การละเลย: ความอุบาทว์ของสังคม: ความระทมของชีวิต

ทุกครั้งที่แผ่นดินเดือด ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
มักจะลงเอยที่ ความประพฤติมิชอบ ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กินสินบาทคาดสินบน!
ทำอะไรต้องน้ำร้อนน้ำชา ถึงจะเดินให้
เมืองไทยจึงได้รับเกียรติ เป็นดินแดนแห่ง คอรัปชั่นในลำดับต้นๆ
ทุกการงาน ที่ประชาชนทำกับรัฐ ต้องมีเบี้ยบ้ายรายทาง มีเงินใต้โต๊ะ มีเก๋าเจี๊ยะ ค่าสุนัขรับประทาน!
เข้าสุภาษิต มีเงิน-งานเดิน เงินเกิน-งานวิ่ง เงินนิ่ง-งานหยุด เงินสะดุด-งานชะงัก!
สุภาษิตจีนบอกไว้ มีเงินซะอย่างย่อมจ้างผีโม่แป้ง!
เพราะเหตุนี้ งานการทั้งหลาย ข้อบกพร่องทั้งมวลและข้อควรสนับสนุนอีกมากมาย กลับกลายเป็นอัมพาต เห็นอยู่โทนโท่ เพราะต่างดูดายไม่ยอมแก้ไข
จนสุดท้าย แม้จะเป็นผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม ก็ไม่นำพา
เพราะผีเปรต อสุรกายมากมายยิ่งกว่ากองทัพหนอนในส้วม พอไม่มีผลประโยชน์ ต่างก็ทำเฉย

"แม่ครับ-พ่อครับ ผมมีเรื่องจะบอก..." กี่ครั้งๆ ก็ไม่ว่าง สุดท้าย ลูกที่น่าสงสารก็ติดยา!
สมัยก่อน เวลาคนดีเดือดร้อน ที่ประทับ ของพระอินทร์จะพลันแข็งกระด้าง นั่งก็ไม่สบาย จนต้องส่องทิพยเนตร ใครหวาที่เดือดร้อนเป็นทุกข์ คนดีคนไหนเอ่ย จะได้รีบช่วยเหลือ
วันนี้ ที่ประทับแข็งยิ่งกว่าหินหลายร้อย หลายพันเท่า เหล่าพระอินทร์ท่านก็ทำเฉย ปล่อยวาง
ไม่มีเครื่องเซ่น ไม่มีบริการ no money no service!
เศรษฐีเงินล้านเกิดได้จากการสะสมทีละบาท
ปัญหาสังคมก็เช่นเดียวกัน เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้ สะสมวันเมล็ดถั่วเขียว สักวันก็ใหญ่โตเท่าภูเขา!
วิกฤตสังคมก็เหมือนจอกแหน ที่จะขยายตัวเป็นทวีคูณ โดยที่ระยะแรกๆ ดูเป็นเรื่องจิ๊บจ้อย

ข่าวชาวบ้าน ข่าวประชาชน ที่คับแค้นที่ประสบความทุกข์คนแล้วคนเล่า ผู้บริหารประเทศ กลับปล่อยวาง
ธุระไม่ใช่ ไม่ใช่ญาติเรา เรื่องเล็ก ฯลฯ รอเดินขบวนก่อนค่อยคิดแก้ไข!

สุดท้าย เนื้องอกก็กลายเป็นมะเร็งร้าย เมื่อคิดจะแก้ไข ก็สายเกินแก้!
"ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของข้าราชการ" เพียงวลีเดียว บ้านเมืองที่มีปัญหาหมักหมม ก็ผ่อนคลายได้

แต่ความเป็นจริง ทุกข์ของประชาชนถูกละเลยตลอดเวลา
"แค่นี้เอง เรื่องเล็กๆ ๆ"
เล็กของเราแต่ใหญ่ของเขา!
คุณธรรมใจเขา-ใจเรา เมื่อหายไป ก็ยากจะเข้าใจความทุกข์ยากของคนอื่น
ความทุกข์ยากหลายครั้งที่สื่อมวลชนช่วยกันและประสบความสำเร็จ ชีวิตตาดำๆ ของใครบางคน มีโอกาสพ้นจากขุมนรก

"ชาวบ้านคนหนึ่ง ร้องเรียนว่าเป็นคนไทย แต่ถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศ สุดท้ายก็พิสูจน์ได้"
"ปัญหามากมายถ้าไม่ร้องเรียน ไม่ต่อสู้ จะมีอีกกี่หมื่นกี่แสนคนที่จะตายทั้งเป็น!"
เรามีข้าราชการทั่วประเทศ มีข้าราชการ ดูแลตั้งแต่ระดับประเทศระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชน...แล้วเป็นไปได้อย่างไรที่ยังคงปล่อยปัญหาให้คาราคาซังต่อไป
"ลูกฉันหายไป อายุแค่ ๖-๗ ขวบ ทำไมรัฐไม่เดือดร้อนสักคน"
"ลูกสาวฉันถูกฉุดขึ้นรถตู้ หายไป๑ เดือนแล้ว อกแม่จะแตกสลาย"
"ทำไม พืชผลที่ฉันปลูก ถึงราคาถูกเหลือเกิน"
"ลูกฉันไม่มีตังค์เรียนหนังสือ ช่วยด้วย"
คร่ำครวญกันต่อไป ชีวิตประชาชนจะต่างกับอะไรกับชีวิตมดชีวิตปลวก
มหาตมะคานธี ท่านบอก "โลกทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน"
เรามองประชาชนเป็นเจ้านาย เป็นญาติ หรือเป็นเหยื่อ?

เป็นไปได้อย่างไร ที่ถนนบางเส้นมีหลุมบ่อมากมาย รถราแล่นยาก อุบัติเหตุเกิดบ่อยครั้งยามค่ำคืน!
เป็นไปได้อย่างไร ที่ปัญหาประชาชน ยังปล่อยคาราคาซัง ให้บ่นกันไปวันแล้ววันเล่า?

บ้านนี้เมืองนี้ มีแต่สายตาเย็นชา ดูดาย และละเลย ปฐพีจึงลุกเป็นไฟ!
ถ้าใส่ใจชีวิตของชาวบ้านมีปัญหารีบแก้ไข
ขวนขวายกระตือรือร้น
ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของข้าราชการ
วันนี้ก็ไม่ต้องฆ่ากันเป็นเบือ

อุเบกขานั้น เป็นธรรมชั้นสูง ที่ต้องผ่านความเมตตากรุณา แต่เมื่อใดก็ตามที่อุเบกขา วางเฉยโดยขาดน้ำใจ ขาดความปรารถนาดี

อุเบกขา ก็เป็นธรรมอันอุบาทว์ไปทันที!

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ -