กติกาเมือง
- ประคอง เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช อดห่วงไม่ได้ตลอดครึ่งเดือนที่ผ่านมามีข่าวในวงการพระพุทธศาสนา อยู่สองถึงสามเรื่อง ที่เป็นข่าวโด่งดังมาก เพราะเกิดจาก ท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้นำเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ๒ พระองค์ เรื่องการจัดตั้งธนาคาร ของพระพุทธศาสนา และการรับรองนิกายคณะสงฆ์ใหม่ เข้าพูด ในที่ประชุมคณะสงฆ์ จนสื่อมวลชนต่างๆ นำไปประโคมข่าวและมีหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ ได้นำไปสำรวจ ความคิดเห็น ของประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ปะปนกันไป ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมาก เพราะบางเรื่อง บุคคลที่แสดงความคิดเห็น ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยนั้น ไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือไม่เข้าใจ หลักการของ พระพุทธศาสนาดีพอ ทั้งไม่ทราบ โดยถ่องแท้ว่า การแสดงความเห็น ดังกล่าวไปนั้น จะส่งผลต่อสถานะ ของพระพุทธศาสนา หรือของคณะสงฆ์ ในประเทศไทยอย่างไร สำหรับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ๒ พระองค์นั้น ผู้เขียนถือว่าเป็นของสูงที่ไม่ควรละเมิด และไม่ควรนำมา กล่าวกันอย่างลอยๆ โดยไม่สมควร ทั้งไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะนำมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือเขียนถึง เพราะในกรุงรัตนโกสินทร์ เรามีสมเด็จพระสังฆราชรูปที่ ๑ ถึงที่ ๗ ที่ ๑๒, ที่ ๑๔, ที่ ๑๕ และที่ ๑๗ เป็นมหานิกาย รูปที่ ๘ ถึงที่ ๑๑, ที่ ๑๓, ที่ ๑๖, ที่ ๑๘ และองค์ปัจจุบัน เป็นธรรมยุต ก็ล้วนทรงคุณธรรมสูงยิ่ง เป็นที่เคารพ สักการะ ของพุทธศาสนิกชนทุกพระองค์ ส่วนเรื่องธนาคารขอพระพุทธศาสนานั้น ผู้เขียนเคยเขียนถึงมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยผู้เขียนได้ยก เหตุผลต่าง ๆ ให้ฟังรวมทั้งข้อเสนอแนะ ในการเปรียบเทียบระหว่างอุดมการณ์ ของพระพุทธศาสนา ที่แตกต่างกับ ระบบธุรกิจธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เราจะต้องเลือกว่าจะเอาเงินทุน หรือกองทุน หรือทรัพย์สิน ของพระพุทธศาสนา ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไปดำเนินการทางธุรกิจ เพื่อแสวงหากำไร มาบำรุงพระพุทธศาสนา หรือจะเอาไป ดำเนินการ เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องหา ผลประโยชน์อื่น ซึ่งแน่นอน ประการหลังนี้ ทรัพย์สินต่างๆ จะต้องพร่องไปๆ แต่ผู้เขียนยังเห็นว่า งานที่ใช้ทุน ดังกล่าวไปนี้ ก็จะก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ แก่พระพุทธศาสนา ซึ่งการแสวงหา กำไร ในทางธุรกิจนั้น ก็มีทางเป็นไปได้ หลายประการ เช่น กำไรมาก กำไรน้อยหรือไม่มีกำไร และเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า ธนาคารของเจ้าสัวต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา ก็มีอันมลายไป หรือต้องถูกยึดเป็น ธนาคารของรัฐ สถาบันการเงินจำนวนมาก ผู้บริหารสถาบันการเงิน ต้องหลบหนีคดีอาญา ทรัพย์สินต่างๆ ของสถาบันการเงินดังกล่าวนั้นก็สูญสิ้นไป ธนาคารอิสลาม ในปัจจุบันนี้ เป็นธนาคาร ที่เกิดขึ้นใหม่ และต่อสู้มานานหลายปีกว่าจะเกิดขึ้น เพราะชาวมุสลิมถือว่า ระบบธนาคาร ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ขัดกับหลักการของมุสลิมโดยเฉพาะในเรื่องดอกเบี้ย แต่ธนาคารของ พระพุทธศาสนา ที่จะออกมา ดังกล่าวนี้ จะมีรูปแบบอย่างไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ยังไม่ปรากฏ จะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ถ้าคิดดอกเบี้ย หรือหาผลประโยชน์ ในรูปดอกเบี้ยแล้ว จะขัดกับหลัก ของพระพุทธศาสนา หรือไม่อย่างไร ท่านผู้รู้ก็น่าจะทราบเป็นการดี แต่ถ้าไม่คิดดอกเบี้ยแล้ว จะนำผลประโยชน์ใด มาบริหาร หรือจะทำอย่างไรให้มีผลตอบแทน ตามความประสงค์ ของผู้ที่คิดหลักการดังกล่าวขึ้น การให้บริษัท เลี้ยงสัตว์ เพื่อฆ่าเป็นอาหาร จะให้กู้หรือไม่ ให้บริษัทผลิตสารเคมี เพื่อกำจัดโรคพืช จะให้กู้หรือไม่ ให้กู้เพื่อทำกิจการบันเทิง รูปแบบ สถานบริการจะให้กู้หรือไม่ ให้บริษัทที่ทำธุรกิจ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ ผลิตเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดองของเมาจะให้กู้หรือไม่ แต่ถ้าธนาคารดังกล่าว มุ่งแต่จะช่วยเหลือ ผู้เดือดร้อน หรือต้องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็น่าจะทำเป็นมูลนิธิ มากกว่าที่จะตั้งเป็น ระบบธนาคาร และถ้าธนาคารดังกล่าวขาดทุนและเกิดถูกยุบรวมหรือถูกลดหุ้นลง อย่างเช่น ธนาคารทั้งหลาย ที่เราเห็นมาในช่วง ๔ ถึง ๕ ปีที่ผ่านมาแล้ว ผู้ใดจะรับผิดชอบ กับเหตุการณ์ดังกล่าว และจะรับผิดชอบ ไหวหรือไม่ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือการที่มีการเสนอหรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลควรที่จะรับรอง คณะสงฆ์ใหม่หรือไม่ ผู้เขียนไม่เข้าใจว่าคณะสงฆ์ใหม่นั้น หมายถึงคณะสงฆ์ใด บางคนบอกว่า น่าจะเป็น วัดพระธรรมกาย บางคนบอกว่า น่าจะเป็นคณะสงฆ์สันติอโศก บางคนบอกว่า น่าจะเป็นคณะสงฆ์ ในกลุ่มพระป่า ของหลวงตามหาบัว ซึ่งจะเป็นใครก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ติดใจ ในประเด็นนี้ แต่ผู้เขียนติดใจ ในประเด็นที่ว่า การที่รัฐจะไปรับรอง คณะสงฆ์แต่ละคณะ หรือ ออกกฎหมาย เข้าไปรับรองคณะสงฆ์นั้น รัฐบาลต้องมีความรอบคอบ และคิดให้ชัดเจน เพราะพระพุทธศาสนา ไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับ พระพุทธศาสนา ไม่ได้เกิดขึ้นจาก กฎเกณฑ์ ที่บัญญัติ โดยปุถุชนคนธรรมดา และพระพุทธศาสนา ไม่สามารถบังคับ โดยกฎหมายใดๆ ให้เจริญ หรือเสื่อมลงได้ แต่พระพุทธศาสนา ดำรงคงอยู่ได้ เกิดจากความเลื่อมใส ศรัทธา ด้วยจิตวิญญาณ อันแท้จริง ของพุทธศาสนิกชนและลงมือปฏิบัติตามหลักการ ของพระพุทธศาสนา ฉะนั้นการที่รัฐ จะไปรับรอง หรือไม่รับรองคณะสงฆ์ใด ๆ ก็ไม่ทำให้คณะสงฆ์ดังกล่าวนั้นเจริญขึ้น หรือเสื่อมลง ผู้เขียนขอ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในเรื่องทั่วไปที่ปุถุชน สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่นการกำหนด ให้ที่ดิน ของวัด เป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่สามารถซื้อขายได้ กลายเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ทำให้การตั้งวัดก็ดี การยุบวัดก็ดี การนำที่ดินของวัด ไปหาผลประโยชน์ใดๆ ก็ดี ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถกระทำได้ และไม่ทันต่อ ระบบเศรษฐกิจของโลก จนทำให้บางวัดต้องนำที่ดินดังกล่าวไปใส่ชื่อเจ้าอาวาสบ้าง ใส่ชื่อคณะกรรมการวัดบ้าง เมื่อเจ้าอาวาส ถึงแก่มรณภาพ หรือคณะกรรมการวัดถึงแก่ความตาย บุตรหลาน ก็เข้าแย่งชิงกันอ้างว่า ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ใช่ของวัด หรืออย่างกรณีที่ทางราชการ สืบทราบได้ก่อน ก็จะกล่าวหาว่า เจ้าอาวาสบ้าง คณะกรรมการวัด บ้างยักยอกที่ดินของวัด จนถูกฟ้อง ดำเนินคดีอาญาบ้าง ถูกฟ้องคดีแพ่งบ้างเป็นที่วุ่นวายไม่จบสิ้น ในกรณีที่กฎหมายไปกำหนดให้วัดเป็นนิติบุคคลยิ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ให้วัด ซึ่งเป็นของสูง เป็นที่เคารพศรัทธา ของประชาชน ต้องมามีฐานะ เป็นนิติบุคคลธรรมดา คล้ายกับหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือนิติบุคคลทั่วๆ ไป ทำให้วัด ต้องเป็นคู่กรณีในหลายๆ กรณีที่ไม่จำเป็น เช่น ต้องไปเป็นคู่สัญญา บางครั้งเป็นโจทก์ บางครั้งเป็นจำเลยในศาล ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดบ้าง ถูกกล่าวหาว่า กระทำละเมิดบ้าง บางครั้ง ก็ต้องไปพิพาท เป็นคดีแย่งชิงทรัพย์สินที่ดินกับฆราวาสหรือพระภิกษุ เป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม และไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่สิ่งที่สูงส่งในพระพุทธศาสนา ต้องลงมาแปดเปื้อน ด้วยเพราะกฎหมายฉบับนี้ อีกประการหนึ่งคือการกำหนดให้เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน การเป็นเจ้าพนักงานนั้น มีทั้งสิทธิ และหน้าที่ เมื่อไม่ทำตามหน้าที่ ก็เป็นเจ้าพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ครั้นจะทำตามหน้าที่ บางครั้ง ก็ขัดกับพุทธประสงค์ และก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่บุคคลอื่น โดยเฉพาะ หน้าที่ส่วนใหญ่แล้ว เป็นหน้าที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินเงินทอง ทั้งที่ท่าน ได้สละทรัพย์สิน มาบวชเป็นพระแล้ว ต้องไปดำเนินการ หลายๆ อย่าง บางครั้ง ต้องไปกำจัดบุคคล ออกจากวัด ออกจากอาคารของสงฆ์ บางครั้งต้องก่อให้เกิด ความเดือดร้อนแก่บุคคล ในวงกว้าง เช่น คดีฟ้องขับไล่บุคคล ที่อาศัยอยู่ในที่ดินวัด หรือบางครั้ง ต้องพิพาท แย่งชิงทรัพย์สินแทนวัด ทั้งที่เจ้าอาวาส น่าจะเป็นประธานของสงฆ์ เป็นที่เคารพสักการะ ของพระสงฆ์ในวัด และพุทธศาสนิกชน ที่เลื่อมใสศรัทธา ในวัดดังกล่าวนั้น รูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนคงไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก ว่าประสบ ผลสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไรและเพราะเหตุใดและจะแก้ไขประการใด ปัญหาดังกล่าวนี้ ขอมอบ ให้ท่านผู้รู้ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ดำเนินการต่อไป เพราะผู้เขียนเฝ้ามองถึงการแก้ไขปัญหา การปกครองคณะสงฆ์ มาเป็นเวลานาน และได้วิพากษ์วิจารณ์ มาพอสมควรแล้ว แต่ไม่มีสิ่งใด ที่จะบ่งบอก หรือชี้ชัดไปในทาง ที่จะแก้ปัญหาได้ดี และลุล่วงขึ้น เพราะเราไม่เอา พระธรรมวินัย มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังมีปัญหาอีกมากที่จะนำมาพิจารณาไม่มีวันหมด ผู้เขียนใคร่ขอวิงวอนท่านผู้รู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านได้พูดว่า ขอให้ถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก ถ้าไม่เป็นไป ตามพระธรรมวินัย ก็จะไม่ดำเนินการ ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ขอร้องรัฐ อย่าไปรับรอง คณะสงฆ์ใดๆ หรือไปควบคุม คณะสงฆ์ใดๆ อีกเลย เพราะการรับรองคณะสงฆ์ ก็เหมือนการควบคุม คณะสงฆ์ ดังกล่าวนั้นเอง คณะสงฆ์ดังกล่าว จะถูกยุบเลิกไป เพราะไม่มีผู้เลื่อมใสศรัทธา หรือ จะรุ่งเรืองขึ้น ก็ขอให้เป็นไปโดยธรรม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ของภิกษุ ในคณะสงฆ์นั้นๆ อย่าให้เกิดจาก การกระทำของรัฐ หรือของกฎหมายอีกเลย ฉะนั้น การตั้งวัด หรือพุทธสถาน หรือยุบวัด หรือพุทธสถาน การแต่งตั้งอุปัชฌาย์ การปกครองดูแล การลงโทษ การดูแลศาสนสมบัติ หรือที่กัลปนาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีพระธรรมวินัย กำหนดไว้ โดยชัดแจ้งแล้วทั้งสิ้น ขอรัฐบาลอย่าไปออกกฎหมาย รับรองคุ้มครอง หรือควบคุมใดๆ อีกเลย สาธุ...สาธุ...สาธุ... - เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ - |