ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ - (ต่อจากฉบับที่ ๑๖๑) "เตวิชโช"
คือ "วิชชา ๓" ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณ(ความรู้ในสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้ว)
จุตูปปาตญาณ (ความรู้ในการเกิดการดับ) อาสวักขยญาณ(ความรู้การสิ้นไปของอาสวะ)
ไว้มีโอกาสค่อยแจกแจง รายละเอียดของ "เตวิชโช" สู่กันฟัง ซึ่งเป็น"วิชชา"สำคัญที่นักปฏิบัติต้องใช้ทุกคน
ไม่เพียงแค่ใช้ใน "สมาธิหลับตา" นี้เท่านั้น ใน"สัมมาสมาธิ"
หรือขณะลืมตาทุกอิริยาบถทีเดียว ที่จะต้องใช้อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบ
จึงต้องรู้จัก"เตวิชโช"ให้ ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิชัดเจน ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ให้"สัมมาทิฏฐิ" แต่ถ้าไม่สัมมาทิฏฐิ "ฌาน"ที่ได้"เจโตสมถะ"ก็จะให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติ อย่างน้อยก็ "จม" ไปกับ "เจโตสมถะ" นี้แหละ เป็นต้น และยังมีโทษภัยอื่นๆอีก เช่น ก. จะหลงความอร่อยอันเป็นความสุขสงบในภวังค์(หลงโลกียฌาน) ข. จะหลงความเก่งของจิตที่มีความสามารถหลายนัย จนถึงอิทธิและอาเทสนาปาฏิหาริย์ (หลงอภิญญาโลกีย์) ค. จะหลงความรู้ที่ได้จากการขบคิดหรือผลของความคิด ที่เกิดในภวังค์ ว่า เป็นปัญญาบ้าง เป็นญาณบ้าง หรือหลงว่าเป็นวิปัสสนาญาณบ้าง (หลงอุปกิเลส) ง. จะหลงความเพลิดเพลินในความฟุ้งไปอย่างอิสระได้ตามใจ (หลงอุทธัจจะหรืออุปปิลวติ) จ. จะหลงเพลิดเพลินในความสะสึมสะลือ (หลงอร่อยถีนมิทธะ) "ฌานฤาษี"ที่จะได้"เจโตสมถะ"นี้ ชาวพุทธก็เรียน ฝึกฝนได้ ใช้ประกอบด้วย แต่ต้องชัดเจนว่า ไม่ใช่"ฌานของพุทธ" แท้ๆตรงๆ พึงรู้แม่นๆว่า ฌานชนิดนี้เป็น"ฌานทั่วไป" ที่มีมาเก่าแก่แต่ดั้งแต่เดิม หากผู้ใดไม่สัมมาทิฏฐิ ก็เป็นโทษแก่ตน แต่ถ้าผู้ใดสัมมาทิฏฐิ ก็มีประโยชน์มาก พระพุทธองค์ตรัสว่า มีอุปการะมาก ดูเนื้อความจากพระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๓๗ ปุคคลบัญญัติปกรณ์ จตุกกนิทเทส แล้วจะเข้าใจ นัยสำคัญนี้กระจ่างขึ้นอีกมากทีเดียว
บุคคลผู้ได้ "เจโตสมถะ" ในภายใน แต่ไม่ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ได้สมาบัติที่ร่วมกันกับ (สหรคต) "รูปฌาน" หรือร่วมกันกับ "อรูปฌาน" แต่ไม่ได้"โลกุตรมรรค"หรือ"โลกุตรผล" บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ ได้"เจโตสมถะ" ในภายใน แต่ไม่ได้ปัญญา ที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา บุคคลผู้ได้ปัญญาเห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา แต่ไม่ได้"เจโตสมถะ"ในภายใน เป็นไฉน? บุคคลในโลกนี้
เป็นผู้ได้"โลกุตรมรรค" หรือ"โลกุตรผล" แต่ไม่ได้สมาบัติที่ร่วมกันกับ
"รูปฌาน" หรือร่วมกันกับ "อรูปฌาน"
บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม
กล่าวคือ อธิปัญญา บุคคลผู้ได้"เจโตสมถะ"ในภายในด้วย ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญาด้วย เป็นไฉน? บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติที่ร่วมกันกับ "รูปฌาน" หรือร่วมกันกับ"อรูปฌาน" เป็นผู้ได้"โลกุตรมรรค"หรือ"โลกุตรผล" บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ได้"เจโตสมถะ"ในภายในด้วย ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา ด้วย บุคคลผู้ไม่ได้"เจโตสมถะ"ในภายในด้วย ไม่ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรมด้วย เป็นไฉน ? บุคคลในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ได้สมาบัติที่ร่วมกันกับ "รูปฌาน" หรือร่วมกันกับ"อรูปฌาน" ไม่เป็นผู้ได้ "โลกุตรมรรค" หรือ "โลกุตรผล" บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ได้"เจโตสมถะ" ในภายในด้วย ไม่ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา ด้วย เนื้อความจากพระไตรปิฎก จะเห็นชัดว่า ท่านได้แยกแบ่งลักษณะสำคัญ ๒ อย่างออกชัดเจน คือ ลักษณะหนึ่งเป็น "เจโตสมถะ" อันเกิดจากปฏิบัติ "รูปฌาน-อรูปฌาน" และอีกลักษณะหนึ่ง ก็คือ การได้ "อธิปัญญา" (หรือวิชชา ๙ นั่นเอง) จึงจะสามารถบรรลุ "โลกุตรมรรค-โลกุตรผล" จะเห็นได้ว่า "รูปฌาน-อรูปฌาน"นั้น มีคุณลักษณะพาให้เกิด"ความสงบจิต" คือ "เจโตสมถะ" เป็นผลประโยชน์ลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านได้แยกแบ่งชัดแล้วว่า ไม่ใช่คุณลักษณะที่จะพาบรรลุ "โลกุตรธรรม" แน่แท้ ต้องเรียนรู้ และปฏิบัติให้เกิด"อธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญา" จึงจะสามารถบรรลุ "โลกุตรมรรค-โลกุตรผล" คงจะคลายความข้องใจของหลายๆคนไปได้ว่า ผู้ปฏิบัติ"รูปฌาน-อรูปฌาน"แบบไม่สัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่แบบพุทธโดยตรงโดยแท้ จะได้ก็แต่"เจโตสมถะ"อย่างเดียว ไม่ได้"โลกุตรมรรค-โลกุตรผล" เพราะไม่ใช่ทางบรรลุธรรมของพุทธแน่นอน ซึ่งทุกวันนี้ก็เถอะ การปฏิบัติ"ฌาน"นั่งหลับตาสะกดจิตเข้าไปอยู่ในภวังค์ ได้"เจโตสมถะ"นี้แหละ ที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป แม้ในวงการของพุทธ แล้วก็หลงผิดว่า นี่คือ "ฌานแบบพุทธ" จึงพากันออก นอกทางพุทธกันไป จนดึงกลับคืนมาให้ถูกอย่างเดิมได้ยากสุดยากยิ่งทุกวันนี้ เพราะได้พากัน "หลงยึดเอาทางผิด" นี้ ว่าเป็น "ทางถูก" กันจนเกือบจะถ้วนทั่วชาวพุทธทั้งหมดแล้ว และยึดถือผิด กันมายาวนานฝังรากแล้วด้วย แต่ถ้าผู้ใดสัมมาทิฏฐิจริง และปฏิบัติ"รูปฌาน-อรูปฌาน"ด้วย ก็เป็นอุปการะมาก ดังที่ได้กล่าว มาแล้ว แต่ต้องชัดเจนนะว่า ไม่ใช่ทางเอกหรือการปฏิบัติหลัก ที่จะพาบรรลุ เป็นแค่"อุปการะ" คือ เป็นเพียงเครื่องช่วยเครื่องเสริมเท่านั้น ดังนั้น บุคคลที่ศึกษาและปฏิบัติได้ทั้ง "รูปฌาน-อรูปฌาน" มีเจโตสมถะด้วย และปฏิบัติ"อธิศีลสิกขา-อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา" ได้ทั้งโลกุตรมรรค-โลกุตรผลด้วย ก็มีแน่ และผู้ได้แต่"โลกุตระ"ไม่ได้"ฌานฤาษี"เลย (แต่มีฌานพุทธ) ก็มีจริงๆ "อธิจิต" ซึ่งหมายถึง จิตที่เจริญยิ่งขึ้นจากการปฏิบัติธรรมเป็นสัมมาทิฏฐินั้น การเจริญของจิต ในทางพุทธ "จิต"ก็ต้องเป็น"ฌาน"เป็น"สมาธิ"เช่นกัน แต่ทั้งวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดฌานเกิดสมาธิ ทั้งความเป็นฌานเป็นสมาธิ ก็ต้องมีนัยสำคัญต่างกันแน่นอน ต้องย้ำความเข้าใจกันก่อนว่า "ฌาน"คืออะไรกันแน่? "ฌาน" คือ "การทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์" นี่คือ เป้าแท้เนื้อจริงของความเป็น "ฌาน" ดังนั้น จะทำด้วยวิธีนั่งหลับตาสะกดจิตเข้าไปอยู่ในภวังค์ แล้วทำใจให้ปราศจากนิวรณ์ได้สำเร็จ นั่นก็คือ "ฌาน" แม้ไม่นั่งหลับตา จะลืมตามีอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนทำการทำงานอะไรต่างๆอยู่ ตามชีวิตปกติ สามัญนี่แหละ เมื่อกระทบสัมผัสกับอะไรภายนอก หรือคิดปรุงอะไรเอง อยู่ในภายในก็ตาม ก็สามารถปฏิบัติ ตาม "มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗" ทำใจให้ลดละนิวรณ์ได้สำเร็จ นี่ก็คือ "ฌาน" "ฌาน" ที่พูดกันว่า คือ การ "เพ่ง-เผา" กิเลสนิวรณ์ให้แก่ตนได้สำเร็จ ก็ถูก "ฌาน" ไม่ได้หมายถึง การทำจิตให้เข้าไปอยู่ใน "ภวังค์" กระทั่งไม่รับรู้อะไรจากทวารภายนอกสำเร็จ แล้วจำกัดความเอาอย่างนี้ แค่นี้ว่า คือ"ฌาน" ถ้าแค่นี้ คือ"ฌาน" คนนอนหลับ ก็คือ"ฌาน" คนหลับใน ก็คือ"ฌาน" หรือจะกำหนดบังคับว่า "ฌาน"ต้องเป็นลักษณะจิตที่เข้าไปอยู่ใน "ภวังค์" เท่านั้น จิตขึ้นรับวิถีหรือจิตอยู่นอก"ภวังค์" มีตาหูจมูกลิ้นกายตื่นรู้อยู่ ไม่นับว่า คือ "ฌาน" นั้นไม่ถูกต้องแน่ เพราะความเป็น"ฌาน" ไม่ใช่ไปกำหนดเอาตรงที่อยู่ใน"ภวังค์"หรือไม่ มาเป็นเป้าแท้ เนื้อจริง สภาพที่ "จิตปราศจากนิวรณ์" ต่างหาก คือ เป้าแท้เนื้อจริงของความเป็น "ฌาน" แม้ผู้ปฏิบัติจะยังเคร่งคุมการปฏิบัติอยู่อย่างลำบาก ยังไม่เบาง่ายคล่อง แต่ขณะนั้นๆ ก็สามารถทำให้จิต "ไม่มีนิวรณ์" ได้ด้วยเจตนาพยายาม ก็ถือว่านี่คือ"ฌาน" เพียงแต่จะอยู่ในขั้นตอน ของฌาน ๑ หรือฌาน ๒ หรือฌาน ๓ หรือฌาน ๔ ก็ตามประสิทธิภาพแห่งความสามารถแต่ละขั้น และความสำเร็จ ของผู้ปฏิบัติ - เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ - |