การตีความ ทักษิโณมิก ของนักเศรษฐศาสตร์ไทย

บทความพิเศษ โดย ชวนชัย อัชนันท์ แก้วสรร อติโพธิ ถอดความ
โดยมติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๒-๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖


นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในบานเราเป็นต้นมา คนธรรมดาสามัญอย่างผม ก็ไม่เคยเชื่อมั่น ตัวเลข จีดีพี หรือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ขาดคำอธิบาย หรือคำรับรองลอยๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ไทย ที่น่าสนใจยิ่งปรากฏตัวครั้งแรก ในบทวิเคราะห์ภาคภาษาอังกฤษ ของท่าน ดร.ชวนชัย อัชนันท์ อดีตที่ปรึกษารัฐบาลท่านนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ นี้นี่เอง

ความรู้สึกแรกของผมหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ก็คือ "ตายล่ะวา...มันเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่านผู้เขียนชี้แจงว่า ท่านเขียนเป็นไทย สื่อถึงคนไทยทุกวันนี้ ไม่ถนัดเท่าใดนัก ผมจึงตัดสินใจ ขออนุญาตท่าน ถอดความเป็นไทย นำมาเผยแพร่ ในหนังสือพิมพ์ไทย ด้วยตัวเองจนได้ จะถูกผิดคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็ให้เป็นความรับผิดชอบ ของผมเอง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทถอดความนี้จะช่วยเป็น "ตัวตั้ง" ให้ผู้รู้ได้กระตือรือร้น ช่วยกันวิพากษ์ วิจารณ์ เสริมต่อ หรือท้วงติง ให้เป็นคุณทางความคิด แก่บ้านเมืองตามสมควรต่อไป ดังที่ผม จะขอถอดความนำเสนอโดยลำดับดังนี้


ทักษิโณมิก : การปรับแต่งของเก่า มาแสดงในแกลลอรี่ใหม่
คำว่า "คิดใหม่ ทำใหม่" นั้น แม้จะฟังดึงดูดใจสักเพียงใด ก็ยังเป็นเพียงคำขวัญ ที่แปรให้เป็น ความจริง ทางเศรษฐกิจไปไม่ได้

โดย ชวนชัย อัชนันท์ แก้วสรร อติโพธิ ถอดความ

ข้อถกเถียงไต่ถามถึงมาตรการทางเศรษฐกิจ นานาประการของรัฐบาล ท่านนายกฯ ทักษิณ ในทุกวันนี้ ดูจะเป็นเรื่องซับซ้อน พิสดารขึ้นทุกวัน เหตุทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะเราท่านทั้งหลาย ได้หลงลืมที่จะสังเคราะห์ให้ลึกซึ้ง ไปถึงทฤษฎีเศรษฐกิจ ที่สะท้อนอยู่ในความคิด ของท่านนายกฯ เป็นสำคัญ

สำหรับคนธรรมดาสามัญนั้น งานสังเคราะห์ความคิดจากโจทย์ของจริงเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ยาก และเข้าใจกันได้ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมจึงเป็นเรื่องยาก สำหรับวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ไปด้วย

นักวิจารณ์ขาประจำทุกวันนี้พากันมุ่งวิพากษ์ไปที่ "ความสุ่มเสี่ยง" ในมาตรการนานาประการ ของพรรคไทยรักไทย เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค, โครงการพักหนี้ เกษตรกร, โครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ทุกโครงการล้วนแต่ ถูกทุ่มวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเวลากว่าสองปี ไปที่ความสุ่มเสี่ยง ของโครงการทั้งหลายทั้งสิ้น

เพื่อให้ขาประจำเหล่านี้สับสนหนักขึ้น ท่านนายกฯ ก็ยิ่งริเริ่มโครงการใหม่ๆ ให้มากขึ้นไปอีก ทำให้งานวิเคราะห์วิจารณ์ มาตรการของรัฐบาล กลายเป็นงานที่ดูใหญ่มหึมา หนักหนา เป็นยิ่งนัก จนแม้กระทั่งฝ่ายค้านทุกวันนี้ ก็ดูเหมือนจะหมดแรง และยอมจำนน ในการยึดครอง เกมของรัฐบาลไปเสียแล้ว

อันที่จริงแล้ว "เศรษฐกิจทักษิณ" นั้นหาได้มีอยู่จริงในโลกนี้แต่อย่างใดเลย ท่านนายกฯ เอง ก็หาใช่อัจฉริยะ ทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ ท่านเพียง แต่หยิบยืม แนวคิดมาจาก อดีตประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ของสหรัฐอเมริกา เท่านั้นเอง

คงจะจำกันได้ว่า ในช่วงเศรษฐกิจอเมริกันได้ตกต่ำอย่างหนักเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๔ จนส่งผล เกิดเป็นความตกต่ำ ไปแล้วทั่วโลกนั้น ประธานาธิบดี Roosvelt ท่านก็ได้ผลักดัน ให้เกิด การจ้างงานไปทั่วประเทศ ด้วยมาตราการต่างๆ ตามโครงการ New Deal (คิดใหม่ ทำใหม่?) โดยมุ่งหวังว่า จะส่งผลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของประเทศให้จงได้

ซึ่งต่อมาภายหลังแนวความคิดนี้ ก็ได้ตกผลึกเป็นทฤษฎีของ John Maynard Keynes ในหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money" เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๖ ในที่สุด

หลายปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลหลายประเทศในโลก ต่างก็ถือเอาแนวทางนี้ เป็นเยี่ยงอย่าง พากันกำหนด นโยบายทางการเงินการคลัง นำพาเศรษฐกิจประเทศของตน ให้พ้นจาก ความตกต่ำ ทางเศรษฐกิจ กันอย่างกระตือรือร้น แทบทุกครั้งไป

จนในต้นปี ค.ศ. ๑๙๙๐ แนวทางกู้เศรษฐกิจเช่นนี้ก็ได้พบกับความเป็นจริง เมื่อได้นำพา รัฐบาลทั้งหลาย เข้าสู่ภาวะหนี้สิน อันหนักหน่วง เช่น กรณีของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ต้องโงหัว ไม่ขึ้นมากกว่าสิบปี เหตุเพราะรัฐบาลหมดปัญญา ที่จะอัดฉีดเศรษฐกิจ อีกต่อไปแล้วนั่นเอง

ความจริงของข้อจำกัดดังกล่าวนี้ได้ถูกชี้บ่งไว้แล้วในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อ Paul Anthony Samuelson นักเศรษศาสตร์ รางวัลโนเบล คนแรกของโลก ได้ชี้บ่งไว้ในบทความทางวิชาการของเขาว่า ลำพังแต่ "ตัวคูณ" นั้นไม่อาจเป็นตัวกำหนด ความเติบโต ทางเศรษฐกิจได้เลย Samuelson ได้อ้างอิงถึงแนวคิดของ Alvin Hansen ว่ากุญแจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะต้องอยู่ที่การผนึกกำลัง ทั้งของตัวคูณ และตัวเร่ง เข้าด้วยกัน ให้จงได้เป็นสำคัญ

"ตัวคูณ" ที่ว่านี้ในทางเศรษฐศาสตร์ก็หมายถึงมาตรการที่เน้นไปยังการบริโภคจับจ่ายใช้สอย ของชาวบ้าน นั่นเอง

ส่วน "ตัวเร่ง" ก็หมายถึงการเน้นไปยังการลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชน ถ้าทั้งสองตัวนี้ เดินไปด้วยกัน เมื่อใด Samuelson ก็สามารถพิสูจน์ ให้เห็นด้วยตาราง และแบบการคำนวณ เพียงสองชุดเท่านั้นว่า จะเกิดความจำเริญ ทางเศรษฐกิจได้ยิ่งกว่า การพึ่งพาการบริโภค ของผู้คน แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มาเกี่ยวโยงกับ "ทักษิโณมิก" ที่ตรงไหน? ปัญหานี้ก็หาได้ยาก ต่อการสืบสาว แต่อย่างใดไม่

ในเบื้องแรกก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ท่านนายกฯได้วางแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการ ทางด้าน การบริโภคก่อน จากนั้น ก็คิดไว้ว่า จะกระตุ้นการลงทุน ของภาคเอกชน ซ้ำลงไป อีกระลอกหนึ่ง

การกระตุ้นซึ่งการบริโภคของผู้คนนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ดีอีกเช่นกันว่า เงินก้อนเดียวกันนั้น ถ้าให้เลือกว่าจะให้แก่คนจน หรือคนรวยแล้ว คนจนน่าจะนำไปจับจ่าย ใช้สอย เป็นคุณแก่ เศรษฐกิจ ได้ดีกว่าคนรวย ตรงจุดนี้นี่เอง คือที่มาของโครงการ อัดฉีดเงินไปสู่ "รากหญ้า" ทั้งหลาย โครงการเหล่านี้ นอกจากจะกำหนดโดยแนวคิดทางเศรษฐกิจแล้ว ในทางการเมือง ก็ยังให้ประโยชน์ เกิดเป็นความนิยม ได้มากมายยิ่ง รัฐบาลสามารถยืดได้เต็มภาคภูมิว่า ได้ให้ความสำคัญสูงสุด แก่คนยากคนจน

ฝ่ายค้านหรือเอ็นจีโอโผล่มาวิพากษ์เมื่อใด ก็ต้องงันไปทั้งสิ้น เมื่อถูกถามว่าเคยเห็นรัฐบาลไหน รักคนยากจน เช่นนี้บ้างไหม?

ยกที่หนึ่ง... ยกนี้เป็นของพรรคไทยรักไทย

ครั้นเมื่อหันมากระตุ้นการลงทุนในยกที่สอง รัฐบาลก็ต้องพบกับปัญหาหนักอกยิ่งนัก "ตัวเร่ง" เศรษฐกิจตัวนี้ ไม่ทำงาน มาหลายปีแล้ว เพราะไม่มี การลงทุนใหม่ๆ ปรากฏขึ้นเลย ดังสำนักงาน เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเอง ก็ได้รายงานไว้ว่า ทุกวันนี้ ภาคอุตสาหกรรม ยังทำงาน ได้ไม่เต็มศักยภาพที่มี คือทำได้เพียง ร้อยละหกสิบเท่านั้น

สาเหตุสำคัญของการนี้ ก็อยู่ที่ความจมปลักของภาคอุตสาหกรรม ในปัญหาหนี้สิน จากวิกฤติ เศรษฐกิจนั่นเอง และตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถปลดเปลื้อง กิจการเหล่านี้ให้หลุดพ้น จากระบวนการล้มละลาย หรือฟื้นฟูกิจการได้เช่นที่ควรเลย นี่คือปัญหา ที่ยังคาราคาซังอยู่ ในทุกตาราางนิ้วของภาคอุตสาหกรรม ไทยทั้งประเทศ

ทางตันเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายถูกกฎหมายบุริมสิทธิ์ของไทย ห้ามโดยปริยาย มิให้ปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่ แก่ผู้ประกอบการ เว้นเสียแต่ว่า จะยอมสูญหนี้ เป็นรอบที่สองเท่านั้น คู่ค้ารายใหญ่และธนาคารพาณิชย์ จึงถูกตัดขาดจากกัน จนทุกวันนี้ ดอกเบี้ยเงินฝาก จึงต่ำลง ต่ำลง จนติดดิน ท่ามกลางสภาพคล่อง ที่ล้นเหลือของธนาคาร

จุดนี้อีกเช่นกันที่เป็นคำอธิบายว่าเหตุใด รัฐบาลจึงหันไปทุ่มเทส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ราวกับว่า เป็นแชมเปี้ยน ที่กู้ชาติได้ ทั้งๆ ที่ผลผลิตโดยรวมของบริษัทเหล่านี้ มีเพียงไม่เกินร้อยละสิบ ของมวลรวมเท่านั้น จึงไม่อาจยังผลกระตุ้น ความเจริญโดยรวม อย่างมีนัยสำคัญได้

จุดอับเช่นนี้นี่เองที่เป็นกำเนิดของบรรดาโครงการ "เอื้ออาทร" ทั้งหลาย ทั้งบ้านเอื้ออาทร และแท็กซี่เอื้ออาทร ซึ่งล้วนแต่โชคไม่ดี ที่บรรดา ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ไม่ยอมเข้าร่วม รับความเสี่ยงนี้ จนภาระต้องตกแก่ธนาคารขาประจำ คือธนาคารกรุงไทย ทำให้โครงการ ไม่ไหลลื่น ไปได้ดังหวัง

ยกที่สอง...ทั้งนักวิพากษ์ประจำและพรรคไทยรักไทย ได้คะแนนเสมอกัน

ในโลกความเป็นจริงนั้นการกระตุ้นการบริโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อมมีขีดจำกัด อยู่อย่างแน่นอน ซึ่งนายกฯ ก็ดูจะตระหนักในข้อนี้ดี แม้ท่านจะพยากรณ์ไว้ อย่างทระนง องอาจว่า เศรษฐกิจไทยจะโตร้อยละ ๖ ในปีนี้, ร้อยละ ๘ ในปีหน้า และร้อยละ ๑๐ ในปีถัดไป ก็ตาม แต่ท่านก็หลีกเลี่ยง ไม่พูดถึงสิ่งที่ยากลำบาก คือการกระตุ้นการลงทุน ของภาคเอกชน เลย กุญแจที่ทำให้ท่านกล้าพยากรณ์ เช่นนั้น แท้ที่จริงก็คือ การลงทุน ของภาครัฐนั่นเอง

ด้วยเหตุดังกล่าว ในระยะหลังนี้ เราท่านทั้งหลายถึงได้เริ่มคุ้นเคยกับคำประกาศ ของรัฐบาล ที่ว่า ประเทศชาติ จะเจริญได้ ก็ด้วยการทุ่มเทพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ให้ดียิ่งขึ้น ไปอีก โดยในสี่ปีข้างหน้า รัฐบาลจะอัดฉีด เงินลงทุน ในโครงการเหล่านี้ รวมแล้ว กว่าสี่แสนล้านบาท

เมื่อได้ยินคำประกาศนี้ บรรดานักวิจารณ์ขาดประจำทั้งหลายต่างก็พร่ำวิจารณ์กัน ในระยะยาวว่า เศรษฐกิจของชาติ จะไปได้อย่างไร ในเมื่อมีแต่รัฐ เข้ามาเป็นนักลงทุนอย่างนี้ การลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชนทั้งไทย และเทศอยู่ที่ไหน ใจคอจะไม่ให้มีที่ยื่นเลย หรืออย่างไร

คำถามเหล่านี้แม้รัฐบาลจะคิดตามและเริ่มรู้สึกสนุก ว่ากำลังถูกอำเข้าแล้วก็ตาม แต่เมื่อ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จีดีพีในปีนี้ น่าจะโตได้จริง ถึงร้อยละหก อย่างแน่นอน กรณีก็น่าจะยุติ เป็นชัยชนะได้แล้วปีหน้า หรือปีโน้น จะโตได้ดังเป้าหรือไม่ ก็ยังไม่น่า จะวิเคราะห์วิจารณ์ กันไปให้เกินกว่าเหตุ เพราะยังมีความไม่แน่นอน อยู่อีกหลายปัจจัย ปีนี้ได้ตามที่คาดไว้ ก็น่าจะถือเป็นความสำเร็จแล้ว

จึงควรเชื่อกันได้แล้วว่า อนาคตนั้นต้องสุกใสอีกต่อไปแน่ๆ

ยกที่สาม...คะแนนกลับมาเป็นของพรรคไทยรักไทย

มาถึงสิ้นยกนี้ ถ้าจะมองกันตามจริงแล้ว การที่ท่านนักวิจารณ์คนสำคัญทั้งหลาย เริ่มเงียบเสียงลงไปบ้างนั้น แท้ที่จริง ก็หาได้เป็นเพราะ ถูกรัฐบาลปิดปากแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นเพราะความเหนื่อยอ่อน ที่จะต้องพร่ำวิพากษ์วิจารณ์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุน ของรัฐบาล อย่างจำเจซ้ำซากนั่นเอง ตัวท่านนายกฯ เองนั้น ท่านก็ยึดอยู่กับ เทคนิค ที่ใช้ความเสี่ยงสูง เพื่อได้ผลลัพธ์สูง จาการเน้นที่การบริโภค ของผู้คนในบ้านเมือง มาตลอด ลึกๆ แล้วท่านก็ต้องหวัง และมองหาสัญญาณที่ดี มีชีวิตชีวา จากภาคเอกชน อยู่ตลอดเวลา เช่นกัน

เป็นไปได้ว่า ตัวท่านเองอาจเชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวมาถึงระดับหนึ่งแล้ว การลงทุน จากภาคเอกชน ทั้งไทยและเทศ ก็น่าที่จะฟื้น คืนมาช่วยชาติได้ ซึ่งความโหยหา จากส่วนลึก เช่นนี้ พิเคราะห์แล้วก็นับว่าเปราะบางมาก เนื่องจากเป็นความหวัง ที่ไม่มีทาง จะเป็นจริง ขึ้นมาได้ โดยฝีมือของภาครัฐ แต่เพียงลำพังเลย

ทุกวันนี้ยังมิได้มีเหตุผลใดมาสนับสนุนให้สรุปกันได้เลยว่า ลำพังแต่การเติบโตของจีดีพี จะยังผลกระตุ้น ให้เอกชนลงทุนได้ ความเติบโต เช่นที่ป่าวประกาศกันอยู่ จึงเป็นเพียงหน้าฉาก ของเศรษฐกิจไทย ที่ยังต้องตกอยู่ในความอับจน สิ้นหนทางอยู่ ตราบจนทุกวันนี้ เท่านั้น

ท้ายนี้หาจะหันไปพิจารณาถึงคำประกาศ ของรัฐบาลที่ว่า จะขจัดความยากจน ภายในหกปี ดูบ้าง ก็จะพบได้ว่า แม้ประเทศนี้ จะได้พยายามขจัดความยากจน มาเป็นเวลากว่าสี่สิบปี และได้ผลมาในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ความสำเร็จ โดยสิ้นเชิงนั้น ก็น่าจะมีได้ แต่ในโลก แห่งความฝันเท่านั้น จนแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังต้องมีคนจน อยู่จำนวนหนึ่งเสมอ

คำกล่าวที่ว่า "สิ่งที่เกินจริงย่อมอยู่ได้ไม่นาน" คงจะพิสูจน์ตัวตนที่เย็นชาอีกครั้งหนึ่ง ในอีกไม่ช้า ไม่นานเท่าใดนัก

หากคำประกาศซึ่งความรุ่งเรืองของบ้านเมืองของพรรคไทยรักไทย มาถึงจุดอับจน ไม่อาจทำ ให้เห็นเป็นจริง ได้ต่อไปอีกเมื่อใด เศรษฐกิจไทย ก็คงจะต้องดำดิ่งลงไป สู่ความมืดมิดที่มืดดำ ยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ คราวที่แล้วเป็นแน่แท้

นี่คือปาฏิหาริย์ที่คนไทยต้องเฝ้ารอ... รอด้วยแข้งขาที่สั่นระริกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันหรืออย่างไร?

คำทำนาย : ยกสุดท้าย...

นักวิพากษ์ขาประจำ จะชนะน็อกเอาต์ ไทยรักไทย.

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗-