ยิ่งหลงก็ยิ่งโลภ อสิตาภุชาดก


ความหลงทำให้คนขี้โลภ หลงการพนันก็โลภเงิน หลงสุราก็โลภเมา หลงรักก็โลภกาม

ภายในตระกูลอุปัฏฐาก (ผู้อุปถัมภ์ดูแลนักบวช) ตระกูลหนึ่ง ของพระอัครสาวกของพระศาสดา ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงสาวัตถี มีสาวรุ่นนางหนึ่งรูปร่างหน้าตาสะสวย ถึงพร้อมด้วยความงาม เป็นเลิศอาศัยอยู่

ครั้นถึงเวลาสมควร นางก็ได้แต่งงานไปสู่อีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งมีสกุลรุนชาติเสมอกัน จากนั้น ก็อยู่กินกันมา จนกระทั่งวันหนึ่ง...สามีเกิดไม่พอใจนางในเรื่องบางอย่าง เขาจึงออกเที่ยวเตร่ ไปยังที่ต่างๆ ตามใจชอบ

แม้นางจะโดนทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง แต่นางเองก็พยายามทำให้ไม่เดือดร้อนใจ ในการที่สามี ไม่ไยดีด้วย โดยไปนิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองมา เพื่อได้ถวายทาน ได้ฟังธรรม นางทำอยู่ อย่างนี้ จนกระทั่งสำเร็จมรรคผล ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน (อริยบุคคลขั้นต้น)

นับตั้งแต่นั้นมา นางก็ปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปด้วยความสุขในมรรคผล กระทั่งเกิด ความคิดว่า

"แม้สามีก็ไม่ได้ยินดีในตัวเรา และเราก็ไม่ชอบที่จะมีการงานทางฆราวาสต่อไปอีกแล้ว เราจะบวช"

ดังนั้นนางจึงบอกแก่บิดามารดา แล้วออกบวช เพ่งเพียรศึกษาให้บรรลุธรรมสูงขึ้น จนกระทั่ง ได้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด การกระทำของนางได้เล่าลือกันไปในหมู่ภิกษุ มีการสนทนากัน ในโรงธรรมว่า

"ดูก่อนท่านทั้งหลาย มีหญิงงามนางหนึ่งของตระกูลโน้น เป็นหญิงสาวผู้รู้จักแสวงหาประโยชน์ รู้ว่าสามีไม่ไยดีแล้ว พอได้ฟังธรรมของพระอัครสาวก ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลได้ แล้วยังออกบวช จนได้บรรลุอรหัตผลอีก หญิงนั้นนับว่าเป็นยอดแห่งผู้แสวงหาประโยชน์ ถึงอย่างนี้ทีเดียว"

พระศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร"

เมื่อภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

"หญิงสาวผู้นั้น จะแสวงหาประโยชน์ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็เป็นผู้แสวงหา ประโยชน์อย่างยอดเหมือนกัน"

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า...

.....................

ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี ได้มีชายคนหนึ่งบวชเป็นดาบส (นักบวชผู้บำเพ็ญตบะเผากิเลส) เพ่งเพียรทำอภิญญาสมาบัติ (คุณอันวิเศษ) ให้เกิดขึ้น อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์

ในช่วงเวลานั้นเอง พระเจ้าพรหมทัตทรงเกิดความระแวงในโอรสของพระองค์ ด้วยทรงเห็น ถึงการโลภ เห็นแก่ตัว และความพรั่งพร้อมทั้งทรัพย์ทั้งบริวารของพระโอรส ดังนั้นจึงหาเหตุ เนรเทศ พระโอรสออกไปจากแว่นแคว้น

พระโอรสจึงทรงพาพระเทวีของพระองค์ พระนาม ว่าอสิตาภู เดินทางรอนแรมไปด้วยกัน กระทั่งเข้าสู่ป่าหิมพานต์ พำนักอยู่ที่บรรณศาลา (ศาลามุงด้วยใบไม้กิ่งไม้) อาศัยปลา เนื้อและผลไม้เป็นอาหาร

อยู่มาวันหนึ่งทั้งสองเสด็จเที่ยวป่าด้วยกัน บังเอิญพระโอรสทอดพระเนตรเห็นกินรี (มี ๒ พวก คือ ๑.กายท่อนบนเป็นหญิงสาว กายท่อนล่างเป็นนก ๒. ร่างกายเป็นหญิงทั้งตัว จะไปไหน ก็ใส่ปีก ใส่หางบินไปได้) ที่งดงามนางหนึ่งเข้า ก็เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ คิดว่าจะจับนางกินรีนี้ไว้ เป็นชายา จึงติดตามร่องรอยของนางกินรีนั้นไป โดยมิได้ห่วงใยคำนึงถึงพระนางอสิตาภูเลย

ฝ่ายพระนางเมื่อเห็นเช่นนั้น ก็ทรงดำริว่า

"เจ้าพี่เสด็จตามนางกินรีไป ทิ้งเราไว้คนเดียว โดยไม่ใส่ใจไยดีเราเลย เช่นนี้เรายังจะต้องการอะไร จากพระองค์อีกเล่า"

จึงมีพระทัยคลายรักลง หันหน้าเดินตรงไปยังอาศรมของดาบส เมื่อเข้าไปหานมัสการ เรียบร้อยแล้ว ก็อ้อนวอนขอให้ดาบสช่วยบอกสอนการบริกรรมกสิณแก่ตน หลังจากนั้น ก็กลับมาอยู่ ที่บรรณศาลาของตน ฝึกฝนเพ่งกสิณเพื่อทำอภิญญาสมาบัติให้เกิดขึ้น

ส่วนพระโอรสเมื่อติดตามนางกินรีไป เที่ยวเสาะหาอย่างไรก็ไม่พบ จึงหมดหวัง ต้องมุ่งหน้า กลับคืนสู่บรรณศาลา พอกลับมาถึง...ทันทีที่พระนางอสิตาภูพบเห็นพระองค์เข้าเท่านั้น ก็ตรัสด้วยสุ้มเสียง ชัดเจนเด็ดขาดว่า

"ข้าแต่โอรสเจ้า หม่อมฉันได้รับความสุขอยู่ในอภิญญาสมาบัตินี้ ก็เพราะอาศัย พระองค์ นั่นแหละ ได้กระทำเหตุขึ้น บัดนี้หม่อมฉันปราศจากความรักในพระองค์หมดสิ้นแล้ว ความรักนั้น ถูกทำลายจนประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างถูกตัดขาดแล้วด้วยเลื่อย ฉะนั้น"

ครั้นพระนางอสิตาภูกล่าวจบแล้ว ก็ได้เสด็จจากไปในที่อื่น ทั้งๆ ที่พระโอรส ทรงกำลังแลดู พระนางอยู่ ด้วยพระอาการมึนงง ที่ตรงนั้นเอง เมื่อทรงได้สติรู้สึกตัว ก็ทรงคร่ำครวญ อย่างอาลัยอาวรณ์ว่า

"หากใครปรารถนามากเกินไป ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภเกินประมาณ และ ความมัวเมา อันเกิดจากความโลภเกินประมาณนั้นเอง เหมือนกับเราเสื่อมจาก นางอสิตาภู ฉะนั้น"

พระโอรสทรงอ้างว้างหงอยเหงา ประทับเพียงพระองค์เดียวอยู่ในป่านั้น นานกระทั่ง พระเจ้าพรหมทัต สวรรคตแล้ว ถึงได้เสด็จกลับไปครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี

.....................

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดง แล้วก็ตรัสว่า

"พระโอรสกับพระนางอสิตาภูในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในบัดนี้ ส่วนดาบสนั้นก็คือ เราตถาคตเอง"

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๑๗, อรรถกถาแปลล่ม ๕๗ หน้า ๔๔๔

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -