ใส่โจ - แก้โจ


"เจ๊ะบูวะอาปอ (พ่อทำอะไรครับ)?" เสียงมามุถามพ่ออยู่ที่ชานหน้าร้าน

"บูวะตาลี (ทำเชือก)" เสียงพ่อตอบมามุสั้นๆ แล้วพูดต่อว่า "น้อยดูโดะดาแลดาโป มาโสะฆีลา (น้อยอยู่ในครัวแน่ะ เข้าไปซี)"

"อามอนาตีซีนิงปงบูเละห์ ดียอมาแกนาสิ? (ผมรอตรงนี้ก็ได้ครับ เขากินข้าวอยู่หรือครับ)?" เสียง มามุ พูดและถามต่อ อย่างสุภาพเรียบร้อย

น้อยรับประทานข้าวเช้าเสร็จแล้ว กำลังล้างจานอยู่ก็พอดีได้ยินเสียงเพื่อน เธอรีบคว่ำจานไว้ บนที่คว่ำจาน ที่พ่อใช้ใม้ระแนง ตอกเป็นแถวบนม้า ทุกคนในบ้านรู้ดีว่า จะต้องคว่ำภาชนะ ที่ล้างสะอาดไว้เป็นแถวๆอย่างเรียบร้อย แม่บอกว่า คว่ำแบบนั้น ไม่เพียงแต่เป็นระเบียบ แต่จะคว่ำ ได้จำนวนมาก เวลาหยิบมาใช้ก็ง่ายเพราะจาน ชาม และถ้วยจะไม่บังกัน สำหรับช้อน พ่อเอาไม้กระดานบางๆ กว้างสัก ๑ นิ้ว แต่ยาวเท่ากับม้าคว่ำจานตอกติดไว้ทั้งสองข้าง โดยมี ไม้ชิ้นเล็กๆ ๒ ชิ้น อยู่ตรงกลาง เพื่อสอดช้อนลงไปได้พอดี แม้แต่การสอดช้อนเหน็บลงไป แม่ก็สอน ให้สอดคว่ำไปด้านเดียวกันหมด ไม่คว่ำบ้าง หงายบ้าง ทุกคนในบ้าน ทำอย่างนี้ เหมือนกัน จึงเป็นระเบียบน่าดู และไม่เห็นยากอะไรด้วย

คว่ำจานและเหน็บช้อนเข้าที่เช็ดมือจนแห้งแล้วรีบเดินออกมาหน้าบ้านพลางบอกมามุว่า

"มาแกซูเดาะห์เด๊าะ (กินเสร็จแล้ว)"

ทั้งสองนั่งห้อยเท้าขนาบข้างดูพ่อฟั่นเชือกต่อไปอย่างเงียบๆ

วันนี้พ่อเอาเถาวัลย์ชนิดหนึ่งมาลองทำเชือกเหนียวๆ ขนาดเล็กๆไว้ใช้เรียกว่า ต้นปดหรือ ย่านปด() พ่อเริ่มต้น โดยการลิดใบ คายๆ ของมันออกก่อนแล้วจึงเอาไม้ค้อน() ทุบเถามัน พอให้แตก เพื่อลอกเปลือกออก ถ้าลอกยาก พ่อก็จะเอาลงแช่ไว้ ในคูน้ำ เสียสักวันสองวัน เปลือกมัน ก็จะหลุดออกอย่างง่ายดาย

น้อยชอบดูเวลาพ่อฟั่นเชือกนัก ถ้าเป็นย่านเล็กๆ อย่างย่านปดนี้ พ่อจะฟั่นบนหน้าขาของพ่อเอง พ่อทบเถาวัลย์ เข้าเป็นสองทบ เริ่มฟั่นจากปลายที่ทบก่อนโดยใช้ฝ่ามือขวา วางลงบนเถาวัลย์ นั้น แล้วคลึงให้เถาวัลย์หมุน เป็นเกลียว ไปใต้ฝ่ามือ พอพ่อเคลื่อนฝ่ามือไปเกือบถึงเข่า ก็ต้องหยุด ตรงนี้เป็นตอนสำคัญมาก พ่อจะเอานิ้วกลางซ้าย สอดดันเข้าไป ให้สุดที่ฟั่น ใช้นิ้วชี้ กับหัวแม่มือช่วยจับไว้ด้วย พ่อต้องทำอย่างนั้น เพราะมิฉะนั้น เกลียวที่ฟั่นแล้ว จะคลายเสีย ต้องทำใหม่อีก เสียเวลา

มามุกับน้อยรู้วิธีฟั่นเชือกดีและเคยลองทำหลายหนแล้วด้วย

"น้อยชอบดูเวลาเชือกมันหมุนเป็นเกลียวแน่น บางทีมันบิดตัวเองได้เหมือนไส้เดือน" น้อยว่า

"เอาอีกแล้ว คิดแปลกๆ อีกแล้ว เชือกบิดเหมือนไส้เดือน น้อยนี่" มามุติง

"จริง มามุ จริง บางทีมันบิดอย่างนั้นจริงๆ ด้วย" น้อยพยายามบอกตามที่เห็นและรู้สึก แต่มามุรู้ทัน พูดว่า

"เธอก็ไปนึกถึงอุลา (งู) อีกใช่ไหมล่ะ เธอเกลียดงู"

"ก็ใช่น่ะซี- แต่พ่อคะ น้อยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าต้นปดก็เอามาทำเชือกได้ เคยเห็นแต่เขาเอา ใบมัน รูดปลาไหล น่าสงสาร มันอ็อก เขาแขวนมันกับกิ่งไม้ แล้วใบปดมันก็คายมาก พอเขาจับ รูดลงมา ตัวมันลอกขาวเลย มันต้องเจ็บ มากนะพ่อนะ น้อยเห็นมันดิ้น บิดไปบิดมา ยังงี้ค่ะ" น้อยยกมือ ทำท่าหงิกงอให้พ่อดู "แต่มันไม่หลุดค่ะ เจ้าเสาร์ เขามัดคอ มันไว้แน่นเลย เขาว่า จะเอาไป ผัดเผ็ดแกล้มเหล้า อร่อยม้าก" น้อยแกล้งลากเสียง คราวนี้ถึงตามามุเกิดปฏิกิริยาบ้าง

"แหวะ! กินปลาไหล เมือนอุลาอ็อก! มุสลิมไม่กิน!"

"ฉันรู้แล้วแหละ คนมุสลิมไม่กินสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด() ในกรุแอ(กุรอาน) ห้ามไว้เลย ใช่ไหมล่ะ? เธอพูดเรื่องอุลา ฉันเลยแกล้งพูด เรื่องปลาไหล ไม่เอา พูดเรื่องอื่นดีกว่า ทำไมพ่อรู้คะ ว่าเอาย่านปดมาฟั่นเชือกได้?" น้อยถาม

"คนเราไม่รู้ไปหมดทุกอย่างหรอกลูก บางอย่างเรารู้เพราะผู้ใหญ่บอกกันต่อๆ มา บางอย่าง เราสังเกต จดจำ จากที่เห็น คนอื่นเขาทำ บางอย่าง อย่างต้นปดนี่ พ่อลองเอามาฟั่นดู เพราะดู ท่าทาง จะใช้ได้ อย่างนี้เราเรียกว่า ทดลองทำ ถ้าทำได้ เราก็จะได้รู้ ถ้าทำไม่ได้ เราก็จะได้รู้ เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกอย่างที่ทดลอง จะได้ผลเสมอไปหรอกลูก ที่สำคัญ ลูกต้องรู้จัก ไต่ถามผู้ใหญ่ เราจะได้ไม่ผิดพลาด" พ่ออธิบาย

"อย่างที่พ่อเอาหมากสลอดให้ไก่กินเวลามันท้องผูก พ่อก็รู้จากผู้ใหญ่มาก่อน ใช่ไหมคะ? พ่อไม่ได้ ทดลองเอง" น้อยถามพ่อ

"อ๋อ นั่นพ่อรู้มานานแล้วว่าหมากสลอดเขาใช้เป็นยาถ่ายได้ มามุและน้อยต้องจำไว้ เมื่อเห็นอะไร รูปร่าง สีสันสวยน่ากิน แล้วกินเข้าไปทันที มันอาจมีพิษรุนแรง แม้แต่จับต้องก็ไม่ได้ด้วยซ้ำไป" พ่อมัก จะสั่งสอน อย่างน่าฟังเสมอ และเลือกโอกาส ได้เหมาะเวลา เด็กๆ กำลังสนใจ อยากรู้ด้วย

"เจ๊ะ" (พ่อ) วันก่อนน้อยเกือบไปแล้วครับ" มามุเล่าให้พ่อฟัง พ่อหยุดฟั่นเชือก หันมามองมามุ "ในป่าริมคลอง เลยบ้านน้ากิมไปน่ะครับ มีดอกไม้สวยมากครับ สีม่วงอ่อนๆ เป็นช่อ น้อยเขาไป เด็ดมา โชคดีเขาไม่ได้ไปโดนตรงอื่นมัน"

"แล้วไง ? ไหนเล่าต่อซิ ใครมาห้ามไว้ล่ะ? พ่อถาม

"มันสวยมากเลยค่ะพ่อ ตอนแรกน้อยคิดว่าเป็นดอกถั่ว แต่มันเป็นช่อ ก็พอดีน้าเฮียงเห็นเข้า แกตะโกนลั่นว่า หมามุ่ย หมามุ่ย โยนทิ้งเร็ว! น้อยก็เลยโยนทิ้งไป" น้อยเล่าพ่อตามตรง แต่พ่อกลับ ทำท่าตกใจเมื่อพูดว่า

"อะไรนะ?" หมามุ่ยหรือ? นั่นเป็นพืชที่คันที่สุดทีเดียวนะ ดีแล้ว จะได้จำไว้จนตายทีเดียว ทั้งมามุ ทั้งน้อย นั่นแหละนะว่า อะไรที่ดูสวยงาม อาจมีพิษร้ายได้" แล้วพ่อก็ท่องอะไรต่อว่า 'วาววาว บ ใช่เนื้อ คำดี ทั่วนา'() แต่นี่ยากไป สำหรับลูก จำแค่ว่า อะไรที่สวยงาม อาจมีพิษร้ายได้ แค่นี้ก็พอ"

"ยังมีอีก เจ๊ะ" มามุได้โอกาสถามต่อ "ตรงป่าหลังสวนเจ๊ะ แถวๆ ที่มีต้นรกช้าง() น่ะครับ วันก่อน ผมกับน้อย เข้าไปเห็นต้นอะไรไม่ทราบ เป็นย่าน ใบมันสวยดี เป็นหยักสามหยัก แล้วมันมีหนวด ม้วนๆ ลูกมันเป็นพวง เหมือนลูกยาเบ๊ะ() ในรูป ลูกมันกลม ขนาดนิ้วก้อย น่ากินมากที่สุดเลย กินได้ไหมครับ?"

แม่กับพี่แมะเพิ่งรับประทานข้าวเสร็จเดินออกมา ได้ยินมามุถามพ่อพอดี จึงรีบห้ามว่า "นั่นลูก เขาคันป่า() อย่าไปกิน เข้าเชียวนะ เดี๋ยวคันตาย ชื่อมันก็บอกแล้วว่า ลูกเขาคัน ซนกันไม่เข้าเรื่อง ไปช่วยกันทำเชือกกล้วย ไว้มัดของขาย ดีกว่าไป๊"

มามุและน้อยพยักหน้าให้กัน ก่อนกระโดดลงชานเรือนหน้าบ้าน ทั้งสองคนแบ่งงานกัน มามุพูดว่า

"เธอไปเอามีดมา ลับมาด้วยนะ ฉันจะไปเอาเคียวกับพด() ที่บ้าน แซเพิ่งปอกมะพร้าว เมื่อวาน"

ครู่หนึ่งเด็กทั้งสองก็มายืนอยู่ในดงกล้วยข้างเรือน มามุจัดแจงมัดเคียวคมกริบ เข้ากับปลาย ไม้สอย ที่น้อยไปเอาออกมา จากใต้ถุน พามามุเกี่ยวทางกล้วยด้วยเคียวลงมา น้อยเป็นคนลาก ออกไปวางเรียงไว้ บนหญ้า ริมถนนหน้าบ้าน ตรงใต้ต้น ชมพู่ ที่มีลูกดกห้อยระย้าอยู่เต็ม คนหนึ่งเกี่ยว คนหนึ่งลากลงมา จนได้ทางกล้วยมากพอแล้ว จึงถึงขั้นตอน เลาะกาบกล้วย มาทำเชือกให้แม่

หากผู้ใหญ่เขาโค่นต้นกล้วยลงมา การตัดทางกล้วยและเลาะกาบออกจะทำได้ง่ายมาก แต่วันนี้ ไม่มีการโค่น การตัดทางกล้วย และเลาะกาบ จึงทำยากหน่อย ต้องอาศัยเด็กรู้วิธีและเคยทำ อย่างน้อย และมามุ จึงจะได้สำเร็จ ด้วยดี

ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีวันสำเร็จร้อก!

เด็กทั้งสองถือมีดบางขนาดเล็กที่น้อยลับกับหินลับมีดแบบละเอียดของพ่อมาแล้ว จากนั้น ก็ค่อยๆ บรรจงกรีดควั่น ไปรอบโคนกล้วย อย่างเบามือ กะให้ได้จำนวนกาบกล้วยแต่ละต้น เท่ากับ จำนวนทางกล้วย ที่มามุเกี่ยวลงมา

ยางกล้วยซึมออกมาตามรอยควั่นอย่างรวดเร็ว ทั้งสองรู้ดีว่ายางกล้วยนั้นถ้าเปื้อนเสื้อผ้า เข้าละก็ ไม่มีวันซักออก จึงได้เปลี่ยน ผ้านุ่ง และสวมเสื้อ ที่เก่ามอมแมมที่สุด ยางกล้วยจะเปื้อน สักเท่าไร ก็ไม่ต้องระวัง

จากนั้นมามุกับน้อยก็ใช้มีดเซาะเข้าไปตรงริมบางของกาบกล้วยแต่ละกาบสอดนิ้วตามเข้าไป เอามีดออก ดันนิ้ว ลึกเข้าไปๆ กาบกล้วย ก็จะหลุดออกมา ทีละกาบ ต้องเป็นกาบแก่แล้วเท่านั้น เชือกกล้วยจึงจะเหนียวดี กาบกล้วยที่เหลือติดต้น จะค่อยๆ กลายเป็นกาบแก่ ให้ตัดอีก หรือ จนกว่า มันจะออกปลี ออกลูกเป็นกล้วย พอกล้วยแก่เต็มที่ พ่อก็จะโค่นต้นลงมา ถึงตอนนั้น ก็จะได้ทั้งกาบกล้วย ใบตอง กล้วย และหยวกขาวจั๊วะ ให้แม่ทำกับข้าว พ่อต้องโค่นต้น ก็เพราะ ต้นกล้วยนั้น พอออกลูกแล้ว มันก็จะตาย

กาบกล้วย ทางกล้วยวางเรียงรายอยู่บนถนนหญ้าเยื้องหน้าบ้าน แต่เรียกให้เด็กทั้งสองไปเอา ขนมปังกรอบ ในปี๊บ มารับประทานกันก่อน พี่แมะใจดีเอาน้ำฝนในโอ่งหลังบ้านมาให้ด้วย เมื่ออิ่มท้อง และนั่งพักต่อสักครู่ แล้วมามุกับน้อย ก็ลงมือ ทำงานต่อทันที รู้สึกตัวเหมือนเป็น การเล่น ที่สนุก และท้าทาย ไปด้วยพร้อมกัน

เริ่มต้นด้วยการหยิบทางกล้วยด้านโคนขึ้นมาก่อน แล้วจึงเอามีดบาง กรีดไปจนตลอดถึงปลาย เวลากรีด ก็ต้องทำเป็น คือต้องให้ติดเนื้อ ตรงริมทางกล้วยมาด้วย และต้องระวังไม่ให้ไปกรีดถูก ส่วนที่เป็นเนื้อใบตอง เพราะใบตอง จะฉีกขาด เสียไปเลย ทำอย่างนั้นทีละข้าง ทางหนึ่งก็จะได้ ใบตองยาวๆ สองแถบ เอาแต่ละแถบ วางหลังลงตามยาว แล้วเอาแถบที่สอง สาม สี่ วางซ้อน ลงไป จากนั้นจึงลากใบตอง มาพับหัวพับท้าย จนได้ใบตองเป็นพับๆ จะเอาไปขายให้แม่ค้า ในตลาดแว้ง ก็ได้สตางค์ มาใส่กระปุก แต่วันนี้พี่แมะ จะเป็นคนเอาใบตองพับๆ นี้ใส่กระด้ง ไปขายเอง เพราะมามุและน้อย ยังมีงานปนเล่น ต้องทำอีกมากมาย จะมัวเดินไปตลาดไม่ได้

"ทางกล้วยเยอะแยะเลย น้อยว่าเราเอามาทำม้าก้านกล้วยกันดีไหม?" มามุถาม

"ฉันว่าขี่ม้าก้านกล้วยไม่สนุก สู้เอาเตาะ(กาบปูเล) มาลากกัน สนุกกว่าตั้งเยอะ" น้อยว่า "แต่เธอ เป็นเด็กผู้ชาย เธออยากทำ ปืนก้านกล้วยไหมล่ะ?"

"ฉันก็ว่าไม่สนุก สู้บ้องตุด (ไม้ซาง) ไม่ได้" มามุตอบ

"งั้นเรามาทำเชือกกล้วยให้แม่ดีกว่า เรารีบทำตอนนี้ พอแดดกล้ามันจะได้แห้งเร็วไง ดีไหม?" น้อยเสนอ

"ตกลง" มามุว่า

เด็กทั้งสองต่างเลือกเส้นใยจากกาบมะพร้าวมาคนละเส้น ทำห่วงรูดตรงปลายทั้งสอง สอดนิ้วชี้ และหัวแม่มือขวา เข้าไปในห่วง กางนิ้วออก ห่วงจะรัดนิ้วทั้งสองจนแน่น

เส้นใยกาบมะพร้าวระหว่างนิ้วกลายเป็นเครื่องมือชั้นดี และคมกริบไปแล้ว

น้อยและมามุหยิบกาบกล้วยมาถือด้วยมือซ้าย ใช้เส้นใยระหว่างนิ้วมือขวา รูดกาบกล้วย ตั้งแต่ปลาย มาถึงโคน แทบไม่ต้อง ลงแรงอะไรเลย เพียงแต่รูดให้แต่ละเส้นห่างกัน สักหนึ่งเซ็นติเมตร แป๊บเดียวก็เสร็จกาบหนึ่งๆ เอาไปตากไว้ที่ราวไม้ไผ่ หลังรั้วสวนของพ่อ

พ่อกับแม่มองดูน้อยและมามุแบกเส้นเชือกกล้วยสดไปตากด้วยสายตาเอ็นดูและสีหน้ายิ้มๆ น้อยชำเลืองเห็น แต่แกล้ง ทำเป็นไม่เห็น ก็เธอกำลังทำงานหนักอยู่นี่นา จะเสียเวลาไม่ได้ เป็นอันขาด

เมื่อกาบกล้วยกาบสุดท้ายกลายเป็นเชือกบนราวแล้ว น้อยกับมามุก็ถึงกับนอนแผ่บนหญ้า ใต้ต้น ชมพู่ ด้วยความเหนื่อย สายลมอ่อน จากทุ่งนาโชยมาเบาๆ ชวนให้ง่วงนอน น้ำในคูเล็กไหลผ่าน ข้างโคนชมพู่ ดังจุ๋งจิ๋ง นานๆ ก็ได้ยินเสียง ปลาฮุบเหยื่อ ดังมาจากขอบคู ช่างเป็นสุขอะไร อย่างนี้หนอ

นอนพักนิ่งกันไปสักครู่ มามุก็เปรยขึ้นว่า

"น้อย ฉันว่าชมพู่ต้นนี้สุกเต็มที่แล้วนะ หวานกว่าต้นตรงมุมโน้นด้วย เธอว่าไง?"

"ไม่ได้หรอก มามุ พี่แมะเขาใส่โจ() ไว้ทั้งในรั้วนอกรั้ว ขืนสอยลงมากิน จะท้องป่องตายนะ พี่แมะ เขาว่างั้น" น้อยพูด

"แล้วทำไงจะได้กินล่ะ สักลูกสองลูกก็ยังดี พี่แมะกูปิ้ (ขี้เหนียว) มามุว่า

ทันใดนั้นน้อยก็นึกขึ้นได้ถึงวิธีแก้โจที่พี่แมะเคยบอกเป็นความลับ จึงกระซิบบอกมามุว่า

"ฉันนึกออกแล้วหละ เขาเคยบอกฉันว่าให้ทำอย่างนี้นะ พอสอยหรือเก็บลงมาลูกหนึ่ง อย่าเพิ่ง ใส่ปากเคี้ยว ให้เอาลอด ใต้ขาเสียก่อน โจก็ไม่ทำอะไรเรา ท้องเราก็จะไม่ป่อง เอาเลยนะ"

ต่างคนต่างกระโดดข้ามคู ปีนขึ้นต้นชมพู่ เด็ดลงมาคนละสองลูก ทำพิธีแก้โจเสร็จแล้ว ก็ลงนอน รับประทาน ชมพู่สีแดงสด น้ำชุ่มฉ่ำหวานสนิท นั้นอย่างสบายอารมณ์ ไม่ได้สังเกตว่า พี่แมะมองเห็น การแก้โจนั้น จากหน้าต่างห้องโดยตลอด มารู้ตัวอีกที ก็เมื่อเสียงสวบสาบ ดังมา จากต้นชมพู่ด้านในรั้ว

ทั้งน้อยและมามุต่างตกใจกลัวพี่แมะจะว่าไปขโมยผลไม้ที่เขาใส่โจไว้ แต่เจ้าตัวพี่แมะกลับปีน ขึ้นไปเก็บ ชมพู่ที่สุก เป็นช่อ เป็นพวง ใส่ลงในถุงปลายผ้าขาวม้าของพ่อ ที่คล้องคอไว้จนเต็ม ทั้งสองชาย แล้วจึงไต่ ลงจากต้น อย่างรวดเร็ว

น้อยและมามุยังนั่งตาโตพูดไม่ออกอยู่ที่เดิม ขณะที่พี่แมะกระโดดข้ามคูเล็กมายืนอยู่ใกล้ๆ พูดว่า

"ปั๊ดโท่เอ๊ย! แก้โจทีละลูก แล้วเมื่อไหร่จะได้กินเต็มที่เล่า? ดูนี่!" ว่าแล้วพี่แมะก็ปลดผ้าขาวม้า ลงจากคอ วางถุง ปลายชายผ้าทั้งสองถุง ที่มีชมพู่เต็ม ไว้บนผืนหญ้า ร้องดัง อุ๊บ! ขณะกระโดด ข้ามชมพู่นั้น

น้อยและมามุคาดไม่ถึงเลยว่า พี่แมะจะแก้โจด้วยวิธีนั้น แต่ก็ล้มตัวลงนอนเคียงข้าง หยิบชมพู่ ขึ้นมา รับประทาน ลูกแล้วลูกเล่า จนอิ่มแปล้ไปทั้งสามคน


หมายเหตุ
เขียนตอนนี้เสร็จช้ามาก เพราะกลับจากงานเปิดตัวหนังสือ 'ขัตติยานีศรีล้านนา' วันที่ ๒๖ เม.ย. ๔๗ วันที่ ๒๗ เม.ย. ปิดหลักสูตรวิชาของไทยศึกษาที่ธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๘ เม.ย. ๔๗ เกิดเรื่อง สลด ทางสงขลา ปัตตานี ยะลา ทั้งวันนั้นและวันต่อมารู้สึกสยดสยอง รันทดจนทำอะไรไม่ได้ รู้ข่าว ตั้งแต่วันที่ ๒๓ แล้วว่าทางการจับเด็กจากอำเภอแว้งได้ ๑๐ คน และมารู้ในวันที่ ๒๙ จากเพื่อนๆ ใน 'แว้งที่รัก' ว่าเด็กเหล่านั้น อยู่แถวจะมาแก๊ะ ตอแล และนิคม ใกล้ๆ บ้านผู้เขียน นั่นเอง บางคนเป็นลูกหลาน คนที่เรารู้จัก ด้วยซ้ำไป ใกล้ตัวใกล้ใจมากเสียจนทำอะไรไม่ได้ นอกจาก ต่อโทรศัพท์ไปถึงญาติมิตรในแว้ง และสุคิรินไม่หยุดหย่อน

๑๐๗ ชีวิตของเยาวชนของชาติ เกิดอะไรขึ้นกันแน่? -ชบาบาน ๓๐ เม.ย. ๔๗ ๑๐.๒๐ น.


๑.พันธุ์ไม้ชนิดนี้ผู้เขียนไม่ทราบว่าภาษากลางเรียกว่าอะไร ต้นขึ้นเป็นเถา (ทางปักษ์ใต้ไม่ใช้ คำว่า'เถา' แต่ใช้ว่า 'ย่าน' เช่น ย่านเพา ที่เอามาสานกระเป๋าเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน บางที คนกรุงเทพ ก็เรียก เพี้ยนไปว่า หญ้าลิเภาก็มี) ไต่ไปตามต้นไม้อื่น หรือเลื้อยเป็นซุ้ม ใบมีลักษณะ ค่อนข้างหนา มีขนคายมาก คนจึงเอามารูดเมือกและหนังปลาไหล ปัจจุบันเห็นใส่กระถาง วางขาย ที่ตลาดนัดจตุจักร ดอกสีขาวนวล ออกเป็นกระจุก กลิ่นหอมดีมาก

๒. คำว่า 'ไม้ค้อน' เป็นของใช้ประจำบ้านสารพัดประโยชน์ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ หนึ่งศอก ไว้ใช้ซัดหรือขว้างแบบอาวุธก็ได้ ใช้เป็นเครื่องมือ สำหรับทุบแบบค้อนเหล็กก็ได้ อาจจะเพราะมีค้อนเหล็ก สำเร็จรูปขายกระมัง ไม้ค้อนจึงหมดไป รวมทั้งตัวศัพท์ด้วย สมัยก่อน เวลาจะพูดเป็นทำนอง ขู่ให้กลัว มักจะพูดว่า "เดี๋ยวก็โดนไม้ค้อนหรอก" แต่ปัจจุบันตัดคำว่า 'ไม้ค้อน' ออกเสีย รวมทั้ง ไม้เรียว ไม้เท้าด้วย เหลือเพียง "เดี๋ยวก็โดนหรอก" คำที่เป็นตัวเครื่องมือ จึงหายไป

๓.นี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการกิน ส่วนมากคนไทยพุทธจะรู้แต่เพียงว่าคนมุสลิมไม่กินหมู แต่แท้จริง เขาจะไม่กินเนื้อสัตว์เลื้อยคลาน ทุกชนิดด้วย และเพราะเหตุนี้ เมื่อมีการเปิดนิคม สร้างตนเอง ที่อำเภอแว้ง และ อพยพทหารผ่านศึก กับคนภาคอีสาน ลงไปปักหลัก สร้างฐานะใหม่ มุสลิมทางภาคใต้ จึงเห็นแปลก และ รู้สึกอย่างยิ่ง ที่ผู้อพยพเข้าไปใหม่ ฆ่าสัตว์เลื้อยคลาน อย่างตะกวด และกะปอม มาทำอาหาร

๔.จากเรื่อง 'เวนิสวานิช' พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลจาก บทละครของ William Shakespeare เรื่อง 'The Merchant of Venice'

๕.ภาคกลางเรียกว่า 'กะทกรก'

๖.คือผลองุ่น มลายูภาคเหนือเรียก ยาเบ๊ะ แต่มลายูกลางและอินโดนีเซียเรียก 'อังงูร์' ตามคน เปอร์เซีย แสดงว่า คนไทยเรียกตามมลายูใต้ หรืออินโดนีเซีย หรืออาจจะเรียกตามพ่อค้า ชาวเปอร์เซีย ที่เข้ามาค้าขาย ในกรุงศรีอยุธยาโดยตรงก็ได้

๗.เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่ปักษ์ใต้เรียกผลองุ่นว่า 'ลูกเขาคัน' ปัจจุบันคนปักษ์ใต้เลิกเรียกแล้ว หันมา เรียกว่า องุ่น ตามคนกรุงเทพฯ 'ลูกเขาคันป่า' ที่พูดถึงนั้น มีลักษณะทั้งเถา ใบ ผล เหมือนองุ่น ทุกประการ จึงแน่ใจว่า ที่เรียกว่า 'ลูกเขาคันป่า' ก็เพราะเป็น 'องุ่นป่า'นั่นเอง ผลไม้ชนิดนี้เคยเห็น มากมายในป่า เหนือธารเกษม ในจังหวัดสระบุรี และในป่าอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สอบถาม ได้ความว่า กินได้ แต่คันคอ ปัจจุบันเห็นเก็บมาทำ น้ำหมักชีวภาพ

ส่วนที่ทางภาคใต้เรียกองุ่นว่า 'ลูกเขาคัน' นั้น สันนิษฐานว่าน่าย่อมาจาก 'ลูกเขาคันธมาทนี' ในป่า หิมพานต์ แต่ถูกชาวปักษ์ใต้ตัดพยางค์ให้สั้นเสีย เพื่อความสะดวกลิ้น หาใช่เกี่ยวกับเรื่อง กินแล้ว คันคอไม่ เพราะยังมีคำว่า 'เขา' ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คนภาคนั้นมักจะตั้งชื่อ ให้ของแปลกๆ ให้เกี่ยวกับ ป่าหิมพานต์ หรือนิทานปรัมปราเสมอ

๘.ทางใต้เรียกเปลือกมะพร้าวที่ปอกออกจากมะพร้าวสุกว่า 'พด'

๙. 'โจ' ที่กล่าวถึงนี้เป็นของไสยศาสตร์ที่เจ้าของสวนจะทำแขวนไว้ตามต้นผลไม้ที่กำลังให้ผล เชื่อกันว่า คนที่ขโมยผลไม้ ที่มีโจแขวนไว้จะเจ็บป่วย โดยเฉพาะจะเป็นโรคท้องมาน โจทำกัน อย่างง่ายๆ คือใช้ปูน ทำเครื่องหมาย ที่ดูขลังลงบนกะลาตัวผู้ แล้วแขวนไว้กับกิ่งไม้ เด็กๆ ก็ทำกัน แต่ส่วนมากที่กลัวกัน ก็เพราะไม่ทราบว่า อันไหนเป็นโจจริงหรือโจเล่น คำว่า 'โจ' น่าจะ เป็นคำที่ตั้งขึ้นคู่กับ 'แจ (กุญแจ)' ก็ได้ เพราะใช้กับกริยา 'ใส่' เหมือนกัน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -