ใครคือชาวพุทธร่วมสมัย
มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์
มีชนมายุครบ ๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕

ส.ศิวรักษ์


ในอดีต พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทั่วๆ ไป แทบทุกคนที่เป็นพุทธศาสนิก ล้วนได้รับการอบรมสั่งสอนในทางพระศาสนาจากบ้านและจากวัด กล่าวคือเด็กๆ เติบโตมาในบ้าน ที่มีไม่แต่บิดามารดา หากรวมถึงปู่ย่าและ/หรือตายาย พี่ป้าน้าอาอื่นๆ ซึ่งมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อย่างบรรสาน สอดคล้องกัน พึ่งพาอาศัยกัน ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ และมักทำบุญให้ทานกัน แทบทุกครัวเรือน โดยผู้ใหญ่ก็มักมีเวลาไหว้พระสวดมนต์แทบทุกค่ำเช้าอีกด้วย

ถึงวันโกนก็ละกิจการงานอันเป็นอาชีพ และถึงวันพระก็ไปวัด นอกจากทำบุญที่วัด ยิ่งกว่าทำที่บ้านแล้ว (คือนอกจากใส่บาตรที่บ้านทุก ๆ วันแล้ว วันพระยังเอาอาหารไปเลี้ยงพระที่วัด และเลี้ยงกันเองอีกด้วย) ยังมีโอกาสได้ถือศีลและฟังธรรม โดยผู้ที่มีศรัทธาปสาทะยิ่งกว่าคนทั่วๆ ไป ก็รับอุโบสถศีล แล้วค้างวัด เพื่อได้มีโอกาสสนทนาธรรมกัน หรือได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก ในยามค่ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือวัฒนธรรมแบบพุทธที่ช่วยให้เยาวชนเติบโตขึ้นมา โดยเห็นว่าทานการให้ เป็นคุณค่า สำหรับทุกๆ คน และถ้าเยาวชนนั้นๆ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ผู้ใหญ่ถือศีลกันเป็นนิจ ก็จะเห็น คุณค่าของการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม และไม่กล่าวคำเท็จ ทั้งยังไม่เสพ ของมึนเมาต่างๆ รวมทั้งรังเกียจอบายมุขอีกด้วย ยิ่งถ้าผู้ใหญ่สวดมนต์ภาวนาทุกเช้าค่ำด้วยแล้ว แม้เด็กๆ มักจะไม่ร่วมด้วย ก็เห็นว่า ความสงบช่วยให้ร่มเย็นเป็นสุขยิ่งกว่า การทะเลาะเบาะแว้ง หรือ การทำร้ายร่างกายกันและกัน

แม้เด็กที่มีบิดาเป็นจีน หากมีมารดาเป็นไทย ก็ได้ทั้งอิทธิพลของขงจื๊อที่ช่วยให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ อยู่ในโอวาทของท่าน โดยถือวาจาสัตย์ และความซื่อตรงจงรักภักดีว่าเป็นคุณธรรม แม้จะไม่มี ศาสนธรรมที่ล้ำลึกไปกว่านั้นในทางไตรสิกขา ก็ช่วยให้เยาวชนเป็นคนไม่เอาเปรียบสังคม และ มักไม่รังเกียจ ระเบียบวินัยของสังคม แม้จะเป็นสังคมศักดินา ที่ผู้ใหญ่เอาเปรียบผู้น้อย ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงก็ตาม แต่ในทางวัฒนธรรม ก็ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป อยู่เองเป็นธรรมดา หาไม่จักดำรงโครงสร้างทางสังคมไว้ไม่ได้

ยิ่งถ้ามารดามีความเป็นพุทธและเป็นไทยมากเท่าไร บุตรก็มีความเป็นจีนน้อยลงเท่านั้น เพราะพุทธศาสนาเน้นทางด้านการให้ ยิ่งกว่าการสะสมทรัพย์ศฤงคาร โดยที่จีนโพ้นทะเล ที่มาเมืองไทย ต้องการความร่ำรวยยิ่งกว่าการให้ ต่อรวยแล้วจึงบริจาคทรัพย์ ช่วยเหลือเกื้อกูล คนยากไร้ และเจือจานสังคมในทางสาธารณกุศลด้วยบ้าง

ขอให้ดูตัวอย่างได้ที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนถึงมารดาท่านและยายท่าน ซึ่งช่วยให้ท่านเห็น คุณค่า ของพุทธศาสนา แม้ภายหลัง การเรียนที่โรงเรียนฝรั่งและมหาวิทยาลัยอย่างใหม่ของไทย จะทำให้ห่างวัฒนธรรมแบบพุทธออกไป จริยธรรมร่วมของคริสต์และขงจื๊อกับคุณค่าของครูอดทน โดยชี้ให้เห็นโทษของความหน้าไหว้หลังหลอก การเอารัดเอาเปรียบ และความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยต่างๆ อีกด้วย

สำหรับครอบครัวที่แนบแน่นกับวัฒนธรรมแบบพุทธมากเท่าไร ย่อมได้รับอิทธิพลจากวัด และจากพระมากยิ่งๆ ขึ้นทุกที จนเห็นคุณค่าของความมักน้อย สันโดษ ความเรียบง่าย และวิถีชีวิตอันไม่เร่งร้อน หากสงบเย็น เห็นคุณค่าของการพึ่งตนเองยิ่งกว่าพึ่งไสยเวทวิทยา หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

ยิ่งได้รู้จักพระดี ที่มีทั้งความรู้ควบคู่ไปกับความเป็นสมณะ ย่อมนำชาวบ้านได้ในทางจิตวิญญาณ ให้กล้าหาญทางธรรม ตั้งแต่ขั้นต่ำไปจนขั้นสูง ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ในปัจจุบัน ไปจนถึง สัมปรายิกัตถประโยชน์ ในภายภาคหน้า หรือโลกหน้า แม้ท่านที่อาจอธิบายได้อย่างลุ่มลึก ถึงปรมัตถประโยชน์จะมีน้อย ก็ตามที

พุทธศาสนิกโดยทั่วๆ ไป ย่อมได้รับการอบรมมาดีในทางทาน แม้ในทางศีลจะย่อหย่อนบ้าง สังคมก็เห็นโทษของคนทุศีล โดยที่คนซึ่งเข้าถึงภาวนามัยอย่างลึกซึ้งจะมีน้อย แต่คนส่วนใหญ่ ก็ได้รับจิตสิกขาเบื้องต้น ที่การสวดมนต์ตามพิธีกรรมต่าง ๆ ในทางศาสนา

ในกรณีของนายป๋วยนั้น เป็นลูกจีนที่แม่เป็นไทย แม้ท่านจะไม่อวดอ้างถึงความเป็นพุทธ แต่ก็ถือได้ว่า ท่านเป็นฆราวาสชาวพุทธ ที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ โดยที่ท่านไม่ได้ติดยึด ในกรอบ หรือขนบของความเป็นพุทธตามรูปแบบก็ตามที

ยิ่งคนที่มีพื้นฐานคล้ายๆ กับท่านจากครอบครัว ไทยจีนที่มาบวชในพระศาสนา จนเป็นหลักของ พระศาสนา ก็มีหลายรูป เช่นท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจ จากมารดาเป็นที่ยิ่ง ยังที่ก่อนนี้ขึ้นไปก็มีพระภัทรมุนี(อิ๋น) และพระธรรมเจดีย์ (กี) วัดทองนพคุณ พระศาสนโสภณ (อ่อน) วัดราชประดิษฐ์ สมเด็จพระวันรัต(เฮง) วัดมหาธาตุ และสมเด็จ พระพุฒาจารย์(สี) วัดปทุมคงคา เป็นต้น โดยที่พระมหาเถระเหล่านี้ บางรูปไม่ได้ทิ้งความเป็นจีน ไปเสียเลยทีเดียวก็มี เช่น สมเด็จพระวันรัต (เฮง) นั้น ยอมรับว่าท่านผิดคติขงจื๊อ ที่ไม่ได้เซ่นไหว้ บรรพบุรุษ เพราะมาบวช แต่ท่านก็ให้ญาติๆ ไหว้บรรพชนเวลาตรุษจีน และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สี)นั้น ถึงกับขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ไม่ให้เอาศพท่านเข้าโกศ หากให้ใส่หีบ และฝัง อย่างจีนเอาเลยทีเดียว พระคุณท่าน ซึ่งออกนามมาแล้วนี้ ล้วนมีศีลาจารวัตรงดงาม และบำเพ็ญ เนกขัมมบารมี โดยอุทิศตนให้พระศาสนา อย่างยิ่งยวดทุกๆ องค์ นับได้ว่า ท่านเป็นแบบอย่าง ให้แก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ ไม่แต่ในสมัยของท่าน หากสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นเราๆ ถ้าเราสนใจ ใคร่เรียนรู้ จากชีวประวัติของท่าน เพื่อนำเอามาเตือนใจในความเป็นชาวพุทธของเรา

อนึ่ง เราต้องตระหนักไว้ด้วยว่า คนแต่ก่อนนี้ ถ้ามีลูกชายก็ย่อมต้องให้บวชเณรเป็นประการแรก ซึ่งเท่ากับ ลงรากฐานทางด้านปฐมศึกษาให้เยาวชน ถ้าสึกหาลาเพศออกมา ก็เรียนมัธยมศึกษา จากบ้าน คือเรียนวิชาชีพต่างๆ ซึ่งมักเป็นไปในทางกสิกรรม แต่ก็อาศัยธรรมะน้อมนำ ไม่ให้จับปลา มากเกินไป ล่าเนื้อมากเกินไป แม้การทำไร่นาก็รู้จักเคารพผีสางนางไม้ แม่พระคงคา แม่พระธรณี และแม่โพสพ ถึงจะเอาเปรียบสัตว์อื่นบ้าง ก็ต้องไม่เกินเลยไป ยิ่งใส่ใจในทางศาสนธรรมมากขึ้น ก็เลี่ยงมิจฉาอาชีพเอาเลย กล่าวคืออย่าว่าแต่ฆ่าสัตว์เลย แม้เนื้อสัตว์ก็ไม่ขาย แล้วจะให้ขายอาวุธ ขายยาพิษ และขายน้ำเมาได้อย่างไร
(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -