เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๓๐

บุญนิยมกับระบบสหกรณ์


ระบบบุญนิยมกับระบบสหกรณ์ มีหลักการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ต่างมองว่ากำไร ที่บวกเพิ่มขึ้น จากมูลค่าแท้จริงของแรงงานนั้น เป็นความเอารัด เอาเปรียบ เบียดเบียนกันในสังคม ซึ่งควรขจัดให้หมดไป

เช่น สมมุติคนงานใช้แรงงานของตนผลิตสินค้าชิ้นหนึ่ง คิดเป็นมูลค่า ๑๐ หน่วยในเวลา ๑ วัน โดยได้ค่าแรง ตอบแทนเท่ากับ ๑๐ หน่วย หากเจ้าของกิจการ บวกกำไร เข้าไปในสินค้าชิ้นนี้ แล้วจำหน่ายสินค้าในราคา ๒๐ หน่วย

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าหากคนงานผู้นั้นใช้เงินที่ตนได้รับ ๑๐ หน่วยดังกล่าว ซื้อสินค้า ในตลาด ที่ตน ผลิตมากับมือ ก็จะได้สินค้า ในปริมาณลดลงเหลือแค่ ๕ หน่วยเท่านั้น (ทั้งๆ ที่ตนเอง ผลิตได้ถึง จำนวน ๑๐ หน่วย) อันแสดงให้เห็นถึง ความเอารัดเอาเปรียบ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะหาวิธีกำจัดตัว "กำไร" ให้หมดไปด้วยวิธีการต่างๆ ลัทธิสังคมนิยม เสนอให้ใช้วิธียึด กิจการบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ มาเป็นของรัฐ เพราะหากกิจการนั้นมีผลกำไรเกิดขึ้น รัฐก็จะสามารถ จัดสรรกำไรเหล่านั้น กลับคืนไปให้แก่ ประชาชน รวมทั้งเก็บภาษี ในอัตราสูงจากคนที่มีกำไรมากๆ เพื่อมาจัดสรรคืนให้ประชาชาชน

ขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เสนอให้ยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชน และยึดเอากิจการ ทุกอย่าง มาเป็นของรัฐทั้งหมด จะได้ไม่มี "กำไร" เป็นส่วนตัว ของเอกชนรายใดๆ

สำหรับแนวคิดในระบบสหกรณ์นั้น ไม่ได้คิดรอให้ใช้อำนาจรัฐเข้ามาแก้ไข เพราะเห็นถึงข้อจำกัด มากมาย อาทิ ต้องรอคอยให้สามารถแย่งชิง อำนาจรัฐมาให้ได้ก่อน เป็นต้น

นักสหกรณ์เชื่อในการรวมกลุ่มของสมาชิกกลุ่มเป็นหมู่คณะย่อยๆ เพื่อช่วยกัน แก้ปัญหาโดยเริ่มจาก ฐานรากของสังคม ที่เป็นการผลักดัน จาก "ล่างขึ้นบน" แทนที่จะมัวรอคอย การแทรกแซงของ อำนาจรัฐจาก "บนลงล่าง"

เมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ โรเบิต โอเว่น (Robert Owen) ผู้บุกเบิกแนวคิด สหกรณ์ขึ้นมา ได้ทดลอง จัดตั้งร้านค้าตามแนวคิดสหกรณ์ขึ้นร้านแรก ชื่อร้าน "The National Equitable Labour Exchange" หลักการสำคัญของร้านค้านี้คือ ไม่ใช้เงินเป็นตัวกลาง ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้า เพื่อตัด "กำไร" ที่เกิดจาก การใช้เงิน ในการซื้อขายกัน

เมื่อสมาชิกประสงค์จะนำผลผลิตหรือสินค้าที่เขาผลิตขึ้นเพื่อมาจำหน่ายในร้านค้านี้ สมาชิกผู้นั้น จะต้องระบุว่า เขาใช้แรงงาน ในการสร้างผลผลิตดังกล่าว คิดเป็นเวลากี่ชั่วโมง แล้วจะได้รับบัตร คูปองตามจำนวนชั่วโมงที่สร้างผลผลิตนั้นๆ ตอบแทน พร้อมกับติดมูลค่า ของสินค้าชิ้นนั้น ตาม จำนวนชั่วโมงแรงงาน ที่ได้ระบุไว้

ขณะเดียวกันสมาชิกผู้นี้ก็สามารถใช้บัตรคูปองที่ตนได้รับ ไปแลกสินค้าชิ้นอื่นๆ ในร้าน ตามจำนวน ชั่วโมงแรงงาน ของสินค้าแต่ละชิ้นที่ติดมูลค่าไว้

สมมติเช่น สมาชิกคนหนึ่งแจ้งว่าตนใช้เวลา ๒๐ ชั่วโมงในการผลิตกระเป๋าหนัง ๑ ใบ และประสงค์ จะนำกระเป๋าหนัง ใบนั้นมาจำหน่ายที่ร้านนี้ สมาชิก ก็จะได้รับคูปอง ๒๐ ใบตอบแทน (เท่ากับ มูลค่าแรงงาน ๑ ชั่วโมง /คูปอง ๑ ใบ) และจะติดมูลค่า ที่กระเป๋าหนังไว้เท่ากับ ๒๐ หน่วยชั่วโมง แรงงาน โดยเมื่อสมาชิกผู้นั้น ได้รับคูปอง ไปแล้ว ก็สามารถนำคูปอง ๒๐ ใบ ไปแลกซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้าน อาทิ แลกซื้อเสื้อ ๒ ตัว ที่ติดมูลค่าไว้ ตัวละ ๑๐ หน่วยชั่วโมง แรงงานกลับไป เป็นต้น

ตามวิธีการแบบนี้ ร้านค้าที่ตั้งขึ้นก็จะทำหน้าที่เป็นเพียงคนกลาง เพื่อให้สมาชิก ได้มีโอกาสมา แลกเปลี่ยนผลผลิตกัน โดยใช้จำนวนชั่วโมง ในการทำงาน เพื่อสร้างผลผลิตต่างๆ เป็นบรรทัดฐาน ของการแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ไม่มีใครได้กำไร เกินจากมูลค่าของแรงงาน ที่ตนใช้ในการผลิต สินค้านั้นๆ (เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลาง ที่คอยบวกกำไรเข้าไปในสินค้า)

ร้าน "The National Equitable Labour Exchange" เมื่อเปิดใหม่ๆ ปรากฏประสบผลสำเร็จ เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยมีผู้สมัครเป็นสมาชิกถึง ๘๔๐ คน และมีการขยายสาขา อีกหลายแห่ง แต่ในที่สุดร้านค้านี้ ก็ต้องปิดตัวเองไป เพราะสู้กับความไม่ซื่อสัตย์ ของสมาชิกบางคนไม่ไหว ทั้งนี้เนื่องจาก

๑. สมาชิกบางคนจะโกหกว่าตนใช้แรงงานในการผลิตสินค้านั้นๆ คิดเป็นจำนวนชั่วโมง แรงงาน มากกว่าที่เป็นจริง เพื่อตีมูลค่า สินค้าของตนเองให้สูงๆ เข้าไว้ ส่งผลให้เกิด การเอารัด เอาเปรียบ หรือเกิดการได้ "กำไร" ขึ้นในขณะที่มีบางคน เสียเปรียบ หรือเกิดการ"ขาดทุน" ในการแลกเปลี่ยน ดังกล่าว

๒. ในที่สุดก็มีการใช้วิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคนกลาง เพื่อช่วยทำหน้าที่ ประเมิน จำนวน ชั่วโมง แรงงาน ที่ใช้ในการผลิตสินค้าแต่ละชิ้น ที่สมาชิก นำมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งในทางปฏิบัติ เพื่อความสะดวก ผู้เชี่ยวชาญก็จะประเมิน มูลค่าสินค้าแต่ละชิ้น ตามราคาที่ซื้อขายกัน ในตลาด ทั่วไป แล้วค่อยคำนวณกลับ เป็นจำนวนชั่วโมงแรงงาน เช่น สมมติตีราคากระเป๋าหนัง ที่สมาชิก นำมาจำหน่าย ตามราคาตลาดเท่ากับ ๔๐ ชิลลิง โดยคิดมูลค่าแรงงาน ๑ ชั่วโมงเท่ากับ ๒ ชิลลิง ฉะนั้น ก็จะคิดมูลค่า กระเป๋าหนัง ใบนั้น เท่ากับจำนวน ๒๐ ชั่วโมงแรงงาน เป็นต้น

๓. วิธีการตามข้อ ๒ ได้ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนผลผลิต (โดยใช้จำนวนแรงงาน ในการผลิต สินค้าแต่ละชิ้น เป็นบรรทัดฐาน ของการแลกเปลี่ยนนั้น) สูญเสียหลักการ ดั้งเดิมไป ตัวอย่างเช่น สมมติกระเป๋าใบหนึ่ง ใช้แรงงานในการผลิต ๒๐ ชั่วโมง อันเท่ากับชั่วโมงแรงงาน ที่ใช้ในการผลิต โต๊ะ ๑ ตัว ซึ่งโดยหลักการแล้ว กระเป๋าใบนั้น ก็ควรจะแลกเปลี่ยนกับโต๊ะได้ ๑ ตัวพอดี (เพราะใช้ ปริมาณแรงงานในการผลิตเท่ากัน) แต่เมื่อใช้วิธีประเมินมูลค่าของกระเป๋า ตามราคาตลาด อันขึ้นกับอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ของสินค้านี้ โดยหากกระเป๋ารูปทรงดังกล่าว บังเอิญตรงกับแฟชั่น ที่ผู้คนนิยมใช้กันในช่วงนั้น ราคาของกระเป๋า ก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ควรเป็น ตามอุปสงค์ ที่เพิ่มขึ้น สมมติเมื่อแปลงกลับมาเป็นจำนวนชั่วโมงแรงงาน อาจกลายเป็น ๓๐ ชั่วโมงแรงงาน (ไม่ใช่แค่ ๒๐ ชั่วโมง ตามที่เป็นจริง) ส่งผลให้กระเป๋าใบนี้ สามารถแลกเปลี่ยน กับโต๊ะได้เกินกว่า ๑ ตัว ทำให้เจ้าของกระเป๋าเกิดความได้เปรียบ หรือได้ "กำไร" จากการแลกเปลี่ยน จำนวนเท่ากับ ๓๐-๒๐ = ๑๐ ชั่วโมงแรงงาน เป็นต้น

๔. ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับร้านนี้อีกประการหนึ่งก็คือ มีร้านค้าย่อยประมาณ ๓๐๐ แห่ง ในกรุง ลอนดอน อาศัยร้าน "The National Equitable Labour Exchange" เป็นเครื่องมือ ในการทำมาหากิน โดยร้านค้าย่อยเหล่านี้ประกาศรับคูปองแรงงานของร้าน ในอุดมคติ ดังกล่าว สำหรับซื้อสินค้า ในร้านของตนได้ แล้วสะสมคูปอง ไปแลกสินค้า ประเภท ที่ขายได้คล่อง หรือแลกสินค้า ที่ผู้เชี่ยวชาญ ตีมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาด จากร้าน ในอุดมคตินี้ แล้วนำมาจำหน่าย ในร้านค้าย่อย ของตนเพื่อเอา "กำไร" จนเมื่อร้าน ในอุดมคติดังกล่าว เหลือแต่สินค้าตกรุ่น ซึ่งขายไม่ออก รวมทั้ง สินค้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ตีมูลค่าไว้สูงกว่าราคาตลาด ร้านค้าย่อยเหล่านี้ ก็รวมหัวกันประกาศ งดรับ คูปองแรงงาน ผลที่สุดร้านค้าในอุดมคติ ก็ต้องปิดตัวเองไป (เพราะเหลือแต่สินค้า ที่ไม่มีคน ต้องการ เนื่องจากเป็นสินค้า ตกรุ่นบ้าง หรือเป็นสินค้า ที่ตีมูลค่า ไว้สูงเกินไปบ้าง)

จากบทเรียนความล้มเหลวของร้าน "The National Equitable Labour Exchange" ได้มีการนำไปพัฒนา ปรับปรุงเป็นระบบ ร้านค้าสหกรณ์ที่รัดกุมขึ้น ในเวลาต่อมา จนกลายเป็น ร้านสหกรณ์ที่นิยม กว้างขวางทั่วโลก สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

หลักการสำคัญของร้านสหกรณ์ก็คือ ให้สมาชิกเลือกตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง มาเป็นผู้บริหารร้าน โดยทั้งนี้ เมื่อสมาชิกคนไหน ซื้อสินค้าจากร้านสหกรณ์ดังกล่าว เป็นเงินเท่าไร ก็ให้มีการบันทึก ข้อมูลไว้ในสมุดประจำตัวสมาชิก ที่เรียกว่า "Pass Book"

เมื่อถึงสิ้นปีหากร้านสหกรณ์มีผลกำไรเป็นเงินเท่าใด ก็จะปันผลคืนกลับมาให้สมาชิก ตามสัดส่วน ของมูลค่าสินค้าที่ซื้อ จากร้านสหกรณ์นั้นๆ ในรอบปี ด้วยวิธีการ ปฏิบัติเช่นนี้ "กำไร" ส่วนที่เกินมา ก็จะถูกกำจัดให้หมดคืนไปกลับสู่สมาชิกทั้งหมด ทำให้ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ในการซื้อขาย

อย่างไรก็ตามหลักสหกรณ์นี้ เมื่อนำมาใช้ในที่หลายแห่ง ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังเช่น ระบบสหกรณ์ในประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะ ขาดกระบวนการ ในการกลั่นกรอง คัดเลือก และพัฒนาคุณภาพของสมาชิก รวมทั้งพนักงาน ให้มีความเสียสละเพียงพอ ทำให้แข่งขันสู้กิจการ ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่อาศัย "กำไร" เป็นแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้คนแข่งกันทำงาน อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ได้

ขณะที่หัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม อยู่ที่การอบรมขัดเกลาเพื่อลดปริมาณ ความต้องการ ส่วนเกิน จำเป็นของชีวิต ให้น้อยลง ในระดับที่ต่ำกว่า มูลค่าของ พลังแรงงาน ที่ผู้นั้นสร้างผลผลิตต่างๆ ได้ จนทำให้เกิดมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) เหลือสะพัดเป็นประโยชน์ ต่อสังคมส่วนรวม

เมื่อกระบวนทัศน์ (paradigm) ภายใต้ระบบบุญนิยม มองว่าการได้สละมูลค่าส่วนเกิน ที่เกิดจาก พลังแรงงานของตน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมนั้นๆ เป็น "กำไร" ของชีวิต เพราะได้"บุญ" ที่ช่วยชำระล้าง และปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระ ว่างเบา จากการพันธนาการ ของกิเลสตัณหา อุปาทาน

ฉะนั้นระบบบุญนิยมจึงล้ำหน้าแนวคิดสหกรณ์ไปอีกก้าวหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่ ทำให้กำไร ซึ่งเกิดจาก การเบียดเบียน ดูดซับเอามูลค่าส่วนเกิน จากแรงงานของผู้อื่น เพื่อมาบำรุงบำเรอตัวเอง หมดไปจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้าง ให้เกิดการสละ มูลค่าส่วนเกิน สะพัด กลับไป เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวมด้วย ดังตัวอย่าง ร้านค้าบริษัทพลังบุญจำกัด ซึ่งเป็นร้านค้า ในระบบบุญนิยมของชาวอโศก ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

อ่านต่อฉบับหน้า

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ -