ปัญญาไวใจกล้า


พูดจริงทำจริงเถิดหนา
ปัญญาพร้อมเพียรอย่าหยุด
ใจกล้าเสียสละเร็วรุด
ย่อมหลุดพ้นภัยศัตรู

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงได้รับข่าวร้ายว่า พระเทวทัต ซึ่งเป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางพิมพา กำลังคิดมุ่งหมายประทุษร้ายพระองค์ เพื่อปลงพระชนม์เสีย พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตตะเกียกตะกายหมายจะฆ่าเรา แม้ในกาลก่อนก็ตาม ก็เคยคิดร้ายอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไม่อาจทำให้เราสะดุ้งได้เลยแม้สักเพียงเล็กน้อย"

แล้วทรงนำเอาเรื่องราวนั้นมาตรัสเล่า

..........................................

ในอดีตกาล มีพญาวานรตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าริมแม่น้ำใหญ่สายหนึ่ง เป็นพญาวานรหนุ่มร่างกายใหญ่โตขนาดเท่าลูกม้า มีพละกำลังดังช้างสาร สามารถป่ายปีนได้ว่องไว กระโดดไปได้ในที่ไกลๆ จึงมักเที่ยวไปตามแนวฝั่งน้ำเสมอๆ เพียงลำพัง

ณ กลางแม่น้ำอันกว้างใหญ่สายนั้น มีเกาะใหญ่เกาะหนึ่งตั้งอยู่ สมบูรณ์ไปด้วยไม้ผลนานาชนิด ดังนั้นเป็นประจำทุกเช้าพญาวานรจึงมักจะกระโจนสุดกำลังไปที่ยอดหินก้อนหนึ่งก่อน ซึ่งหินก้อนนั้นมียอดโผล่พ้นน้ำให้เห็น ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างริมฝั่งกับเกาะ พอดีอาศัยเป็นที่หยั่งเท้า แล้วกระโจนต่อไปจนถึงเกาะ จึงได้กินผลไม้อันโอชะบนเกาะนั้น เมื่อเพลิดเพลินหากินจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ในเวลาเย็นจึงอาศัยวิธีเดิมกระโจนกลับสู่ริมฝั่งแม่น้ำ ไปยังที่อยู่อาศัยของตน

ในแม่น้ำใหญ่สายนั้นเอง มีจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ ซึ่งจระเข้เมียกำลังตั้งท้อง และเกิดอาการแพ้ท้องเป็นอย่างมาก ยิ่งได้เห็นพญาวานรกระโดดข้ามน้ำไปๆ มาๆ ทุกวัน ก็ยิ่งแพ้ท้องมากกว่าเก่า ต้องการกินเนื้อหัวใจของพญาวานร จึงอ้อนวอนคู่ตนว่า

"พี่จ๋า ฉันแพ้ท้องมากๆ อยากจะกินเนื้อหัวใจของเจ้าลิงใหญ่ตัวนั้น พี่ช่วยเอามาให้ฉันกินทีเถิด อาการของฉันจึงจะระงับลงได้"

จระเข้ผู้ก็รับคำอย่างแข็งขันว่า

"ได้สิ! น้องจะต้องได้กินหัวใจลิงแน่ๆ เย็นวันนี้พี่จะไปคอยดักจับมันมาให้"

แล้วจระเข้ผู้ตัวนั้นก็วายน้ำไปยังยอดหินที่โผล่กลางน้ำ พรางตัวนอนดักอยู่บนยอดหินนั้น รอเวลากระโจนกลับคืนฝั่งของพญาวานร

ครั้นพญาวานรเที่ยวกินผลไม้จนเป็นที่พอใจแล้ว ก็มายืนอยู่ที่ชายเกาะ เพื่อจะกระโจนไปหยั่งเท้าที่ยอดหินนั้น แต่มองแล้วรู้สึกผิดสังเกตว่า

"เออหนอ! ทำไมวันนี้ยอดหินกลางน้ำนั้นจึงแลดูสูงขึ้นและใหญ่ขึ้น ทั้งๆ ที่น้ำในแม่น้ำยังไม่ได้ลดลงเลย"

จึงตั้งใจพิจารณาดูให้ชัดเจน แล้วก็รู้ได้ว่า เป็นจระเข้พรางตัวนอนคอยอยู่บนยอดหินนั้น และด้วยสติปัญญาอันเฉลียวฉลาด พญาวานรจึงร้องเรียกเสียงดังออกไปว่า

"ท่านก้อนหิน... ท่านก้อนหิน.. ท่านก้อนหิน....."

แต่ไม่มีเสียงใดๆ ตอบมาเลย พญาวานรจึงร้องทักไปอีกว่า

"ท่านก้อนหินผู้เจริญ วันนี้ท่านเป็นอย่างไรไปเล่า จึงไม่ได้พูดตอบข้าพเจ้าเลย"

จระเข้ได้ยินอย่างนั้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า

"เอ๊! หรือว่าก้อนหินนี้ คงจะพูดคุยให้คำตอบแก่เจ้าลิงตัวนั้นทุกวันเป็นแน่"

คิดดังนั้นจึงรีบตอบออกไป

"เรื่องอะไรหรือท่านวานรผู้เจริญ"

พอจระเข้อ้าปากพูด พญาวานรก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนทันที จึงถามต่อไปว่า

"อ้าว! ท่านไม่ใช่ก้อนหินนี่ แล้วท่านเป็นใครกัน"

จระเข้รู้ตัวว่าโดนเปิดเผยแล้ว จึงยอมรับความจริงว่า

"เราเป็นจระเข้อาศัยอยู่ในน่านน้ำนี้เอง"

"แล้วท่านมานอนอยู่บนก้อนหินนี้ เพื่อปรารถนาอะไร"

จระเข้ก็ตอบตามตรงอย่างไม่อ้อมค้อมเลยว่า

"เราต้องการเนื้อหัวใจของท่าน เอาไปให้เมียของเรา กินแก้อาการแพ้ท้อง"

ได้ยินแล้วพญาวานรคิดว่า

"นอกจากกระโจนไปหยั่งเท้าที่ยอดหินนั้น เราก็ไม่มีทางอื่นกลับขึ้นฝั่งได้ ฉะนั้นวันนี้เห็นทีเราจะต้องใช้กุศโลบายกับจระเข้ตัวนี้เสียแล้ว"

จึงได้พูดออกไปอย่างชาญฉลาดว่า

"ถ้าอย่างนั้นท่านจงอ้าปากให้กว้างที่สุดรอคอยไว้ แล้วกระโจนไปหาท่าน"

จระเข้ได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจมาก รีบอ้าปากออกกว้างเต็มที่ แต่ปกติของจระเข้นั้น ในเวลาที่อ้าปากแล้ว ดวงตาทั้งสองจะปิดลง มันจึงมีสภาพเป็นจระเข้นอนอ้าปากหลับตาอยู่

เมื่อเห็นสภาพของจระเข้เป็นเช่นนั้น พญาวานรก็เผ่นโผนกระโจนออกจากเกาะทันที เร็วราวกับสายฟ้าแลบ พอถึงที่ยอดหินนั้นก็เหยียบลงที่หัวจระเข้ อาศัยหยั่งเท้ากระโจนต่อไปจนถึงฝั่งได้ กว่าจระเข้จะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวยกย่องออกไป ในการกระทำที่น่าอัศจรรย์ของพญาวานร

"ดูก่อนพญาวานร หากผู้ใดเหมือนท่านที่มีธรรม ๔ ประการนี้อันได้แก่ ๑. สัจจะคือมีการพูดจริงทำจริง ๒. ธรรมะคือมีปัญญาพิจารณาเหตุผล ๓. ธิติคือมีความเพียรไม่ย่อหย่อนขาดตอน ๔. จาคะคือมีใจกล้าสละออก ผู้นั้นย่อมพ้นภัยจากศัตรูไปได้"

กล่าวจบจระเข้ก็ว่ายน้ำกลับไปยังที่อยู่ของตน

..........................................

พระศาสดาตรัสเล่าชาดกแล้ว ก็ทรงเฉลยว่า

"จระเข้ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ เมียของจระเข้ได้มาเป็นนางจิญจ-มาณวิกา ส่วนวานรได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

อังคาร ๒๖ ส.ค ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๓ อรรถถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า๙๕)

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -