พรหมวิหาร หลักการบริหารบ้านเมือง


 

บ้านเมืองกลียุคทุกครั้ง หากวิเคราะห์ร่อนตะแกรงค้นหาเคล็ดวิชา ก็มักจะจบลงที่ความขาดแคลน "พรหมวิหาร"
วันนี้ วิชาบริหารมีเกลื่อนเมือง กว่าจะจบก็หลายปี เสียเงินเป็นแสน
อยากจะเร็วแบบทันใจ ก็มีวิชาการสั้นๆ อบรมไม่กี่อาทิตย์เป็นมินิแดกด่วน บริหารฉบับกระเป๋า
แต่สูตรไหนก็เถอะ หากละเลยหลัก "พรหมวิหาร" ก็ยังไม่เห็นนาวาลำใดจะรอดพ้นสันดอน!
จะอีกกี่พันกี่หมื่นปี หลักพรหมวิหารก็ยังเป็นสากลค้ำฟ้า
เมื่อพระพุทธองค์บรรลุธรรม พระพรหมยังต้องมาอาราธนาอย่าตัดช่องน้อย อย่าเสวยสุขแต่เพียงลำพัง
โลกลุกเป็นไฟอยู่อย่างนี้ ขออาราธนาดับทุกข์เข็ญด้วยเถิด!
ฟังดูอย่างกับว่าพระพรหมมีจิตใจดีกว่าพระพุทธเจ้า แต่แท้จริงนั้นเป็น "บุคลาธิษฐาน"
"ธรรมาธิษฐาน" หมายถึงจิตของพระพุทธองค์ทรงบอกตนเองต่างหาก เป็นพรหมในจิตของพุทธะ
เพราะเหตุนี้พระเกจิฯบางท่าน จึงอธิบายว่าพระพุทธเจ้ามีวิภวตัณหา ท่านสร้างศาสนาด้วยจิตตัวนี้
เป็นตัณหาสีขาวที่มีอุดมการณ์เพื่อมวลชน ไม่มีวิภวตัณหา ก็ไม่มีการเผยแพร่
เหล่าเปรียญมหาบาลี พากันตื่นเต้น แปลความพระพุทธเจ้ามีกิเลสไม่ได้ เราไม่ยอม!
ก็เป็นทิฐิการตีความติดยึดภาษา ก็เข้าไม่ถึงสัจธรรม!
และมีเรื่องที่แปลกกว่านั้น หากทราบว่า มีแต่ภูมิมนุษย์เท่านั้นที่มีเหตุปัจจัยครบพร้อมในการปฏิบัติธรรม
ภพภูมิอื่น ปฏิบัติธรรมไม่ได้!
เพราะเหตุนี้ การฆ่าตัวตายจึงเหมือนการกลั่นแกล้ง ให้ไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ กว่าจะเกิดยากชิบเป๋ง แต่เจ้าของชีวิต กลับใจอำมหิต โยนทิ้งถังส้วมได้ลงคอ!
เข้าใจเช่นนี้ จะได้ไม่หลงคิดฆ่าตัวตาย หรือเพ้อเจ้อจะไปปฏิบัติธรรมในแดนที่ไม่ใช่มนุษย์
ปฏิบัติวันนี้ ในโลกมนุษย์นี่แหละ เหมาะสมที่ซู้ด!
บิดามารดาเป็นพรหมของบุตร และเป็นคู่แรกของจักรวาล ที่จะให้ชีวิตอื่นๆ อาศัยเป็นแบบอย่าง
ชีวิตของพระโพธิสัตว์ ก็คือการจำลองคุณธรรมบิดามารดา แล้วนำไปใช้กับประชาชนประชาชนเปรียบประดุจกุลบุตรกุลธิดาของเรา
ความยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์จึงอยู่ที่การนำ "พรหมวิหาร" ไปปฏิบัติขยายแผ่กว้างไพศาล มิใช่คนสองคน ร้อยคนพันคน แต่เป็นหมื่นแสนล้าน นับประมาณมิได้!
หลักพรหมวิหารเป็นระบบสากล ใช้ได้ทุกยุค ทุกสภาพ และทุกพื้นที่
 
พรหมวิหาร ความหมายเก่า ความหมายใหม่ สรุปพฤติกรรม
เมตตา ต้องการให้เขามีความสุข ความปรารถนาดีต่อเขา มโนกรรม (คิด)
กรุณา ต้องการให้เขาพ้นทุกข์ การลงมือปฏิบัติ กายกรรม (ลงมือ)
มุทิตา ยินดีเมื่อเขาได้ดี เมื่อได้ผลก็ยินดี ได้ทำแล้วเป็นบวกก็ยินดี
อุเบกขา การหัดปล่อยวาง เมื่อช่วยแล้วไม่สำเร็จต้องหัดปล่อยวาง ได้ทำแล้วเป็นลบก็วางใจ


หลักพรหมวิหารในตารางจะมีการแปลความหมายแบบเก่าเปรียบเป็นถนน ๔ เส้น
แต่ในความหมายใหม่ เป็นการอธิบายในแง่เชิงกลอัตโนมัติ ที่เมื่อเริ่มตัวที่ ๑ กลไกก็จะผลักดันให้ไหลไปเอง
การแปลความทั้ง ๒ แบบไม่ผิด แต่เป็นวิธีการที่จะให้เข้าใจหลักธรรมชัดเจนขึ้น
คิดหวังดีอย่างเดียว แบบคนสมัยนี้ไม่พอ มีแต่หวังดีอยู่ในใจ แต่ต้องผลักดันออกมาเป็นการกระทำ
จากความคิดไปสู่การปฏิบัติธรรม สังคมจึงไปรอด
เพราะวันนี้เราดีแต่คิด คนดีมีมากมายที่หวังดี แต่เมื่อไม่เคลื่อนที่ ความดีก็ไม่สัมฤทธิผล
"มโนกรรม" ไม่พอ ต้องเพิ่ม "กายกรรม"
คุณธรรมของพ่อแม่กับลูกนั้น ยังเป็นอกาลิโก ใช้เมื่อใด ก็มีประสิทธิภาพเมื่อนั้น
ปัญหาภาคใต้หรือปัญหาภาคไหนๆ ล้วนเป็นเพราะ เราทอดทิ้งพระพรหมมาช้านาน วันนี้จึงเป็นแค่ปรากฏการณ์ ฝีแตก!
ใครทำ?
วิกฤติจึงต้องถือเป็นโอกาส
ความดูดายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา จึงเป็นนาทีทองรัฐบาลวันนี้
หากรักประชาชน คงต้องบอกว่า "โชคดีที่เกิดเหตุการณ์นี้ พี่น้องประชาชน คงทุกข์มากซินะ กับอดีตที่ผ่านมา!"
แต่หากทำงานแค่หาเสียงไปวันๆ ก็จะบ่นอย่างน่ารำคาญ "ทำไมต้องเกิดยุคของเราวะ?"
 

-- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -