อาจารย์เสรี พงศ์พิศ


-นักวิชาการที่ได้ลงมาสัมผัสคลุกคลี
กับชีวิตจริงๆ ของผู้คน
ผ่านพบปัญหา อุปสรรคนานา
ตลอดจนคิดค้นวิธีต่างๆ
เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไข
อันหวังประโยชน์ที่ตกแก่ผู้คน
เป็นเป้าหมายหลัก
ย่อมอ่อนโยนในลีลาเฉกเช่นนี้
ต่างจากนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง

* ความทรงจำในวัยเยาว์
ผมมาจากครอบครัวชาวบ้านธรรมดา พ่อแม่เป็นเกษตรกรและค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ มีลูก ๑๔ คน ผมเป็นคนที่ ๗ เกิดที่สกลนคร ครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ พ่อแม่มีลูกมาก ไม่มีเวลามาเอาอกเอาใจเหมือนเด็กทุกวันนี้ ซึ่งแม่มีลูกแค่ ๑-๒ คน ก็ได้ปล่อยลูกให้เป็นอิสระ ผมคิดว่าความเป็นอิสระในตอนเด็กมีคุณค่าสูงมาก เราเล่นกับเพื่อนจนมืดค่ำ มีเพื่อนเยอะ เล่นกันเป็นกลุ่ม ไม่มีทีวี แต่เราก็เล่นอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับย่ากับยาย เราได้อะไรหลายอย่างแตกต่างจากคนอื่น ได้ความรักความอบอุ่นอีกแบบ ถูกพาไปโบสถ์แต่เช้าเป็นประจำ

* เบ้าหลอมของลูก
พ่อเป็นคนที่ศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด เมื่อเลิกทำงานหนักในช่วงประมาณ ๒๐ ปีสุดท้าย พ่อไปวัดฟังมิชซาทุกเช้า ส่วนแม่เป็นคนเรียบง่าย เข้มแข็ง อดทน เป็นผู้ที่เดินเคียงข้างพ่อ เคียงข้างลูกหลานอย่างเงียบๆ เป็นคนประหยัด ดูแลทุกอย่างในบ้าน แม่ใส่ใจรายละเอียดเสมอ เขียนจดหมายถึงลูกหลายๆ คนที่อยู่ไกล เขียนบรรยายถึงความรักและความห่วงใย แม่เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก คู่สร้างคู่สมของพ่อจริงๆ รักกันจนแก่เฒ่า เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ หลานๆ

* จากเด็กบ้านนอกก้าวออกสู่โลกกว้าง
ผมเรียนโรงเรียนประจำ เป็นโรงเรียนคาทอลิก จนจบ ม.๘ ผมเรียนในโรงเรียนมิชชันนารี ก็ได้อะไรเยอะ พวกเขาสอนด้วยชีวิตจิตใจจริง ๆ สอนให้รู้จักชีวิต สอนให้เรียนรู้และคิดเป็น สอนให้รู้ภาษาได้เร็ว ภาษาเป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีคิดของคน ไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารเท่านั้น ถ้าเราจับประเด็นนี้ได้ ผมเรียน ๒ ปี ก็พูดภาษาอังกฤษได้เลย เขามีวิธีให้เราอ่านเยอะๆ อ่านง่ายๆ เช่นนิทานสนุกๆ และนี่คือวิธีที่เขาสอนให้เราใช้เวลาเป็น ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี อาจเหมือนนกอยู่ในกรงทองที่ได้อยู่ในระเบียบวินัย ได้สวดมนต์ ทำสมาธิ มีคนแนะนำทางจิตวิญญาณเป็นส่วนตัว ผมจำได้ดีคนที่บอกผม ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว ท่านเป็นพระชาวสวิส ท่านบอกว่า ผมมีอะไรบางอย่างที่รุนแรงอยู่ข้างใน ซึ่งถ้าใช้ให้ถูกทางจะเป็นเรื่องดีมาก ท่านจะคอยแนะนำให้เรารู้ว่า ความรุนแรงนี้จะใช้ไปในทางที่ดีได้อย่างไร เขามีวิธีนะ เรื่องเหล่านี้ช่วยสร้างพื้นฐานให้แก่ชีวิตของผม ยังจำได้ว่า ตอนอายุ ๑๘ ปี ไม่เคยเห็นทีวีเลย ได้มาเห็นที่กรุงเทพฯ ตอนมาทำพาสปอร์ต เพื่อไปเรียนต่อที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ผมเรียนวิชาปรัชญาและเทวศาสตร์ อยู่ ๗ ปี เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ผมมีเพื่อนกว่า ๕๐-๖๐ ประเทศ ได้เห็นโลก เห็นวัฒนธรรมที่ต่างกันหลายชนชาติ ได้เห็นโลกทั้งโลกผ่านผู้คน

* ความหมายของการเรียนรู้
การเรียนปรัชญา เรียนทางด้านศาสนา ทำให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ แยกแยะ รู้จักสังเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาสังคมไทยวันนี้คือ เราสังเคราะห์ วิเคราะห์ไม่ค่อยเป็น เนื่องจากเราถูกสอนให้เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย ทำให้เราติดนิสัยชอบหาสูตรสำเร็จ ทั้งที่พุทธศาสนาสอนให้เรามีโยนิโสมนสิการ แต่อีกด้านหนึ่งการศึกษาของบ้านเรา กลับไม่อยากให้เราวิเคราะห์วิจารณ์มาก อยากให้เป็นเหมือนผ้าพับไว้

ผมเรียนต่อปริญญาเอกที่มิวนิค ประเทศเยอรมันนี จบกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเลือกที่นี่เพราะมีบรรยากาศเหมือนที่ผมเรียนมา มันใกล้กัน มีการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นมหาวิทยาลัยเปิดกว่าที่อื่นๆ ตอนเริ่มต้นเป็นอาจารย์ ผมมีความเชื่อมั่นตัวเองสูง นานๆ เข้าความเชื่อมั่นก็ลดลงเพราะเราหาคำตอบไม่ได้ ผมมีคำถามเยอะแยะตอนนั้น ทำไมคนไทยจน ทั้งที่เราเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมาก ทำไมคนชนบทอพยพเข้าเมืองมาแออัดอยู่ในสลัม ทำไมมีการขายแรงงานเด็ก ทำไมผู้หญิงบริการเยอะแยะ ทำไมมีการขายลูกสาว ผมไม่เข้าใจ พอหาคำตอบจากการอ่านก็ได้คำตอบที่เราไม่ค่อยพอใจ คำตอบจากที่คนอื่นเขาคิดเขาเขียน ก็เป็นเหตุผลที่ผมเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อหาคำตอบเองว่า เกิดอะไรขึ้น

* การค้นพบที่ยิ่งใหญ่
ผมเข้าไปคลุกคลีกับองค์กรเอกชนตั้งแต่ปี ๒๑ ในที่สุดผมได้ข้อสรุปว่า เพราะเราคิดว่างานพัฒนา คือการเอาโครงการไปให้ชาวบ้าน และชาวบ้านก็ถูกสอนให้ทำอย่างนั้น คิดอย่างนั้น จนกระทั่งเขาคุ้นเคยว่า ถ้าเราเข้าไปโดยไม่มีโครงการ เขาจะไม่อยากคุยด้วย เพราะเหมือนกับว่าเขาไม่ได้รับอะไร ตั้งแต่ปี ๒๖ มา ผมกับเพื่อนๆ ที่ร่วมทำงานก็เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราทำงานไม่ได้ผลเพราะเราไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจวัฒนธรรม ไม่เข้าใจภูมิปัญญา หรือไม่เข้าใจชีวิตเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะเอาอะไรไปให้เขา ทำไมเราไม่เข้าไปดูว่า เขามีอะไรเป็นต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ผมสรุปไว้ในหนังสือเรื่อง ทุนของชุมชน ถ้าเขามีการขุดค้นจะพบมากมาย และมีอย่างเพียงพอที่จะพึ่งตนเองได้ ดูอย่างชุมชนสันติอโศก ก็พัฒนาขึ้นมาจากทุนท้องถิ่น ทุนภูมิปัญญา ทุนทรัพยากร ที่เมื่อจัดการอย่างเหมาะสม ก็จะพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องรอกองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านสองล้าน ทำอย่างไรให้ชุมชนอื่น ค้นพบสิ่งเหล่านี้ โดยการปรับวิธีคิดไม่ให้ดูถูกตัวเอง เพราะสังคมเป็นตัวทำให้เขาสูญเสียความเชื่อมั่นในส่วนนี้ไป โดยเฉพาะระบบการศึกษา ทำให้เขารู้สึกต้องไปโรงเรียนถึงจะเรียนรู้ได้ เวลาเจ็บป่วย ต้องไปหาหมอถึงจะหายได้

* ไม่มีสัมมาทิฐิไม่เกิดสัมมาอาชีวะ
ผมคิดว่าเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิด ไม่ใช่วิธีทำ เพราะเราผลิตข้าวได้อันดับหนึ่งของโลก ผลิตมันสำปะหลัง ยาง ฯลฯ แต่คนผลิตทำไมยังจนอยู่เยอะเหลือเกิน มันเริ่มต้นที่วิธีคิดผิดๆ ทำอย่างไรจะพูดถึงความคิดที่ถูกต้อง ก็คือ ทำอย่างไรให้คนได้ตั้งคำถามที่ถูกต้องก่อน ไม่ใช่เริ่มที่เทคนิคเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะรวยไปเลย แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไม บางทีเราคิดว่าไม่ต้องถาม ซึ่งที่จริงเราควรถามก่อนว่า เราควรจะบริโภคอย่างไร เราควรจะใช้ชีวิตแบบไหน เราควรจะอยู่อย่างไร ทั้งหมดที่ผมจะพูดถึงจึงเกี่ยวกับเรื่องวิธีคิด หนังสือที่ผมเขียน ถ้าจับประเด็นหลัก จะมีประเด็นร่วมเหมือนกันหมดก็คือ เรื่องของวิธีคิด ถ้าเราปรับวิธีคิดได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็ง่ายเข้า เพราะมีวิธีคิดที่ถูกต้อง

* การทำประชาพิจัย
รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจดี และมีแผนที่ดี ปัญหาอยู่ที่ว่า ยังมีการเรียนรู้น้อยไป มีการเน้นในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้าไปก่อน หลายต่อหลายอย่าง ผมไม่แน่ใจว่าในขั้นต่อไปจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้หรือไม่ ทำชุมชนเข้มแข็งโดยให้ชุมชนค้นหาศักยภาพของเขาเอง ขณะนี้ผมเข้าเป็นกรรมการแก้ปัญหาความยากจน ผมก็เน้นสิ่งที่ขาดวันนี้ ไม่ใช่ขาดทรัพยากร ขาดเงินหรือขาดแรงงาน แต่ขาดปัญญา ขาดความรู้ แต่จะให้เขาเรียนรู้อย่างไร มีเครื่องมืออะไรช่วยให้เขาเรียนรู้ ผมได้พัฒนาเครื่องมือส่วนนี้ขึ้นมา คือการวิจัยตัวเอง ที่ผมเรียกว่าประชาพิจัย ค้นหาว่าตัวเองมีทรัพยากรอะไร มีความรู้ มีภูมิปัญญา หรือมีทุนอะไรในท้องถิ่น การเริ่มต้นสร้างเครื่องมือในการเรียนรู้ สร้างวิธีคิด สร้างกรอบคิด ซึ่งผมพอใจว่าเราได้อะไรบางอย่างที่พบว่ามันมีประสิทธิภาพ กรณีตัวอย่างของหมู่บ้านอินแปงที่เกิดเมื่อ ๑๕-๑๖ ปี ยืนยันว่า "...ท่ามกลางปัญหาร้อยแปดในหมู่บ้านวันนี้ ยังมีทางออก แต่เป็นทางออกที่ต้องสร้างเอง ด้วยความอดทน ความมุ่งมั่น ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของชาวบ้าน พลังสำคัญที่สุดเบื้องหลังการเติบโตของอินแปง ไม่ใช่ทรัพยากร เพราะป่า ดิน น้ำ เสื่อมโทรมถูกทำลายเกือบหมด ไม่ใช่เงิน เพราะมีแต่หนี้สิน แต่เป็นพลังความรู้ พลังปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้...

* สังคมเลวเพราะคนดีท้อแท้
ปัญหาของสังคมโดยรวม เป็นอุปสรรคของระบบทั้งหมด การที่จะให้คนมาคิดมาเห็นอย่างที่เรากำลังพูดอยู่นี้ ไม่ง่าย บางครั้งผมก็รู้สึกว่าทำ ๆ ไป ทำงานกับชาวบ้านดีๆ วันดีคืนดี นักการเมือง หรือใครต่อใครเข้าไป สิ่งที่เราทำไว้ตั้งนาน ชาวบ้านก็เริ่มลังเล เป็นต้น เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่สวนทางกับกระแสสังคม ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมาก ถ้าเราไม่มั่นคงพอก็ลำบาก เพราะฉะนั้น เราต้องมั่นคงในสิ่งที่เราทำว่าไม่ผิดหรอก เพียงแต่อาจไม่ได้ดังใจทั้งหมด อาจเปลี่ยนสังคมไม่ได้ทั้งหมด เราจะต้องมีความเชื่อว่า สิ่งที่ทำแม้เล็กๆ แต่ก็มีคุณค่าต่อสังคม ต่อมนุษยชาติโดยรวม เราอาจไม่หวังว่า ต้องได้ผลเป็นพลังมวลชนใหญ่ เหมือนที่แม่ชีเทเรซ่าพูดว่า "เราทำเรื่องยิ่งใหญ่ไม่ได้ แต่เราก็ได้ทำสิ่งเล็กๆ ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่" เมื่อคิดเช่นนี้ก็จะมีกำลังใจทำต่อไป

* ทุบกระถางทิ้งซะ
วิธีทำงานเพื่อสังคมมีหลายวิธี ผมไม่ยึดติดกับวิธีใดวิธีหนึ่ง ผมเขียนเรื่องกระถางความคิดของผู้คน "เพื่อบอกว่า ถ้าหากไม่ทุบกระถางนำต้นไม้ลงดิน ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ให้โตเป็นไม้ใหญ่เกิดดอกออกผล ให้ร่มเงาแก่พืชสัตว์และผู้คน มันจะไม่มีวันโตอยู่ในกระถาง วิธีคิดก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่ออกนอกกรอบ เราก็จะเป็นได้แค่ไม้ประดับอยู่ในกระถาง แต่การจะคิดออกนอกกรอบได้ นั่นคือ คนนั้นต้องเป็นคนกล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง

* นิยามความสุขที่ต่างกัน
เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเราเอง ผมคิดว่าความสุขอยู่ที่การให้ ไม่ใช่การรับ บ้านผมไม่มีการฉลองวันเกิด ในวันเกิดของลูก ลูกจะเก็บดอกไม้มากราบพ่อแม่ ทุบกระปุกนำเงินของเขาไปซื้อของขวัญให้เด็กพิการ เด็กเป็นเอดส์ เพราะผมสอนลูกให้เข้าใจว่า ความสุขจริงๆ คือ การให้มากกว่าการรับ ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ ฐานชีวิตแบบนี้ ทำให้ผมรู้ว่าความหมายของชีวิต ไม่ได้อยู่เพื่อหาอะไรให้ตัวเองมีเยอะๆ แต่ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ ผมเคยทำงานที่ยูเอ็น (UN) ตำแหน่งใหญ่โต มีเงินเดือนหลายแสนบาท แต่อยู่ในสภาพที่เครียด จากการเข้าไปในระบบที่ซับซ้อน ไม่เอื้อให้เราทำงานเพื่อสังคมได้ ผมป่วยหลายโรค และโรคสุดท้ายที่รอผมอยู่อาจเป็นมะเร็งก็ได้ ผมตัดสินใจลาออกเพื่อเอาตัวเองรอดก่อน หันกลับมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ผมกลับไปหาแม่ เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ คืนสู่รากเหง้า ปรับอาหารการกิน ออกกำลังกายทุกวัน ในที่สุดโรคต่างๆ ก็หายไปหมด ไม่เป็นแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นปีละหลายครั้ง พร้อมกับความเครียดที่ลดลง

* ช่วงหนึ่งของการเรียนรู้ เข้าใจคุณค่าความหมายของชีวิต
จากการที่ผมได้ทำงานคลุกคลีและสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นจำนวนมากที่เชียงใหม่ ทำให้เห็นว่า เอดส์ไม่ใช่โรค ไม่ได้อยู่ที่ไวรัสเอชไอวี แต่อยู่ที่คนที่เป็นองคาพยพ (organism) เป็นหน่วยชีวิตที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ผมเชื่อว่า คนเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้ เป็นชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณรวมกันหมด เอดส์เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตกลายเป็นระบบยุ่งเหยิง (systemic disorder) จนนำไปสู่การแตกสลายของชีวิต (disinlegration of life) คำพูดของหมอเมืองที่เชียงใหม่บอกว่า "เอดส์คือการแตกสลายของธาตุ ๔ " สำหรับผม เอดส์ทำให้เราต้องมาไตร่ตรองและทบทวนชีวิตกันใหม่ เอดส์ทำให้เราต้องกลับมาหาเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น แสวงหาความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา และนำสู่ความจริง เอดส์ทำให้เราต้องหันกลับมาสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับครอบครัว ผู้คนรอบข้าง ชุมชน สังคม กับธรรมชาติทั้งมวล การขาดความสมดุลเหล่านี้ทำให้เกิดโรคเอดส์ เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ "ไวรัส" แต่เป็น "ตัวเราเอง" ถ้าเราสามารถที่จะปรับตัวเองได้ รักษาสุขภาพองค์รวมได้ เราจะก้าวข้ามสิ่งนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง มันไม่ใช่เรื่องของความแตกสลาย แต่จะกลายเป็นเรื่องการเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้พ้นปัญหา เหมือนกับแต่ก่อน ทำไมผมต้องป่วยปีละ ๒-๓ หน ผมคิดว่าร่างกายของผมต้องการระบายสิ่งที่เป็นพิษ โรคภัยไข้เจ็บและความไม่สมดุลต่างๆ เพื่อปรับให้สมดุล ผมต้องป่วยนะ แต่วันนี้ทำไมผมไม่ป่วยแล้ว เพราะผมได้ปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่ ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ เราก็ต้องตาย เราก็ต้องล่มสลาย เพราะฉะนั้น ความเจ็บป่วยจึงเป็นกลไกที่ร่างกายต้องการฟื้นตัวเองสู่สภาพที่สมดุล เป็นการเตือนให้เราได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพตัวเอง ว่าควรดูแลอย่างไร รักษาตัวเองอย่างไร ซึ่งสำคัญมาก

การดูแลตัวเองแบบตะวันออกของเรา หรือแพทย์ทางเลือก เราเน้นกันที่ตัวคน ไม่ใช่ยา ไม่ใช่หมอ เราไม่เน้นที่ปรอทวัดไข้ ฟิล์ม X-RAY หรือดูการเต้นของหัวใจหน้าจอภาพ แพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนโบราณ จะถามคนไข้ว่ารู้สึกอย่างไร และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนไข้มากกว่าเรื่องอื่น แนวคิดสุขภาพองค์รวม ทำให้ต้องสรุปว่า ปัญหาสุขภาพไม่ใช่เรื่องของกาย หรือส่วนหนึ่งส่วนใดอย่างเดียวแน่นอน แต่ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน ดังนั้น มะเร็งหรือเอดส์จึงไม่ใช่ปัญหาทางกาย แต่เป็นปัญหาของคนคนนั้นโดยรวม เมื่อเข้าใจเช่นนี้ วิธีการรักษาจึงต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบ "รักษาชีวิตของเขา" ไม่ใช่เพียงแค่การ "ฆ่า" เซลล์มะเร็ง หรือไวรัส HIV เท่านั้น

ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเข้าใจเรื่องนี้ และปฏิบัติจนเห็นผล มีอยู่สองคนที่ผมรู้จักดี สุภาพร พงศ์พฤกษ์ ซึ่งเป็นมะเร็งที่ทรวงอก หมอบอกให้ไปผ่าตัด เธอปฏิเสธ เธอรักษาตัวเองโดยปรับวิถีชีวิต อาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อน ทำสมาธิ ทำโยคะ และที่สำคัญปรับวิธีคิดของตนเกี่ยวกับสุขภาพ วันนี้ เธออยู่กับมะเร็งด้วยจิตไม่ทุกข์ และเป็นวิทยากรช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกคนคือ คุณเชิด ทรงศรี เป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมากขั้นสุดท้ายแต่หายได้ นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ และหายด้วยการผสมผสานวิธีการต่างๆ แบบที่เรียกกันว่า Complementary medicine เสริมกันให้สมบูรณ์ และที่สำคัญคือ จิตใจคุณเชิดที่ปรับตัวได้ ฟื้นคืนสภาพเข้มแข็งได้โดยเรียนรู้วิธีดูแลตัวเอง เสริมภูมิคุ้มกัน และสร้างสมดุลให้ร่างกาย

* หนังสือเรื่อง "สอนลูกให้คิดเป็น"
มีเป้าหมายหรืออยากบอกอะไรสังคม

หนังสือเล่มนี้เขียนจากพื้นฐานชีวิตและครอบครัวของผมเองว่ามีความสัมพันธ์กับลูกอย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไรตั้งแต่เล็ก ตอนเขาเรียนอยู่ต่างประเทศ ผมเขียนหนังสือถึงเขาทุกอาทิตย์ เขียนยาว เล่าทุกเรื่อง ผมไปไหน ทำอะไร เล่าให้เขาฟังหมด บางทีก็เอาเรื่องในหนังสือ ในหนังบางเรื่อง หรือสื่อความคิดของผมต่อสังคมไทย อาจเป็นวิเคราะห์หนังสือ วิเคราะห์หนัง เชิงเล่าเรื่อง ไม่ใช่หนังสือเชิงวิชาการทั่วไปแบบที่ผมเขียน เล่มนี้เป็นแนวชีวิต เพื่อให้เห็นว่าผมไม่ได้แยกชีวิตออกจากงานที่ผมทำ สิ่งที่คิดกับทำเป็นเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญอยากให้เป็นบทเรียนสำหรับพ่อแม่ที่มีลูก ว่าควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร ในสังคมวันนี้ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร และสื่อทุกอย่างที่ออกมาทุกวัน วันละหลายสิบเล่ม มีหนังเข้าฉายเต็มไปหมด ยิ่งใครมีเคเบิ้ลทีวี ถ้ามีเวลาดูก็ดูได้จนตาแฉะ ไม่นับวิดีโอ วีซีดี ดีวีดีให้เช่าแถวปากซอยหน้าบ้าน ดูได้ทุกเรื่องทุกรส อยู่บ้านนอกชนบทห่างไกลก็ได้ดูเหมือนกัน

อะไรๆ วันนี้ มีสองด้านทั้งนั้น ความทันสมัยแต่ไม่พัฒนานี่น่ากลัว อาหารจานด่วนส่วนใหญ่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นขยะ กินมาก ๆ แทนที่จะได้สุขภาพดีกลับมีแต่โรค หนังสือและหนังก็เช่นเดียวกัน ไม่รู้จักเลือก อาจจะได้ขยะทางอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดมากกว่าจินตนาการ ความรู้ และสุนทรียรส โชคไม่ดีอาจจะได้อะไรเลวยิ่งกว่าขยะ ได้มลพิษทางจิตใจ ได้อะไรที่รุนแรงเลวร้ายที่ทำลายภูมิคุ้มกันชีวิตของลูกหลานเรา เป็นการสั่งสมพิษทางอารมณ์ ทางความคิด โดยเฉพาะความรุนแรง กิเลสตัณหาสารพัดรูปแบบที่แอบแฝงมากับสื่อต่างๆ ไม่ว่าหนังสือหรือหนังทั้งหลาย


หนังสือ"สอนลูกให้เป็น" มีวางจำหน่ายที่ศูนย์จุฬา, ธรรมศาสตร์, นายอินทร์, ซีเอ็ด และ ที่ร้านธรรมทัศน์สมาคม, บริษัทพลังบุญจำกัด.

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -