เพียงแผกแตกต่าง นักเรียนโรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้งชอบมาโรงเรียนกันทั้งนั้น ไม่ว่าเด็กมลายู (มุสลิม) หรือเด็กสิแย (สยาม, พุทธ) เพราะมาแล้วได้มีเพื่อน ได้เล่นสนุกๆ ได้คิดเลขเป็น อ่านหนังสือไทยออก พูดภาษาไทยได้ สามข้อหลังนี้พ่อแม่ที่เป็นชาวบ้าน ตามป่ายางลึกๆ เห็นว่าเป็นข้อด ีอย่างยิ่ง ทำให้เด็กรุ่นลูกฉลาดขึ้นกว่าพวกเขา ที่อ่านเขียนและพูดภาษาไทยไม่ได้เลย บางคนเท่านั้น ที่อ่านภาษาอาหรับได้ เพราะพระคัมภีร์ อัลกุรอ่าน เขียนเป็นภาษาอาหรับ ด้วยอักษรอาหรับ ด้วยเหตุผลด้านศาสนานี้เองที่เพื่อนๆ มุสลิมของน้อย ได้เปรียบเธอมาก พวกเขารู้สองภาษา ตั้งแต่อายุยังน้อย ทุกเช้าเสียงเด็กๆ หัดอ่านพระคัมภีร์ เป็นบาซออาหระ(๑) จะดังมาจากทุกบ้านช่อง พวกเขานั่งอ่านกันบนพื้นห้อง ไม่ใช่นั่งบนเก้าอี้ ที่โต๊ะแบบในโรงเรียน แต่ละคน มีม้าเล็กๆ เรียกว่า ราฮาสำหรับวางพระคัมภีร์ ม้านั้นทำด้วยไม้สองชิ้น ขัดกันตรงกลาง สำหรับกางออก เวลาใช้ และหุบเก็บได้ เมื่ออ่านเสร็จแล้ว เด็กๆ มักพับกระดาษสีขาวให้เป็นรูปสามเหลี่ยมยาวแหลมแล้วทาสีสวยๆ ด้วยดินสอสี สำหรับ ไว้ชี้ตัวหนังสือ ในพระคัมภีร์ น้อยเคยเห็น พระคัมภีร์ ของเขาหลายครั้ง ตัวหนังสือในนั้นแปลกมาก ไม่เหมือนตัวหนังสือไทยเลย เวลาเขาเขียน ก็เขียนจากหน้าหลัง ของสมุดก่อน จบหน้าหนึ่ง แล้วก็พลิกมาข้างหน้าเรื่อยๆ เวลาอ่าน ก็อ่านจากขวามาซ้าย เธอรู้สึกแปลกใจมาก และคิดว่า อ่านแบบนั้น แล้วจะรู้เรื่อง ได้อย่างไร เวลาเขียนก็ดูเหมือนเขาเขียนถอยหลัง หรือเหมือนเขียน ด้วยมือซ้าย ทั้งที่เขียนด้วยมือขวาเหมือนกัน เมื่อเธอพูดเรื่องนี้ กับพ่อแม่ คืนวันหนึ่ง ในห้องโถงกลาง หลังอ่านบทเรียน และทำการบ้านเสร็จแล้ว พ่ออธิบายว่า "เป็นเพราะลูกชินกับการเขียนและอ่านหนังสือไทย ก็เลยคิดว่าการเขียนและอ่าน มีแต่แบบของไทยเรา เท่านั้น พอไปเห็นแบบอื่นเข้า ก็เลยรู้สึกแปลก จริงๆ แล้วนอกจากแบบไทย แบบแขกอาหรับนี้แล้ว ยังมีแบบอื่นอีกนะลูก คนจีนเขาเขียน และอ่านจากบน ลงล่างด้วยซ้ำไป" "เอ๊ะ!" น้อยอุทานอย่างสุดแสนประหลาดใจ "ได้ยังไงคะ อ่านจากบนลงล่าง แปลกจัง น้อยคิดว่า มีแต่แบบที่น้อยเรียน ที่โรงเรียนเท่านั้นเอง เซาะห์เพื่อนน้อย มณีพรรณน่ะค่ะ ลายมือเขาสวย ที่สุดเลย แต่เวลาเขียนเขาเขียนแปลกค่ะ เหมือนเดินถอยหลังจริงๆ ด้วย เขาเขียนด้วยมือซ้ายค่ะ สงสัยเพราะเขาเรียนภาษาอาหรับนี่แหละ ที่ทำให้เขาเขียนแบบนั้น น้อยเคยลองเขียนมือซ้าย แบบเขาแล้ว แต่เขียนไม่ได้ มันเหมือนเวลาน้อย เอาหนังสือส่องที่กระจก" "นั่นไม่ใช่เพราะการหัดอ่านหัดเขียนหนังสืออาหรับหรอกลูก เพื่อนของน้อยเขาถนัดซ้าย คนบางคนเป็นอย่างนั้นเอง แล้วก็แปลกนะแม่" พ่อหันไปพูดกับแม่ "ฉันสังเกตมามากแล้ว คนที่ถนัดซ้าย มักจะทำงานฝีมือได้ดีมาก แถมถ้าเป็นเรื่อง ที่ต้องใช้ความแม่น พวกนี้ ก็แม่นมาก ยิ่งถ้าเกิดมา ถนัดซ้าย แล้วมาถูกสอนให้ทำอะไร ด้วยมือขวาเหมือนคนอื่น เขาจะยิ่งได้เปรียบ คือทำอะไรเก่ง ทั้งสองมือ แม่ว่าไหม?" "จริงด้วย พ่อ น่าเสียดายพวกเราไม่ถนัดซ้ายสักคนเดียว เขาว่าบางคนถนัดเท้าซ้าย ก็มีเหมือนกัน แบบนั้นไม่รู้จะเก่ง สำหรับทำอะไรนะพ่อ" แม่ว่า พ่อหัวเราะเมื่อตอบแม่ว่า สงสัยจะดีสำหรับพวกที่ต้องใช้เท้าเตะอย่างนักมวย หรือนักฟุตบอล น้อยนั่งนึกถึงเพื่อนรัก ที่ถนัดซ้ายต่อไป อีกสักครู่ ก็ออกความคิดเห็นว่า "แม่คะ จริงด้วยค่ะ มณีพรรณเขาเขียนหนังสือสวย แล้วเขาทำการฝีมือสวยด้วยค่ะ เขาสอยริมผ้าเช็ดหน้า แบบนี้ แบบนี้" น้อยพูดพลาง ทำท่าให้พ่อแม่และพี่แมะดู "แปลกดี เขาทำกลับทางกับคนอื่น แต่สวย ตัวหนังสืออาหรับ ของเขาก็สวย วันก่อน เขาแอบเขียน ให้น้อยดูด้วยหละ" "แล้วน้อยอ่านออกเหรอ พี่ว่าดูยึกยือแปลกๆ" พี่แมะถาม "ไม่ออกหรอก พี่แมะ แต่เราก็ท่องตัวอักษรของเขาได้ทั้งหมดนะพี่แมะนะ มณีพรรณซีคะพ่อ เขาอ่านได้ เขียนก็ได้ด้วย เก่งจริงๆ" น้อยชมเพื่อน อย่างจริงใจ "ก็พ่อเขาเป็นโต๊ะปาเก เป็นผู้รู้ทางศาสนา เขาก็สอนลูกเขาซี คนมุสลิมเคร่งศาสนามาก เขาสอนลูกหลาน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ พ่อแม่ก็ทำให้เห็น เป็นตัวอย่าง แมะกับน้อย ก็เห็นอยู่ทุกวันแล้ว ไม่ใช่หรือ พวกเขาสมาแญ(๒) วันละห้าครั้งทุกคน ไม่มีนาฬิกา ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะใจเขา จดจ่ออยู่แล้ว ดูดวงอาทิตย์ก็ได้ แถมทุกมัสยิด ทุกบาลาเซาะห์(๓) ก็ตีกลองใหญ่บอกสัญญาณให้ อย่างนี้คำสอน จะไม่ซึมเข้าไปในชีวิตเด็กได้อย่างไร ส่วนของเรา- " พ่อพูด แต่เหมือนไม่ได้พูดกับน้อย เธอจึงถามพ่อว่า "แล้วศาสนาพุทธที่เรานับถือล่ะคะ พ่อ เราเขียนคัมภีร์เป็นภาษาอะไรคะ?" "ศาสนาพุทธมีพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ เขียนเป็นภาษาบาลี ลูก" พ่อตอบ "ถ้าอย่างนั้น เราก็หัดเขียนหัดอ่านพระ..พระอะไรนะคะ..พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีสิคะ พ่อ จะได้เหมือน เด็กแขกเขาไงคะ ตัวหนังสือ ในพระไตรปิฎก เป็นแบบไหนคะ" พี่แมะออกความคิดเห็นบ้าง แถมย้ำคำว่าพระไตรปิฎก เสียหลายครั้ง เพราะเป็นคำใหม่ ของสองคนพี่น้อง "ภาษาบาลีนั้นแต่เดิมเขาเขียนด้วยตัวหนังสือเหมือนภาษาแขกอินเดีย ความจริง เรื่องนี้เราได้เปรียบ ทางมุสลิมด้วยซ้ำไป เพราะเราใช้ ตัวหนังสือไทย เขียนภาษาบาลีได้ ไม่ต้องเรียนเขียนตัวหนังสืออินเดียก็ได้ แต่เราไม่สอนเองแหละ... พ่อก็ตอบลูกไม่ได้ ว่าทำไม เราให้สวดมนตร์เท่านั้น" พ่อพูด "ก็เลยไม่ได้เรียนอะไร นอกจากตัวหนังสือไทยอย่างเดียว" น้อยพูดอย่างเสียใจนิดๆ "เด็กแขกเขาได้เรียน ได้พูดภาษาไทย ที่โรงเรียน พูดภาษามลายูที่บ้าน แล้วก็ยังได้หัดอ่าน เขียนภาษาอาหรับด้วย รวมแล้วเป็นสามภาษาแน่ะ " "ใครว่าสามภาษา" พี่แมะแย้ง "เขาเรียนหนังสือฝรั่งด้วย พ่อคะ ตรงที่ที่เคยเป็นห้องแถว ติดกับบ้านเก่าของเรา หลังอำเภอน่ะค่ะพ่อ ตอนนี้เขาเปิดเรียน ภาษาฝรั่งกันด้วยค่ะ เพื่อนๆ ของแมะไปเรียนกันตั้งหลายคน แต่เป็นเด็กผู้ชายทั้งนั้น" "ใช่ เพื่อนน้อยเขาก็ไปเรียนเหมือนกัน วันก่อนเขายังท่อง เอ บี ซี ให้น้อยฟังด้วย งั้นเขาก็ได้เรียนตั้งสี่ภาษาสิคะ ว้า! น้อยอยากไปเรียน กับเขามั่งจัง จะได้รู้ภาษาฝรั่ง เขาให้เรียนแต่เด็กแขกหรือเปล่าพี่แมะ แล้วก็ทำไม มีแต่เด็กผู้ชายล่ะ?" น้อยถามพี่สาว "เอาละ เอาละ อยากเรียนอีกภาษาหนึ่งก็ได้ เราเริ่มกันคืนนี้เลยเป็นไง?" พ่อถาม "คืนนี้เลยหรือคะพ่อ แล้วใครจะมาเป็นครูสอน ต้องเตรียมสมุดดินสอไหมคะ?" คำถามพรั่งพรู ออกจากปากน้อย เป็นชุดด้วยความตื่นเต้น เธอจะได้เรียนภาษาอีกภาษาหนึ่งแล้ว จะได้บอกเพื่อนๆ ด้วย! แต่แล้วเธอก็ยิ่งแปลกใจมากขึ้น เมื่อพ่อตอบว่า "เรียนกันคืนนี้แหละลูก พ่อจะสอนให้เอง พ่อจะลองดูก่อน ลูกยังไม่ต้องเตรียม สมุดดินสอหรอก เตรียมใจเพียงอย่างเดียว เราจะเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ จากคำที่ลูกรู้กันอยู่แล้ว" พ่อตอบ "ก็คืนนี้เราเรียนหนังสือกับพ่อแล้วนี่คะ" พี่แมะมีท่าทางอิดออด หันไปทางแม่ "เรียนอีกภาษาหนึ่งก็ต้องยากแน่ๆ เลยแหละแม่" คืนนั้น พ่อตามลูกทั้งสองเข้าไปในห้องส่วนตัวของเด็กๆ น้อยมองพ่ออย่างงงๆ เมื่อพ่อบอก ให้ทั้งสองพี่น้อง ปฏิบัติเช่นที่เคยทำ เป็นประจำ พี่แมะและเธอ ลงนั่งพับเพียบคู่กันบนที่นอน พนมมือเตรียมไหว้พระสวดมนตร์ แต่ก่อนที่จะสวด ประโยคแรกออกไป พ่อก็เอ่ยขึ้นว่า "แมะกับน้อยสวดมนตร์ทำไม ถ้าไม่สวดก่อนนอน แล้วจะเป็นอย่างไร? ตอบพ่อซิ" "แม่บอกว่าสวดมนตร์ให้คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองให้เราอยู่เย็นเป็นสุขค่ะ" พี่แมะตอบ "น้อยล่ะ น้อยสวดมนตร์ทำไม? ตอบพ่อตามตรง" พ่อถามน้อยบ้าง เธอสงสัยอยู่ครามครันว่าพ่อถามแปลกจริง พ่อลืมไปหรือเปล่าว่า จะสอนภาษาอื่น ให้อีกภาษาหนึ่ง นี่ก็จะนอนแล้ว ก็จะไม่ได้เรียนน่ะซี แต่เมื่อถูกถาม ก็ต้องตอบตามตรง "น้อยก็ว่าให้พระช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนกัน..แล้วก็คุ้มครองไม่ให้น้อยถูก..ผีหลอก" "เอาละ คืนนี้เราจะเรียนภาษาบาลีกันเพียงคำเดียวก่อน ไม่ยากหรอกลูก ประเดี๋ยวลูกก็จะขึ้นต้น สวดมนตร์ว่า นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ใช่ไหม? นั่นแหละ ลูกกำลังกล่าวคำพูดเป็นภาษาบาลี เพื่อแสดงความรู้สึก เคารพอย่างสูงสุด ต่อพระพุทธเจ้าแล้ว" พ่อพูดเน้นช้าๆ น้อยรู้สึกประหลาดใจมาก จึงขออนุญาตถามพ่อว่า "ไม่ใช่เป็นคาถาหรือคะพ่อ คาถาที่แม้แต่ผะ..ผี ก็กลัว ไม่ใช่หรือคะพ่อ?" "นั่นเป็นความเชื่อหนึ่งลูก เชื่อพ่อเถอะ ถ้าลูกสวดด้วยความเข้าใจว่า กำลังกล่าวอะไรออกไป คาถาที่ว่านั้น จะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่า คาถากันผี อย่างที่น้อยคิดไปเสียอีก คืนนี้ แมะกับน้อย เรียนภาษาอื่น ที่เราตกลงกันไว้ แค่เพียงคำเดียวก็พอ คำว่า นโม ที่ลูกกำลังจะสวดนั้น แปลว่า นอบน้อม จำไว้ นี่เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย" พ่อพูด "แค่นี้หรือคะ พ่อ นโม แปลว่า นอบน้อม เท่านี้เองหรือคะ?" น้อยถามพ่อ "แค่นี้แหละ คำแรกที่เป็นภาษาต่างประเทศของลูก อ้าว สวดมนตร์ให้จบแล้วนอนเสีย" พ่อตอบ "แล้วคืนพรุ่งนี้พ่อสอนอีกนะคะ ตัสสะ แล้วเราก็เรียนอีกๆ นะคะ" น้อยพูดขณะที่พ่อเปิดมุ้ง ออกไปคุยกับแม่ต่อ ในห้องโถงกลาง วันรุ่งขึ้น เป็นวันพฤหัส น้อยและเพื่อนๆ ทั้งหญิงชายนั่งเล่นกันอยู่ตรงชายป่ายางข้างโรงเรียน หลังกลับจากบ้าน ตอนพักเที่ยง และ ยังมีเวลาเหลือเฟือ ก่อนที่จะเริ่มชั่วโมงเรียนตอนบ่าย "บี โอ้ หวาย บ้อย" เสียงสมานพึมพำอะไรแปลกๆ "เธอว่าอะไรน่ะ สมาน?" ไพฑูรย์ถาม "อ๋อ ภาษาฝรั่งไง บี โอ้ หวาย บ้อย พวกเรานี่แหละ บ้อย ก็เด็กผู้ชายไง" สมานว่า "เธอเรียนที่โรงเรียนเปิดใหม่นั่นใช่ไหมล่ะ เมื่อวานฉันก็ไปแอบดูมา ครูเขาสอนภาษาอังกฤษด้วยใช่ไหม?" ประพนธ์ถามบ้าง ห้องเรียนพิเศษนั้น อยู่ไม่ไกลจากบ้านพัก ของผู้หมวดคล้ายนัก "ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เขาสอนภาษารูมีต่างหากเล่า" สมานว่า "ภาษาอะไร ภาษารูมี ไม่เห็นเคยได้ยินเลย ที่เธอว่า บ้อย นั่นนะเหรอภาษารูมี" ไพฑูรย์ซัก "ไม่ใช่ ไม่ใช่" อุดมว่า เขาเป็นเด็กมุสลิมที่ไปเรียนที่โรงเรียนพิเศษนั้นด้วย "นั่นเป็นภาษาอังกฤษ ครูเขาบอกว่า ใครเรียนภาษารูมี แล้วก็สามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ด้วย เพราะใช้ตัวหนังสือเหมือนกัน เป็นตัวอะไรแล้วน้า..." เมื่อสมานบอก อุดมจึงพูดต่อ "อือ ใช่แล้ว ตัวโรมัน ครูเขาบอกว่า ทุกประเทศในเมืองฝรั่ง เขาเขียนหนังสือกันด้วย ตัวหนังสือโรมันนี่แหละ บี โอ้ หวาย บ้อย นี่เป็นตัวอย่าง เท่านั้นแหละ ครูบอกว่า แล้วเขาจะสอนคำอื่นๆ ให้ด้วย" "ดีจังเลย พวกเธอได้เรียนภาษาแปลกๆ ดี" น้อยว่า "ฉันเป็นเด็กสิแย (สยาม) ก็เลยไม่ได้เรียนกับเธอ เธอเรียนแล้ว มาสอนฉันมั่ง ได้ไหมล่ะ แล้วฉันก็จะสอนเธอด้วย แลกกันไง แต่ตะกี้เธอว่า ครูเธอเขาบอกว่า เป็นหนังสือโร.. อะไรนะ.. โรมัน แล้วทำไมเธอว่า เธอเรียนภาษารูมีล่ะ" "อ๋อ! ตัวหนังสือโรมันนั่นแหละ พอเขาเอามาเขียนภาษามลายู เขาก็เรียกว่าตัวหนังสือรูมีไง" สมานอธิบาย "เธอไม่ต้องเสียใจหรอก ในห้องเรียนนั้น มีแต่เด็กผู้ชาย บ้อย ทั้งนั้น เห็นว่าเขาเตรียมจะเปิดสำหรับเด็กผู้หญิงด้วย เธอไปเรียนซี" "คงไม่ได้หรอก ฉันเป็นเด็กสิแย เธอสอนฉันมั่งแล้วกัน ได้ไหมล่ะ ฉันอยากเรียน" น้อยว่า "เฮ้อ!" ประพนธ์ร้องเสียงดัง "แค่การบ้านโรงเรียนแว้งให้ทำนี่ ฉันก็ขี้เกียจทำจะตาย น้อยยังอยากไปเรียนอีก บ้าเหอ วันนี้วันพฤหัส พรุ่งนี้ก็วันศุกร์อีกแล้ว การบ้านเยอะแยะอีกแล้วซี เบื่อจะตาย พวกเธอก็สบาย ไม่ต้องมา ไปสมาแญ ไม่ต้องทำการบ้าน ฉันเป็นอย่างเธอมั่งก็ดีหร็อก" "เราไปซมาแญที่ซุรา(๓)นะ ประพนธ์ ไม่ได้ไปเที่ยวซักกะหน่อย" อุดมว่า ไม่เห็นด้วยกับประพนธ์ "เออ นั่นแหละ ไปไหนๆ ฉันก็ว่าดีกว่าทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องทำการบ้าน" ประพนธ์เถียง เพราะเขาไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่เขามีเวลาว่างมากมาย ไม่ต้องทำงานบ้านอะไรสักอย่างเดียว เขาแค่ไม่ชอบเรียนเท่านั้นเอง การบ้านก็ให้พี่ๆ เขาทำให้ หรือ ไม่ก็ลอกเพื่อนส่งครู แต่ประพนธ์ก็เป็นเพื่อน ที่ดีมากที่สุดคนหนึ่ง เขาไม่รังแกใคร ไม่อวดโม้ว่า เป็นลูกผู้หมวด และเป็นน้องชายคนเดียว ของคุณครูประคอง "น้อย ตะกี้เธอว่าถ้าเราสอนหนังสือรูมีให้เธอแล้ว เธอจะสอนอะไรให้เรานะ?" อุดมเปลี่ยนเรื่อง "อ๋อ ภาษาบาลีไง พ่อฉันบอกว่า เวลาเขียนนะ ตัวหนังสือจะเหมือนหนังสือแขกอินเดีย แต่ไม่ยากหรอก เราเขียนด้วย ตัวหนังสือไทย ที่เราเรียน ที่โรงเรียนก็ได้ ฉันว่าน่าจะง่ายกว่า ตัวโรมันอะไรนั่นเสียอีก ฉันเริ่มเรียนแล้วแหละ เรียนเมื่อคืนนี้เอง" น้อยบอกเพื่อน "ถ้างั้นก็เหมือนกันน่ะซี รู้จักตัวหนังสือโรมันก็เขียนภาษามลายูได้ รู้จักตัวหนังสือไทย ก็เขียนภาษาบาลีได้ ดีจังเลย ฉันว่า" มณีพรรณพูด "งั้นเราก็เริ่มกันวันนี้เลยดีกว่า เอ้าสมานก่อน" "ก็ตอนแรกเธอต้องหัดจำตัวอักษรให้ได้ก่อน เหมือนตอนเราเริ่มเรียนภาษาไทยนี้แหละ นี่เขาเริ่มอย่างนี้ เอ บี ซี ดี ....เอ๊กซ์ วาย แซด" สมานว่า ให้ทุกคนฟังอย่างเร็วปรื๋อ ก่อนที่อุดมจะเพิ่มคำอังกฤษ คำแรกให้ว่า "บี โอ้ หวาย บ้อย เด็กผู้ชาย" ถึงน้อยจะพยายามตั้งใจฟังเพื่อนพูด ก็เกินความสามารถจะจำได้หมด แต่อย่างน้อย เธอก็จำได้แล้วว่า บี โอ้ หวาย อ่านว่า บ้อย แปลว่า เด็กผู้ชาย และจะกลับไปเล่าให้พ่อกับแม่ฟังด้วย กำลังนึกทบทวนให้ขึ้นใจ ก็ได้ยินเสียงมณีพรรณ พูดขึ้นว่า "ฉันว่าฟังดูก็คล้ายๆภาษาอาหรับ ที่พ่อฉันสอนนะ เธอว่าอะไรนะ เอ บี ซี ดี ภาษาอาหรับเราก็ว่า อเละ บอ ตอ ซอ เยง...ยอ วาว คล้ายกันเลยแหละ ทำไมอย่างนั้นล่ะ ใครตอบได้บ้าง?" "อะไรก็ไม่รู้ พวกเธอนี่ ไม่เห็นสนุกเลย" ประพนธ์ว่า "ก็เป็นคนเหมือนกัน ก็คล้ายกันน่ะซี" "แล้วน้อยล่ะ ที่เธอว่าภาษาบาลีอะไรนั่นเป็นยังไง ว่าให้ฟังหน่อยซี" อุดมคาดคั้น และเมื่อเห็นเพื่อนทำท่าอาย มณีพรรณจึงพูดว่า "เธอเพิ่งเรียนเมื่อคืนนี่เองไช่ไหม เธอยังจำไม่ได้ เหมือนพวกนี้เขาจำตัวรูมีได้หมดแล้วใช่ไหมล่ะ ไม่เป็นหรอก ถึงไง เธอก็จำตัวอาหรับ ได้หมดแล้วเหมือนกัน ฉันรู้ ใช่ไหมล่ะ" "ใช่ ฉันจำตัวอาหรับได้หมดตั้งแต่ อเละ บอ ตอ ซอ เยง ถึง วาว นั่นแหละ เพราะฉันได้ยินอยู่ทุกวัน แต่ฉันก็เขียนไม่ได้ เหมือนพวกเธอ ไม่ได้สักตัวเดียว พวกเธอเก่งกว่าฉัน ภาษาโรมันหรือรูมี ฉันก็เพิ่งได้ยิน ภาษาบาลี ฉันก็เพิ่งเรียนได้คำเดียวเหมือนกัน" "คำว่าอะไรล่ะ ว่าให้ฟังหน่อย" ทุกคนรุมถาม ประพนธ์และไพฑูรย์ทำท่าเหมือนกับว่าคำนั้น พวกเขาก็รู้ เพราะเป็นเด็กสิแยเหมือนกับน้อย "พ่อเพิ่งสอนให้คำเดียว คำว่า นโม แปลว่า นอบน้อม อยู่ในบทสวดมนตร์"
ประพนธ์และไพฑูรย์เงียบเพราะไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนเพื่อนๆมุสลิมของน้อยเงียบสนิทเหมือนกัน เพราะพวกเขารู้ดีว่า เขาเป็นมุสลิม และเพื่อน ที่เขาคะยั้นคะยอถามนั้นเป็นพุทธ น้อยตัดสินใจแล้วว่า เธอจะไปถามพ่อว่าอะไรคือ ความแผกแตกต่าง ทำไมเพื่อนมุสลิมของเธอ จึงรับความเป็นเด็กพุทธของเธอไม่ได้ ช่วงบ่ายของวันศุกร์ผ่านพ้นไปอย่างเชื่องช้าหงอยเหงา ก่อนที่ช่วงเช้าวันเสาร์อันเริงร่า จะเคลื่อนเข้ามาแทน แต่ก็จะสนุกกันได้ เพียงครึ่งวัน เท่านั้นเอง เพราะวันเสาร์ โรงเรียนแว้ง จะมีการเรียนการสอนเพียงครึ่งวันเช้า แล้วน้อยก็จะต้องคอยไปจนถึงวันจันทร์ของสัปดาห์ใหม่ จึงจะได้พบเพื่อนๆ ร่วมชั้นร่วมโรงเรียนอีกครั้ง เพื่อรับความรู้เพิ่มเติม จากคุณครู และความสนุกจากเพื่อนๆ ด้วยกัน แต่ถึงอย่างไร วันเสาร์บ่ายและอาทิตย์เช้า ก็ยังมีงานบ้านมากมาย ที่เธอจะต้องช่วยแม่ และพี่แมะ ผักในสวนหลังบ้าน ก็คอยพ่อและเธอไปดูแลพรวนดินให้มัน โดยมีมามุไปช่วยด้วยตลอด ว่างจากงานแล้ว จะไปเล่นน้ำคลอง กันให้ชุ่มฉ่ำใจนานแค่ไหนก็ได้ การเรียนภาษาต่างประเทศ คือภาษาบาลีของเธอกับพี่แมะ โดยมีพ่อเป็นครูสอนนั้น ก็ก้าวหน้าไปถึงคำว่า ภควโต แล้ว และน้อย สามารถแปลได้แล้วว่า นโม ตัสส ภควโต แปลว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ความช่างซักของเธอ ให้โอกาสแก่พ่อ ได้อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คือ พระองค์ไหน และพ่อบอกด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้น ทรงขยันศึกษาเป็นที่สุด ถึงขั้นที่พระองค์ ทรงพยายามหาความรู้ ให้พระองค์เอง จนมีความรู้มากมาย ไม่มีใครเปรียบได้ และทรงเป็นคนดี อย่างที่สุดด้วย การเรียนภาษาบาลีของเธอ ก้าวหน้าไปพร้อมกับการเรียนพุทธศาสนา อย่างไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ที่ไปเรียนในโรงเรียนภาษารูมี นั้นก็ได้คำภาษาฝรั่ง มาเพิ่มให้อีก ตั้งสองคำแล้ว คือคำว่า เน่ม เขาบอกว่า แปลว่า ชื่อ และคำว่า สกูล แปลว่า โรงเรียน การเรียนรู้ ช่างดีและสนุกอะไรอย่างนี้หนอ! เช้าวันเสาร์นั้น มีสมุดการบ้านวางอยู่บนโต๊ะคุณครูประจำชั้น แค่สามเล่มเท่านั้น เป็นของน้อย มณีพรรณ และของไพฑูรย์ ครูประจำชั้น คือคุณครูมนัส ทราบดีว่า จะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะทุกวันศุกร์บ่าย เด็กนักเรียนมุสลิมเกือบทุกคน จะขาดเรียน วันศุกร์เป็นวันสวดใหญ่ ประจำสัปดาห์ของเขา ถือเป็นวันสำคัญ เหมือนวันพระของชาวพุทธ สำหรับที่แว้งเรื่องนี้จะต่างกันตรงที่วัดเขาเข็มทองของคนพุทธ ไม่มีพระประจำ และเด็กไทยพุทธ ก็ไม่ขาดเรียน ในวันพระ เพื่อไปทำบุญ หรือศึกษาพระไตรปิฎกที่วัด ส่วนสุเหร่าและที่สวดที่สอนพระคัมภีร์อัลกุรอ่านนั้น มีอยู่ทั่วไป รวมทั้งเด็กมุสลิม ยอมขาดเรียน เพื่อไปสุเหร่า คุณครูใหญ่เดินเข้ามาแล้ว! ท่าทางและสีหน้าของท่าน ช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร! เด็กๆ นั่งเงียบ สายตามองตามร่าง คุณครูใหญ่ ที่เดินตรงไปที่ โต๊ะครูประจำชั้น และคุณครูมนัส ผู้แสนจะใจดี ก็ลุกจากเก้าอี้ให้คุณครูใหญ่ นั่งแทนแล้ว! ทุกคนใจเต้นระทึกเหมือนตีกลอง ลงอย่างนี้ก็แสดงว่า กำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น ในไม่กี่อึดใจนี้แล้ว! คุณครูใหญ่มองเขม็ง ไปที่สมุดการบ้าน สามเล่มบนโต๊ะ แล้วถามเสียงเฉียบขาดว่า "ใครไม่ได้ทำการบ้านมาส่งบ้าง ลุกขึ้นยืนเดี๋ยวนี้!" น้อยซึ่งตัวเล็กกว่าเพื่อนและนั่งโต๊ะหน้าคู่กับมณีพรรณก้มหน้านิ่ง ต่างแน่ใจแล้วว่า อะไรที่กำลังจะเกิดขึ้น ในชั้นเรียนของเธอ จะต้องเหมือนกับ ที่เกิดมาแล้ว ในชั้นเรียนอื่นๆ ที่ครูใหญ่เข้าไป ไม่วันเสาร์ใดก็เสาร์หนึ่ง เพียงแต่วันนี้ เป็นวันเสาร์ ของชั้นเธอ ไม่มีใครสักคนเดียว ที่ไม่ได้ยินกิตติศัพท์ ของความเข้มงวด ของครูใหญ่ โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้ง แต่ก็เพราะเหตุนี้ อีกเช่นกัน ที่เด็กนักเรียน โรงเรียนนี้ มักสอบได้ทุนรัฐบาล เป็นนักเรียนทุนของประเทศ ทั้งที่เป็นโรงเรียน ที่อยู่ในดินแดนกันดาร และแสนห่างไกล จากเมืองหลวง ทั้งผู้ปกครองของเด็ก ต่างพอใจ ที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษา ในโรงเรียนนี้ด้วย น้อยได้ยินเสียงเพื่อนทั้งข้างๆ และข้างหลัง ลุกขึ้นยืนกันพึ่บพั่บ มณีพรรณเพื่อนรัก รอดตัวไป เพราะเขาได้ไปหาน้อยที่บ้าน เพื่อขอการบ้านมาทำ จนเสร็จเรียบร้อย เสียงคุณครูใหญ่พูดเสียงดังอีกว่า "ทุกคนที่ลุกขึ้นยืนเพราะไม่ได้ทำการบ้านมาส่ง เดินแถวออกมานี่!" นั่น! คุณครูใหญ่ดึงลิ้นชักโต๊ะครูประจำชั้นออกมาแล้ว น้อยใจสั่นแทนเพื่อนๆ เมื่อเห็นคุณครูใหญ่ ดึงไม้เรียว ออกมาสะบัดเควี้ยว แล้วลุกขึ้นยืน! "คนแรกออกมาที่โต๊ะครูนี่!" แล้วมหกรรมการซักถามคำถามเดียวกันก็เกิดขึ้น ตามด้วยคำตอบเดียวกันจากเด็กทุกคน "ทำไมเธอไม่ทำการบ้านมาส่ง?" "ผมไปสะมะหยังและเรียนอัล กุรอ่านครับ" "เธออ่านได้เท่าไหร่แล้ว?" "ผมอ่านได้สาม (สี่,ห้า) ยุห์ (บท) แล้วครับ" "เธอเป็นเด็กดี แต่เธอไม่ได้ทำการบ้านส่ง ยินดีรับโทษไหม?" "ยินดีครับ" น้อยหลับตาลงเมื่อเพื่อนแต่ละคนเอามือกอดอก แล้วเสียง เควี้ยว! ก็ตามมา น้อยถอนหายใจ เมื่อเพื่อนคนนั้น โค้งคำนับคุณครูใหญ่ อย่างนอบน้อม ก่อนเดินกลับไปนั่งที่ของตน แล้วก็เริ่มต้นหลับตาใหม่ เมื่อเพื่อนคนถัดไปถูกซัก ตอบคำถาม ตามมาด้วย เสียงไม้เรียว คนแล้วคนเล่า ในที่สุดก็ถึงคนสุดท้าย ประพนธ์ เด็กไทยพุทธเหมือนน้อยและไพฑูรย์ "นายประพนธ์ ทำไมเธอไม่ทำการบ้านมาส่ง?"
"ผมไปสะมะหยังและเรียนอัล กุรอ่านครับ" ทำไมช่องว่างในจังหวะการซักของคุณครูใหญ่ จึงยาวกว่าของเด็กนักเรียนอื่นหนอ? น้อยลืมตามอง "เธออ่านได้เท่าไหร่แล้ว นายประพนธ์?" "ผมอ่านได้สิบยุห์แล้วครับ" ทำไมหนอช่องว่างในจังหวะดูนานกว่าเดิมอีก น้อยเหลือบตามองคุณครูมนัสก่อน แล้วมองคุณครูใหญ่ เธอคิดว่าทั้งสองท่าน สบตากันก่อนเม้มปากแน่น เหมือนจะสกัดอะไรเอาไว้ภายใน อึดใจใหญ่ จึงได้ยินเสียงคุณครูใหญ่ พูดด้วยน้ำเสียงเฉียบขาด ปนอะไรสักอย่างว่า "เธอเป็นเด็กพูดเท็จ และเธอไม่ได้ทำการบ้านมาส่ง ยินดีรับโทษไหม?" "ยินดีครับ" น้อยคิดว่าประพนธ์ตอบเสียงเบากว่าเพื่อน ซ้ำเสียง เควี้ยว! ที่เพื่อนได้รับกันคนละครั้งเดียวนั้น ประพนธ์ได้รับถึงห้าเควี้ยว แถมเสียง แต่ละเควี้ยว ดูจะดังกว่า ที่คนอื่นได้รับเสียอีก ก่อนออกจากห้อง คุณครูใหญ่สั่งสอนเสียงเด็ดขาดว่า "จงเป็นเด็กดีในการประพฤติตนตามคำสอนในศาสนา จงอย่าพูดเท็จ เพราะทุกศาสนา ห้ามเหมือนกันหมด จงช่วยกันรักษา กฎข้อบังคับ กล้าหาญในการรับโทษทัณฑ์ เมื่อทำผิด แล้วพวกเธอจะเติบโตเป็นคนดี ในภายภาคหน้า ไม่มีความแผกแตกต่างกัน ในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าเธอจะนับถือศาสนาใดก็ตาม" เพื่อนๆ ที่ถูกตีบอกว่า คุณครูใหญ่ดุก็จริง แต่คุณครูตีเพื่อรักษากฎเท่านั้น ไม่ใช่ตีให้เจ็บหรืออายหรอก ประพนธ์ว่า เขาไม่เข้าใจ ก็เขาพยายามตอบ ให้เหมือนกับเพื่อนๆ แล้วเชียว ไหนคุยกันวันก่อนว่า ภาษาก็มีอะไรคล้ายๆ กันเพราะเป็นคนเหมือนกัน แล้วทำไม เขาตอบเหมือนคนอื่น แต่ถูกตีมากกว่าด้วยเล่า น้อยแน่ใจว่า คุณครูใหญ่ต้องตอบประพนธ์ได้ ถ้าเขากล้าไปถาม บัดนี้ เธอเข้าใจเรื่อง ความแผก แตกต่าง ดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีอีกมาก ที่เธอจะเก็บไว้ถามพ่อแม่ และไว้ศึกษาเองเมื่อโตขึ้น หมายเหตุ (๑) "บาซอ" เป็นการออกเสียงเป็นภาษามลายูท้องถิ่นในรัฐกลันตันและทางใต้ของประเทศไทย ภาษามลายูกลาง ออกเสียงว่า "บาฮ์ซา" ซึ่งก็คือคำว่า "ภาษา"ในภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า "อาหระ" คือ "อาหรับ" ภาษาถิ่นมลายูแถบนั้น จะเปลี่ยนเสียง-า เป็นเสียง-อ และมักจะกร่อนเสียง ตัวสะกดแม่กบ เป็นเสียงสระ-ะ (๒) หมายถึง "การสวด" เสียงภาษามลายูท้องถิ่นเพี้ยนมาจากคำภาษามลายูกลางว่า "เซิมบะห์ยัง (SEMBAHYANG) คนไทยออกเสียงว่า "สะมะหยัง" ปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "ละหมาด" ซึ่งยืมผ่านภาษาไทย จากคำเดิมของสันสกฤตว่า "นมัส" โดยเพี้ยน น เป็น ล เสีย และเปลี่ยนเสียง "ส สะกด" เป็น "ด" จาก "นมัส" จึงมาเป็น "ละหมาด" ไปในที่สุด คำ "นมาซ" นั้นมีปรากฏ ในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง นิทราชาคริต ด้วย (๓) "สุเหร่า" เป็นภาษามลายูกลาง ภาษามลายูท้องถิ่นจะว่า "ซูรา" ส่วนคำว่า "มัสยิด" ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน มาจากภาษาอาหรับ เช่นเดียวกับโรงสวด และสอนศาสนาเล็กๆ ที่เรียกกันว่า "ลาเซาะห์" ก็มาจากภาษาอาหรับว่า "madrasah" - เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ - |