นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ
นักสู้ผู้สร้างป่า

ตำรวจระดับปลายแถว
แต่ขวนขวายทำดี
แทนคุณแผ่นดิน
ปลุกจิตสำนึกให้คนทั้งชาติ
ลุกขึ้นทำตาม
พลันโลกสว่างไสว.......

*** วัยเด็ก
ผมเกิดที่บ้านนาโนน (หมู่บ้านที่มีที่นาอยู่ในที่สูง) ไม่มีห้วยหนองคลองบึง และ ป่าละเมาะ มีแต่ความแห้งแล้ง สมัยนั้นยังเป็นตำบลสำโรง แต่ปัจจุบันเป็นตำบล หนองไฮ อำเภออุทุมพร-พิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พ่อแม่ทำนา ฐานะทางบ้านยากจน แม่เสียตั้งแต่ผมยังเด็กผมจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ก่อสร้าง จับกัง แม้กระทั่งนักมวยก็เป็นมาแล้ว ผมเรียนที่โรงเรียนอุทุมพรพิสัย ศรีสะเกษวิทยาลัย และจบโรงเรียนพลตำรวจ ๒ จังหวัดนครราชสีมา

*** รับราชการ
ครั้งแรกในตำแหน่งพนักงานวิทยุอำเภอปรางค์กู่ แต่ถูกเพื่อนร่วมงานเอารัดเอาเปรียบ จึงเปลี่ยนงานใหม่เป็นตำรวจอาชีพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ประจำ สภ.อ. เมืองศรีสะเกษ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ย้ายมาประจำ สภ.อ.ปรางค์กู่ ตำแหน่งธุรการงานสอบสวน จนถึงปัจจุบัน


*** จากตำรวจสู่คนปลูกต้นไม้

ผมได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ที่เน้นเรื่องความสงบสุขของชาวบ้าน และเศรษฐกิจพอเพียง ในการอบรมเขาให้ดูวีดิทัศน์ เรื่อง ครูบ้านนอก เกาหลี ยอดหญิงนักพัฒนา ยอดชายขาด้วน ซึ่งนำมาเผยแพร่และให้เสียงภาษาไทยโดย อ.ภาณุ พินเนียม เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเกาหลี ชื่อโครงการ ชุมชนชีวิตใหม่ เน้นเชิดชูคนดีที่เสียสละเวลาเพื่อส่วนรวม โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง ไม่เรียกร้องความช่วยเหลือจากใคร ผมดูแล้วได้แง่คิดมาก เขาสอนว่า "เราต้องขยันอย่างฉลาด และต้องปราศจากอบายมุข" "เราจะต้องพึ่งตนเองให้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่เบียดเบียนใคร" "ความทุกข์ของเพื่อนบ้านคือภารกิจที่เราต้องร่วมกันแก้ไข เมื่อเรามีเพื่อนบ้านดีก็ไม่ต้องมีรั้วบ้าน" "การทำงานหนักคือดอกไม้ของชีวิต" (วีดิทัศน์และวีซีดีเรื่องยอดหญิงนักพัฒนามีจำหน่ายที่แผนกธรรมโสต พุทธสถานสันติอโศก และร้านธรรมทัศน์สมาคม ขอแนะนำให้ดูเพื่อให้เกิดพลังในการทำความดีโดยไม่ย่อท้อ)

นอกจากนี้ผมยังได้ฟังเพลงครูจันทร์แรม ศิริคำฟู แห่งแม่สาย แต่งโดยคุณหินชนวน อโศกตระกูล ทำให้ผมฉุกคิดว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุน้อยนิด ความรู้ก็ไม่มาก แต่มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ถึง ๔ อย่าง ครูไม่อยากเห็นคนไม่รู้หนังสือ ครูไม่อยากเห็นคนคือสินค้า ครูไม่อยากเห็นคนต้องติดยา ครูไม่อยากเห็นคนเป็นโสเภณี ผมเองก็ควรทำอะไรให้สังคมบ้าง

เนื่องจากปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ ผืนดินมีแต่ความแห้งแล้ง ผมจึงคิดว่า น่าจะปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะเพื่อส่วนรวม ผมจึงคิดโครงการขึ้น ๔ โครงการ ดังนี้

๑. รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน

๒. รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสารพัดประโยชน์ ใช้ได้ทั้งต้น กาบ ใบ ลูก รวมทั้งจาวตาลและคอตาลด้วย ต้นตาลปลูกง่ายและทนทาน ไม่ได้โตช้าอย่างที่คิดกัน

๓. รณรงค์ปลูกต้นคูนซึ่งเป็นต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย ดอกเหลืองอร่ามบานสะพรั่งตลอดหน้าแล้ง ต้นคูนเป็นไม้มงคล ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย

๔. รณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม เพราะทำนาปีมีแต่หนี้กับพัง ทำนาปรังมีแต่พังกับหนี้ ถ้าทำทั้งนาปีและนาปรังก็มีแต่หนี้อีนุงตุงนัง ชาวบ้านควรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากทำนาปีมาทำไร่นาสวนผสม

ผมได้รณรงค์ชาวปรางค์กู่ด้วยโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ จนปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบันนี้ และเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ประชาคม อ.ปรางค์กู่ ทั้ง ๑๐ ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ ๔ โครงการนี้เป็นคำขวัญของ อ.ปรางค์กู่ที่ว่า "ปรางค์กู่อยู่ในป่ายางกลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน บริบูรณ์ไร่นาสวนผสม" ผมได้แต่งเพลงรำวงโครงสร้างเมืองปรางค์กู่ เพื่อปลุกระดมชาวบ้านไว้ดังนี้

*** เลือกปลูกที่ไหน อย่างไร
ถ้ารู้ว่าที่ไหนลอกคลอง ขุดบึงถมที่ ผมจะไปทันที เพราะการขุดคลองต้องล้วงดินขึ้นมา ดินมันจะโปร่ง ผมก็แค่เอาเมล็ดไปหยอด แล้วมันก็ขึ้น ผมปลูกทุกแห่งในที่สาธารณะ ตามถนนหนทาง ป่าช้า วัดวา ไร่นา โดยไม่สนใจว่าใครจะคิดจะว่าอย่างไร แม้คนเขาหาว่าผมบ้าเพราะทุกเช้าผมจะออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้ากว่าๆ เอาเมล็ดตาล เมล็ดพันธุ์ใส่ถุงปุ๋ย ใส่ท้ายมอเตอร์ไซค์ตระเวนไปเรื่อยๆ แม้ฝนตกผมก็ยังไป หลังเลิกงานก็ไปอีก ทำเป็นกิจวัตรมาตลอดเวลา ๑๕ ปี ไม่มีใครสั่งไม่มีใครบังคับ วันไหนไม่ได้ปลูกต้นไม้ก็เหมือนพระไม่ได้ออกบิณฑบาต จนถึงบัดนี้ ผมปลูกต้นตาลได้ประมาณ ๒ ล้านต้น

*** อุปสรรค
ชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่อง เผาฟาง หรือจุดไฟเพื่อจับหนูนากิน ทำให้เกิดปัญหาไฟลามทุ่ง จนทำให้ต้นไม้ที่ผมปลูกไว้ต้องตาย นอกจากนั้น ชาวบ้านบางคนคิดว่าผมปลูกต้นตาลใกล้ที่เขามากไป เลยไปหายูคาลิปตัสมาปลูกทับ ต้นตาลมันเลยไม่ขึ้น ผมก็เจ็บใจอยู่บ้างแต่ไม่เคยท้อ และจะปลูกต่อไปเพราะผมมั่นใจว่า พอตาลโตขึ้น ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้ก็เห็นกันแล้ว ชาวบ้านเอาตาลที่ผมปลูก ไปทำรั้วบ้าน คอกเป็ดคอกไก่ ทำไม้กวาดขาย ทั้งลูกตาล ขนมตาล สารพัดจะขายได้ ก็เริ่มต้นจากคนบ้าอย่างผมนี่แหละ

ในส่วนของครอบครัวก็ไม่ว่าอะไร แต่สั่งว่าต้องกลับบ้านก่อนตะวันตกดิน เพราะเขาเป็นห่วง เรื่องอุบัติเหตุ ลูกๆ เมื่อตอนยังเด็ก เขาก็ไม่เข้าใจ บางทีผมไปปลูกต้นไม้หน้าโรงเรียน เพื่อนๆ เขาก็ล้อเอา เขาอายก็มาต่อว่าพ่อ ผมก็ได้แต่บอกเขาว่า "ลูกยังเด็ก วันนี้พูดอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ ไว้โตขึ้นก็จะรู้เอง" เมื่อเขาโตขึ้นเห็นต้นไม้แทบทั้งปรางค์กู่ที่ปลูก โดยพ่อของเขา เขาก็เข้าใจและภูมิใจ

*** อุดมการณ์
ผมยึดหลัก ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น ทำให้คนที่ไม่รู้ ทำให้คนที่เสียโอกาส ผมจะปลูกต้นไม้ ไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมไม่ได้ปลูกแต่ต้นยางนา คูน ตาล เท่านั้น ผมปลูกขี้เหล็ก สะเดา กระถิน ตะไคร้ โตแล้วให้ดอกออกผลก็เป็นของชาวบ้าน ใครจะกินก็มาเก็บเอา บางคนเก็บไปขาย ส่งลูกเรียน ผมเห็นแล้วก็ชื่นใจ ผมมีความสุขทุกขั้นตอน ตั้งแต่เอาเมล็ดพันธุ์ใส่ถุง แบกจอบ หิ้วขึ้นมอเตอร์ไซค์ ขี่ไปปลูกจนเสร็จสิ้นกระบวนการ ผมจึงตั้งใจปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

*** ความภาคภูมิใจ
๑.ได้รับเกียรติบัตร ยกย่องเชิดชูจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆ ปรินายก ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพุทธศาสนา ในด้านส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔

๒. ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร สาขาส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔

๓. ได้รับโล่ ใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล รางวัลชมเชย จากนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕

*** ของขวัญวันปีใหม่
โรคทรัพย์จางยังมีทางรักษาด้วยการเลิกอบายมุข
การเป็นโรค-การเป็นทุกข์-การเป็นหนี้-เกิดจากอบายมุข
การไม่เป็นโรค-การไม่เป็นทุกข์-การไม่เป็นหนี้-เป็นลาภอันประเสริฐ

*** อุดมคติของพวกเรา
"การสร้างฐานะตนเอง คือการสร้างฐานะของชาติ"


หนึ่งรากของตาลโบราณใช้ เพื่อเป็นยาสมุนไพรใช้รักษา
แก้อาการขัดเบาเข้าสูตรยา อีกหลายๆ ตำราว่ายาดี
ทั้งเป็นยากำจัดศัตรูพืช แก้เยี่ยวฝืดขับถ่ายให้เข้าที่
เป็นโอสถก่อนกาลขนานดี เพราะรากตาลนั้นมีซึ่งตัวยา
จากรากตาลมาหาลำต้น เลื่อยผ่าโคนใช้งานนั้นเข้าท่า
ใช้ทำเรือล่องน้ำลำนาวา ทำพื้นบ้านกระดานฝาผ่าดัดแปลง
ส่วนใยก้านเลือกจัดคัดขนาด ทำไม้กวาดเส้นใยไม้กวาดแข็ง
กวาดขยะหยากไย่ใยแมลง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งแข็งแรงดี
จากลำต้นมาส่วนก้านตาลโตนด นี่ก็มีประโยชน์มากอีกที่
ทำไม้กวาดก้านตาลนั้นเข้าที แทบทุกบ้านล้วนมีใช้ทั่วไป
อีกส่วนใบของตาลนั้นมากค่า สานแผ่นฝามุงหลังคาก็ยังได้
ทำใบลานงานฝีมือระบือไกล หมวกใบตาลสานเครื่องใช้ได้ทนทาน
จากใบตาลมาดูตาลด้านหมากผล ทำขนมอร่อยล้นรสหอมหวาน
ส่วนผลอ่อนผ่าเอาเชื่อมจาวตาล รสหอมหวานถึงใจได้ลิ้มลอง
อีกส่วนของงวงตาลนั้นใช่ย่อย ทำน้ำตาลแข่งอ้อยไม่เป็นสอง
น้ำตาลเมาลิ้มรสชวนทดลอง มีก่ายกองเกินกำหนดประโยชน์ตาล

(นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ)

 

เพลงรำวงโครงสร้างเมืองปรางค์กู่
โครงสร้างของเมืองปรางค์กู่ บอกให้รู้มีสี่โครงการ
ปลูกต้นยาง ต้นคูน ต้นตาล (ซ้ำ) ร่วมมือกันทำสวนไร่นา
ปลูกต้นยางไว้สร้างเรือนสร้างบ้าน ร่วมกันปลูกตามท้องทุ่งนา
เป็นที่อยู่ของหมู่นกกา (ซ้ำ) ให้มีชีวิตชีวาอากาศก็ดี
ปลูกต้นตาลก้านใบมีค่า ตัดเอามาทำของใช้มากมี
ขนมตาลก็หวานรสดี (ซ้ำ) ชุ่มฉ่ำชีวีเมื่อมีต้นตาล
ดอกคูนบานเหลืองเต็มต้น น่ายลเมื่อคราวสงกรานต์
เป็นมงคลค้ำคูนชื่นบาน (ซ้ำ) ชั่วลูกชั่วหลานบ้านเฮา
ทำนาก็ราคาข้าวต่ำ ก็ต้องทำนาสวนผสมนะพวกเรา
จะได้มีข้าว พืชผลบรรเทา (ซ้ำ) ไว้เลี้ยงหมู่เฮาชั่วนาตาปี
โครงสร้างของเมืองปรางค์กู่ บอกให้รู้มีสี่โครงการ
ปลูกต้นยาง ต้นคูน ต้นตาล (ซ้ำ) ร่วมมือกันทำสวนไร่นา

(นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ)


หัวอกต้นไม้
ฉันเกิดมาน้อยใจในชีวิต หรือเป็นเพราะพรหมลิขิตให้อับเฉา
กำเนิดในโลกาชะตาเรา ได้แต่เอ็นดูเขาเราบรรลัย
ฉันเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มนุษย์สัตว์ได้พึ่งและอาศัย
เป็นโอสถรักษาโรคาภัย อีกทั้งให้เยื่อใยห่มห่อตน
ฉันเป็นแหล่งอาหารอันล้ำเลิศ เลี้ยงชีวิตท่านแต่เกิดไม่เคยบ่น
ให้ประโยชน์สารพัดแก่สัตว์ คน สร้างแหล่งน้ำเรียกฝนให้ร่มเงา
ถ้าสมควรตัดฉันไปใช้คุ้มค่า ฉันก็ไม่เคยว่าพวกโง่เขลา
ถ้าตัดไปไม่คุ้มค่าป่าบางเบา ช่างโง่เง่าสิ้นคิดสร้างพิษภัย
อันประโยชน์ต่างๆ ทางตรงอ้อม ชีวิตฉันนั้นพร้อมยอมพลีให้
แต่เมื่อพวกท่านตัดฉันไป โปรดเลี้ยงดูลูกฉันให้เติบใหญ่แทน
ช่วยกันปลูกลูกฉันไว้ให้โตใหญ่ แล้วดูแลต่อไปด้วยหวงแหน
หากตัดลูกปลูกหลานฉันมาแทน โลกเนืองแน่นด้วยแมกไม้จึงหายตรม
หากพวกฉันสูญสลายไปจากโลก ความวิบัติวิปโยคคงทับถม
ไร้ที่อยู่ไร้หยูกยาพาตรอมตรม อีกอาหารเครื่องนุ่งห่มหาไหนกัน
หากจะคิดทำลายฉันนั้นจงคิด เพราะฉันคือชีวิตของพวกท่าน
จะโค่น ถาก ถางป่า หรือเผา ฟัน ก็เหมือนฆ่าชีวิตท่านเช่นกันเอย

(นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -