นัยปก
คนมีจรณะ ๑๕ คือเครื่องบ่งชี้ความเป็นพุทธ

"โลกทั้งผองพี่น้องกัน" ประโยคทองคำนี้ น่าจะพิสูจน์ได้ที่ประเทศไทย ซึ่งเรามีพี่น้องทั้งพุทธ - คริสต์ - อิสลาม อยู่ร่วมกันด้วยสันติมายาวนาน

และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือการได้เห็นศาสนิกของแต่ละศาสนาพากันปฏิบัติตามคำ สั่งสอน ของพระศาสดาอย่างเคร่งครัด

ทุกๆ วันอาทิตย์พี่น้องชาวคริสต์จะไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนพี่น้องอิสลามก็จะไปมัสยิดในทุกๆ วันศุกร์ นอกเหนือไปกว่านั้นในทุกๆ วัน ก็จะต้องทำพิธี ละหมาด เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าวันละ ๕ ครั้งด้วยกัน ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายอุดมคติ ของพี่น้องอิสลาม ไว้ว่า

"ความรู้ทางศาสนาสำหรับมุสลิม ไม่ได้มีไว้ไปสอบสนามหลวงแต่เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เขาเชื่อว่า ความรู้ของศาสนานี้ เป็นพื้นฐานให้ไปทำอะไรก็ดีทั้งนั้น นับตั้งแต่ตั้งหลักปักฐานมีครอบครัว ไปจนถึงประกอบอาชีพ การงานเลี้ยงชีวิต หรือช่วยสังคม และเป็นผู้นำไปในทางที่ดีให้แก่สังคม

ศาสนาจึงเป็นทุกวิชาความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงเป้าหมายบั้นปลาย ทางศาสนา เช่น การดำรงชุมชนมุสลิมให้มีสันติสุข เป็นต้น"

ถ้าจะถามว่าศาสนาไหนอยู่กับประชาชน? หรือประชาชนมีวิถีชีวิตดำเนินไปตามหลักธรรม คำสอน ของพระศาสดาน้อยที่สุด? คำตอบนี้พี่น้องชาวพุทธเรา คงจะตอบให้แก่ตัวเอง ได้ดีที่สุด

จรณะ (พฤติหรือความประพฤติ) แทบจะทำตรงข้ามกับคำสอนของศาสดา ศีล ๕ ทุกวันนี้ จึงกลายเป็น "วัดไม่เข้า-เหล้าไม่ขาด บาตรไม่ใส่-ไก่ไม่ละ-เอาหัวพระเป็นปฏิทิน"

จรณะ ๑๕ อันวิเศษสุดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องแสดง ความเป็นพุทธที่แท้ และ ชัดเจนที่สุด จึงถูกละเลยจนแทบจะไม่มีคนผู้ใด หรือสังคมใด ปฏิบัติตนหรือดำรงชีวิตความเป็นอยู่ ให้เกี่ยวข้องกับจรณะ ๑๕ จึงมีผลให้ศาสนาพุทธนับวันๆ อยู่ห่างไกลออกไป จากประชาชน อย่างน่า เป็นห่วง

จรณะ ๑๕ มี ๔ หัวข้อใหญ่ ได้แก่
๑. ศีลสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยศีล หรือบรรลุผลของศีลนั้นๆ
๒. อปัณณกปฏิปทา ๓ คือการปฏิบัติกิน-อยู่ หลับนอนตามวิถีพุทธ ซึ่งผู้ใดหรือสังคมใด ปฏิบัติตน ตามหลัก ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคือผู้เป็นพุทธแท้จริง เป็นผู้ที่ปฏิบัติไม่ผิด แน่นอน
๓. สัทธรรม ๗ คือธรรมที่ดีเลิศ เป็นพระผู้เจริญแท้ ๗ ประการ
๔. ฌาน ๔ คือภาวะของจิตที่ผู้ปฏิบัติเพ่งรู้กิเลสในจิตแล้วเผากำจัดมันลงได้ ซึ่งเจริญเป็นลำดับ ๔ ขั้นตอน โดยเป็น "ฌาน" ขณะลืมตาในชีวิตปกติ

สังคมของเรานี้จะสันติสุขสักปานไหน เพียงแค่คนในสังคมส่วนใหญ่ต่างมีศีล ๕ ขึ้นไป จนถึงศีล สมบูรณ์ในที่สุด เพียงศีลสัมปทาอย่างเดียวสังคมก็สงบสุขแล้ว ป่วยการกล่าวถึงหมวดธรรมอีก ๓ หัวข้อ ที่สูงไปกว่านี้

*** จริงจัง ตามพ่อ ***

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ -