ความแตกต่างระหว่าง พาณิชย์บุญนิยม กับ ธุรกิจการเมือง

เหตุแห่งความไม่เจริญของบ้านเมือง ปัญหาใหญ่ก็คือการพยายามหาผลประโยชน์ จากโครงการของรัฐ

โครงการใหญ่ๆ ก็มักจะมี เลขา หรือนายหน้า หรือหลังบ้าน ยื่นข้อเสนอ ชัก ๕ ชัก ๑๐ ชัก ๒๐ ชัก สุดแต่ความโหดความเค็มของแต่ละคน

ครั้งหนึ่งเราคงได้ยินมาดาม ๑๐%

การเมืองที่มีธุรกิจเข้ามา ทั้งโจ๋งครึ่ม ทั้งแอบแฝง จึงทำให้ประเทศชาติของเราไม่ไปไหน

โครงการดีๆ ไม่เดิน เพราะยังตกลงผลประโยชน์ไม่ลงตัว

รัฐมนตรีดีๆ พังเพราะหลังบ้าน พังเพราะเลขาหน้าห้อง พังเพราะที่ปรึกษา ก็มีตัวอย่างให้เห็นๆ

แต่เราจะโทษบริวารเหล่านั้นไม่ได้ ต้องโทษตัวรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำ

เหมือนเด็กไม่ดี ต้องโทษพ่อแม่

วันนี้ของเมืองไทย ระดับความเข้มข้นของการคอรัปชั่น แม้ไม่ใช่ ๑ ใน ๓ ของโลก แต่ก็อยู่แถวหน้า ได้อย่างไม่เคอะเขิน

คนทำงานปราบคอรัปชั่น มักจะเป็นที่รังเกียจของนักการเมือง

พูดถึง วีระ สมความคิด จะมีนักการเมืองกี่คนที่ชื่นชม?

วันนี้ของชาวอโศก มีบุญนิยมในหลายๆ รูปแบบ

ท่านโพธิรักษ์สร้างคน คนสร้างเมือง

ท่านเน้นให้เป็นคนดี คนเสียสละก่อนอื่น

วันนี้ของชาวอโศก มีองค์กรบุญนิยมมากมาย

ด้านการศึกษา
ในแต่ละชุมชนให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวะ และ มหาวิทยาลัย แบบให้เปล่า

ด้านการศาสนา
การสร้างพุทธสถาน เพื่อเป็นที่พึ่งของญาติโยมตามจังหวัดต่างๆ ตามความเหมาะควร

ด้านการสื่อสาร
มีการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งแจกและขายในราคาถูก รวมไปถึงการตั้งวิทยุชุมชน

ด้านชุมชน/วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
สร้างชุมชนพึ่งตนถือศีล ๕ ละอบายมุข อยู่กันอย่างพี่น้อง

ด้านสุขภาพ
มีการตั้งสถานพยาบาลดูแลกันและกัน ชีวิตพึ่งเกิดแก่เจ็บตายกันได้

ด้านวิสาหกิจชุมชน
มีกิจกรรมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จนชุมชนแข็งแกร่งในด้านการเงิน และเป็นที่สาธารณะให้ ประชาชนมาเรียนรู้ฝึกฝนอาชีพ

ด้านการค้า-การพาณิชย์
มีทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง ในรูปของร้านค้าทั่วไปและรูปแบบบริษัท เน้นขายถูก ไม่ฉวยโอกาส ประณีต ประหยัด

ด้านการเงิน
สร้างกองทุนสำหรับผู้นิยมดอกบุญมากกว่าดอกเบี้ย มีกองทุนบริการให้กู้ยืมแก่หน่วยงาน แก่กิจกรรมของชุมชน ขององค์กรต่างๆ โดยไม่คิดดอกเบี้ย และดอกเบี้ยต่ำ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ให้แก่ฆราวาส ที่ถือศีล ๕ ละอบายมุข

ด้านการเมือง
อนุญาตให้ญาติธรรม ตั้งพรรคการเมืองโดยเน้นการเสียสละ การบำเพ็ญประโยชน์มากกว่า การลงสมัครรับเลือกตั้ง

โลก ณ พ.ศ. นี้ เศรษฐกิจเป็นใหญ่ ธุรกิจเป็นรูปธรรม เป้าหมายคือการแสวงหากำไร

เป็นความเจริญเติบโตของโลก

เป็นพระเจ้าของพ่อค้า แต่เป็นซาตานของประชาชน!

วันนี้ของการแสวงหากำไร กระจายยึดโลกทุกเหลี่ยมมุมทุกรูปแบบ

วัฒนธรรม การศึกษา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วิถีคิด การเมือง ตกอยู่ภายใต้มนต์ดำ ของธุรกิจ แสวงหากำไร

ธุรกิจต้องมีเบรก มีกติกา จึงจะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

กิจการด้านพาณิชย์บุญนิยมจึงเกิดกฎระเบียบขึ้นเพื่อให้เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการแอบแฝง หมกเม็ด ลำเอียง อคติ กติกามีดังนี้

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ร้านค้าของชาวอโศกทุกร้านติดธรรมนูญบุญนิยมไว้ มี ๔ กฎเหล็ก สำหรับกรรมการและพนักงานทุกคนดังนี้

ธรรมนูญบุญนิยมร้านค้าเครือข่ายชาวอโศก
๑. กรรมการ พนักงาน รวมไปถึงสามี ภรรยา (ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน) จะต้องไม่ผลิต หรือนำสินค้า มาให้ร้านค้าเครือข่ายชาวอโศกทุกแห่งจำหน่าย

๒. ญาติ ของกรรมการและพนักงาน ซึ่งได้แก่ลูก พ่อแม่ พี่น้อง ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ ก็จะผลิตหรือนำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านค้าที่บุคคลในข้อ ๑ ทำงานอยู่ไม่ได้เช่นกัน

๓. อาสาสมัครและญาติ จะต้องไม่ผลิตหรือนำสินค้ามาให้ร้านค้าที่อาสาสมัครนั้นๆ ช่วยงานอยู่จำหน่าย

๔. บุคคลที่กล่าวถึงในข้อ ๒ และ ๓ สามารถผลิต หรือนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้า ของเครือข่าย ชาวอโศกอื่นๆ ได้

* ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ท่านโพธิรักษ์เห็นการณ์ไกล ที่หวังจะให้ร้านค้าของชาวอโศก เป็นร้านค้าเสียสละจริงๆ หากกรรมการ หรือพนักงาน มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ก็จะก่อเกิดความยุ่งยาก และวุ่นวาย

ธุรกิจเล็กๆ ยังวุ่นวาย นับประสาอะไรกับธุรกิจระดับชาติ เพียงแต่นักการเมือง จะกล้าเสียสละ พอหรือไม่

คนเราเมื่อมีโอกาส ก็มักจะหาญาติมิตรเข้าไปดึงทึ้งหาประโยชน์ นี่คือความไม่เป็นธรรมในสังคม

แนวทางของชาวอโศกที่บัญญัติธรรมนูญไว้ เป็นแค่จุดเล็กๆ ใต้ขอบฟ้ากว้าง

แต่นักการเมืองก็น่าจะศึกษา และอาศัยเป็นแบบอย่างได้

หากไม่ติดยึดในผลประโยชน์

จำได้ว่าครั้งหนึ่ง พรรคพลังธรรมให้สมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรี แจ้งทรัพย์สินที่มีทั้งหมด ทั้งก่อนเข้าและเมื่อออกไปแล้ว

เป็นความน่าหมั่นไส้ของคนไม่อยากเปิดเผย

และวันนี้ ประเทศชาติได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง

มาดูกันต่อไปว่า จะมีนักการเมือง กล้าหาญ ท่านใดที่ไม่ยอมให้ญาติพี่น้อง เข้ามาหากิน ในโครงการของรัฐ

เรารอนักสู้ผู้กล้า ท่านนั้น !

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -