ใครคือชาวพุทธไทยร่วมสมัย (ตอน ๓)
มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์ มีชนมายุครบ ๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕
- ส.ศิวรักษ์ -

ลำดับนี้ ข้าพเจ้าจะขอเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากครอบครัวของตนเอง โดยเริ่มจากคนรุ่นบิดาข้าพเจ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนชั้นกลางรุ่นแรกของเมืองไทยเอาเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ บิดาข้าพเจ้ามีพี่ชายสองคน ซึ่งเรียนหนังสือมากับโรงเรียนฝรั่งอย่างคริสต์ทุกคน ลุงคนโตเท่านั้นที่ได้บวชเรียนด้วย และไปแต่งเมียเมืองจีนด้วย นอกเหนือจากการเรียนโรงเรียนฝรั่ง โดยที่นี่คือวัฒนธรรมของชนชั้นกลางอย่างไทยจีนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ นั้นแล ทั้งนี้เพราะปู่เป็นจีนนอก ย่าเป็นลูกจีน แต่มีความเป็นไทยในแบบพุทธ เฉกเช่น ยายและมารดานายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฉะนั้น

ย่าใส่บาตรทุกเช้า ป้าๆ ข้าพเจ้าก็ถือวัตรปฏิบัตินี้ต่อมาจนระบบบ้านตามแบบเดิมได้พังทลายลงทางจังหวัดธนบุรี เมื่อสมัยเลิกสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วนี่เอง แม้ป้าๆ จะไม่ไปวัดในวันพระ แต่ก็มีแม่นม ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของบ้านไปวัดแทน แกมักเก็บเงินจากพวกเราไปติดกัณฑ์เทศน์ แล้วตอนแกกลับจากวัด แกก็จะเอาบุญมาฝาก โดยที่พอออกพรรษาแล้ว มีเทศน์มหาชาติพวกเราก็มักไปฟังกันอย่างเป็นความสนุกด้วย และได้บุญด้วย ดังที่เราไปก่อพระทรายกันที่วัดตอนที่วัดในละแวกบ้านเรามีงานวัดประจำปีนั้นเอง หากที่ขึ้นหน้าขึ้นตาก็งานประจำปีของภูเขาทองและของพระเจดีย์กลางน้ำที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็งานขึ้นพระบาท ที่จังหวัดสระบุรี

โดยที่ในช่วงดังกล่าว พวกบ้านเราไม่มีใครเรียนหนังสือกับวัดอีกแล้ว ด้วยเราถือกันว่าเรียนกับฝรั่ง ได้ภาษีกว่า เพียงยังไม่จบชั้นมัธยมศึกษา ก็หางานทำกับห้างฝรั่งได้แล้ว พวกที่ไปวัดก็เพียงเพราะไปดูหมอ (เช่นที่วัดทองนพคุณ) หาไม่ก็ไปหาหมอพระ ที่ท่านใช้ไสยเวทวิทยา (เช่นที่วัดตึก) โดยที่วัดซึ่งอยู่ใกล้บ้านอย่างวัดสำเหร่ (ราชวรินทร์) และวัดสุทธา (ราม) ก็มีไว้ให้แม่นมไปฟังเทศน์ และพระสองวัดนี้ รวมถึงวัดทางฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม (คือวัดราชสิงขร) มีพระพายเรือมาบิณฑบาต สำหรับท่านเจ้าวัดบางลำภูล่าง (เศวตรฉัตร) ก็ลงเรือที่มีลูกศิษย์พายหัวพายท้าย มารับบาตรทางเรือด้วย ในขณะที่พระลูกวัดอื่นๆ พายกันมาเองทั้งนั้น โดยที่สมัยนั้นยังไม่มีเรือหางยาว และถนนเจริญนครยังไม่มีรถวิ่ง การใส่บาตรพระเรือ จึงสะดวกกว่าพระบก

มีลุงใหญ่คนเดียว ที่เคยบวชพระ ณ วัดราชสิงขร ซึ่งมีพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของบรรพชนของพวกบ้านเราไว้ด้วย ทั้งๆ ที่รกรากเดิมของ ย่าอยู่ทางวัดทองธรรมชาติและวัดทองนพคุณ โดยที่ความคุ้นเคยกับวัดและพระทั้งสามวัดนี้ ก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับถือได้ว่าท่านเป็นผู้นำทางสติปัญญา ต่อภายหลังแล้ว พระมหาอิ๋นแห่งวัดทองนพคุณ จึงมามีอิทธิพลกับบิดาข้าพเจ้า และสมาชิกในครัวเรือนของคณาญาติของเราแทบทุกคน ทั้งนี้เพราะความเป็นเลิศของท่านในทางโหราศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นพาหะที่นำธรรมะมาช่วยบรรเทาทุกข์และบำรุงสุขให้พวกเรา โดยอาศัยประเพณีและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างเหมาะแก่กาล-เทศะอีกด้วย

ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า ลุงใหญ่ที่เคยบวชเรียนมา จะเป็นคนดีมีศีลธรรมอะไรเอาเลยก็ว่าได้ ลุงคนรองมาเสียอีกกลับเป็นคนที่มีสัมมาชีพ ซื่อสัตย์สุจริต และทำนุบำรุงบุตรภรรยาอย่างตั้งใจ โดยมีน้ำใจไมตรีกับเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปในวงกว้างอีกด้วย โดยไม่อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นพุทธศาสนิก นอกไปจากการไหว้พระสวดมนต์อยู่บ้าง ทำบุญทำทานตามกาลเทศะ ที่ร้ายก็คือท่านยากจนและทนทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บ จนตายไปก่อนพี่ชายน้องชายคนอื่นๆ

สำหรับบิดาข้าพเจ้านั้น เป็นน้องคนสุดท้อง ซึ่งก็ไม่ถึงกับเละเทะมัวเมาหรือติดการพนันอย่างลุงคนใหญ่ ทั้งยังเป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นคนสุจริตยุติธรรม เอื้ออาทรต่อญาติพี่น้องและบริษัทบริวาร แต่ก็ไม่รักเดียวใจเดียวเหมือนลุงคนกลาง ต่อเมื่อบิดาข้าพเจ้ามาเคารพนับถือท่านพระมหาอิ๋น แห่งวัดทองนพคุณ (ซึ่งต่อมาคือเจ้าคุณพระภัทรมุนี) แล้วนั่นแหละ ท่านจึงเริ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยบ้าง แม้จะไม่เข้าถึงจิตสิกขา แต่ท่านก็พยายามถือตามศีลสิกขา และมุ่งทางด้านทานมัยยิ่งๆ ขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีอิทธิพลมาจากญาติทางข้างภรรยา ซึ่งมีท่านล้อม เหมะชะญาติ เป็นประมุขก็ได้ เพราะท่านผู้นี้เป็นบุคคลที่บิดาข้าพเจ้าเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับว่าท่านเป็นสมณะ ในรูปแบบของทายิกาเอาเลยก็ว่าได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -