เราคิดอะไร

จิตวิญญาณหาญกล้า (สสบัณฑิตชาดก)


กล้าได้ใครใครก็กล้า
กล้าให้ยากกว่ามหาศาล
ให้เลือดเนื้อจิตวิญญาณ
ให้อย่างกล้าหาญหมดตัว

นครสาวัตถี มีเศรษฐีมั่งคั่งผู้หนึ่ง ปรารถนาจะทำบุญถวายบริขาร (เครื่องใช้สอยจำเป็นของพระ) ทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงให้สร้างมณฑป (เรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม)ไว้ที่ประตูเรือนของตน แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้ากับหมู่สงฆ์มา ครั้นถวายทานอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แล้วยังนิมนต์ติดต่อกันอีกถึง ๗ วัน

ในวันสุดท้าย เศรษฐีจึงถวายบริขารทุกอย่างที่ตระเตรียมไว้ แก่พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้น จนหมดสิ้น พระศาสดาทรงได้กระทำอนุโมทนา (ยินดีด้วย) ว่า

"ดูก่อนอุบาสก ควรที่ท่านจะเกิดปีติยินดียิ่งเพราะขึ้นชื่อว่าการทำทานนี้ เป็นวงศ์ตระกูลของบัณฑิตมาแต่โบราณกาล แม้บัณฑิตเก่าก่อนนั้นก็ได้บริจาคมาแล้ว ถึงกับทำทานหมดแม้ด้วยชีวิตของตนทีเดียว"

เศรษฐีได้ฟังเช่นนั้น จึงทูลอาราธนา (นิมนต์) ให้ทรงเล่า พระศาสดาจึงตรัสแสดงชาดกนั้น

...........................

ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดเชิงเขา มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลเลียบราวป่านั้น และไม่ไกลนักก็มีหมู่บ้านชายแดนตั้งอยู่

ที่ป่านั้นเอง มีสัตว์ ๔ สหายเป็นเพื่อนรักกันอาศัยอยู่ คือ กระต่าย นาก สุนัขจิ้งจอก และลิง สัตว์ทั้ง ๔ ล้วนเป็นบัณฑิต คบหาสมาคมกันสนิทสนม ทุกๆ เย็นจะหมั่นมาประชุมสนทนาธรรมเสมอๆ

เย็นวันหนึ่ง...สสบัณฑิต (กระต่าย) ซี่งเป็นเสมือนพี่ใหญ่ของสัตว์ทั้ง ๔ ได้พูดคุยกันสักครู่ แล้วก็บอกสอนน้องๆ ว่า

"การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีความประเสริฐ พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถ (ถือศีล๘) เถิด"

สัตว์ทั้ง ๓ ก็น้อมรับคำอย่างเห็นดีด้วย แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับไปที่อาศัยของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง...สสบัณฑิตได้กล่าวบอกกับมิตรสหายว่า

"พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันอุโบสถ (วันพระขึ้นและแรม ๘ ค่ำ, ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำของทุกเดือน) พวกเราพึงให้ทาน พึงรักษาศีลอุโบสถ เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ทานย่อมมีผลบุญมาก ฉะนั้นแม้จะเป็นคนจนเข็ญใจ มาถึง พวกเราทั้งหลายก็พึงให้อาหารที่ควรแก่เขาก่อน ตัวเองค่อยกินในภายหลัง"

บัณฑิตทั้ง ๔ ต่างยอมรับตามนั้น ด้วยใจปีติยินดีร่วมกัน

วันรุ่งขึ้น....

นากผู้เป็นบัณฑิตได้ออกแสวงหาเหยื่อแต่เช้าตรู่ ลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ ครั้นได้กลิ่นคาวปลาบริเวณพื้นทรายแห่งหนึ่ง จึงลองขุดคุ้ยลงไปดู ได้พบปลาตะเพียน ๗ ตัวถูกฝังเอาไว้ จึงคิดว่า

"เจ้าของปลาเหล่านี้มีไหมหนอ"

ร้องตะโกนถามหาเจ้าของด้วยเสียงอันดังถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเจ้าของเลย จึงถือเป็นของเหลือเดน นำกลับไปยังที่อาศัยของตน เก็บไว้เป็นอาหารด้วยความคิดว่า

"เราจะกินเมื่อถึงเวลาเหมาะควรในวันนี้"

แล้วก็บำเพ็ญศีลของตน รอเวลานั้นอยู่

ส่วนสุนัขจิ้งจอกผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกแสวงหาอาหารตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ได้เจอเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อ ที่เขียงนาแห่งหนึ่งเข้า จึงเที่ยวดูรอบๆ บริเวณนั้นแล้วร้องเรียกเจ้าของสักครู่ใหญ่ แต่ก็ไม่พบใครเลย ดังนั้นจึงนำอาหารทั้งหมดมาเก็บไว้ที่อยู่ของตน แล้วถือศีลรอเวลาอันควรที่จะกินอาหารนั้น

ฝ่ายลิงผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกหาผลไม้ในป่า ได้เก็บเอาผลมะม่วงมาไว้ยังที่พักของตน แล้วตั้งใจว่า

"ตอนนี้เราบำเพ็ญศีลก่อน รอให้ถึงเวลาอันควรเราจึงจะกินอาหารนี้"

แล้วลิงก็รักษาศีล เฝ้ารอเวลาอยู่และจะมีแต่ สสบัณฑิตเท่านั้น ที่ไม่ได้ออกไปหาอาหารใดๆ เลย ด้วยความคิดว่า

"พอถึงเวลาอันควร เราจะออกไปหาหญ้าแพรกกิน"

จึงพักอยู่ในโพรงของตนรักษาศีลอยู่ และตั้งจิต(อธิษฐาน)ของตนไว้ว่า

"หากมีผู้ใดมาขออาหารกับเราในวันอุโบสถนี้ แต่เราไม่มีอาหารใดๆ ให้ เราก็จะมอบเนื้อในกายนี้เป็นทานแก่เขา"

ด้วยอานุภาพแห่งศีลและอธิษฐานนี้เองทำให้สะเทือนถึงท้าวสักกะจอมเทพ (ผู้มีจิตใจสูงอย่างยิ่งใหญ่) เกิดอาการร้อนรุ่มขึ้นมาทันที จึงทรงดำริในพระทัยว่า

"เห็นทีเราจะต้องทดลองการตั้งอยู่ในธรรมของของพญากระต่ายนี้ดู ว่าจะจริงแท้หรือไม่"

แล้วทรงจำแลงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เพื่อทดสอบสัตว์ทั้ง ๔ สหาย เริ่มต้นด้วยการเข้าไปปรากฏตัวหานากบัณฑิต แล้วอ้อนวอนว่า

"ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าขออาหารเป็นทานบ้างเถิด จะได้เป็นบำเพ็ญอุโบสถ กระทำสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับบาป) ได้ธรรมของผู้สงบระงับบาปได้ต่อไปด้วยดี

นากบัณฑิตดีใจนัก รีบรับคำทันที

"ดีละ! ข้าพเจ้าจะให้อาหารทั้งหมดแก่ท่าน มีปลาตะเพียน อยู่ ๗ ตัว ท่านจงบริโภคสิ่งนี้ แล้วเจริญ สมณธรรมอยู่ในป่าต่อไปเถิด"

พราหมณ์ฟังแล้วพอใจอย่างยิ่ง แต่ตอบว่า

"เรื่องของอาหารเหล่านี้ ยกเอาไว้ก่อนเถิดท่านบัณฑิตจะรู้ได้ภายในหลัง"

กล่าวแล้วพราหมณ์ก็ตรงไปที่อยู่ของสุนัขจิ้งจอกบัณฑิต แล้วก็เอ่ยปากขออาหารเช่นเดิม สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตตอบว่า

"ดีแล้วพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะให้เนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อแก่ท่านทั้งหมด ท่านจง
บริโภคอาหารเหล่านี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด"

ยังคงเป็นที่พอใจของพราหมณ์ แล้วก็มิได้รับอาหารนั้นมา แต่ตรงไปยังที่อาศัยของลิงบัณฑิตกล่าวขออาหารเหมือนเดิม ลิงบัณฑิตก็ให้ด้วยใจยินดี

"เชิญเถิดท่านพราหมณ์ มีผลมะม่วงสุก น้ำเย็นใสสะอาด ทั้งสถานที่ก็มีเงาอันรื่นรมย์ใจท่านจงบริโภคอาหารทั้งหมดนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด"

เป็นที่พอใจของพราหมณ์อีก โดยมิได้รับอาหารนั้นมา คราวนี้เข้าไปหาสสบัณฑิตถึงที่โพรง แล้วออกปากขออาหาร สร้างความดีใจแก่สสบัณฑิตยิ่งนักถึงกับบอกว่า

"ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาถึงที่อยู่ของข้าพเจ้าเพื่อต้องการอาหาร มาได้ดีแล้ว แม้ข้าพเจ้าจะไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร แต่วันนี้ข้าพเจ้าจะให้ทานที่ยังไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านไปรวมไม้ฟืนก่อเป็นกองไฟใหญ่เถิด แล้วท่านจะได้บริโภคเนื้อสุก เจริญสมณธรรมได้ต่อไป"

พราหมณ์จึงใช้อานุภาพของท้าวสักกะจอมเทพ ได้เนรมิตรกองไฟใหญ่เอาไว้ แล้วกลับมาบอกกับสสบัณฑิตว่า

"ท่านบัณฑิต ไฟกำลังลุกร้อนแรงดีเหลือเกิน"

สสบัณฑิตจึงออกมาจากโพรงของตน ตรงไปที่กองไฟ แล้วคิดขึ้นว่า

"สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ติดขนของเราอาจมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นอย่าตายด้วยเลย"

จึงสะบัดตัวอย่างแรง ๓ ครั้ง เพื่อให้หลุดออกไปเสียที แล้วก็กระโดดเข้าสู่กองไฟทันที แต่กลับเสมือนเช่นพญาหงส์กระโดดลงสู่สระบัวฉะนั้นไฟกลับเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่ไหม้ร่างกายสักขุมขนหนึ่งเลย

ขณะนั้นเองท้าวสักกะจอมเทพจึงคืนสู่สภาพเดิมของพระองค์ แล้วตรัสว่า

"ท่านบัณฑิต เรามิใช่พราหมณ์ เราเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งหลาย มานี่เพื่อทดลองการให้ทานของท่าน"

สสบัณฑิตเมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้วถึงกับเปล่งเสียงดังก้องออกไปว่า

"ข้าแต่ท้าวสักกะ พระองค์จงหยุดการทดลองเช่นนี้เถิด ในโลกมนุษย์นี้หากใครพึงทดลองข้าพระองค์ ด้วยการขอให้ทำทานไซร้ จะไม่มีใครพบเห็นได้เลยว่า ข้าพระองค์ประสงค์จะไม่ให้ทาน"

"ดูก่อนสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด"

ตรัสแล้วก็เสด็จไปยังเทวโลกทันที ส่วนบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นได้พร้อมเพรียงกันบันเทิงอยู่ พากันมุ่งบำเพ็ญศีล รักษาอุโบสถจนตลอดชีวิต ...........................

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า

"นากบัณฑิตในกาลนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ ลิงบัณฑิตได้มาเป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะจอมเทพได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ส่วนสสบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตนี่เอง"

แล้วพระศาสดาทรงประกาศสัจจะ ในเวลาที่จบสัจจะนั้น เศรษฐีผู้ถวายบริขารทุกอย่าง ก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๖๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๘๑

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันาคม ๒๕๔๖ -



พระพุทธองค์ตรัส
ผู้มีศรัทธาในศาสนานี้
พึงทำการให้ทาน
๑. ให้ทานด้วยศรัทธา
๒. ให้ด้วยละอายต่อบาป
๓. ให้ทานที่ไม่มีโทษ
๔. ให้ของที่สะอาด
๕. ให้ของประณีต
๖. ให้ตามเวลาอันควร
๗. ให้ของที่สมควร
๘. เลือกให้ผู้เหมาะสม
๑๐. ขณะให้จิตผ่องใส
๑๑. ให้แล้วใจยินดี

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๒๒,๑๒๗)