เวทีความคิด
- เกษม คนไว - เมื่อหลายปีมาแล้วน้องๆ จากสภานักศึกษา สถาบันราชภัฏสกลนคร ได้ขึ้นมาเยี่ยมรุ่นพี่ ที่ศูนย์ อินแปง ในช่วงเย็นเราได้ไปพักที่นาของพ่อเล็ก หลังจากที่กินข้าวเย็นเสร็จ ก็เปิดสภากาแฟขึ้น โดยให้พ่อเล็กเป็นวิทยากร พี่เป็นผู้ดำเนินรายการในประเด็น การศึกษาเพื่อชีวิต การศึกษาเพื่อชุมชน "พ่อเล็กครับ พ่อเล็กคิดว่าการศึกษาของเราในปัจจุบันเป็นอย่างไรครับ" ผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็น พ่อเล็กได้อธิบายว่า "เราได้สังเกตกันบ้างไหมว่า ในปัจจุบัน ลูกหลานที่เรียนจบในระดับสูงๆ มุ่งจะออกไปทำงานให้ฝรั่ง รับใช้คนรวยให้รวยยิ่งๆ ขึ้น แต่หมู่บ้านของเรา ชุมชนของเรา เหลือแต่ คนแก่ๆ กับเด็ก ชุมชนเริ่มล่มสลายไปเรื่อยๆ มีคนที่เรียนจบแล้วหันมาทำงาน ที่ชุมชนน้อยมาก" "ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับพ่อ" "เพราะครูที่สอนเรา สอนให้เราลืมท้องนา สอนให้ยกย่องเงินทอง สอนให้เห็นว่า นายทุนดีกว่า ชาวนา ที่จริงแล้วครูก็ดีอยู่นะ แต่เขาก็ถูกคนอื่นสอนมาอย่างนั้น เรียนมาตามระบบนั้น รับนโยบาย มาตามระบบนั้น คนวางนโยบายเป็นคนสำคัญ ไปเรียนด็อกเตอร์มาจากเมืองนอก เห็นว่าระบบการศึกษาของเมืองนอกดีกว่า ทันสมัยกว่า จึงเอาระบบของเมืองนอกมาใช้ โดยลืม ของเก่า ไม่เห็นความสำคัญของท้องถิ่น ให้เรียนแต่สิ่งที่ไกลตัว เช่น การเรียนประวัติศาสตร์ ประเทศไทย ก็เรียนเกี่ยวกับสุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ มันได้อะไร? คนบ้านบัวน่าจะศึกษา ประวัติศาสตร์ ของบ้านบัวก่อนเป็นอันดับแรก ให้รู้ว่ามาที่นี่เพื่ออะไร ใครพามา ทำไมต้องตั้ง หมู่บ้าน อยู่ตรงนี้ อยู่ที่นี่พึ่งพาอาศัยอะไรจึงอยู่ได้ จนถึงพอเป็นบ้านเป็นเมืองแล้ววัฒนธรรม เป็นอย่างไร มีประเพณีอะไร ประเพณีแต่ละอย่างทำเพื่ออะไร วัฒนธรรมใดน่าจะนำมาใช้ น่าจะนำมาปรับปรุง เช่น แต่ก่อนท่านมีลูก ๗-๘ คน แต่ท่านก็เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ท่านอาศัย อะไร ไม่เป็นหนี้ใครเพราะอะไร แล้วท่านก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วทำไมจึงอยู่ด้วยกัน อย่างสงบสุข เอื้ออาทรต่อกัน พึ่งพากัน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมาตั้งกฎเกณฑ์ให้เขา ทำไมเราไม่ให้ นักเรียน เราเรียนบ้าง" พ่อเล็กหยุดพูด หนิงรินน้ำรอนให้จิบ และถามต่อ "พ่อเล็กคะ หนิงได้ยินเขาพูดกันถึงการศึกษาแบบแยกส่วน มันเป็นอย่างไรคะ?" พ่อเล็กจิบน้ำร้อนด้วยท่าทีครุ่นคิด "พ่อจะเล่านิทานตาบอดคลำช้างให้ฟัง มีคนตาบอด แต่กำเนิด ๔ คน ต่างก็ไม่เคยเห็นช้างทั้งตัวว่าเป็นอย่างไร ตาบอดคนแรกคลำไปถูกหางจึงคิดว่า ช้างเหมือนไม้กวาด ตาบอดคนที่ ๒ คลำไปถูกใบหู จึงคิดว่าช้างเหมือนกระด้ง ตาบอดคนที่ ๓ คลำไปถูกขา จึงคิดไปว่าช้างเหมือนเสาเรือน คนที่ ๔ คลำไปถูกอวัยวะเพศ ก็บอกว่าช้างเหมือน สากตำข้าว หลังจากนั้นตาบอดทั้ง ๔ คนจึงถกเถียงกันว่า ช้างมีลักษณะอย่างที่ตนคลำเจอ เถียงกันไม่ยอมลดราวาศอก การศึกษาแบบแยกส่วนก็เหมือนตาบอดคลำช้าง ไม่สอนให้เห็น องค์รวม แต่ให้เรียน เพียงบางด้านบางอย่าง นักวิชาการปัจจุบันจึงมีความเห็นไม่ลงรอยกันสักที เพราะเรียนมาคนละอย่าง" เอ๋ซัก "พ่อคิดว่าทำอย่างไร ลูกหลานของเราจึงจะรู้จักทุกๆ อย่าง" "อย่างพวกเรานี่ก็มีหลายเอกหลายคณะ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เมื่อใครรู้อะไรก็มาเล่าให้เพื่อนฟัง ผลัดกันเป็นครู ผลัดกันเป็นนักเรียน เราเรียกว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อทุกคนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น นั่นคือการติดอาวุธทางปัญญาได้หลายด้าน เดี๋ยวนี้คนไทยชอบเก่งเรื่องเดียว พอเขา เลิกจ้างก็เลยตกงาน นั่นคือการมีอาวุธชนิดเดียว เรามีมีด ศัตรูก็มีมีดมันก็พอสู้กันได้ แต่ถ้าเรา มีมีดแต่ศัตรูมีระเบิด เราจะสู้มันได้ไหม แล้วทำอย่างไรเราจะมีทั้งมีดทั้งระเบิด ปืน มีอาวุธ หลายอย่าง เมื่อศัตรูมาแบบไหนเราก็พร้อมที่จะรับมือได้ เขาไม่จ้างไปเป็นครู เราก็ไปซ่อมรถ เขาไม่จ้างเรา เราก็ปลูกข้าวปลูกผักกินเองได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่จ้างแล้วจะตกงานเลี้ยงตัวเองไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือเราจะต้องรู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง รู้จักอย่างเดียวไม่พอ เช่น ไม้มะค่า รู้จักแต่เอามาทำ เฟอร์นิเจอร์ได้ แค่นี้ไม่พอเพราะจะทำให้ป่าหมดไป ถ้ารู้จริง ไม้มะค่ามีประโยชน์ เป็นทั้ง สมุนไพร มาสร้างที่อยู่อาศัยได้ ผลมันก็กินได้ ถ้าเรารู้จริงก็จะทำให้เรารู้จักคุณค่าของมันมากขึ้น เราจะหวงแหนรักษาไม่ให้มันหมดไป แล้วยังจะมีประโยชน์ต่อผืนดินอีก จะทำให้ดินอุดม สมบูรณ์ นั่นคือการรู้แจ้งแทงตลอด รู้ตั้งแต่อดีตถึงอนาคต" พ่อเล็กอธิบาย พ่อเล็กหยุดพูดชั่วขณะ เจี๊ยบจึงฉวยโอกาสถามแทรก "แล้วคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ ล่ะคะพ่อ เขาจะเรียนรู้แบบไหน" พ่อเล็กปรายยิ้มก่อนตอบ "การศึกษานั้นจะอยู่ที่ไหนก็ศึกษาได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนอยู่ใน ระดับสูงๆ ถึงจะเป็นการศึกษา ลูกพ่อทุกคนพอจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว พ่อจะไม่ให้ เขาเรียนต่อ ในโรงเรียนในระบบ เพราะพ่อไม่ไว้ใจโรงเรียนในปัจจุบัน ไม่ไว้ใจครูในปัจจุบัน เพราะพ่อสังเกตเห็นว่าคนที่จบจากโรงเรียนในระบบในระดับสูงๆ มักจะลืมท้องไร่ท้องนา รังเกียจพ่อแม่ซึ่งเป็นชาวนา ลืมรากเหง้าของตัวเอง แต่พ่อก็ไม่ได้จำกัดศักยภาพของเขานะ พ่อให้ลูกพ่อเรียนการศึกษานอกโรงเรียน ไปเรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่วันจันทร์-ศุกร์ เขาจะอยู่กับพ่อแม่ เราก็จะมีเวลาอยู่ด้วยกัน สั่งสอนเขา ไม่ใช่ว่าจะให้แต่ครูเป็นคนสอน ครูจะสอนยังไงก็แล้วแต่ครู คิดอย่างนี้มันก็ไม่ถูก เพราะลูกเรา เราจะต้องสอนให้มากที่สุด ดูแลเขามากที่สุด ก็มีบางครั้งที่เขารู้สึกด้อยกว่าคนที่เรียนสูงๆ แต่พ่อจะบอกลูกเสมอว่า ลูกเอ๋ย การเรียนนั้นจะเรียนที่ไหนก็ได้ พระพุทธเจ้าในสมัยก่อนก็ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยหรอก ท่านเรียนอยู่ในป่า จนสำเร็จพระอรหันต์ ไม่มีใครให้ประกาศนียบัตรท่านเลย ว่าท่านจบ อรหันต์ตรี อรหันต์โท อรหันต์เอก แล้วทำไมคำสอนของท่าน จึงได้มีคนเอามาปฏิบัติกันทั่วโลก จะอยู่ที่ไหน ก็ศึกษาได้ เพราะการศึกษาคือการพัฒนาสมอง พัฒนาวิธีคิด เพชรนิลจินดา ถ้ายังไม่ได้เจียระไน ก็ยังไม่มีค่าเท่าที่ควร คนก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่พัฒนาก็ยังไม่มีค่าเท่าที่ควร เพียงแต่มีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี เป็นคนดี เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนมนุษย์ เป็นคนดี ของชาติ เป็นทายาทของศาสนา" ผมสังเกตเห็นดวงตาของทุกคนแสดงถึงความเข้าใจมากขึ้น เก๋ได้ถามต่อว่า "พ่อเล็กคะ ที่เขาว่าการศึกษาตลอดชีวิตน่ะเป็นยังไงคะ หนูยังไม่ค่อยเข้าใจค่ะ" พ่อเล็กจึงแจกแจงต่อว่า "ทุกวันนี้เรามักคิดว่าเรียน ๖ ปีจบประถม เรียน ๔ ปี จบปริญญาตรี คิดว่าจบแล้ว ไม่ใช่นะ นั่นเป็นเพียงการจบในระเบียบข้อบังคับ ส่วนการศึกษาในความเป็นจริง ของชีวิต ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะทำอย่างไรให้รู้เท่าทัน ถ้ารู้ไม่เท่าทันจะทำให้เราอยู่กับมันอย่างทรมาน ถ้ารู้เท่ามันแล้ว เราจะอยู่กับมันอย่างสง่าผ่าเผย มีความสุข นั่นคือการศึกษาตลอดชีวิต ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ เราต้องศึกษาไปตลอด เทคโนโลยีมีประโยชน์ถ้าเรารู้เท่าทันมัน แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน มันจะกดดันเรา เราเอามันมาใช้ ไม่ใช่ให้มันมาใช้เรา" วสันต์ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เราจะไม่ให้นักเรียน เรียนเทคโนโลยีของต่างชาติเลยหรือครับ" พ่อเล็กแย้งว่า "เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีจากข้างนอกนะ เราไม่ปฏิเสธวิทยาการสมัยใหม่ แต่เราก็น่าจะได้เรียนเทคโนโลยีพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันเห็นเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ภูมิปัญญานั้นทำให้เขาพึ่งตนเองได้ โดยพึ่งภายนอกน้อยลง ชาวบ้านเขามีปัญญานะ ทำไม เขาจึงรู้ว่าเวลามีดบาดมือ ต้องเอาใบสาบเสือมาเคี้ยวแล้วปิดบาดแผลห้ามเลือดได้ น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ก็เอาว่านหางจระเข้มาทาแล้วหาย ทำไมเขารู้เรื่องนี้ ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ได้ เป็นไข้โน่น ไข้นี่ เอารากไม้นั่นรากไม้นี่มาต้มกินแล้วหาย นี่คือภูมิปัญญา ที่เราไม่ต้องเสียเงิน แต่ปัจจุบัน เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้าสมัย มีดบาดมือต้องเอาแอลกอฮอล์เช็ด ซึ่งเราต้องเสียเงินซื้อ ชาวบ้าน พึ่งตนเองไม่ได้" "พ่อเล็กครับ พวกผมจบออกมาถ้าไม่ทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรม ก็ไม่รู้จะทำงานที่ไหน" กอล์ฟยังไม่กระจ่าง พ่อเล็กจึงชี้ให้เห็น "เมื่อ ๔-๕ ปีก่อน พ่อเคยพูดว่า ทำนาเสร็จเขาจะฆ่าควายถึก รบศึกเสร็จ เขาจะฆ่าทหาร โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเกิดปัญหาเขาจะฆ่าคนงาน เขาจะลอยแพคนงาน เขาว่าพ่อบ้า เพราะลูกเขาไปทำงานที่โรงงาน ได้เงินมาบ้านเยอะแยะ แต่ปีนี้เขาเชื่อพ่อแล้วนะ เพราะลูกเขาตกงาน เราจะต้องทำความเข้าใจกับลูกหลานว่าจำเป็นไหม ที่เราจะต้องไปเป็น ลูกจ้างเขา ดินน้ำป่าดงพงพีที่เรามีอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่ทำให้มันมีอยู่มีกิน เหลือกินแล้วค่อยขาย เหลือขายก็แปรรูปเป็นเงินเป็นทอง แต่คนเรียนจบสูงๆ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เพราะสังคมภายนอก ยัดเยียดความคิดว่า เรียนไปเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน การศึกษาของเราในปัจจุบัน มีหัวใจว่า เรียนไปเพื่อเป็นอะไร ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง การศึกษาของเราน่าจะมีหัวใจว่า เรียนไปเพื่ออะไร เราไม่ได้เรียนไปเพื่อเป็นข้าราชการหมดทุกคน เพื่อเป็นนักธุรกิจหมดทุกคน แต่เรียนเพื่อให้รู้ เท่าทันเหตุการณ์บ้านเมือง ที่มันเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ให้รู้เท่าทันสังคม เมื่อรู้เท่าทันแล้ว เราก็นำมาประยุกต์ใช้อย่างสง่าผ่าเผย พ่อแม่เดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจลูก ยึดถือเอาค่านิยมผิดๆ ลูกสอบ เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ด่าว่าลูก ลูกก็ไม่เข้าใจตนเอง สอบไม่ได้ก็อยากฆ่าตัวตาย อยากกระโดด ตึกตาย ลูกหลานเอ๋ย ทางเดินชีวิตมันมีหลากหลาย ไม่ได้มีแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นดอก" "ทำไมพ่อเล็กจึงว่าเด็กนักเรียนทุกวันนี้ไม่เข้าใจตัวเองครับ" ผมถามขึ้น "ก็เพราะทุกวันนี้เด็กของเราคิดเองไม่เป็น เป็นผู้ตามอย่างเดียว ครูสอน ก.ไก่ ก็ต้อง ก.ไก่ ข.ไข่ ก็ต้อง ข.ไข่ข้อ ๑ ก็ต้องข้อ ๑ ข้อ ๒ ก็ต้องข้อ ๒ ถ้าไม่เอาตามนั้นถือว่าผิด แสดงว่าตาม อย่างเดียว ไม่ได้ฝึกคิดเลย เมื่อปี ๒๕๓๒ ชาวบ้านบัวไปเรียนเพาะหวาย ครูสอนเพาะหวาย กว่าจะงอกใช้เวลา ๑ ปี ชาวบ้านก็บอกว่าช้าเกินไป จึงพากันมาทดลองเพาะแบบใหม่ บางคน เพาะกลางแดด เอาทรายมากลบเพื่อให้มันร้อน ๒-๓ เดือนก็งอก บางคนก็เพาะโดยเอาขุย มะพร้าว ใส่กะละมัง ๒ อาทิตย์ก็งอก ใช้เวลาน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่คือการศึกษานะ การศึกษา เพาะกล้าหวายที่ทำได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่เอาตามครู ครูเอาแบบไหนก็เอาแบบนั้น ถ้าเอาตามครู ต้องใช้เวลา ๑ ปี มันก็ช้าเราก็คิดไม่เป็น เราต้องลองทำ นี่คือการศึกษาที่ฝึกคิด การศึกษา ต้องไม่เป็นแบบตายตัว ถ้าเป็นแบบตายตัว ทุกอย่างก็จบ เวลาเจอปัญหาก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่รู้จัก คิดพลิกแพลง" คืนนั้นเราเสวนากันอีกหลายเรื่อง กว่าจะเข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน แต่ละคำความของพ่อเล็ก ล้วนชวนคิด "...เรียนไปเพื่อรับใช้คนรวยให้รวยยิ่งขึ้น...คนไทยเก่งเรื่องเดียว พอเขาเลิกจ้าง ก็ตกงาน... ลูกหลานเอ๋ย ทางเดินชีวิตมีหลากหลาย ไม่ได้มีแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นดอก" - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ - |