ชีวิตไร้สารพิษ
- ล้อเกวียน -
พลังงานสวะ ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานโดยรวมประมาณปีละ
๙๓ พันล้านลิตร เทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีสัดส่วน การใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ
๔๒ อันดับสอง คือพลังงาน หมุนเวียน ร้อยละ ๒๖ รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ
๑๗ ลิกไนต์ ร้อยละ ๙ ถ่านหินนำเข้า และซื้อไฟฟ้า สัดส่วนเท่ากันคือร้อยละ
๓ ในขณะที่ไทยเรา มีปริมาณสำรอง ของน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้ว อยู่น้อยมาก
คือมีอยู่เพียง ๑๗ พันล้านลิตร ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณสำรอง ที่พิสูจน์แล้ว
�๓๕๖ พันล้านลิตร ซึ่งจะใช้ไปได้อีก๒๐ ปี ส่วนถ่านหิน (ลิกไนต์) มีปริมาณสำรอง
๑,๖๗๐ พันล้านลิตร ซึ่งจะใช้ไปได้อีกประมาณ ๖๐ ปี อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า ทรัพยากรป่าไม้ของไทยเรานั้นถูกทำลายลงไปมากด้วยเหตุต่างๆ ตัวเลขจากทางกรมป่าไม้ ระบุว่าปัจจุบันมีแหล่งพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ประเทศ แต่ในสภาพความเป็นจริง ปริมาณป่าไม้เหลือ ไม่ถึงร้อยละ ๒๐ของพื้นที่ประเทศเท่านั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ ๒.๒๕ ล้านไร่ แต่ปัจจุบัน เหลืออยู่เพียง ๑ ล้านไร่หมายความว่า ภายในระยะเวลาเพียง ๔๑ ปีป่าชายเลน ถูกทำลาย ไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของที่เคยมีอยู่ และสาเหตุหลัก ๒ ประการ ที่ทำให้ป่าชายเลน ถูกทำลายไปก็คือการทำนากุ้ง และการสัมปทานทำไม้เผาถ่าน หากการใช้พลังงานของชาวชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงพึ่งพิงอยู่กับไม้ฟืน และถ่านอยู่ละก็ จะทำให้ สถานการณ์ป่าไม้อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจาก ความต้องการพลังงาน ของประชาชน และในอีกไม่กี่สิบปี ข้างหน้า เมื่อวิกฤติการณ์น้ำมันมาถึง เมื่อน้ำมันหมด ก๊าซธรรมชาติหมด ชาวชนบท ก็จะพากัน หันไปใช้พลังงาน จากป่าไม้กันมากขึ้น นั่นยิ่งจะทำให้เราเผชิญ วิกฤตการณ์ ทรัพยากรป่าไม ้และธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนที่ควรจะเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในการใช้พลังงานของประเทศไทย แทนที่จะเป็นไม้ฟืน และถ่าน จึงควรจะเป็นพลังงาน หมุนเวียน ที่มาจาก พลังงาน แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงาน จากแรงโน้มถ่วงโลก พลังงานที่ได้จากก๊าซชีวภาพ ที่มาจากมูลสัตว์ พลังงานที่ได้จากชีวมวล (Biomass) ที่ได้จากเศษ ซากพืช ต้นไม้ พืชไร่ต่าง ๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง แกลบ หรือแม้แต่วัชพืช เช่น หญ้า ไมยราบ ผักตบชวา รวมทั้ง เศษขยะ โดยเฉพาะพลังงานจากชีวมวล นี้น่าจะเป็นแหล่งพลังงาน ที่เราควรจะให้ ความสนใจ และพัฒนา อย่างจริงจัง เนื่องจากเรามีทรัพยากรทางการเกษตร ที่จะนำมาพัฒนาเป็นพลังงาน ได้อย่างมากมาย มหาศาล เทคโนโลยี ในการผลิตพลังงาน ชีวมวลนี้ ก็ง่ายไม่สลับซับซ้อน ราคาก็ไม่แพง ซึ่งประชาชนทุกคน โดยเฉพาะชาวชนบท สามารถผลิตและทำใช้ได้เอง ตัวอย่างรูปธรรมอันหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นมาและมีการนำไปใช้กันบ้างแล้ว ก็คือการทำแท่ง เชื้อเพลิงจากเศษสวะ เช่น จากชานอ้อย ผักตบชวา เศษหญ้า ไมยราบ แกลบ เป็นต้น แท่งเชื้อเพลิง ที่ได้จากเศษพืชเหล่านี้เรียกว่า "แท่งเชื้อเพลิงเขียว" สามารถนำไปใช้แทนไม้ฟืน และถ่าน ได้เป็นอย่างดี ประสิทธิภาพก็เท่าเทียมกัน สามารถนำไป ใช้หุงต้ม ทำอาหาร ในครัวเรือน รวมไปถึง นำไปใช้ในร้านอาหารหรืออุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ แท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดการอัดถ่านเขียวของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งก็เริ่มโดย นายกอนซาโล คาแทน และคณะที่นำเอาเศษใบไม้ใบหญ้า ไปหมักให้เน่าเปื่อย ด้วยจุลินทรีย์ แล้วจึงอัดเป็นแท่ง ส่วนในประเทศไทย แท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้ พัฒนาขึ้นโดยนักวิชาการ ของกรมป่าไม้ ร่วมกับกองทุนเพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน แท่งเชื้อเพลิงเขียว นี้ได้จากการอัดแท่ง โดยไม่ใช้ความร้อน จากเศษวัชพืช หรือเศษวัสดุเหลือใช้ จากการเกษตรต่าง ๆ เช่น ชานอ้อยเน่าเปื่อย ผักตบชวาขุยมะพร้าว มาอัดเป็นแท่ง โดยอาศัย ความเหนียวของยาง ในวัสดุเหล่านั้นเป็นตัวประสานและความชื้นที่พอเหมาะ เมื่ออัดเป็นแท่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ก็จะได้แท่ง เชื้อเพลิง ที่ใช้แทนฟืนถ่าน หรือก๊าซหุงต้มได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีทำแท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้ง่ายมาก เพียงรวบรวมเศษวัสดุที่จะทำเชื้อเพลิงมาสับ เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปอัด ในครื่องอัด ให้เป็นแท่ง ซึ่งเครื่องอัดที่แนะนำในที่นี้ เป็นเครื่องอัด ที่พัฒนาขึ้น โดยกรมป่าไม้ เป็นเครื่องอัด แบบเกลียว หรือแบบสกรู ทำมาจากสเตนเลส ที่ใช้แรงดัน จากมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ๒ แรงม้า ใช้ไฟ ๒๒๐ โวลท์ เพื่อไปหมุนสกรู หรือเกลียว ที่จะไปอัด เศษวัสดุ ที่นำมาทำแท่งเชื้อเพลิง เมื่อออกมาจาก กระบอกรีด จะได้แท่ง เชื้อเพลิง ที่มีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง๗ ซม. หลังจากนำไป ตากแดด ให้แห้ง หรืออยู่ในตู้อบ แล้วจึงนำไป เป็นเชื้อเพลิงได้ทันที ประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของแท่งเชื้อเพลิงเขียวขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาอัด เช่น หากใช้ชานอ้อย เน่าเปื่อย อย่างเดียว จะให้ค่าความร้อนประมาณ ๓,๑๐๐ แคลอรี/กรัม หากใช้ชานอ้อย เน่าเปื่อยผสมกับ ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน ๑:๑ จะให้ค่าความร้อนประมาณ ๓,๐๐๐แคลอรี/กรัม ในขณะที่ไม้ฟืน มะขามเทศ ให้ค่าความร้อน ๔,๗๒๑ แคลอรี/กรัม หรือ เมื่อนำแท่งเชื้อเพลิงเขียว ไปใช้ต้มน้ำ น้ำจะเดือดภายในเวลาเฉลี่ย๑๘-๓๔ นาที ในขณะที่ฟืน ไม้มะขามเทศ ใช้เวลา ๒๘ นาที ถ่านไม้มะขามเทศใช้เวลา ๓๖ นาที โดยทั่วไปแท่งเชื้อเพลิงเขียวมีลักษณะคล้ายกับไม้ฟืน เวลาใช้จะมีควันจึงควรใช้ร่วมกับเตา ที่มีปล่อง ซึ่งจะช่วยลด ควันไฟ หรือใช้ร่วมกับเตาอังโล่ประหยัดพลังงาน ก็จะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพ ในการเผาไหม้ให้ดียิ่งขึ้น หากเราต้องการ ให้แท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้ ให้ค่าความร้อน ที่สูงขึ้น เราสามารถนำแท่งเชื้อเพลิง เขียวไปเผาเป็นเป็นถ่าน ก่อนนำไปใช้ เป็นเชื้อเพลิง ก็ได้โดยใช้แกลบเผาแบบกลบนาน ๒๐-๒๒ ช.ม. ก็จะได้ถ่านจากเศษสวะ ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่แท่งเชื้อเพลิงเขียว ก็คือการผสมผงถ่านที่เหลือทิ้ง สักเล็กน้อย ลงในเศษวัสดุ ที่นำมาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ก็จะได้แท่งเชื้อเพลิง ที่มีประสิทธิภาพ ไม่แพ้ถ่านเลยทีเดียว แท่งเชื้อเพลิงเขียวนี้ หลังจากผลิตแล้ว สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน โดยหลังจาก ตากแดดให้แห้งแล้ว นำมาใส่กระสอบ หรือถุงพลาสติก ปิดปากให้แน่น เพื่อป้องกันความชื้น ขณะนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ลงมือผลิตแท่งเชื้อเพลิงเขียวไว้ใช้เองและจำหน่าย เพื่อทดแทน การใช้ไม้ฟืน และถ่าน นอกจากนั้นยังมีการทดลองพัฒนาผลิตแท่งเชื้อเพลิงจากเปลือกทุเรียน ที่ให้ค่าความร้อน ถึง ๓,๗๐๐ แคลอรี/กรัม หรือเด็ก นร.รร.บ้านเขาชะโงก จ.เพชรบูรณ์ ได้นำเอาแกนข้าวโพดที่ชาวไร่ทิ้งกันเกลื่อนกลาด มาเผาให้เป็นถ่าน แล้วใช้น้ำดับ ตากแดดไว้ ๒ วัน จนแห้ง จากนั้นเอามาตำ แล้วนำถ่าน แกนข้าวโพด ที่ตำแล้ว ๒๐ กก.ผสมกับน้ำ ๑๐ ถ้วยตวง ผสมแป้งข้าวเหนียว ครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง เอาไปตากแดดให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ถ่านอย่างดี จากเศษ แกนข้าวโพด ด้วยต้นทุนค่าวัสดุเพียง ๕๖ บาท ประหยัดค่าใช้ก๊าซ ได้ถึงเดือนละ ๔๐๐ บาท เลยทีเดียว การแสวงหาและพัฒนาพลังงานทางเลือกของประเทศในอนาคต นอกจากต้องเป็นพลังงาน ที่สะอาด ปราศจากมลพิษ เป็นพลังงานที่ปลอดภัย ควรเป็นพลังงานที่พัฒนาขึ้นมาจากทรัพยากร ภายในประเทศ ผลิตขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ไม่แพง ประชาชนไม่ว่ายากดีมีจน สามารถเข้าถึงและใช้ได้ อย่างเท่าเทียมกัน ดังพลังงานจากสวะ ที่ดูไร้ค่า และต่ำต้อย แต่ก็ทำให้เราท้องอิ่ม และกายอุ่น มากกว่าน้ำมัน ที่ราคาพุ่งไม่หยุด จนหนาวไปตามๆ กัน [ข้อมูลจาก วารสารเกษตรธรรมชาติ] - เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ - |