นัยปก
รวยในความจน จนในความรวย

จาก น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ รายงานการสำรวจกลุ่มผู้มีอันจะกินบนโลกนี้ พบว่า เมื่อสิ้นปี ๒๕๔๖ ที่ผ่านมาโลกมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น ๕๐๐,๐๐๐ คน ทำให้ปัจจุบันนี้ โลกมีมหาเศรษฐี ที่มีรายได้สุทธิ ระดับสูงทั้งหมดถึง ๗.๗ ล้านคน คิดเป็นเงิน มูลค่ามากถึง ๒๘.๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลจากการบูมของตลาดหุ้น มีส่วนช่วยให้เกิด มหาเศรษฐีมากขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยปีที่ผ่านมา อังกฤษ มีรายชื่อ ผู้ที่ติดอยู่ในอันดับ ของบุคคลมีรายได้สุทธิ สูงสุดของโลก มากถึง ๓๘๓,๐๐๐ คน สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ๒๗๒,๐๐๐ คน โดยมีมหาเศรษฐีทั้งหมด ๒.๒๗ ล้านคน

และในวันต่อมา (๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗) น.ส.พ.มติชน ก็พาดหัวข่าวว่า {ยูเอ็นจวกชาติร่ำรวย ฝักใฝ่สงคราม ปล่อย "คนจน" ตายวันละ ๒.๕ หมื่นคน| ซึ่งมีรายงานข่าวจากนครเซาเปาโล ประเทศบราซิล ระบุว่าเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ นายโคฟี อันนัน เลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวต่อที่ประชุมแห่ง สหประชาชาติ เพื่อการค้าและพัฒนา (อังถัด) ครั้งที่ ๑๑ ที่จัดขึ้นที่นั่น นายอันนันได้กล่าวโจมตีประเทศ ที่พัฒนาแล้วว่า } ไม่สนใจให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับความยากจน และอดอยากหิวโหยของเพื่อนร่วมโลก พร้อมกับ ยกตัวเลขจากการสำรวจขององค์การพัฒนาเอกชนมาเปิดเผยว่า

ในแต่ละวัน ความอดอยากหิวโหยคร่าชีวิตผู้คนในประเทศยากจนไปมากถึง ๒๕,๐๐๐ คน โครงการต่อสู้เพื่อ ความยากจน ในระดับที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตของสหประชาชาติที่ผ่านมา นับได้ว่าล้มเหลวและกำหนดการ ที่จะขจัด ความยากจนให้หมดไปใน พ.ศ.๒๕๕๘ น่าจะกลายเป็นเพียงกำหนดการ ที่ก่อให้เกิดความขมขื่น ยุคใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา"

จากข่าวมหาเศรษฐีผู้มีอันจะกินและมหายาจก ผู้ไม่มีจะกิน สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจ ในระบบทุนนิยม ยิ่งมี คนรวยเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ย่อมก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และการเบียดเบียน ทำให้ผู้คนยากจน ถึงขั้น อดตายมากขึ้นไปเท่านั้น

หากหันมาดูเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจโตขึ้น ๖.๗ % รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) มีตัวเลข พุ่งขึ้น แต่หนี้สินของประชาชนระดับรากหญ้าในรอบ ๑๐ ปี ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ตัวเลขหนี้สิน ครัวเรือนของเกษตรกรกลับพุ่งสูงขึ้น เกือบ ๑๐๐% เต็ม ในภาคกลางมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ ๑๓๒,๕๖๙ บาท (ไทยโพสต์๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๗)

แม้จะเอื้ออาทรให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามแต่ในระบบทุนนิยม+บริโภคนิยม + อบายมุขนิยม สุดท้าย รายได้ของคนจนก็จะถูกสูบกลับไปหานายทุนเป็นความรวยในความจน นั่นเอง.

และการที่รัฐบาลเน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายๆ ฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กลับหายไป คนส่วนใหญ่ถูกความไม่พอเพียงเข้ามาครอบงำ ต่างทำกันทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองร่ำรวยขึ้นมา เด็กผู้หญิง กล้าขายตัว พระครูขายยาบ้า ศึกษานิเทศก์ เป็นเจ้ามือรับแทงพนันบอลจากนักเรียน ฯลฯ ป่วยการ กล่าวถึงความเสื่อมโทรม ของสังคมที่อยู่นอกวงการคุณธรรม ศีลธรรม

ความจริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักธรรมในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้า สอนให้ชาวพุทธ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่สะพัดออกไป ให้แก่สังคม อยู่ตลอดเวลา ด้วยหลักธรรม ในข้อที่ว่า มักน้อย หรือ กล้าจน (อัปปิจฉะ) เมื่อมีน้อยได้หรือจนได้ก็ให้ ใจพอหรือพอเพียง (สันโดษ) ผู้ใดมีสันโดษได้ พระพุทธเจ้าตรัส ไว้ว่า ผู้นั้นมีมหาสมบัติที่ยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ ในโลก (สันตุฏฐี ปรมํ ธนํ) เพราะต่อให้มเงินหมื่นล้าน แสนล้าน ถ้าไม่มีสันโดษ ก็ไม่ต่างอะไรกับ คนจน ผู้หิวโหย ซึ่งยิ่งรวยเท่าไหร่ ถ้าขาดสันโดษ ก็จะหิวโหย ขี้โลภมากขึ้นไป เท่านั้น

จิตที่ไม่หิวโหย ไม่โหยหา สามารถสงบเป็นวิเวกได้ทุกที่โดยไม่ต้องหนีเข้าป่า เป็นคุณธรรมข้อ "ปวิเวก" และ ถ้าสามารถ มีจิตหลุดพ้น จนกระทั่งสลัดหลุดโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับกองกิเลสนั้นได้นั่นก็คือ "อสังสัคค" สุดท้าย
แม้จะมักน้อย (กล้าจน-กล้าแจก) เพราะพอแล้ว (สันโดษ) สงบแล้ว (ปวิเวก) ไม่ต้องวุ่นวาย ข้องเกี่ยวได้อีกแล้ว (อสังสัคคะ) ผู้นั้นก็จะเป็นมนุษย์ยอดขยัน (วิริยารัมภ) มีผลผลิต มีผลงาน สร้างสรร อยู่ตลอดเวลา

ผู้นี้ย่อมมีทรัพย์อยู่ในตัว เพราะสมรรถนะและความขยันของเขาหากทำเมื่อใด ก็ย่อมเกิดผลผลิต เกิดทรัพย์ เมื่อนั้น จึงเป็นหลักประกันทำให้เขากล้าจนในความร่ำรวย

รวยในความจน เท่ากับ เมื่อมีแต่คนเอาไม่มีคนให้ นั่น คือ สงคราม

จนในความรวย เท่ากับ เมื่อมีทั้งคนให้และคนเอา นั่นคือ สันติภาพ

- จริงจัง ตามพ่อ -

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -