ใครคือชาวพุทธร่วมสมัย
-
ส.ศิวรักษ์ - *** มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์ มีชนมายุครบ ๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕ เมื่ออายุครบบวช ก็บวชพระ ซึ่งเท่ากับเข้าขั้นอุดมศึกษา โดยมักบวชกันตั้งแต่
๑ จนถึง ๔ พรรษา เป็นอย่างน้อย โดยที่ระยะกาลดังกล่าวช่วยอบรมบ่มนิสัยให้เข้าถึงความสงบระงับ
ทั้งทางพุทธธรรม และวัฒนธรรม ดังในช่วงพรรษา จะมีเทศน์กันทุกคืน ออกพรรษาแล้ว
มีการทอดกฐิน และกิจการงานบุญต่างๆ ซึ่งล้วนมีปริศนาธรรม ช่วยให้แต่ละคน
งอกงาม ทางสติปัญญา ด้วยกันทั้งนั้น ดังการก่อพระเจดีย์ทราย ก็ให้ทั้งคติธรรม
ในเรื่องนิจลักษณะ ที่พระทรายย่อมปลาสนาการไปได้ง่ายๆ คล้ายชีวิตเรา แม้เราจะบรรจงสร้าง
อย่างวิจิตร พิสดารเพียงใด แต่ทรายก็ได้ใช้ถมลานวัดให้เป็นประโยชน์ ยังปลูกต้นไม้ไว้ตามลานวัด
ก็ได้คติเตือนใจ ในทางฆราวาสธรรมด้วย กล่าวคือ ถ้าพืชพันธุ์ดี ปลูกลงไปในพื้นดินที่ดี
หรือไม่ดีก็ตาม พืชพันธุ์นั้นๆ ก็อาจปรับปรุงตนให้เข้ากับพื้นดิน จนงอกขึ้นมาได้
และแม้จะโดน แสงแดด และพายุร้าย ต้นไม้ก็คงสภาพไว้ได้ จนเติบใหญ่ แล้วแผ่กิ่งก้านสาขาออกไป
ให้ร่มเงาแก่มนุษย์และสัตว์ ทั้งยังให้นกกามาอาศัย นี้ฉันใด ฆราวาสธรรมก็ฉันนั้น
คือถ้าคนเรา มีสัจจะดุจดังพืชพันธุ์ที่ดี และมีทมะเท่ากับรู้จักปรับตัว แล้วได้ขันติ
อดทนต่ออะไรๆ ที่มาเบียดเบียนบีฑา แล้วเราก็เติบใหญ่ได้ เพื่อเจริญจาคะบารมี
ให้ได้เอื้ออาทร ต่อสรรพสัตว์ ดุจดังต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็นนั้นแล คนที่สึกหาลาเพศออกมา เมื่อผ่านอุดมศึกษาแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกคนพวกนี้ว่าบัณฑิต เท่ากับ ได้ปริญญาตรี ถ้าได้เรียนรู้ในทางคันถธุระจนอ่านพระพุทธวจนะได้ในทางภาษาบาลี จนสอบได้ เป็นเปรียญ ถึงสึกออกมาแล้ว คนก็ยังคงเรียกกันว่ามหา เท่ากับได้ปริญญาโท ถ้าได้ปฏิบัติตน ตามแนวทางของพระกรรมฐาน จนเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาธุระได้ แม้สึกออกมาแล้ว คนก็เรียก กันว่าอาจารย์ เท่ากับได้ปริญญาเอก โดยที่สมณฐานันดรของท่าน ที่ดำรง คงสมณเพศ ตลอดไปนั้น ชาวบ้านก็ตั้งกันเอง ให้เป็นสมภารเจ้าวัด ให้เป็นครูบา หรือให้เป็นสำเร็จ (สมเด็จ) เอาเลยก็มี แม้ในทางราชการ ก็ถวายสมณศักดิ์ให้เป็นพระครู สำหรับพระเถระ ผู้มีกิจในทางสั่งสอนศิษย์ หาไม่ก็โปรดสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะ เพื่อช่วยปกครอง สังฆมณฑล ให้ธำรงมั่นอยู่ในทางพระธรรมวินัย แต่เดิมมานั้น ไม่ว่าลูกเจ้าลูกไพร่ ล้วนได้มีโอกาสบวชเรียนมากันทั้งนั้น อย่างเท่าเทียมกันก็ว่าได้ เจดีย์ที่วัดราชสิทธาราม ๒ องค์นั้น เป็นพยานว่าสมเด็จพระญาณสังวร (ศุข) เจ้าอาวาสวัดนั้น เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าแผ่นดินถึง ๒ พระองค์ คือทั้งในรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ แต่ก็ทรงเป็น อุปัชฌาย์อาจารย์ของมหาชนทั่วไปอีกด้วย และแม้จนรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ แล้ว คนอย่างนายจิตร จากยโสธร ที่เดินมาจนโคราชแล้วจึงขึ้นรถไฟ มาเป็นเด็กวัด จนได้บวชเณร อยู่วัดบวรนิเวศ กับสมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น ก็สามารถแต่งกระทู้ธรรม แข่งขัน ได้คู่คี่กับสามเณร เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงรับ เป็นโยมอุปัฏฐาก บวชพระราชทาน เมื่อสามเณรจิตรอุปสมบท ณ วัดนั้น จนต่อมา พระมหาจิตร ลาสิกขาไปแล้ว ได้ไปงอกงามในราชการ จนเป็นพระยาอุดรธานี ยังบิดานายกุมุท จันทร์เรือง ซึ่งหนีจากบ้านที่สุพรรณบุรี มากับเรือโยง แล้วมาขึ้นอาศัยนอน ณ ศาลาหน้าวัด บวรนิเวศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ก็โปรดให้บวชร่วมสำนักกับ สมเด็จเจ้าฟ้าพระยุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ แม้จะสึกหาลาเพศไปด้วยกันทั้งคู่ สมเด็จเจ้าฟ้าชายก็ทรงพระกรุณา บิดานายกุมุท จันทร์เรือง ต่อมาจนตลอดชีวิต ในฐานะคนวัดเดียวกัน บวชเรียนร่วมสำนัก ในอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกันมา ท่านผู้นี้ก็ได้เป็นคุณหลวง แห่งกระทรวงยุติธรรม ประเพณีและพิธีกรรมในรอบปี มีพระและวัดเข้ามาเกี่ยวข้องฉันใด ประเพณีและพิธีกรรม ในรอบชีวิตของแต่ละคนก็เกี่ยวข้องกับพระศาสนาฉันนั้น แม้จะเจือปนระคนไปด้วยกับ ผีสางเทวดาและไสยเวทวิทยาบ้าง พุทธธรรมก็เป็นตัวนำ ดังพราหมณ์ในราชสำนักนั้น ก่อนอ่านศิวาไลยเปิดเขาไกรลาศ ให้พระอิศวรเป็นเจ้าลงมายังพื้นพสุธา พระครูพราหมณ์ ต้องรับศีล ๕ และไตรสรณคมน์เสียก่อน แม้สตรีจะขาดโอกาสในการบวชเรียน แต่ก็เข้าถึงพุทธธรรมได้หลายทาง ดังอุบาสิกาบางคน เป็นครูอาจารย์ในทางพระศาสนา แม้จนพระภิกษุสามเณร ก็ไปเรียนจิตสิกขาจากท่านกันก็มี เช่นอุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์ และท่าน ก. เขาสวนหลวง เป็นต้น แม้ท่านล้อม เหมะชะญาติ จะเป็นคหปัตตานี แต่ผู้คนแม้จนพระภิกษุสงฆ์ ก็ยกย่องท่านว่าเป็นดุจดังสมณะฉะนั้น สำหรับบุรุษ ผู้ไม่เคยบวชเรียนอย่างพระยาอนุมานราชธน เพื่อนฝูงก็ยกย่องท่านกันว่า เป็นดังพระ ในรูปแบบของฆราวาสนั่นเอง ดังกรณีของนายธรรมทาส พานิช ก็เช่นกัน น่าเสียดายที่สภาพแห่งความเป็นชาวพุทธของเราดังที่ได้กล่าวมานี้ ปลาสนาการ ไปเสียแล้ว โดยมากจากสังคมไทย ทั้งในแวดวงของวัดและบ้าน (อ่านต่อฉบับหน้า) -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗- |