ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ -สมณะโพธิรักษ์-

ต่อจากฉบับ ๑๖๗



และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ที่เรียกว่า "ปรัตถะ" ก็คือ"กรรม"นั้นเราทำแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น เราทำทาน ผู้ได้รับของทาน (ผู้อื่น) ก็ได้ประโยชน์ไป ส่วน "อัตตัตถะ" (ประโยชน์ตน) เราทานวัตถุจริง เราก็ได้ "โลกียกุศล" ทางวัตถุทาน ซึ่งกายกรรมวจีกรรมเห็นว่า"ให้"ออกไปจริง แต่ในจิตของผู้ทำทาน อันเป็น "มโนกรรม" กลับมี ความโลภอยู่จริง คือ ยังอยากได้ หรือขอให้ได้คืนมามากกว่ามูลค่าของของที่ตนทานไปด้วยซ้ำ ก็ไม่มี "ปรมัตถะ" ซ้ำเป็น "อกุศล" ทาง จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน ผู้ใดปฏิบัติอย่างมีภูมิรู้จักรู้แจ้งรู้จริงใน จิต..เจตสิก และ สามารถ "ทำใจในใจ" (มนสิการ) ของตน ไม่ให้เกิดจิตโลภดังกล่าวได้จริง นี้คือ "กุศลโลกุตระ"

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติที่ไม่มี "วิชชา ๙" หรือไม่มีภูมิ "โลกุตระ" ก็จะทำ "อัตตัตถะ" (ประโยชน์ตน) ขั้นปรมัตถ์ไม่เป็น จึงได้แค่ "พฤติของโลกียะ" ส่วนผู้ที่มีความรู้ขั้นปรมัตถ์ และสามารถถึงขั้นมี "พฤติของโลกุตระ" จึงจะได้ ประโยชน์ ที่ชื่อว่า "อุภยัตถะ" คือมีทั้ง "กุศลโลกุตระ" และ "กุศลโลกียะ" พร้อมกันทั้ง ๒ กุศล โดยไม่แยกกัน

ผู้ที่เรียนรู้ที่ยังไม่มีภูมิ "โลกุตระ" จึงสร้างกุศลได้แค่"กุศลโลกียะ" กันอยู่เป็นธรรมดาในโลก ซึ่งก็เหมือนๆ กับศาสนาอื่นที่ "ละชั่ว-ประพฤติดี" กันทั้งนั้น อาจจะมีกรรมวิธีในการปฏิบัติ หรือ กุศโลบายไปสู่ความ ดีงามนั้นๆ ต่างกันไปบ้าง แต่จุดหมายปลายทางแห่งความดีนั้นก็เป็น "สมมุติสัจจะ" คือ ความจริง ที่รู้กันทั่วไป ยอมรับกันตรงกัน สอดคล้องกันเป็นสากล

อาตมาได้ย้ำยืนยันมามากแล้วว่า "พุทธ"นั้นเป็นศาสนาเดียวเท่านั้นที่มี "โลุกตรสัจจะ" (ความจริงที่นอกเหนือ ไปพ้นความเป็นโลกียะ) ซึ่งมีธรรมะขั้น "ปรมัตถ์" (ประโยชน์แท้จริง ที่สูงถึงนิพพาน) ที่ผู้ได้รับประโยชน์นั้น มีคุณสมบัติเป็น "อาริยบุคคล" และถึงที่สุด "อรหันต์" หรือ "นิพพาน" กันทีเดียว

"ทางประพฤติสู่ความเป็นอาริยะหรือสู่นิพพาน" ก็คือ "จรณะ ๑๕" ดังนั้น ความประพฤติ ๑๕ (จรณะ ๑๕) นี้จึงเป็นเครื่องวัด ในตัวบุคคล ที่ชี้บ่ง "ความเป็นพุทธ"

[มีต่อฉบับ๑๖๙]

"ความประพฤติภายนอก"ตามศีลที่สมาทานก็สามารถเห็นได้รู้ได้ ส่วนเนื้อแท้เนื้อธรรมของความเป็นพุทธ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กันยายน ๒๕๔๗ -