ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
พาหนะของมนุษย์ เมื่อสิ้นยุคน้ำมัน

สังคมมนุษย์กำลังเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของสังคมยุคน้ำมัน โลกเรามีน้ำมันใช้ไปได้อีกเพียง ๔๒ ปี มีก๊าซธรรมชาติ ใช้ไปได้อีกเพียง ๖๔ ปี อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทย ไม่มีแหล่งน้ำมัน สำรองเลย ส่วนก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทย มีใช้ไปได้อีกเพียง ๒๐ ปี รถยนต์ที่เราใช้ ในการเดินทางเป็นพาหนะ ที่ต้องใช้น้ำมันแทบทั้งสิ้น คำถามจึงมีอยู่ว่า เมื่อสิ้นยุคน้ำมัน เราจะเดินทางกันอย่างไร ?


ในอีก ๔๐-๕๐ ปีข้างหน้าเราคงจะต้องเดินทางกันน้อยลง ไม่เดินทางบ่อย และพร่ำเพรื่อ เท่าปัจจุบัน เพราะไม่มีน้ำมัน หรือมีก็ราคาแพงมาก คนเราอาจจะต้องหันมา ติดต่อสื่อสารกัน ทางโทรศัพท์ หรือทางอินเทอร์เน็ต กันมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่า จะไม่มีพาหนะ ให้เราใช้เดินทาง ไปไหนมาไหน ปัจจุบันมีความพยายาม ในการหาเชื้อเพลิง ขึ้นมาทดแทนน้ำมัน หรือก๊าซ เพื่อใช้กับรถยนต์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น แอลกอฮอล์จากพืช น้ำมันพืชเป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ที่เราสามารถผลิต ขึ้นมาใหม่ ได้อยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ยังติดปัญาหาว่า ราคาของเชื้อเพลิงประเภทนี้ มีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันเสียอีก ทุกวันนี้รถยนต์ ก็ยังปล่อยมลภาวะ ออกมาอยู่ ซึ่งต้องอย่าลืม ด้วยว่า ปัญหามลภาวะ และสถานะการณ์ โลกร้อนจะเป็นปัญหาใหญ่ อีกปัญหาหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้


ถ้าไม่นับช้างม้าวัวควายที่สามารถเอามาขี่หรือเทียมเกวียนไปไหนมาไหน "จักรยาน" ดูจะเป็น พาหนะ สุดคลาสสิก เหมาะสมที่สุด สำหรับโลกเมื่อสิ้นยุคน้ำมัน ที่ทุกคนสามารถ มีไว้ใช้ได้ ราคาก็ไม่แพงขอเพียงมีแรง ถีบเจ้าจักรยาน ก็จะพาเราไปทุกที่ เพียงแต่เราไม่รวดเร็วทันใจ และสะดวกสบายเหมือนรถยนต์เท่านั้น


ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรป จักรยานกลายเป็นพาหนะสำคัญในการเดินทางที่เขาจะใช้ ในชีวิตประจำวัน แม้เดินทาง ไปทำงาน ชาวอิตาลีจะใช้จักรยานถึงร้อยละ ๔๓ ของเที่ยว เดินทาง ชาวเดนมาร์ค และเนเธอร์แลนด์ ใช้จักรยาน ร้อยละ ๑๐ ของเที่ยวเดินทาง หากมีความจำเป็น ต้องใช้รถยนต์ เขาก็จะจอดจักรยานไว้ แล้วใช้รถโดยสาร สาธารณะต่อไป หรือไม่เขาก็เอา รถจักรยานขึ้นรถโดยสารไปด้วย โดยเฉพาะรถโดยสารระหว่างเมือง เขาจะมี ที่เก็บรถจักรยาน ไว้ด้านท้ายรถ พอไปถึงอีกเมืองหนึ่ง ก็ใช้จักรยานได้เลย


เป็นที่น่าสังเกตว่าหากไหนมาไหนไม่ไกลนัก วิธีที่ชาวยุโรป หรือแม้แต่ชาวอเมริกัน และ แคนาดานิยม คือการเดิน ชาวอิตาลี ใช้วิธีการเดินถึงร้อยละ ๔๓ ของเที่ยวการเดินทาง ชาวสวีเดน ร้อยละ ๒๑ ส่วนอเมริกาและแคนาดาร้อยละ ๑๑ ผิดกับคนไทย ปัจจุบันอะไรนิด อะไรหน่อย ก็มอเตอร์ไซค์รับจ้าง


ตามต่างจังหวัด ตามชนบท หรือหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เราน่าจะหันมาใช้จักรยาน กันมากขึ้น แทนที่จะใช้มอเตอร์ไซค์ ถ้าจะว่าไปแล้ว การเดินทางระยะที่ไม่ไกลนัก เวลาที่ใช้ในการเดินทาง โดยจักรยาน หรือรถยนต์จะแตกต่างกันไม่มากนัก จักรยานในปัจจุบัน ก็การออกแบบ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหลายรุ่น หลายแบบไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มเอ็กซ์ จักรยานจ่ายตลาด เสือหมอบ เสือภูเขา มีการใช้เกียร์ทดเพื่อช่วยทุนแรงและและเพิ่มความเร็ว


นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีการออกแบบชุดขับเคลื่อนไฟฟ้าสำหรับจักรยานขึ้นมา ทำให้การใช้ จักรยาน ได้รับความสะดวกสบาย ทุ่นแรง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ชุดขับเคลื่อนไฟฟ้า สำหรับ จักรยานนี้ จะประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ชนิดแห้ง และชุดควบคุม ระบบไฟฟ้า หลักการทำงานก็คือ ในยามที่เราถีบจักรยาน ด้วยสองขา ของเราเอง ตัวชาร์จแบตเตอรี่ก็จะชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่เก็บไว้จนเต็ม พอถีบจักรยาน ไปไกลสักหน่อย หรือต้องปั่น ขึ้นเนินสูง เมื่อเริ่มรู้สึกหมดแรง เราก็ปล่อยให้ มอเตอร์ไฟฟ้า ทำงาน มอเตอร์ไฟฟ้า จะเป็นตัวขับเคลื่อน ให้จักรยานเคลื่อนที่ไปได้เอง โดยใช้พลังงาน จากแบตเตอรี่ ที่ชาร์จไว้ ชุดขับเคลื่อนนี้ สามารถขับเคลื่อน จักรยานไปด้วย ความเร็วถึง ๓๐ กม.ต่อชั่วโมง เป็นระยะทางกว่า ๓๐ กม.จึงต้องกลับมาปั่นสองขา เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ อีกครั้งหนึ่ง


สำหรับคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชายที่รักสวยรักหล่อ ไม่ชอบความอ้วน ก็ไม่ต้องไปเสียเงิน ซื้ออุปกรณ์ แอบโดมิไนเซอร์ที่ไหน ถ้าขี้เกียจ ออกไปตากแดดตากลม ก็เอาจักรยานคันโปรด ขึ้นขาตั้ง ปั่นออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน แต่ก็อย่าให้เสียพลังงาน ไปโดยเปล่าประโยชน์ เอาชุด ขับเคลื่อนไฟฟ้า ติดตั้งเข้าไปด้วย เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ไว้ให้เต็ม เมื่อออกจากบ้าน ก็สามารถ เดินทาง ด้วยจักรยานมอเตอร์ไฟฟ้าไปได้เลย


จักรยานมอเตอร์ไฟฟ้านี้อันที่จริงก็คือจักรยานพลังไฟฟ้านั้นเอง เพียงแต่ว่าแบตเตอรี่ และ มอเตอร์ไฟฟ้า มีขนาดเล็ก เพียงเพื่อมีไว้ผ่อนแรง หากเราออกแบบให้มอเตอร์ ที่ใช้ขับเคลื่อน มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะสามารถให้พลัง ขับเคลื่อนพาหนะ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเคลื่อนที่ ไปได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้นด้วย เพื่อเก็บไฟได้ มากขึ้น ซึ่งก็คือจักรยานไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง แต่จักรยานไฟฟ้า จะมีข้อดีกว่าตรงที่ ในขณะเดินทาง เราในฐานะผู้ขับขี่ สามารถชาร์จไฟ เข้าแบตเตอรี่ได้ทันที ด้วยการปั่นจักรยาน โดยไม่ต้องหยุดเดินทาง แต่ถ้าเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรี่ ใกล้จะหมดไฟ เราต้องหยุดการเดินทาง เพื่อชาร์จแบต หรือเติมไฟฟ้า เหมือนการหยุดเติมน้ำมัน แต่ใช้เวลานานเป็นชั่วโมง


หลายประเทศในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น บริษัทผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ เริ่มผลิตรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า ออกมาจำหน่าย อย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว สำหรับประชาชนคนใช้รถ ก็เริ่มมีทางเลือก ที่ต้องตัดสินใจว่า จะเลือกใช้รถยนต์ ที่ใช้น้ำมัน หรือรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า เพราะรูปร่างหน้าตา และประสิทธิภาพ ของรถไฟฟ้าก็ดี วันดีคืนขึ้นทุกวัน สำหรับ ประเทศไทยนั้น ก็เริ่มมีบริษัทของคนไทยเอง ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า ออกมาจำหน่ายแล้ว ถึงแม้รูปร่างหน้าตา และประสิทธิภาพ จะยังไม่เทียบเท่า รถยนต์ต่างประเทศ แต่เป็นสิ่งที่น่าชมเชย และเราคนไทย ควรให้การสนับสนุน


รถยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะที่ไม่ปล่อยควันพิษและไม่บริโภคน้ำมัน แต่ก็มีประเด็นหนึ่ง ที่คนใช้รถไฟฟ้า ควรคำนึงด้วยคือ แหล่งที่มาของพลังงาน ที่ใช้เติมไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ ปัจจุบัน เมื่อแบตเตอรี่หมด เราจะต้องนำแบตเตอรี่ มาชาร์จไฟ กับไฟฟ้าตามบ้าน เหมือนกับ ที่เราชาร์จแบตเตอรี่มือถือ ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้ถึงที่สุด ไฟฟ้าที่เราใช้ชาร์จ ก็ผลิตมาจาก น้ำมันอยู่ดี แต่เรื่องนี้มีทางออกก็คือ หากที่บ้านหรือสำนักงานของเรา ได้ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งนอกจากเรา จะนำไฟฟ้าไปใช้ในบ้านเรือน แล้วเราก็นำมาชาร์จ กับแบตเตอรี่รถไฟฟ้าได้ด้วย รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยสมบูรณ์


มาถึงตรงนี้เราสองไปดูที่โรงรถของเราสิว่า มีรถอะไรจอดอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่เจอรถจักรยานสักคัน เห็นทีจะต้อง ตรวจสอบวิสัยทัศน์ ของเราเสียใหม่ได้แล้ว

(ข้อมูลจากวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗-