ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออกจาก ตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐาน ทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ" เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน
๒๘ บทความตอนก่อนชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ในแง่ทฤษฎี มูลค่าแท้จริงของสินค้า ณ ราคาธรรมชาติ ที่เกิดจากกลไกตลาด จะใกล้เคียงกับ มูลค่าของพลังงาน (หรือกรรม) ที่แฝงอยู่ในสินค้าดังกล่าว (บวกต้นทุนวัตถุดิบและค่าโสหุ้ย) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลไกตลาดจะไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินค้าตรงกับมูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติได้ เพราะข้อจำกัด ของตลาด ที่ไม่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (absolute market) ในโลกของความเป็นจริง เมื่อผู้คนถูกครอบงำด้วยอวิชชาความไม่รู้ ในฐานะของผู้ผลิตก็จะไม่สามารถเลือกผลิตสินค้า หรือบริการ ที่ควรผลิตได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้บริโภค ก็จะไม่สามารถ เลือกซื้อสินค้า หรือบริการที่ควรบริโภคได้อย่างเหมาะสมถูกต้องเช่นกัน ตลาดที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาความไม่รู้ของผู้คนในสังคม จึงผลักดันให้มูลค่าของสินค้า หรือบริการ ที่เกิดขึ้นตามกลไกตลาด แปลกแยก (alienation) จากมูลค่าแท้จริง ที่ควรจะเป็น ตามธรรมชาติของตัวมันเอง มีตัวอย่างมากมายที่สะท้อนให้เห็นการครอบงำของอวิชชาความไม่รู้ในตลาดเช่น การโฆษณา ชวนเชื่อต่างๆ การไม่เปิดเผยข้อมูลความจริงทั้งหมดตามที่เป็นจริงให้ผู้คนรับรู้ การมีวิสัยทัศน์ ที่จำกัดของผู้คนส่วนใหญ่เพราะขาดโอกาสทางการศึกษา และขาดการพัฒนา สติปัญญา ให้เจริญงอกงามเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้การแข่งขันของตลาดในระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งการผลิตสินค้า ประเภทเดียว ตามความถนัด และผลิตครั้งละ จำนวนมากๆ (mass production) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ต้นทุน การผลิตสินค้า ต่อหน่วยลดต่ำลง ทำให้สามารถ เอาชนะคู่แข่งรายอื่นได้ อันเนื่องมาจากความประหยัดของขนาดการผลิต (economy of scale) แต่เมื่อมีการผลิตสินค้า ครั้งละจำนวนมาก ก็ต้องหาทางกระตุ้นปลุกเร้าความต้องการ ของผู้บริโภค (demand creation) เพื่อจะได้สามารถ ขายสินค้า หรือบริการนั้นๆ ได้หมด กลยุทธ์ทางการตลาดและการโฆษณาต่างๆ จึงกลายเป็นเงื่อนไขจำเป็น ที่ติดตามมา กับกลไกตลาด และสุดท้าย ก็ไปครอบงำ ให้ผู้คนเกิดอวิชชา ความหลงผิด ไม่รู้เท่าความจริง ตามที่เป็นจริง ในทิศทางที่ทำให้เกิดความหลงใหล อยากบริโภคสินค้า หรือบริการนั้นๆ อาจจะเพราะเห็นแต่แง่ที่เป็นคุณประโยชน์เพียงแง่เดียวตามที่มีการโฆษณาให้เชื่อ หรือหลงเข้าใจว่า มีคุณค่ามากกว่า คุณค่าแท้จริง ของตัวมันเอง อันเนื่องมาจากอิทธิพล ของการโฆษณา และกลยุทธ์ ทางการตลาด เช่น อยากดื่มเบียร์บางยี่ห้อเพื่อแสดงถึงความเป็นคนไทย อยากสวมใส่เสื้อผ้าบางยี่ห้อ เพื่อแสดงถึง ความมีระดับฐานะ อยากใช้สินค้าบางอย่าง เพื่อแสดงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทันสมัย ฯลฯ ทั้งๆ ที่โดยคุณค่าแท้จริง ของสินค้าเหล่านั้น เมื่อบริโภคไปแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความเป็น คนไทยมากขึ้น มีระดับฐานะเพิ่มขึ้น หรือเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่อย่างไร เพียงแต่เป็น อุปาทาน ที่รู้สึกเอาเองเพราะอวิชชาความไม่รู้ ซึ่งถูกกลยุทธ์ทางการตลาดและ การโฆษณาต่างๆ สะกดครอบงำ ให้เกิดขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าแทรกแซงตลาด เพื่อควบคุมกำกับให้กลไก การแข่งขัน ในตลาดสามารถกระทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้อง ในทิศทางที่จะช่วย ให้ราคาสินค้า หรือบริการ ปรับตัว เข้าใกล้มูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติของตัวมันเองมากที่สุด เมื่อมูลค่าของสินค้าหรือบริการในตลาด สามารถสะท้อนมูลค่าแท้จริงของพลังงาน (หรือกรรม) ที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือบริการ ดังกล่าว ใครออกแรงมากก็ได้รับผลตอบแทนมาก ใครออกแรงน้อย ก็ได้รับผลตอบแทนน้อย ปฏิสัมพันธ์ ของผู้คนในสังคม ก็จะดำเนินไป อย่ามีดุลภาพ ตามกฎกรรมนิยาม ทำให้สังคมนั้นประสบกับภาวะสันติสุข รัฐจึงมีหน้าที่ต้องออกกฎหมายต่างๆ เพื่อลดภาวะความแปลกแยกของราคาสินค้า หรือบริการ ตามกลไกตลาด จากมูลค่าแท้จริง ที่ควรจะเป็น ตามธรรมชาติของสินค้า หรือบริการนั้นๆ อาทิ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายป้องกัน การโฆษณา หลอกลวงประชาชน กฎหมายป้องกัน การฟอกเงิน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายป้องกัน การปั่นหุ้น ฯลฯ โดยกฎหมายที่เป็นธรรม ก็คือกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎกรรมนิยามเพื่อช่วยให้คน ที่ใช้พลังแรงงาน (หรือสร้างกรรม) ในการประกอบกิจการอะไร ก็พึงได้รับผลตอบแทน ทั้งในระดับ ความเข้มข้นและทิศทาง (ทิศที่เป็นกุศล หรืออกุศล) ที่สอดคล้อง พอดีกับความเข้มข้น และทิศทาง ของพลังแรงงาน (หรือกรรม) นั้นๆ หากกฎหมายสามารถจัดสรรให้คนทำดีได้รับผลตอบแทนเป็นกุศลวิบาก โดยสอดคล้องพอดี กับระดับความดีนั้นๆ ขณะที่ทำให้ คนทำชั่วถูกลงโทษ หรือได้รับผลเป็นอกุศลวิบาก สมน้ำสมเนื้อ กับระดับ ความเข้าข้น ของอกุศลกรรม ดังกล่าว ความเป็นธรรม ก็จักปรากฏขึ้น ในสังคม และ จะส่งผลให้สังคมนั้น ประสบสันติสุข เพราะเกิดดุลยภาพ ตามกฎกรรมนิยาม ในทางกลับกัน ถ้ากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายก่อให้เกิดผลในทิศทางตรงข้าม คือจัดสรร ให้คนทำชั่วได้ดี ส่วนคนทำดี กลับถูกกลั่นแกล้ง ลงโทษ อันไม่สอดคล้องกับกฎกรรมนิยาม ความเสียสมดุลตามกฎธรรมชาติ ของกรรมดังกล่าว ก็จะส่งผลให้สังคมนั้น เกิดภาวะความปั่นป่วน (chaos) เพื่อนำไปสู่การปรับตัวภายใต้กรรมนิยาม ในรอบใหม่ ที่จะนำไปสู่ การสร้างดุลยภาพ ให้คนที่ประกอบกุศลกรรม ได้รับกุศลวิบาก และคนที่ทำอกุศลกรรม ได้รับ อกุศลวิบาก ในสัดส่วนความเข้มข้น และทิศทางที่สมดุล พอดีกับกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมนั้นๆ ในภาพรวมระยะยาว การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการตามอำเภอใจ ของผู้ปกครองรัฐ เพื่อใช้ "อำนาจเป็นธรรม" (lex) ในการบริหารบ้านเมือง แต่การออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย จะต้องสอดคล้อง กับกฎธรรมชาติของกรรม เพื่อให้ "ธรรมเป็นอำนาจ" (jus) บ้านเมืองจึงจักประสบสันติสุขได้ การคัดเลือกผู้ปกครองรัฐหรือผู้บริหารบ้านเมืองให้มาทำหน้าที่ออกกฎหมาย และบังคับ ใช้กฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ มีความสำคัญ เพราะถ้าได้ผู้บริหารบ้านเมือง ที่เข้าไม่ถึงธรรม (jus) มาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ บ้านเมืองนั้น ก็จะประสบภาวะวิกฤติ และจะไม่พบ สันติสุข แต่ภายใต้การปกครองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีรากฐานมาจากมโนทัศน์เรื่องสิทธิ ตามธรรมชาติ (natural right) อันเป็นมูลรากเดียวกับ ที่มาของลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่ให้สิทธิ(ตามธรรมชาติ) แก่"ปลาใหญ่" ในสังคมที่จะกิน "ปลาเล็ก" เป็นอาหาร อย่างชอบธรรม ผู้ปกครองรัฐ หรือผู้บริหารบ้านเมือง ในระบอบการปกครองแบบนี้ จะมาจากการเลือกตั้ง ของประชาชนอย่างเสรี การแข่งขันในการเลือกตั้ง จึงเป็นการแข่งขันในตลาดการเมืองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนที่จะ "เลือกซื้อ" นโยบาย และ ตัวบุคคล ของพรรค การเมืองต่างๆ เพื่อคัดเลือกตัวแทนของประชาชน ไปทำหน้าที่ ออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถ้ามีสมมุติฐานว่าเพราะประชาชนถูกครอบงำด้วยอวิชชาความไม่รู้ อันทำให้ไม่สามารถ เลือกซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องมีอำนาจรัฐ มาทำหน้าที่ช่วยแทรกแซง กำกับการทำงาน ของกลไกตลาด ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หากเป็นเช่นนั้น ด้วยตรรกเดียวกันนี้ เราจะมีหลักประกันอะไรว่า ประชาชนที่ถูกครอบงำด้วย อวิชชา ความไม่รู้ดังกล่าว จะสามารถ "เลือกซื้อ" นโยบายและตัวบุคคลของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอตัวให้เลือก ได้อย่างถูกต้อง ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของกลไกตลาดในลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี จึงกลายเป็นจุดอ่อน เดียวกับกลไก การแข่งขัน ของการเลือกตั้ง ในตลาดการเมือง ภายใต้ระบอบการปกครอง แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ การเมืองภายใต้ลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหา ที่เป็นจุดอ่อน ของลัทธิทางเศรษฐกิจ แบบทุนนิยมเสรีได้ เพราะความขัดแย้งทางตรรก ดังที่กล่าวมา หากจะแก้ไขจุดอ่อนเรื่องนี้ รัฐจะต้องไม่ให้สิทธิการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางแก่ทุกคน (universal suffrage) แต่ต้องจำกัด สิทธิการเลือกตั้ง ของประชาชน (limited suffrage) โดยจะให้สิทธิการเลือกตั้ง เฉพาะสำหรับพลเมือง ที่มีหลักประกันว่า เป็นผู้มีปัญญา เข้าถึงความเป็นธรรม (jus) ในระดับหนึ่ง เท่านั้น อาทิ ผ่านการศึกษาภาคบังคับ ที่มีหลักสูตรกำหนด ให้ผู้เรียนต้องฝึกฝน เรียนรู้ เพื่อให้เกิด ปัญญา สามารถเลือกสิ่งที่เป็นธรรม ได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น ขณะเดียวกันสำหรับบุคคลที่ถึงแม้จะได้รับสิทธิการเลือกตั้งแล้ว ถ้ากระทำผิดกฎหมายสำคัญ บางเรื่อง อันแสดงให้เห็นถึง การที่ยังถูกครอบงำ ด้วยอวิชชาความไม่รู้ จนไปกระทำสิ่งผิดๆ ดังกล่าว ก็ต้องถูกตัดสิทธิ ในการเลือกตั้งด้วย อาจจะชั่วคราว หรือถาวร แล้วแต่ความรุนแรง ของความผิด ทั้งนี้เพราะถ้าปล่อยให้คนที่ขาดปัญญาไม่รู้จักความถูกต้องเป็นธรรม สามารถลงคะแนนเสียง เลือกตั้งได้ บุคคลผู้นั้น ก็ย่อมมีโอกาสสูง ที่จะใช้สิทธิ์เลือกคนที่ขาดปัญญา ไม่เข้าใจ ความถูกต้องเป็นธรรม เช่นเดียวกับตน ให้เข้าไปเป็นผู้ออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายด้วย ผลที่สุด เมื่อได้ผู้บริหารบ้านเมืองที่ขาดปัญญาไม่เข้าใจความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง เป็นผู้ใช้ อำนาจรัฐ บุคคลเหล่านั้น ก็ย่อมจะไม่สามารถ ออกกฎหมาย ในทิศทางที่สอดคล้องกับ กฎธรรมชาติ ของกรรม เพื่อสร้างความเป็นธรรม (jus) ให้เกิดขึ้นกับสังคมนั้นได้ อย่างเหมาะสม ถูกต้องในที่สุด (อ่านต่อฉบับหน้า) - เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ - |