ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
เตาพลังแสงอาทิตย์

เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเลย ถ้าแก๊สจะขึ้นราคา ไม้ฟืนจะหายากก็ไม่เดือดร้อน ยิ่งไฟฟ้าด้วยแล้ว หรือไมโครเวฟ ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรใช้หุงข้าว หรือทำอาหารเลย (เพราะจะทำลายคุณค่า ของอาหารจนหมดสิ้น) เพียงแค่เรายกหม้อหุงข้าว ออกมากลางสนาม แล้วใช้แสงแดด จากดวงอาทิตย์นี่แหละ หุงข้าวทำกับข้าว ไม่ต้องง้อแก๊สไม่ต้องง้อฟืน ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ ยังส่องสว่างอยู่ เราก็ยังคงมีพลังงานที่จะใช้หุงหาอาหาร และที่สำคัญ มีให้ใช้ฟรี ไม่ต้องจ่าย สตางค์ มีอย่างมากมาย มีให้ทุกคนใช้ได้ไม่มีวันหมด เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีฝุ่น ไม่มีควัน ไม่ก่อมลภาวะ อย่างนี้เราจะไม่หันมาสนใจ ทดลองใช้แสงอาทิตย์ ในการหุงหาอาหาร กันอีกหรือ

เตาพลังแสงอาทิตย์ใช้หลักการง่ายๆ ที่ใช้พื้นผิวโลหะที่รองรับและสะสมพลังแสงอาทิตย์ และเปลี่ยน พลังงานความร้อน ก่อนที่จะถ่ายเท ไปสู่พื้นผิวภาชนะ ที่รองรับอาหาร ที่ต้องการปรุงให้สุก

เตาพลังแสงอาทิตย์หรือหม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์นี้ทุกครอบครัวหรือทุกชุมชน สามารถ ทำขึ้นไว้ใช้เองได้ เพราะวิธีทำ ก็ไม่ยากเย็น มีตั้งแต่แบบธรรมดา เป็นกล่องที่ทำด้วยไม้ หรือวัสดุอื่น ที่บุด้วยฉนวนกันความร้อ นเพื่อเก็บความร้อน ด้านในของกล่องก็บุ ด้วยโลหะ ทาสีดำ ด้านบนของกล่อง ก็ปิดด้วยกระจกใส เพื่อเก็บความร้อน ให้อยู่ในกล่อง เวลาปรุงอาหาร ก็วางภาชนะลงด้านในกล่อง แล้วหันกล่อง เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ แล้วหันกล่อง ตามดวงอาทิตย์ ถ้าใช้เวลาในการปรุงอาหารนาน แต่เตาหรือหม้อพลังแสงอาทิตย์แบบนี้ จะให้อุณหภูมิ ที่ไม่สูงมากนัก คือประมาณ๖๐-๗๐ องศาเซลเซียส จึงใช้สำหรับอุ่นอาหาร หรือใช้อบขนมปังอบขนมต่างๆ เป็นต้น

หากต้องการให้เตามีอุณหภูมิสูงมากขึ้นถึงระดับที่จะต้มน้ำ ต้มไข่ ต้มแกง ทำแกงจืด หรือ หุงข้าวได้ เราจะต้องติดตั้ง บานกระจกเงา หรือ แผ่นสะท้อนแสง หลายๆ บาน เช่น ๔ หรือ ๘ บาน ที่ปากกล่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่ รับแสงอาทิตย์ แล้วสะท้อนเข้าไปในเตา ซึ่งจะช่วยเพิ่ม ความร้อน ให้ถึงจุดเดือดได้ ในกรณีที่ต้องการความร้อนสูงมากขึ้นอีก เช่น ในกรณีปิ้งย่าง ก็จะต้อง ออกแบบเตา เป็นพิเศษ ที่ติดตั้งแผ่นสะท้อนแสง จำนวนมากขึ้น แล้วรวมแสง ไปที่โลหะ ที่ใช้ปิ้งหรือย่างอาหาร หรือรวมแสงไปที่อาหารโดยตรง

เตาพลังงานแสงอาทิตย์นี้ถ้าออกแบบดีๆ ให้รับแสงแดดได้มากและสะสมความร้อนได้เร็ว จะใช้เวลา ในการปรุงอาหาร ใกล้เคียงกับเตาทั่วๆ ไปที่ใช้ฟืน หรือแก๊ส จากประสบการณ์ ของผู้ใช้เตาประเภทนี้ บอกว่ารสชาติของอาหารที่ปรุงด้วยแสงอาทิตย์ ก็ไม่แตกต่าง หรือ อาจจะดีกว่า ปรุงด้วยเตาฟืน หรือเตาแก๊สด้วยซ้ำไป เพราะจะไม่ทำให้อาหาร ไหม้ แร่ธาตุ และวิตามิน จึงยังคงอยู่ แต่มีข้อควรระวัง คือ การนำไปปรุงอาหาร ประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูหรือเนื้อวัว ต้องแน่ใจว่า เตาพลังแสงอาทิตย์ที่จะนำไปใช้ ต้องให้อุณหภูมิที่สูงมากพอ ที่ทำให้อาหารชนิดนี้สุก มิฉะนั้น จะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรค ที่มีอยู่ในเนื้อเหล่านี้ได้ นอกจากนั้น สีของพืชผัก ที่นำมาปรุงด้วยแสงอาทิตย์ จะเปลี่ยนไปบ้าง

ข้อที่น่าสังเกตอันหนึ่งตามตัวเลขที่กล่าวมาแล้วข้างต้นพบว่าประเทศไทยเรามีความคล้ายคลึง กับประเทศ โลกที่สามอื่นๆ คือ มีการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิล เช่น ไม้ฟืน ถ่าน ในเปอร์เซ็นต์สูง แต่เป็นการใช้ อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ป่าไม้เมืองไทย ก็ร่อยหรอลงทุกที ฉะนั้น พลังงานทางเลือก ควรได้รับการพัฒนา และนำมาใช้อย่างจริงจัง นับแต่บัดนี้ หรืออย่าต้องรอ ให้เกิดวิกฤติ ขนาดต้องแย่งน้ำมัน แย่งแก๊ส กันเลย เราลองมา เริ่มต้น ที่เตาพลังงานแสงอาทิตย์กันดีไหม .

ขออภัย คอลัมน์ชีวิตไร้สารพิษ ฉบับที่ ๑๖๔ หน้า ๕๙ ข้อความ "แหล่งอาหารที่มีวิตามินซี มากได้แก่ เมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวเจ้าซ้อมมือ(กล้อง) ข้าวฟ่าง ข้าวเดือย ฯลฯ"

ข้อความที่ถูกต้องคือ "แหล่งอาหารที่มีวิตามินอี มากได้แก่ เมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวเจ้าซ้อมมือ (กล้อง) ข้าวฟ่าง ข้าวเดือย ฯลฯ"
* กอง บ.ก. เราคิดอะไร

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-