพศ /ประเวณี เกี่ยวโยงกับค่านิยมของสังคม และความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ขณะที่สังคมที่ชายเป็นใหญ่ เห็นว่าการค้าประเวณี เป็นการช่วยปกป้อง "ผู้หญิงดี" จากการถูกข่มขืน (จากคำกล่าว "ถ้าไม่มีหญิงขายบริการ ปัญหาข่มขืนก็จะเพิ่มขึ้น")

คำถามคือ ขณะนี้มีผู้หญิงอยู่ในการค้าประเวณีจำนวนมหาศาลนับกันไม่ถ้วน แล้วอาชญากรรม ทางเพศ ทำไมจึงยังเพิ่ม ทั้งจำนวน และความรุนแรง และผู้ตกเป็นเหยื่อมีอายุน้อยลงทุกที น่าคิดไหมว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ชายนั้นก็ต้องการ ปลดปล่อยความใคร่ บนร่างกายของผู้หญิง ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง

โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องเพศ เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่มันเกี่ยวข้อง กับทั้งสองเพศ และทำให้คนในสังคมยังคงปากว่าตาขยิบ มือถือสากปากถือศีล เห็นว่าแม้จะผิด ศีลธรรม แต่การค้าประเวณี ก็มีความจำเป็น ที่ต้องดำรงอยู่

สถานการณ์การค้าประเวณีปัจจุบัน มีความซับซ้อนทั้งกระบวนการเข้าสู่ธุรกิจและความสัมพันธ์ ระหว่างคน ที่เกี่ยวข้อง มีทั้งถูกบังคับ จากแรงผลักดันที่เชื่อมกับปัญหาความยากจน การขาดโอกาสการศึกษา แรงดึงดูด เช่น ค่าตอบแทนที่สูง เพื่อตอบสนอง ความต้องการทางวัตถุ ได้รับอิทธิพลจากทุนนิยม ส่งผลให้ค่านิยมเรื่องเพศ แปรเปลี่ยนไป

ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี มีทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ค้า ผู้ซื้อ มีความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งเชิงอุปถัมภ์ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างหญิงชาย นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ค้า ผู้ซื้อ นายกับทาส

ฉะนั้น การแก้ปัญหาการค้าประเวณีที่มุ่งมองเพียงมิติใดมิติหนึ่ง คงมิใช่แนวทางการแก้ไขปัญหา ที่แท้จริง น่าคิดว่าจะเป็น การขยายปัญหาหรือไม่ เป็นการทำให้ผู้หญิงถูกแบ่งแยกเป็นชนชั้นหนึ่ง ที่รับใช้ทางกามารมณ์หรือไม่ เป็นการกันผู้หญิง ออกจากเศรษฐกิจหลักหรือไม่ !!

หากมุมมองต่อปัญหาการค้าประเวณี มาจากความต้องการจัดการเงินนอกระบบให้มาอยู่ภายใต้ การดูแลของรัฐ การจดทะเบียน ผู้หญิงค้าประเวณี จึงเป็นแนวทางเสนอ เพื่อให้การค้าประเวณีเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย โดยไม่ได้ตระหนักถึงต้นตอ ซึ่งมีความซับซ้อน หนำซ้ำยังมองไม่ออกว่า การค้าประเวณี สัมพันธ์และเป็นสาเหตุ ของการค้ามนุษย์ อย่างใกล้ชิด การแก้ไขปัญหาที่ฉาบฉวยเช่นนี้ อาจเป็นการสร้างอุณหภูมิ ที่เหมาะสม ให้เชื้อไวรัสร้าย ขยายพันธุ์ สู่เส้นเลือดใหญ่ ให้สังคมเน่าเสียไปในที่สุด

จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การจดทะเบียนเพื่อจัดเก็บภาษี การทำให้ถูกกฎหมาย เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ บนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ใช่หรือไม่ เป็นการรับรองความสำส่อนทางเพศ ของผู้ชายใช่หรือไม่ สุดท้ายก็คือ การเปิดโอกาส ให้ผู้หญิงค้า หรือเคยค้าประเวณี ในฐานะผู้มีส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหา และกำหนดนโยบาย จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

อยากถามว่าสังคมและผู้คนจนปัญญา หรือเมินเฉยต่อการส่งเสริมจัดหาอาชีพที่ยั่งยืน และภาคภูมิ มีศักดิ์ศรี ให้แก่ผู้หญิง ได้อย่างไรกัน...? จาก ดร.วิระดา สมสวัสดิ์ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มช.

(น.ส.พ.มติชน ๒๙ กันยายน ๒๕๔๖)


บทสรุป ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และเราก็มีความภาคภูมิใจ ที่ไทยเป็นเสมือน ศูนย์กลาง พุทธศาสนา ของโลก การมองปัญหา ของโสเภณีและภิกษุณี เราคงต้องมองปัญหา จากทุกๆ ด้าน ไม่ว่าด้านสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรม แบบมี "บูรณาการ" และ "น่าจะต้อง สอดคล้องกับความเป็นเมืองพุทธ" และเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก อีกด้วย

ซึ่งถ้าสามารถแก้ปัญหาแบบมีบูรณาการได้แล้ว เรื่องของโสเภณี (มีกิเลส) กับเรื่องของภิกษุณี (ทิศทางไปสู่ ความหมดกิเลส) ก็อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือการพัฒนาศีลธรรม และ คุณธรรม ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ในสังคมไทย

หากมีภิกษุณีที่น่าศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ย่อมทำให้ปัญหา การประพฤติผิด ในกาม และปัญหาโสเภณี ลดน้อย ถอยลงไปด้วย อะไรจะเกิดขึ้น หากลองสมมุติกันเล่นๆ ว่า ถ้าให้พระในเมืองไทยที่มีอยู่หลายแสนรูป ในปัจจุบันนี้ ออกมามีเมีย มีลูกได้ ย่อมสร้างปัญหา ให้เกิดขึ้นในสังคมอีกมากมาย ดังนั้น การที่ท่านบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หมดจด จึงเท่ากับเป็นการช่วยสังคม และช่วยแก้ปัญหา ประชากรล้นโลก อย่างสำคัญทีเดียว

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -