กติกาเมือง -
ประคอง เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ช่วยกันคิด ผู้เขียนตั้งใจจะไม่เขียนบทความในทำนองเสนอปัญหาความไม่ถูกต้องโดยไม่ชี้แนะ ถึงต้นตอ แห่งปัญหา และวิธีการ แก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ เพราะถ้าไม่พยายาม แยกแยะให้ชัดเจนแล้วความเสียหายจะติดตามมา โดยเฉพาะบุคคล ที่พบเห็นบทความ ดังกล่าวนี้ จะมองกลุ่ม หรือคณะผู้ที่บริหารกิจการพระพุทธศาสนา ว่าไม่พยายาม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่ผู้เขียน ทำงานอยู่ในกระบวนการ ยุติธรรมแล้ว ยิ่งมีโอกาส จะพบกับปัญหา ข้อพิพาท ที่นำขึ้นสู่การพิจารณา ของศาล ยุติธรรม เป็นประจำ โดยเฉพาะ ในเดือนเมษายนนี้ผู้เขียนจะต้องย้ายไปรับราชการ ในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ขณะที่ดำรงตำแหน่ง อยู่ที่ศาลจังหวัด นครศรีธรรมราช มีปัญหา จำนวนมากขึ้น สู่ศาลโดยเฉพาะ ที่พิพาทเกี่ยวกับ สิทธิและหน้าที่ ของบุคลากร หรือ อำนาจหน้าที่ ของหน่วยงาน ในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ วัดวาอารามต่างๆ และ พระภิกษุฝ่ายปกครอง จึงใคร่เสนอแนะ ข้อเท็จจริง เพื่อเป็น อุทาหรณ์สอนใจ หรือเป็นตัวอย่าง ให้แก่ผู้ที่เข้ามามีส่วน ในการบริหารกิจการ ของพุทธศาสนาต่อไป และเพื่อจะชี้ ให้ทุกคนเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไข ผู้ใดอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชย่อมจะต้องรู้จักวัดเสมาเมือง เพราะว่าเป็นวัดเก่าแก่ ในทาง พระพุทธศาสนา ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชมาเป็นเวลาช้านาน วัดเสมาเมือง ได้ยื่นฟ้อง มูลนิธิประชาร่วมใจ เป็นจำเลยว่า มูลนิธิประชาร่วมใจทำสัญญาเช่าที่วัดเสมาเมือง โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย และให้ขับไล่มูลนิธิประชาร่วมใจ ออกจากวัดเสมาเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดเสมาเมืองก็ดี มูลนิธิประชาร่วมใจก็ดี น่าจะอยู่ร่วมกันได้ เพราะวัด และมูลนิธิ ต่างก็มี วัตถุประสงค์ เพื่อจรรโลงไว้ ซึ่งมนุษยชาติ และพิทักษ์รักษาสังคม ให้อยู่ร่วมกัน โดยสันติสุข เช่นเดียวกัน ไม่น่าที่จะขัดแย้งกัน เพราะต่างก็ทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน อีกทั้ง ได้ความว่า มูลนิธิประชาร่วมใจเอง ก็มีพระบุญฤทธิ์ หงษ์ประสาธน์ เป็นประธานมูลนิธิ ขณะทำสัญญาเช่าที่ กับวัดเสมาเมืองนั้น มีพระมหาสุพิน คุณวโรเป็นเจ้าอาวาส และ ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ฝ่ายมหานิกายด้วย แต่ขณะยื่นฟ้อง คดีนี้มี พระครูกิตติพิบูลย์ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ต่อมา ขณะพิจารณาคดีนี้ เจ้าคณะตำบล คลัง มีคำสั่งแต่งตั้ง ให้พระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัด นครศรีธรรมราช ฝ่ายมหานิกาย เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ มีการฟ้องกล่าวหาว่า มีการนำที่วัดออกให้เช่าโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ซึ่งตามระเบียบ กรมศาสนานั้น ถ้านำที่วัดออกให้เช่าเกิน ๓ ปี ทางวัดต้อง ดำเนินการขออนุญาตจาก กรมศาสนา และ กรมศาสนาจะนำเข้าที่ประชุมของ มหาเถรสมาคม คดีนี้เดิมพระมหาสุพิน เสนอให้มูลนิธิประชาร่วมใจ เช่าที่ดิน วัดเสมาเมืองจำนวน ๑ ไร่ ๓ งาน ๘ ตารางวา เป็นระยะเวลา ๓๐ ปี แต่กรมศาสนาและ มหาเถรสมาคม ได้อนุมัติ ให้เช่าเพียง ๔๑.๘ ตารางวา แต่เมื่อไปจดทะเบียน การเช่า ฝ่ายมูลนิธิ และตัวแทนของวัด กลับมี สัญญา ให้มูลนิธิอาศัย หรือใช้ประโยชน์ ในที่ดินส่วนอื่นของวัด นอกจากที่เช่าได้ ซึ่งการให้อยู่อาศัย ดังกล่าว ไม่ได้จดทะเบียน ลงในสารบบต่างหาก แต่ได้แนบไป ในการจดทะเบียนการเช่า ซึ่งเป็นการเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามมติ มหาเถรสมาคม ตามสัญญาดังกล่าว เมื่ออ่านแล้ว มูลนิธิสามารถ จะใช้สอยที่ดินของวัด ในส่วนใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้ ทั้งมีอำนาจรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในวัดได้ รวมทั้งมีสิทธิตัดต้นไม้ เคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงได้ ดังประหนึ่งว่า มูลนิธิมีอำนาจเหนือวัด เหนือเจ้าอาวาส ทางวัดเสมาเมืองอ้างในคำฟ้องอีกข้อหนึ่งว่านายเจริญ วิโรภาส เป็นไวยาวัจกร ที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เพราะตั้งโดย อาศัยอำนาจ ตามความในข้อที่ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๐๖) ซึ่งถูกยกเลิก โดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖) ข้อที่ ๓ การทำสัญญาเช่า จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายเจริญจะได้รับแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ความจริง ไม่ใช่สาระ สำคัญ ของคดีนี้ เพราะเมื่อนายเจริญได้รับมอบอำนาจ จากเจ้าอาวาสแล้ว นายเจริญ ก็มีอำนาจ กระทำการแทนวัด ได้ทุกประการ แต่ปัญหาที่น่าสังเกตก็คือว่า พระมหาสุพิน ได้แต่งตั้งไวยาวัจกร โดยใช้แบบพิมพ์เก่า ซึ่งแบบพิมพ์ ดังกล่าวนั้น ได้พิมพ์ตามข้อ ๕ แห่ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๖) แต่ขณะทำสัญญานั้น กฎมหาเถรสมาคม ดังกล่าว ได้ถูกยกเลิก โดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๕๓๖) ข้อที่ ๓ แล้ว พระมหาสุพิน เป็นเจ้าอาวาส และเป็น เจ้าคณะอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช น่าจะทราบถึงการเปลี่ยนแปลง กฎดังกล่าว แต่กลับกระทำผิดพลาด เป็นการบ่งบอกว่า เจ้าคณะอำเภอก็ดี เจ้าคณะจังหวัดก็ดี เจ้าคณะเขตก็ดี น่าจะต้องมีสำนักงานที่แน่นอน มีบุคลากรที่มีความรอบรู้ เอกสารต่างๆ ต้องทันสมัย และพร้อมที่จะใช้งาน ถ้ามีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง จะต้องมีหน่วยงาน ที่คอยประสานงานแจ้งบอก หรือให้ความรู้ แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง นั้นๆ มิใช่ว่ามีแบบพิมพ์ แบบใด ตกค้างอยู่ก็ใช้แบบพิมพ์ดังกล่าว ไปโดยมิได้ใส่ใจว่า มีการแก้ไขแล้วหรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องมีนิติกร ประจำสำนักงาน เจ้าคณะอำเภอ หรือ เจ้าคณะจังหวัด ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นมูลนิธิได้ต่อสู้ประการหนึ่งว่าพระครูกิตติพิบูลย์ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้รักษาการแทน เจ้าอาวาสวัด โจทก์ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ และครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ นับแต่พระครูกิตติพิบูลย์ ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้รักษาการแทน เจ้าอาวาสโจทก์ครั้งที่ ๒ ตามกฎ มหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าอาวาสระบุไว้ในข้อที่ ๔ ว่า เมื่อได้มีการแต่งตั้ง ผู้รักษาการแทน เจ้าอาวาส ตามความในข้อนี้แล้ว ให้เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือ เจ้าคณะภาค แล้วแต่กรณี ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ภายใน ๑ ปี ปัญหาจึงมีตามมาว่า ถ้าภายใน ๑ ปี เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะภาคแล้ว แต่กรณีไม่ดำเนินการ แต่งตั้ง การรักษาการแทน เจ้าอาวาส จะสิ้นสุดลงหรือไม่ ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้จะเกิน ๑ ปีแล้ว ไม่มีการแต่งตั้ง เจ้าอาวาส ผู้ที่รักษาการแทนเจ้าอาวาส ก็คงรักษาการแทนเจ้าอาวาสต่อไป จนกว่า จะมีการแต่งตั้ง เจ้าอาวาส หรือจนกว่าจะมีคำสั่ง ให้พ้นจาก รักษาการแทนเจ้าอาวาส โดยได้ความว่า พระมหาโกวิท โอปกฺกโม เจ้าคณะตำบลคลัง ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ในการดำรงตำแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาส ของพระครู กิตติพิบูลย์ไว้ ทั้งขณะมีการแต่งตั้ง รักษาการแทนเจ้าอาวาส ฉบับลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ ลงนามโดยพระครูปริยัติคุณาสัย ผู้รักษาการแทน เจ้าคณะตำบลคลัง ก็ระบุว่า พระครูกิตติพิบูลย์ ได้รับคำสั่ง ให้พ้นจากตำแหน่ง ผู้รักษาการแทน เจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นเหตุให้วัดโจทก์ ไม่มีเจ้าอาวาส จึงแต่งตั้งพระครู โฆสิตปริยัตยาภรณ์ เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า การพ้นจากรักษาการ แทนเจ้าอาวาสนั้น ต้องมีคำสั่งของ เจ้าคณะตำบล อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ ไม่มีกฎหมายไว้โดยชัดเจน ศาลต้องพิจารณา และประมวลจากเอกสารต่างๆ แล้วมีคำพิพากษา ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน คดีถึงที่สุด เหตุคดีนี้ที่นำมาฟ้องกันเพราะมหาสุพินเจ้าอาวาสรูปเดิมนั้นถูกดำเนินคดีอาญาที่ศาลแขวง นครศรีธรรมราช ในข้อหา มีวัตถุลามก ไว้ในครอบครอง ศาลแขวงนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษา ให้จำคุก และรอการลงโทษ จำคุกไว้ เพราะมีคุณความดีมาก่อน ทำให้ พระมหาสุพิน พ้นจากตำแหน่ง เจ้าอาวาส เมื่อเปลี่ยนแปลง เจ้าอาวาส จึงมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ระหว่างมูลนิธิ กับรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ ประเด็นดังกล่าวนี้ มีขึ้นในหลายวัด และ ในหลายจังหวัด เพราะการให้เช่าที่ดินของวัดนั้น ต้องอาศัย ความสนิทชิดเชื้อ คุ้นเคย หรือ การมีสัมพันธ์ เป็นการส่วนตัว กับเจ้าอาวาส เพราะกฎหมายเราไม่ได้ทำเป็นรูปคณะกรรมการ อย่างเช่น มัสยิด หรือ สภาคริสต์จักร เมื่อเปลี่ยนแปลง เจ้าอาวาส ผู้ที่นำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ไว้ต่อวัด ล้วนมีความกังวลว่า ตนเองจะได้รับการ รับรอง คุ้มครอง หรือมีสิทธิตามสัญญา ที่ทำไว้กับเจ้าอาวาส รูปเดิมหรือไม่ จึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการ เข้าไป แทรกแซง การแต่งตั้ง เจ้าอาวาส ในแต่ละวัด โดยเฉพาะวัดที่มีที่กัลปนา หรือมีทรัพย์สินจำนวนมาก เพราะผู้ที่มี ส่วนได้เสีย ต่างกลัวว่า ตนเองจะได้รับผล การกระทบกระเทือน จากการเปลี่ยนแปลง เจ้าอาวาส หรือโดยเฉพาะจากพระภิกษุ ที่ตนเองไม่มีความคุ้นเคย หรือสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวแล้ว ตนเองอาจ จะได้รับ ความเสียหาย จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องตระหนัก และคิดกันให้รอบคอบ จากการพิจารณาสัญญาเช่าและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาแต่ละข้อนั้นเห็นแล้วน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะ ข้อที่ ๑๐ ให้มูลนิธิ มีสิทธิรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกสร้างอาคาร ในที่ดิน ส่วนอื่นของวัด นอกจากที่เช่า โดยไม่ต้อง ได้รับความยินยอม จากเจ้าอาวาส สัญญาบางข้อ มีสิทธิให้มูลนิธิ รื้อกำแพงของโจทก์ โดยไม่ต้องขออนุญาต จากเจ้าอาวาส บางข้อ ยังตกลง ให้มีสิทธิ รื้อย้ายอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ ติดตั้งเสาวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์สื่อสาร ทุกชนิด ปลูกโรงเรือน ตัดต้นไม้ สร้างโรงรถ และให้มีสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ปลูกสร้างในที่ดิน ที่ไม่ได้เช่าจากวัดด้วย โดยวัดไม่มีสิทธิเรียกร้องเงิน หรือ ค่าตอบแทน ใดๆ และ ไม่ต้องได้รับความยินยอมของวัด สัญญาบางข้อ ยังให้มูลนิธิมีสิทธิ เหนือพื้นดิน เหนือสังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์ ใช้สถานที่จัดงานมหรสพ จัดเลี้ยง หรือ กิจการใดๆ ของมูลนิธิ ยอมให้มูลนิธิ และผู้ติดต่อกับ มูลนิธิ จอดรถใช้เป็นทางเข้าออกรถ โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากวัด เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเหล่านี้ ถ้ามีผล บังคับใช้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใด ที่คู่ความจะขอกันเขต จัดประโยชน์จากกรมศาสนา และไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะขออนุมัติ จากมหาเถรสมาคม เพราะแม้มหาเถรสมาคม และกรมศาสนาจะอนุญาต ให้คู่ความเช่าที่ดิน กันน้อยเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถ จะร่างข้อสัญญา ตามที่กล่าวมา ข้างต้น เพื่อใช้ที่ดินส่วนอื่นของวัด ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องชำระค่าเช่าได้อีก อันเป็นการส่อแสดง ให้เห็นว่า ผู้แทนวัดและมูลนิธิ สมคบกันหลีกเลี่ยง ข้อกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะสัญญา บางข้อ ให้สามารถรื้อย้ายถอน หรือเข้าไปใช้ หรืออยู่อาศัยในกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ อุโบสถ ของวัดได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องขออนุญาต นอกจาก มีการหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม กฎมหาเถรสมาคม และคำสั่งของ กรมศาสนาแล้ว ยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ที่บัญญัติขึ้น เพื่อปกป้อง พระพุทธศาสนา ไม่ให้บุคคลใด นำที่ของวัด ในพระพุทธศาสนา ไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย โดยมีสัญญาต่อไปว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่า ๓๐ ปีแล้ว วัดไม่มีสิทธิ นำที่ดินให้บุคคลอื่นใด เช่าอีก นอกจากมูลนิธิ และต้องให้มูลนิธิ ดังกล่าวเช่า และอาศัยใหม่ทันทีอีก ๓๐ ปี นายชญากรณ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งเป็นทนายความ ผู้ร่างสัญญา ก็เป็นพยานยืนยันว่า ได้อธิบายข้อความดังกล่าว ให้พระมหาสุพิน และ พระบุญฤทธิ์ ทราบแล้ว สัญญาดังกล่าวนี้ ไม่มีผลบังคับ แต่บุคคลทั้งสอง ประสงค์จะระบุ ในสัญญาด้วย การร่างสัญญาที่กระทำต่อวัดแต่ละวัดนั้น ถ้าเจ้าอาวาสรูปเดิมยังคงอยู่ในตำแหน่ง แม้สัญญา ดังกล่าวนั้น บุคคลทั่วไปก็รู้ว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ถ้าคู่สัญญา จะปฏิบัติ ตามสัญญา ก็ไม่มีหน่วยงานใด เข้าไปคานอำนาจ หรือเข้าไปโต้แย้งหรือไปตรวจสอบได้ การบริหารงาน ที่ปราศจากการโต้แย้งคัดค้าน หรือ คานอำนาจ น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงตระหนัก เป็นอย่างยิ่งว่า กรณีดังกล่าวนี้มิใช่เกิดขึ้น แต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่ผู้เขียนพบเห็นเท่านั้น น่าจะมีปรากฏอยู่ในสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก แต่เนื่องด้วย คู่กรณี ในสัญญา ต่างไม่โต้แย้งยอมรับกันในข้อสัญญา แม้จะไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ผลประโยชน์ ในทางพระพุทธศาสนา หรือทรัพย์สิน ของพระพุทธศาสนานั้น ได้ถูกนำไปใช้ เป็นประโยชน์ ส่วนบุคคล หรือให้บุคคลอื่นๆ หาผลประโยชน์อยู่อีกเป็นจำนวนมากเป็นแน่แท้ ถ้าฝ่าย บริหารกิจการ ของพระพุทธศาสนา ไม่ยอมเข้าไปยกเลิกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้อง และ ตั้งองค์กร ให้คานอำนาจ ตรวจสอบกันอย่างแท้จริง
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗- |